|
"ประกันชีวิต"อวดขุมทรัพย์9แสนล้านส้มหล่นภาษีอุ้ม-เสนอเป็นแหล่งทุนเมกะโปรเจกต์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 มีนาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
นายกสมาคมประกันชีวิตไทย "สาระ ล่ำซำ" โชว์ลายแทงขุมทรัพย์เม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมประกันชีวิตปีนี้ จะสูงถึง 9 แสนล้านบาท จากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้เพียง 6 แสนล้านบาท ส่วนสำคัญมาจาก มาตรการลดหย่อนภาษีที่กลายมาเป็น "โชคเข้าข้าง" เลื่อนจากหลัก 5 หมื่นบาท ขึ้นมาเป็น 1 แสน ในชั่วข้ามคืน เสนอตัวใส่พานประเคน โครงการเมกะโปรเจ็กต์ เป็นแหล่งทุนระยะยาว 25-30 ปี ขณะที่ธุรกิจประกันชีวิต มองลูกค้า "ระดับบี" จะได้ประโยชน์จากมาตรการภาษี ส่วนผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี คงตัดสินใจซื้อยาก...
สาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเลขสินทรัพย์ลงทุน และอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิต อย่างปัจจุบันทันด่วน ภายหลังมาตรการภาษีประกาศให้ผู้ซื้อประกันชีวิตจ่ายเบี้ย 10 ปี จะได้เพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีจากเดิม 5 หมื่นบาทเป็น 1 แสนบาท
มาตรการภาษีที่ถูกมองว่าเอื้อหนุนเฉพาะ คนมีเงินออมระดับบน ถือเป็นโชคเข้าข้างธุรกิจประกันชีวิตค่อนข้างมาก ถึงกับมีการปรับเปลี่ยนตัวเลขอัตราการเติบโตในปีนี้ใหม่จากเดิมคาดไว้ไม่ต่ำกว่า 11% และสินทรัพย์ลงทุนร่วม 6 แสนล้านบาท มาเป็นอัตราการเติบโต จะขยับขึ้นมาที่ 15-16% หรือคิดเป็นสินทรัพย์ลงทุนสูงถึง 9 แสนล้านบาท
สาระ อธิบายปรากฏการณ์ ของมาตรการภาษีที่ประกาศออกมาเพียงแค่ชั่วข้ามคืน จะทำให้สินทรัพย์ลงทุน ขยายจากเป้าที่ตั้งไว้ปีนี้ 6 แสนล้าน เป็น 9 แสนล้านบาท และในแง่เศรษฐกิจ จะเป็นแหล่งเงินทุนระยายาวที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศ ที่จะวิ่งได้ยาว 25-30 ปี
ที่สำคัญ สมาคมประกันชีวิตไทย ก็พร้อมจะสนับสนุนเม็ดเงินทั้งหมดเพื่อใช้เป็นแหล่งเงินในโปรเจ็กต์ระดับชาติ แต่ต้องอยู่ภายใต้รูปแบบของธุรกิจประกันชีวิตเท่านั้น
นายกสมาคมประกันชีวิต ยังมองแนวโน้มปี 2551 ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ไม่มองว่าการซื้อประกันชีวิตเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเหมือนในอดีต ตัวเลขจึงน่าจะเติบโตขึ้นมากกว่าปี 2550 แม้จะมีปัจจัยลบคือ อัตราดอกเบี้ย และกำลังซื้อเป็นตัวแปรสำคัญก็ตาม ดังนั้นอัตราขยายตัวที่มองไว้ 15-16% จะคิดเป็น 3 เท่าของ ตัวเลขจีดีพี
นอกจากนั้น จำนวนเบี้ยใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามา ก็มีผลมาจากช่องทางขายใหม่ๆ อาทิ ช่องทางขายผ่านธนาคาร หรือ แบงแอสชัวรันส์ และขายผ่านโทรศัพท์ หรือ เทเลมาร์เก็ตติ้ง ที่กำลังโตวันโตคืน จากเดิมที่มีช่องทางขายหลักคือ ตัวแทน
สาระ อธิบายว่า การเติบโตของเบี้ยใหม่ ส่วนหนึ่งยังมาจาก ช่องทางขายอื่นๆที่เติบโตมากขึ้น เช่น ช่องทางขายตรง ช่องทางอินเตอร์เน็ต มีเดีย อาทิ ทีวี ช่องทางไดเร็ค หรือ ส่งจดหมายตรงถึงบ้าน ซึ่งทำให้ประกันชีวิตเข้าถึงทุกครัวเรือนมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา
นอกจากนั้น สินค้าประกันชีวิตในระยะหลัง ยังสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับ กลางหรือ ตลาดบน ไปจนถึงรากหญ้า
" ความรู้ของคนไทยมีมากขึ้น และสมาคมหรือธุรกิจก็ร่วมมือกับหน่วยงาน หรือองค์กรอื่น เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับผู้คนทุกระดับ ซึ่งส่วนนี้จะช่วยให้เปอร์เซ็นต์คนถือครองประกันชีวิตมีมากขึ้น"
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีสินค้าประเภทที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทยอยออกมาเรื่อยๆ อาทิ ยูนิเวอร์แซลไลฟ์ หรือ ยูแอล ที่เป็นสินค้าประเภทออมระยะสั้น ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกับเงินฝากธนาคาร และหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
