การกลับมาของ กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์ ไม่มีวันนี้ไม่ได้!

โดย สันทิฏฐ์ สมานฉันท์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ชื่อของ "กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์" เงียบหายไป หลังจากต้องคดีรุกป่าสงวนที่สร้างชื่อ "พล.ต.อ. ประทิน สันติประภพ" จนโด่งดัง ส่วนตัวกิตติเองก็ประกาศว่าจะไปปักหลักที่จีนแทน แต่ฝันนี้ก็ไม่เป็นจริงอีก จนในที่สุดเขากลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ล้างภาพสวนป่ากิตติ กลายเป็น "แอ๊ดวานซ์ อะโกร" นำบริษัทเข้าตลาดหุ้น อาณาจักรของเขาใหญ่ขึ้น มั่นคงยิ่งขึ้น แต่ตัวกิตติตัดสินใจทำตัวเงียบยิ่งกว่าเดิม

หลังเหตุการณ์เมื่อต้นปี 2533 ที่ช็อกวงการธุรกิจ ใครๆ ต่างก็คิดว่า "กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์" คงจบแล้วสำหรับกิจการสวนป่ายูคาลิปตัส และธุรกิจเกี่ยวเนื่องจากสวนป่าแห่งนี้ในเมืองไทย

ขณะที่กิตติเองประกาศกร้าวที่จะย้ายความฝันนี้ไปจากเมืองไทย ซึ่งเป้าหมายแห่งใหม่ย่อมอยู่ที่ประเทศจีน

แต่ทุกอย่างมิใช่จะได้มาโดยง่าย แผนงานการลงทุนในจีนไม่เป็นไปตามที่กิตติคาดหวัง เพราะเอาเข้าจริงดูจะมีแต่ปัญหาและอุปสรรคมากมาย

หรือเมื่อถามไถ่ผู้บริหารที่ร่วมทีมงานของกิตติ คำตอบที่ได้มีเพียงว่า ที่ดินที่ทางรัฐบาลท้องถิ่นของจีนจะหามาให้ยังมีปัญหาและไม่เหมาะสม ทำให้โครงการล่าช้าออกไป แต่ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการต่อไป ไม่ถึงกับล้มโครงการในจีนเสียทีเดียว

แต่ว่ากันว่าที่ดินที่ได้มา ที่เข้าใจว่าเป็นที่ดินผืนงามสำหรับการทำสวนป่านั้น เป็นที่รกร้างว่างเปล่าก็จริง แต่ยากลำบากต่อการเพาะปลูก เพราะมีลมมรสุมพัดผ่านอย่างรุนแรงตลอดปี แผนงานที่วางไว้จึงต้องยุติเพียงแค่นั้น

ไม่ว่าโครงการในจีนจะเดินหน้ารวดเร็วหรืออืดอาดล่าช้าออกไป ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญสำหรับกิตติเสียแล้ว

เพราะวันนี้ โครงการความฝันที่แท้จริงของเขา ได้เดินเครื่องอย่างคล่องตัวสะดวกสบาย ผิดหูผิดตาจากอดีตเมื่อราว 5 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง

หลังเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น กิตติเก็บรับบทเรียนมากมาย จนที่สุดทุกอย่างได้รับการพิสูจน์แล้วระดับหนึ่ง การกลับมาครั้งใหม่นี้ จึงเต็มไปด้วยความระมัดระวัง และความตั้งใจที่จะลบภาพพจน์เก่าออกไป

ที่สำคัญ จังหวะก้าวครั้งใหม่นี้ดูจะสร้างความยิ่งใหญ่ได้ไม่ยากเย็นนัก

ว่าไปแล้ว สุรางค์ ดำเนินชาญวนิชย์ ภรรยาของกิตตินี่เองที่เป็นผู้ริเริ่มและจุดประกายขึ้นเมื่อปี 2526 ด้วยการกว้านซื้อที่ดินหลายหมื่นไร่ จากนั้นจึงลงทุนปลูกไม้โตเร็ว ป่ายูคาลิปตัส ในขั้นแรกเพียงเพื่อที่จะเป็นชิ้นไม้สับส่งขายให้กับญี่ปุ่นเท่านั้น

แต่โครงการนี้สุรางค์ ไม่สามารถดูแลได้จนตลอด เมื่อล้มป่วยลง จนที่สุดกิตติต้องเข้ามาดูแลกิจการ ซึ่งถือเป็นธุรกิจแขนงใหม่จากที่เคยทำมา

