ธวัช ยิบอินซอย เจ็บแต่ไม่เข็ด !


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

กลุ่มบริษัท "ยิบอินซอย" ถือได้ว่าเป็นกลุ่มธุรกิจคนไทยกลุ่มแรกๆ ที่เดินเข้าไปลงทุนในเวียดนาม

จากรากฐานที่มั่นคงในไทย พวกเขานำนักลงทุนไทยอีกหลายคนหลายกลุ่มเข้าเวียดนามอย่างสง่าผ่าเผย แต่ในที่สุดก็ต้องถอนตัวกลับออกมา

บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ก่อตั้งโดยบรรพบุรุษรุ่นบุกเบิกของคุณธวัช ยิบอินซอยและอีก 2 ตระกูล คือ "จูตระกูล" และ "ลายเลิศ" ตั้งรกรากทำมาหากินกันอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย เมื่อปี 2469 ได้ช่วยกันลงขันก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ด้วยทุนทรัพย์ 20,000 บาท ต่อมาปี 2473 ขยับขยายเป็นบริษัทจำกัด

บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เริ่มต้นด้วยการเป็นนายหน้าค้าขายแร่ดีบุก วุลแฟรมในภาคใต้ ที่โตวันโตคืนขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็วสามารถพัฒนายุทธศาสตร์และวิจัยตลาดผลิตภัณฑ์จากแร่ รวมไปถึงเครื่องไม้เครื่องมือในการขุดเจาะแร่จนขยับขยายไปดำเนินกิจการเหมืองแร่อย่างเต็มรูปแบบได้ในเวลาต่อมา

นอกจากนั้น กิจการยังได้ขยับขยายไปในด้านการค้าขายสินค้าประเภท วัสดุก่อสร้าง กลุ่มเกษตรกรรม ไฟฟ้า อีกทั้งยังก้าวล่วงไปถึงการให้การบริการทางด้านการเงินการธนาคาร และก็ลงมาถึงการลงทุนด้านอุตสาหกรรมด้วยการร่วมลงทุนกับต่างประเทศในเบื้องต้นและต่อมากับเพื่อนร่วมชาติเจ้าอื่นๆ อันเป็นที่มาของสินทรัพย์กว่า 1,000 ล้านบาท

ในปี 2510 บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ตกลงร่วมทุนขยับขยายกิจการค้าเป็นครั้งแรก ต่างจากการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอื่นๆ กับต่างประเทศ คือ วิลเลี่ยม แย๊คส์ (Williams Jacks) ในชื่อใหม่ว่า "บริษัท ยิบอินซอยและแย๊คส์ จำกัด" โดยโอนงานทางด้านการตลาดของบริษัท ยิบอินซอย จำกัด กว่า 80% ให้กับบริษัทยิบอินซอย แอนด์ แย๊คส์ จำกัด ทำธุรกิจด้านการนำเข้าวัสดุก่อสร้าง สุขภัณฑ์ วัสดุกันไฟ และเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับความปลอดภัย สีทาบ้าน อะไหล่ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เคมีภัณฑ์ รถแทรกเตอร์ และสินค้าอุตสาหกรรม/วิศวกรรม แรกเริ่มก็แบ่งกัน 50/50 ระหว่าง บริษัทยิบอินซอย จำกัด กับบริษัท วิลเลี่ยม แย๊คส์ จำกัด

แต่ต่อมาในปี 2515 บริษัทยิบอินซอย จำกัด ซื้อกิจการด้านการบริหารและควบกิจการทั้งมวลเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวโดยมี ธวัช ยิบอินซอย ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท ยิบอินซอยและแย๊คส์ จำกัดจนถึงปัจจุบัน

บริษัท ยิบอินซอยเดิมนั้น ได้รับการดูแลจากนักบริหารรุ่นเก่าๆ ที่ยังไม่อาจรามือไปจากกลุ่มลูกหลานของบรรพบุรุษรุ่นแรกไปได้ ที่เห็นๆ ก็มีฉันท์ ลายเลิศ, โชติ จูตระกูล, เทียนชัย ลายเลิศ, สิทธิ์ อจลากุล และธวัช ยิบอินซอย ซึ่งนับได้ว่าเป็นนักบุกเบิกรุ่นที่ 2 ของบริษัท บริหารงานในส่วนของการก่อสร้าง วิศวกรรมคอมพิวเตอร์

