|
CP รุกธุรกิจไบโอดีเซลทำคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งปลูกปาล์มในอินโดจีน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 มีนาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ไบโอดีเซลอิงกระแสน้ำมันพุ่ง เอกชนราย “เล็ก-ใหญ่” แห่ลงทุนทั่วประเทศคึกคัก “นายกสมาคมปาล์มฯ” การันตีกระแสแรงจริง “มาเลย์-จีน” แห่ซื้อ-เช่า ที่ดินปลูกเพิ่ม ด้านยักษ์ใหญ่ “ซีพี” ลงทุนเฟสแรก 850 ล้านนำร่อง 3 โรงงานผลิตไบโอดีเซลครบวงจร จ่อคลอดเฟส 2 ดึงคอนแทร็กฟาร์มมิ่งเพื่อนบ้าน ลาว เวียดนาม พม่า รับรองกำลังผลิตไบโอดีเซล พร้อมยืนยันธุรกิจไบโอดีเซลอนาคตสดใส
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลที่ขายในบ้านเราก็ทะลุ 30 บาท/ลิตรอีกรอบแล้ว ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกก็มีแนวโน้มว่าราคาจะไม่ต่ำไปกว่านี้อีกแล้ว ทำให้รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกนโยบายส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลอย่างจริงจังเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะให้มีการผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลประเภท B5 ซึ่งเป็นการผสมไบโอดีเซล 5% กับน้ำมันดีเซล 95% ให้ได้ทั่วประเทศภายในปี 2554 และเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลเป็น 10% หรือ B10 ให้ได้ทั่วประเทศในปี 2555 ทำให้เอกชนไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ทั่วประเทศตื่นตัวกับนโยบายดังกล่าวหนึ่งในนั้นคือยักษ์ใหญ่อย่าง “ซีพีกรุ๊ป” ที่สนใจจะลงทุนผลิตไบโอดีเซลอย่างจริงจังเพื่อตอบสนองต้องการใช้ไบโอดีเซลที่นับวันจะสูงมากขึ้น
ขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม 2 แสนไร่
ดังนั้นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) โดยกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรมองเห็นถึงโอกาสดังกล่าวจึงพร้อมเดินหน้าเดินหน้าปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไบโอเซลเต็มตัวเพราะทางกลุ่มซีพีเองมีเงินทุน และบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางอีกทั้งมีที่ดินในมือกว่า 4,200 ไร่ ขณะที่พื้นที่เพราะปลูกในต่างประเทศอย่าง เวียดนาม พม่า และลาวก็พร้อมจะสนับสนุนในลักษณะคอนแทร็กฟาร์มมิ่งอีกทาง ส่วนเมล็ดแม่พันธ์ CP - Golden Tenera ก็ให้ผลผลิตที่สูงกว่ารายอื่นๆ องค์ประกอบเหล่านี้จึงทำให้กลุ่มซีพีมั่นใจว่าธุรกิจดังกล่าวจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน อีกทั้งไบโอดีเซล-ไฟฟ้าจากโรงฟ้าขนาด 1 เมกกะวัตต์ที่ได้จะมาเข้าช่วยลดต้นทุนในกลุ่มธุรกิจต่างๆในเครืออีกด้วย
“มนตรี คงตระกูลเทียน” ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวถึงนโยบายการผลิตไบโอดีเซลแบบครบวงจรของกลุ่มซีพีว่า ทางกลุ่มพืชครบวงจรได้ศึกษาโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2549 เพราะเล็งเห็นว่าราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกจะไม่ต่ำไปกว่านี้ อีกทั้งการวิจัยของกลุ่มซีพีก็พบว่าแม่พันธุ์เมล็ดปาล์มอย่าง CP - Golden Tenera ก็ให้ผลผลิตเป็นอย่างดีเฉลี่ย 4 ตัน/ไร่/ปี ขณะที่สายพันธ์อื่นๆในประเทศไทยผลิตได้เพียง 2.2 -2.7 ตัน/ไร่/ลิตรเท่านั้น ทำให้กลุ่มพืชครบวงจรจะเข้าสู่ธุรกิจผลิตไบโอดีเซลอย่างครบวงจรโดยเบื้องต้นซีพีซึ่งมีที่ดินกว่า 4,200 ไร่จะนำร่องปลูกปาล์มใน 7 จังหวัดคือ นครศรีธรรมราช กระบี่ ชุมพร สงขลา ระนอง สระบุรี และ กำแพงเพชร