ในขณะนั้นอาจกล่าวได้ว่าโครงการสวนป่ายูคาลิปตัส เป็นงานท้าทายใหม่ของกลุ่มเกษตรรุ่งเรืองพืชผล จะเห็นได้จากเมื่อกิตติเข้ามาดูแลสวนป่าเหล่านี้แล้ว ดูเหมือนว่าจะทิ้งงานกิจการค้าข้าวและพืชไร่และกิจการอื่นๆ ที่เคยดูแลมาจนหมด โดยโอนให้ผู้ใกล้ชิดและบุตรชายคนโต "โยธิน" รับภาระไป

ผู้ใกล้ชิดกล่าวถึงความกระตือรือร้นของกิตติว่า "หลังจากเข้ามาดูแลสวนป่าแล้ว คุณกิตติให้ความสนใจต่อโครงการมาก ใส่ใจความเจริญเติบโตของต้นยูคาลิปตัส ซึ่งพบว่าบางต้นโต บางต้นไม่โต ก็พยายามหาทางออกศึกษาวิธีการต่างๆ ระหว่างนั้นก็เดินทางไปดูโครงการปลูกป่าต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนั้นมีโครงการอะราครูซ ซึ่งถือเป็นยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกในอุตสาหกรรมสวนป่าและผลิตเยื่อกระดาษ

ในยุคเริ่มแรกในโครงการสวนป่ายูคาลิปตัส ก่อนก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมสวนป่าและโรงงานผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษแบบครบวงจรนั้น กิตติได้นักวิชาการที่มีแนวคิดรุกไปข้างหน้าเข้ามาเสริมพลังที่มีอยู่

ดร.นิกร วัฒนพนม อาจารย์คณะบริหารจากนิด้า เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเชิงนโยบายด้านการลงทุน ที่กิตติเห็นว่าเป็นพัฒนการทางธุรกิจแขนงใหม่ของกลุ่มเกษตรรุ่งเรืองพืชผล และดร.นิกรผู้นี้ยังมีหน้าที่สำคัญในการร่วมเจรจากับต่างประเทศในยุคเริ่มแรกนั้นด้วย

ดร.นิกรได้เข้ามาร่วมงานกับกิตติในยุคที่กิตติเพิ่งเริ่มเข้ามาดูแลงานสวนป่าอย่างเต็มตัว และตลอดเวลาที่ผ่านมา ดร.นิกรจะพูดคุยถึงแนวคิดให้ความเห็นผ่านกิตติเพียงคนเดียวเท่านั้น

และดร.นิกรนี่เองที่มีส่วนสำคัญที่ผลักดันและสร้างความมั่นใจให้กิตติ จนตัดสินใจก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและกระดาษแบบครบวงจร

ดร.นิกรเห็นว่าโครงการเยื่อกระดาษครงวงจรเป็นโครงการที่คนไม่อยากเข้ามาทำ แต่ถ้าสามารถทำได้แล้วคนอื่นจะตามทันยาก เพราะกว่าคนอื่นจะมีวัตถุดิบคือไม้ยูคาลิปตัสป้อนแก่โรงงานก็ต้องใช้เวลาปลูกอย่างน้อย 5 ปี

กิตติจึงตัดสินใจเมื่องมองถึงศักยภาพรอบด้านที่มีอยู่ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นพลังทางการเงินและการเมือง

โครงการสวนป่ายูคาลิปตัสที่หวังเพียงตัดเป็นชิ้นไม้สับจำหน่ายให้กับญี่ปุ่น จึงขยายสู่โครงการระดับหมื่นล้าน เพื่อทำการผลิตเยื่อและกระดาษแบบครบวงจร

ถ้าไม่มีอุปสรรคตอนต้นปี 2533 ป่านนี้โครงการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษของกิตติ อาจจะส่งสินค้าออกไปยังท้องตลาดเป็นจำนวนมากแล้วก็ได้

เพราะว่ากิตติได้ก่อตั้งบริษัทเพื่อทำโครงการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2532 ในนามบริษัท สวนกิตติ พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนก่อตั้ง 20 ล้าน โดยขณะนั้นวางแผนที่จะผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวชนิดใยสั้น มีกำลังการผลิต 175,000 ต้นต่อปี โดยใช้ไม้ยูคาลิปตัสจากบริษัท สวนกิตติ และบริษํท สวนสยามกิตติ เป็นวัตถุดิบ

ทั้งสองบริษัทที่จะป้อนไม้ยูคาลิปตัสให้กับโรงงานผลิตเยื่อและกระดาษตามแผนนั้น ก็คือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทสวนกิตติ พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ ซึ่งต่อมาเข้าใจว่าโครงสร้างการถือหุ้นนี้มีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้โครงการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ ตัดขาดจากกิจการสวนป่า โดยเฉพาะสวนกิตติอย่างสิ้นเชิง โดยระยะหลังใช้ชื่อการถือหุ้นในนามกลุ่มบริษัท เกษตรรุ่งเรืองพืชผล