อย่างไรก็ตาม มาตรการลดหย่อนภาษีที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 1 แสนบาท จะกำหนดเฉพาะผู้ซื้อกรมธรรม์ที่มีการจ่ายเบี้ย 10 ปี และขึ้นกับรายได้ของบุคคลนั้นๆ โดยนับตามเปอร์เซ็นต์อัตราภาษีสุดท้ายของบุคคลนั้นๆ
สมโภชน์ เกียรติไกรวัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอเอ็นจีประกันชีวิต อธิบายว่า มาตรการภาษีจะทำให้ตลาดระดับ บีขึ้นไปได้ประโยชน์ ส่วนที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 1 แสนบาท อาจจะตัดสินใจซื้อยากขึ้น ซึ่งมองว่า มาตรการนี้จะทำให้ยอดขายประกันชีวิตค่อยๆดีขึ้น แต่ไม่ถึงการขยายตัวพรวดพราด
สุทธิ รจิตรังสรรค์ กรรมการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย บอกว่า มาตรการภาษีสำคัญตรงที่ ถูกกระตุ้นให้น่าสนใจ เพราะถ้าเพิ่มวงเงินลดหย่อนเป็น 1 แสนบาท ก็เท่ากับ ภาครัฐจ่ายเงินภาษีให้กับประชาชนแทน ดังนั้น คนก็จะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น
"คนที่ไม่เคยซื้อประกันชีวิตเลยก็จะหันมามองว่า ซื้อประกันชีวิตแล้วได้อะไร เมื่อรัฐเสียภาษีแทน ก็จะหันมาซื้อ แถมกับได้ความคุ้มครอง คนที่จ่ายภาษีในอัตราภาษีสูงๆ ก็จะได้ประโยชน์จากภาครัฐจ่ายภาษีแทนให้ จึงน่าจะต้องเรียนรู้ประโยชน์จากมาตรการภาษี"
สุทธิ บอกว่า มาตรการภาษีอาจจะทำให้บางส่วนได้ประโยชน์มากกว่า คนส่วนใหญ่ แต่อย่างน้อย การเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีก็จะช่วยกระตุ้นให้คนซื้อประกันชีวิต และธุรกิจเติบโตได้มาก รวมถึงภาครัฐก็จะมีเงินได้จากภาษีมากขึ้นด้วย เพราะผู้คนมีเงินเหลือไว้ใช้จ่าย
อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล กรรมการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย บอกว่า ช่องทางใหม่ๆที่เพิ่มขึ้น เช่น แบงแอสชัวรันส์ ไดเร็คมาร์เก็ตติ้ง และตัวแทนจะมีเบี้ยรับเข้ามามาก เพราะทุกช่องทาง สามารถนำเอามาตรการภาษีมาเป็นจุดขายได้ ทั้งนี้ประกันชีวิตหวังจะเติบโตถึง 20% หรืออาจจะ 30%
" เมื่อเศรษฐกิจดี ภาพลักษณ์ธุรกิจก็จะดี"
สาธิต รังคสิริ อธิบดี กรมสรรพากร อธิบายว่า การเพิ่มวงเงินภาษีธุรกิจประกันชีวิตจาก 50,000 บาทเป็น 1 แสนบาท จากที่ยื่นขอถึง 3 แสนบาท เป็นเพราะเกรงว่า ระบบการออมในประเทศจะบิดเบือน
ส่วนสำคัญมาจาก สิทธิประโยชน์มีมากกว่า สถาบันการเงินอื่น อย่าง ธนาคารและธุรกิจจัดการกองทุน ตรงที่มีความคุ้มครองชีวิตพ่วงอยู่ด้วย และยังมีเงินคืนเมื่อกรมธรรม์ครบอายุ ขณะที่ผู้เอาประกันยกเลิกกรมธรรม์ก่อนครบสัญญา ก็จะไม่มีการเสียค่าธรรมเนียม
ตรงกันข้ามกับกองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุหรือ อาร์เอ็มเอฟ กับกองทุนรวมเพื่อการลงทุนหุ้นระยะยาวหรือ แอลทีเอฟ จะต้องเสียค่าธรรมเนียม เมื่อผู้ถือหน่วยลงทุนมีการไถ่ถอนก่อนกำหนด รวมถึงผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งสองกองทุนก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการภาษีด้วย ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ไม่น่าลงทุนเมื่อเทียบกับประกันชีวิต
ดังนั้น วงเงินลดหย่อนภาษีของทั้งสองกองทุน จึงสูงกว่า จากเดิม 3 แสนบาท ก็จะเลื่อนมาเป็น 5 แสนบาท
ขณะเดียวกัน ในภาคธนาคารก็จะถูกเมินจากเจ้าของเงินออม เพราะอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่น่าจูงใจ แถมยังไม่มีความคุ้มครองชีวิต เหมือนกับธุรกิจประกันชีวิต ที่มีสินค้าหลากหลาย ซึ่งเป็นคู่แข่งกับบัญชีเงินฝาก เพราะให้ดอกผล และพ่วงกับความคุ้มครองชีวิต
ทั้งหมดคือ เหตุผลที่กรมสรรพากร กำหนดวงเงินลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจประกันชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนบาท จาก 5 หมื่นบาท แทนที่จะสูงถึง 3 แสนบาท ตามที่สมาคมประกันชีวิตไทยยื่นขอไปก่อนหน้านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|