รวมไปถึงงานด้านการเงินที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการร่วมทุนกับบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด(มหาชน) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด(มหาชน) และบริษัทประกันภัยที่ชื่อ ซันอัลลายแอนซ์ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด และอีกหลายบริษัทในกลุ่มซอฟต์แวร์ และอื่นๆ

ซึ่งถ้าจะแบ่งให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว บริษัท ยิบอินซอย จำกัดวันนี้มีสินทรัพย์เกือบพันล้านบาท กับผู้คนที่ปฏิบัติหน้าที่กันอย่างขะมักเขม้นอีก 220 คน ซึ่งส่วนมากเป็นพนักงานเก่าแก่อยู่รับใช้บริษัท ยิบอินซอยมาชั่วลูกชั่วหลาน ในขณะที่บริษัท ยิบอินซอยและแย๊คส์ จำกัด มีสินทรัพย์อยู่ 350 ล้านบาทและมีพนักงาน 180 คน

เมื่อปี 2532 บริษัท ยิบอินซอยแอนด์แย๊คส์ จำกัดโดยธวัช ยิบอินซอย ได้รวบรวมบริษัทคนไทยกว่า 50 บริษัทเพื่อก่อตั้งบริษัท ไทยเวียดอินเว็คซิม จำกัดขึ้น เพื่อหาลู่ทางลงทุนในเวียดนาม ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทต่างๆ เริ่มเข้าไปลงทุนในเวียดนามเช่นเดียวกัน

ต่อมาปี 2535 ก็ได้ตั้งบริษัท โพลาร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจน้ำดื่มในเมืองโฮจิมินท์ โดยมีผู้ถือหุ้นไทยรวม 16 ราย ผลจากการลงทุนในระยะเวลา 3 ปีนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ

โพลาร์อินเตอร์เนชั่นแนลเริ่มต้นด้วยการเช่าที่ดินระยะเวลา 25 ปีบนเนื้อที่ 5,000 ตารางเมตรในนิคมอุตสาหกรรม ด้วยทุนทรัพย์ไม่มากเพียง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

ธวัชเล่าว่า การทำธุรกิจในเวียดนามมีกฎระเบียบต่างๆ มากมาย กว่าจะได้รับใบอนุญาตก็กินเวลาปี และปัจจุบันก็ต้องทำธุรกิจน้ำดื่มแข่งกับบริษัทอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตเข้ามาอีกถึง 28 บริษัท ทั้งชาวเวียดนามและต่างชาติอื่นๆ เพราะเวียดนามมีท่าทีที่ต้องการการลงทุนมากๆ

"บริษัทโพลาร์ของเราตอนนี้เหนื่อยมาก เพราะคู่แข่งมากเหลือกิน ขายก็ถูกประมาณขวดละ 8 บาท กำลังจะหาผู้มาเทคโอเวอร์ ถ้าการเทคโอเวอร์ขาดทุนเราก็ยอมแล้ว เก็บไว้ดอกก็คงกินหมด ตอนนี้มีผู้เข้ามาขอเทคโอเวอร์กว่า 5 ราย กำลังเจรจากันอยู่"

สาเหตุสำคัญของการไม่สำเร็จ นอกจากคู่แข่งที่มากมายแล้ว พฤติกรรมผู้บริโภคก็มีส่วน เพราะชาวเวียดนามนิยมซื้อเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมและเบียร์ มากกว่าน้ำดื่มธรรมดาบรรจุขวด อีกทั้งเครื่องดื่มน้ำอัดลม-เบียร์ก็มีราคาพอๆ กับน้ำบรรจุขวด

แม้ว่าการรุกเข้าไปในเวียดนามครั้งนี้ ธวัชจะได้รับบทเรียนครั้งสำคัญ แต่เขาก็ยืนยันว่าไม่เข็ดและจะต้องแสวงหาลู่ทางการลงทุนใหม่ๆ อีก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.