คีย์แมนท่องเที่ยวไทยยุคผลัดใบไปสู่การเปลี่ยนแปลง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ภารกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปั๊มรายได้ของท่องเที่ยวไทย ในยุคขององค์กรด้านท่องเที่ยว ที่กำลังถูกเปลี่ยนแปลงใหม่จะสามารถผลักดันสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศจำนวนมาก ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้สูงถึง 8 แสนล้านบาทหรือไม่นั้น หากพิจารณาแล้ว พบว่าหน่วยงานเฉพาะองค์กรของรัฐซึ่งมีขุนพลคนรุ่นใหม่หลายคน ตั้งแต่วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่เข้ามาสวมบทบาทเจ้าภาพจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยวใหม่ทั้งระบบ เขย่าวงการท่องเที่ยวโดยใช้หลักการ SWOT Analysis เป็นรายจังหวัด รายภาค ระดับประเทศ หวังค้นหาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมๆกับผลักดันขึ้นสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกหรือ World Class

ว่ากันว่าเป็นแนวทางสำคัญและเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนเรียกร้องมาหลายครั้ง ให้จัดหมวดหมู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ตามลักษณะต่างๆ สร้างความสะดวกทั้งผู้ประกอบการนำเที่ยว และนักท่องเที่ยว ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการจัดทำบัญชีท่องเที่ยวขึ้น โดยแบ่งเป็น 5 หมวดคือ 1. อุทยานและป่าเขา จำนวน 1,394 แห่ง 2. หาดทรายชายทะเล จำนวน 432 แห่ง 3. แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม จำนวน 1,623 แห่ง 4. กิจกรรมการท่องเที่ยว 241 กิจกรรม และ 5 แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น 486 แห่ง รวมทั้งสิ้น 4,176 แห่ง เพื่อศึกษาจำนวนปัจจุบัน และศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น

นอกจากนั้นระหว่างปี 2551-2552 จะเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวและการลงทุนด้านการท่องเที่ยว โดยจะเน้นการสร้างเมกะโปรเจคควบคู่กับการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเดิม ถือได้ว่า เป็นการดำเนินการแบบ Dual Track หรือ การทำ สินค้าใหม่ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงพัฒนาสินค้าเก่าให้ดีขึ้น หวังผลักดันให้อีก 4 ปีข้างหน้ารายได้จากการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็นล้านล้านบาท

รายได้ทั้งหมดจึงกลายเป็นตัวชี้วัดแทนจำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวซึ่งไม่มีความหมายเท่าไรนัก ส่งผลให้มีการส่งเสริมนักท่องเที่ยวรายได้สูง หรือนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาในประเทศมากขึ้นและกลายเป็นนโยบายหลักซึ่งไปสอดรับกับนโยบายของ รพี ม่วงนนท์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือทีพีซี ผู้ดำเนินการโครงการไทยแลนด์ อีลิทการ์ด ที่ปรับแผนยุทธศาสตร์ใหม่ให้รับกับนโยบายการท่องเที่ยวที่เน้นการลงทุนเป็นหลัก และพร้อมเดินหน้าแนวคิดหลัก 5 ประการ ซึ่งประกอบด้วย 1.องค์กรต้องมีการบริหารแบบยั่งยืนเลี้ยงตัวเองได้ 2.บริการลูกค้าแบบเบ็ดเสร็จ 3.มีประสิทธิภาพในการบริหารงาน 4.สร้างเครือข่ายกลุ่มลูกค้า และ 5.การสนับสนุนให้มีการลงทุน

ขณะเดียวกันจอมทัพอีกคน ที่แม้ต้นสังกัดจะไม่ใช่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่บทบาทภารกิจก็มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยเหมือนกัน นั่นคือ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน.ซึ่งมี ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการ โดยล่าสุดใช้จุดขาย TCEB E-service ให้สอดรับกับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและต้องเท่าทันเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการทำการตลาดผ่านบริการออนไลน์ หรือ E-marketing

อุตสาหกรรมไมซ์ หรือ การจัดประชุมสัมมนา การจัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติ และการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล เป็นธุรกิจสาขาหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ สามารถนำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 50,000 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวสูงกว่า 20% ทุกปี ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรส่งเสริมตลาดไมซ์ชั้นนำทั่วโลก (CVB) ต่างให้ความสำคัญกับการใช้บริการออนไลน์เพื่อเป็นเครื่องมือดำเนินงานด้านการตลาดแทบทั้งสิ้น

การพัฒนาระบบ TCEB E-service โดยเปิดให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีส่วนร่วมเข้ามาใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กอปรกับบริการหลัก 3 ส่วน คือ 1.บริการวิจัยการตลาด หรือ E-survey จะช่วยผู้ประกอบการที่มาใช้บริการในการออกแบบสอบถาม วิเคราะห์พฤติกรรม ความคิดเห็นและความต้องการของลูกค้าแต่ละงาน รวมทั้งมีการประเมินผลการวิจัย 2.บริการสื่อสารผ่านอีเมล หรือ E-message เป็นระบบการเชิญลูกค้าออนไลน์ ซึ่งลูกค้าสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมงานอัตโนมัติ และระบบจะสามารถแสดงผลการตอบรับของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และ 3.บริการ Website ที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกด้านธุรกิจไมซ์ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ศูนย์ประชุม โรงแรมที่พัก ระบบคมนาคมขนส่ง แหล่งท่องเที่ยว รายชื่อบริษัทรับจัดงานประชุม งานแสดงสินค้า การท่องเที่ยว

การบูรณาการด้านท่องเที่ยว ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคที่องค์กรด้านท่องเที่ยวได้ถูกปรับโฉมโมเดลการตลาดใหม่ชนิดแกะกล่องด้วยฝีมือของขุนพลใหม่ที่เข้ามาบริหารจัดการจึงต้องสอดรับประสานงานกันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายถึงเป้าหมายรายได้ที่วางไว้กว่า 8 แสนล้านบาทว่าจะสามารถทำได้หรือไม่นั้นต้องคอยจับตาดู...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.