เหตุที่ต้องการตัดชื่อเหล่านั้นทิ้งก็เพื่อการล้างภาพพจน์ในอดีต แม้จะผ่านการพิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม

จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2534 หลังจากที่ปัญหาในคดีการบุกรุกที่ป่าเริ่มคลี่คลาย และแนวโน้มการกลับมาของธุรกิจจะเป็นไปได้ กิตติจึงทำการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น "แอ๊ดวานซ์ อะโกร" เพื่อให้ดูว่าพ้นเงาดำของภาพลบในอดีต

มิใช่แค่เพียงการเปลี่ยนชื่อบริษัทหรือการถ่ายโอนหุ้นที่อยู่ในนามสวนกิตติและสวนสยามกิตติเท่านั้น

เมื่อถึงขั้นตอนที่จะต้องซื้อวัตถุดิบคือไม้ยูคาลิปตัส คงไม่อาจที่จะปล่อยให้แอ๊ดวานซ์ อะโกร ซื้อไม้ยูคาลิปตัวจากสวนกิตติ ได้โดยตรง ตามนโยบายล้างภาพพจน์นั้น

บริษัท อะโกรไลน์ส จำกัด จึงถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการหาวัตถุดิบมาป้อนให้กับโรงงานผลิตเยื่อและกระดาษของแอ๊ดวานซ์ อะโกร อีกทอดหนึ่ง

ซึ่งบริษัท อะโกรไลน์ส แห่งนี้ถือหุ้นโดยสวนกิตติ 74.99%

การลบภาพเก่าๆ และการจัดทัพครั้งใหม่นี้ดูเหมือนว่าจะทำให้กิตติมั่นใจยิ่งขึ้น เพราะยังมิทันที่โรงงานเยื่อและกระดาษโรงแรกจะเสร็จสมบูรณ์ ก็ได้ประกาศโครงการโรงงานเยื่อและกระดาษแห่งที่สองขึ้นมาเพื่อรองรับสภาพของตลาดและอุตสาหกรรมนี้ที่ดูจะสดใสอย่างยิ่ง

โครงการผลิตเยื่อและกระดาษในนามบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร นั้น นับเป็นโครงการต่อเนื่องจากสวนป่ายูคาลิปตัสที่แม้จะเป็นต่างบริษัทดำเนินการ แต่ก็ถือว่าอยู่ในเครือข่ายหุ้นส่วนใหญ่เดียวกัน

แผนงานขั้นต้นนั้นวางไว้ว่าจะทำการผลิตเยื่อกระดาษที่มีกำลังการผลิต 175,000 ตันต่อปี และผลิตกระดาษพิมพ์เขียนที่มีกำลังการผลิต 217,200 ตันต่อปี เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกบางส่วน ส่วนมูลค่าโครงการแรกนี้จะใช้เงินลงทุนราว 16,740 ล้านบาท

โรงงานผลิตเยื่อกระดาษของแอ๊ดวานซ์ อะโกร นอกจากจะผลิตเพื่อป้อนบริษัทแล้ว บางส่วนยังส่งไปยังบริษัท ไฮเทค เปเปอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกระดาษชนิดไม่เคลือบผิว ที่มีกำลังการผลิต 41,000 ตันต่อปี และเป็นบริษัทย่อยของแอ๊ดวานซ์ อะโกร นอกจากนี้แอ๊ดวานซ์ อะโกร ยังตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง "99 กรุ๊ปเซ็นเตอร์" เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายกระดาษที่ได้จากการผลิตของโรงงานแอ๊ดวานซ์ อะโกรและโรงงานของบริษัทย่อย

(รายละเอียดโครงสร้างบริษัทการโยงใยเครือข่ายของกลุ่มบริษัท เกษตรรุ่งเรืองพืชผลดังตารางประกอบ)

"คดีส่วนใหญ่หลุดหมดแล้ว ที่เหลืออีกไม่กี่คดีก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน มันเป็นปัญหาการเมือง ซึ่งวันนี้พิสูจน์แล้วว่าอะไรเป็นอะไร ช่วงนั้นมีคนต้องการสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อสร้างวีรบุรุษ"

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ผู้ซึ่งกิตติ ดำเนินชาญวนิชย์ วางใจให้เข้ามาดูแลรับผิดชอบงานที่ถือเป็นก้าวใหม่ของตระกูลในฐานะประธานกรรมการบริหารแทนตนเอง ซึ่งมีเหตุผลเพียงว่า กิตติ ต้องการที่อยู่ข้างหลังและเก็บตัวมากกว่าการออกมาพบปะสาธารณชน ซึ่งบางครั้งจำต้องฝืนใจ ถ้ายังขืนอยู่ในฐานะประธานกรรมการบริหารเช่นเดิม