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2551 -2553 ทางซีพีตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะขยายพื้นที่ปลูกปาล์มครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศโดยเบื้องต้น 3 ปีแรกจะขยายการเพราะปลูก 3 จุดจุดละ 1 หมื่นไร่ในลักษณะคอนแทร็กฟาร์มมิ่งกับเกษตรในประเทศเพื่อรองรับโรงงานผลิตไบโอดีเซลครบวงจรและภายใน 10 ปีจะขยายพื้นที่ปลูกปาล์มให้ได้ถึง 2 แสนไร่
ลงทุน 850 ล้านนำร่องโรงงาน 3 แห่ง
สำหรับโรงงานผลิตไบโอดีเซลครบวงจรทั้ง 3 แห่งของซีพีจะตั้งอยู่ที่ 1 .จังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันรองรับ 1 หมื่นไร่ 2. จังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันรองรับแล้ว 1 หมื่นไร่ และ 3. จังหวัดสระบุรีมีพื้นที่รองรับปลูกปาล์มน้ำมัน 1 หมื่นไร่โดยทั้งโรงงาน 3 จุดจะเริ่มผลิตไบโอดีเซลอย่างจริงในปลายปี 2553 เป็นต้นไป
นอกจากนี้แล้วโรงงานผลิตไบโอดีเซลแต่ละจุดจะประกอบด้วย 1.โรงหีบน้ำมันปาล์มที่กำลังการผลิตที่ 5 ตัน/ชั่วโมงใช้เงินลงทุน 40 ล้าน 2.โรง GASIFIER ที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเบื้องต้นยังไม่ตัดสินใจว่าจะซื้อเครื่องจากต่างประเทศ หรือ คิดค้นเองเบื้องต้นวางงบประมาณไว้ที่โรงละ 150 ล้านบาทขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า1 เมกกะวัตต์ 3. โรงผลิตไบโอดีเซลคาดว่าจะใช้เงินลงทุนจุดละ 80 ล้านบาท
“เงินลงทุนแต่ละแห่งประมาณ 270 ล้านบาทสร้าง 3 โรงงานก็อยู่ประมาณ 750 -850 ล้านบาทซึ่งกลุ่มซีพีจะเดินหน้าลงทุนได้เลยในปีนี้” ประธานกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ระบุ
จ่อลุยเฟส 2 ปลูกปาล์มอีก 5 แสนไร่
อย่างไรก็ดีเมื่อเฟสแรกประสบความสำเร็จทางซีพีได้กำหนดขยายพื้นที่ปลูกปาล์มเพิ่มเติมโดยเล็งพื้นที่เพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว เวียดนาม พม่า ปลูกปาล์มเพิ่มเติมในลักษณะคอนแทร็กฟาร์มมิ่งเพราะหากเอาความต้องการใช้น้ำมันดีเซลวันละ 55 ล้านลิตรในปี 2554 จะต้องปลูกปาล์มสูงถึง 25 ล้านไร่แต่ตอนนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพียง 3 ล้านไร่เท่านั้น
ดังนั้นเมื่อเริ่มเข้าสู่เฟสสอง (2554-2560 )ทางกลุ่มซีพีคาดว่าจะต้องปลูกปาล์มให้ได้ถึง 500,000ไร่ทั้งภายในและนอกประเทศเพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการใช้ภายในประเทศที่นับวันจะสูงมากขึ้น
“เราคงไม่ไปแข่งขายน้ำมันไบโอดีเซลกับปตท.ที่มีบริษัทไทยโอลีโอเคมีจำกัด (TOL) บริษัทในกลุ่มของปตท.ที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในประเทศแต่จะผลิตไบโฮดีเซลเพื่อขายให้น้ำมันที่ได้ให้ปตท.มากกว่า” มนตรี กล่าวยืนยัน
ก. เกษตรฯหนุนปลูกปาล์มสุดตัว