ดร.วีรพงษ์ กล่าวถึงแผนงานที่เร่งทำกันขณะนี้ว่า บริษัทได้พยายามเร่งโรงงานแห่งแรกนี้ให้เสร็จเร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม 3 เดือน เนื่องจากขณะนี้ตลาดมีความต้องการสินค้าอย่างมาก ยิ่งบริษัทเร่งการผลิตให้เร็วขึ้นเท่าไร ก็หมายถึงรายได้และกำไรจะมากขึ้นตามไปด้วย

เดิมโครงการโรงงานเยื่อและกระดาษแห่งนี้ กำหนดว่าการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนชนิดไม่เคลือบผิว จะเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2539 การผลิตกระดาษพิมพ์เขียนชนิดเคลือบผิวเริ่มในเดือนสิงหาคม 2539 และการผลิตเยื่อกระดาษเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2539

"ขณะนี้เราเซ็นสัญญาซื้อเครื่องจักร เพื่อติดตั้งในโรงงานผลิตเยื่อและกระดาษโรงที่สอง พร้อมแผนงานทุกอย่างไว้แล้ว"

ดร.วีรพงษ์ อธิบายอีกว่า เหตุผลที่บริษัทตัดสินใจเริ่มโครงการที่สอง เพราะผู้ผลิตเครื่องจักรได้ขายให้เราในราคาถูกมาก หรือถูกกว่าปัจจุบัน 20% ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทได้มีการเจรจากันตั้งแต่ต้นปี 2537 นอกจากนี้โรงงานแห่งที่สองยังสามารถใช้ผลผลิตจากโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ จากการลงทุนของโรงงานแรกได้อย่างเต็มที่เพราะมีเพียงพอ จึงทำให้การลงทุนในโรงงานที่สองนี้ประหยัดในเรื่องต้นทุนด้านระบบสาธารณูปโภคได้มาก

อีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ที่ทำให้ตัดสินใจเริ่มโครงการสองทันที เพราะเราเห็นว่าอุตสาหกรรมกระดาษในประเทศยังมีอนาคตสดใสอีกมาก เพราะยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายที่สามารถผลิตได้จากกระดาษ ซึ่งต่อไปบริษัทคงจะต้องเข้าไปทำการศึกษาในส่วนนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ดีการลงทุนในโรงงานสองนี้ไม่ได้กระทำโดยบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกรโดยตรง ซึ่งดร.วีรพงษ์ บอกว่าไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เป็นเรื่องของเทคนิคในการบริหารหรือการจัดการเท่านั้น

กิตติ พยายามจะจัดโครงสร้างในส่วนของธุรกิจกระดาษให้แยกออกมาอย่างชัดเจน โดยมีแอ๊ดวานซ์ อะโกรเป็นตัวหลัก

ซึ่งการจัดตั้งโรงงานแห่งที่สองนี้จะเห็นความชัดเจนขึ้น

บริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกร จะเข้าถือหุ้น 99.99% ในบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร โฮลดิ้ง จำกัด ที่มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทเพื่อประกอบธุรกิจโฮลดิ้ง จากนั้นบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร โฮลดิ้งจะเข้าถือหุ้น 99.99% ในบริษัทแอ๊ดวานซ์ เปเปอร์ จำกัด ที่มีทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท

ซึ่งบริษัท แอ๊ดวานซ์ เปเปอร์ แห่งนี้จะเป็นผู้ที่เข้าลงทุนในโรงงานแห่งที่สองเพื่อผลิตกระดาษพิมพ์เขียน

โครงการผลิตกระดาษในนามบริษัทแอ๊ดวานซ์ เปเปอร์ จะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 3,200 ล้านบาท มีกำลังการผลิตเต็มที่ 200,000 ตันต่อปี โดยคาดว่าจะเริ่มทำการผลิตได้ประมาณเดือนธันวาคม 2539

การกลับมาครั้งใหม่ด้วยแผนงานการลงทุนที่ต่อเนื่องและระมัดระวังอย่างรอบด้านเช่นนี้ ดูเหมือนว่า ความหวังที่จะเป็นยักษ์ใหญ่ของอุตสหากรรมกระดาษแบบครบวงจรอยู่ไม่ไกลปลายมือของเขาแล้ว

นักต่อสู้ที่ผ่านวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญของชีวิตมาได้ ย่อมหมายถึงว่านับจากนี้ไป ไม่มีสิ่งใดน่าเกรงกลัวอีก

เหตุการณ์ที่ผ่าน ได้ให้บทเรียนแก่เขา "กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์" มากมาย ซึ่งดูเหมือนว่าจะกลายเป็นครูเพื่อให้นักต่อสู้ผู้นี้ ระมัดระวังและรอบคอบมากขึ้น เพื่อพร้อมจะยิ่งใหญ่อีกครั้งในวันข้างหน้า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.