นโยบายของกลุ่มซีพีดังกล่าวสอดคล้องกับแผนพัฒนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้กำหนดนโยบายส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันโดยจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 5 ปี (ปี2551-2555) ซึ่งครม.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว โดยแผนดังกล่าวจะส่งเสริมเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันปีละ 500,000 ไร่ รวม 2.5ล้านไร่ การปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนสวนปาล์มเก่าอีกปีละ 100,000ไร่ รวม 5 แสนไร่ จากปัจจุบันทั่วประเทศมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตแล้ว 2 ล้านไร่ ให้ผลผลิตปาล์มดิบ 5.2 ล้านตัน น้ำมันปาล์มดิบ 860,000 ตัน พร้อมทั้งยังมีการชดเชยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรในวงเงินกว่า 9,520 ล้านบาทอีกด้วย
อย่างไรก็ดีเพื่อให้นโยบายสำเร็จเป็นรูปธรรมกระทรวงเกษตรฯได้กำหนดยุทธศาสตร์ 5 ด้านได้แก่ 1.การใช้พลังงานทดแทน ผ่านการสนับสนุนการผลิตและใช้ไบโอดีเซลให้สอดคล้องกับปริมาณวัตถุดิบในประเทศ 2..ยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาบุคลากร โดยการวิจัยและพัฒนาปาล์มน้ำมัน พัฒนาบุคคลากร รวมทั้งต้องมีการถ่ายทอดความรู้ระหว่างเกษตรกรด้วย 3.ยุทธศาสตร์การบริหารและการจัดการและกองทุนพัฒนาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 4.เพิ่มผลิตภาพและคุณค่าผลปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์ โดยการเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีในเขตที่เหมาะสม ปรับปรุงพันธุ์ในสวนปาล์มเก่า ปรับปรุงโครงสร้างการผลิต การตลาด และ 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการตลาดโดยใช้นโยบายพลังงานเป็นกลไกลหลักในการรักษาเสถียรภาพทั้งด้านตลาด ราคาและการผลิต
กระแสโลกฮิต ‘ปลูกปาล์มน้ำมัน’
ด้านภาคเอกชนกลับเป็นห่วงว่านโยบายดังกล่าวจะล้มเหลวไม่เป็นท่า “ทวี ศรีสุคนธ์” นายกสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทยมองว่า นโยบายดังกล่าวยังไม่เป็นรูปธรรมไม่ใช่แค่รัฐบาลชุดนี้ที่มีโครงการส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมัน แต่เป็นอย่างนี้มาทุกยุคทุกสมัย แต่พอจะเดินหน้าโครงการจริงๆกลับไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง รัฐบาลชุดนี้ก็เหมือนเดิมยังไม่มีทีท่าว่าจะดำเนินการอย่างไรนโยบายปลูกปาล์ม 5 ล้านไร่คงจะเป็นไปได้ค่อนข้างอยาก
ส่วนความเคลื่อนไหวประเทศเพื่อนบ้านกลับส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างเต็มที่ตอนนี้ประเทศมาเลเชียมีพื้นที่ปลูกปาล์มทั่วประเทศ 13 ล้านไร่และไปเช่าที่ดินของประเทศอินโดนีเซียปลูกอีก 8 ล้านไร่ ขณะที่ประเทศจีนก็มีโครงการว่าจะไปเช่าเกาะบอร์เนียวปลูกปาล์ม 8 ล้านไร่ด้วยเช่นกัน
“กระแสการปลูกปาล์มน้ำมันตอนนี้แรงมากๆ เพราะราคาน้ำมันที่พุ่งไม่หยุดทำให้ทุกคนต่างสนใจจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้”นายกสมาคมปาล์มน้ำมัน ระบุ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|