เตรียมตังกองทุนกันวิกฤติศก.รอบ2-ช่วยเอกชน-รัฐ


ผู้จัดการรายวัน(13 มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังเตรียมตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ 2 ป้องกันประเทศไทย เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ เป็นลักษณะกองทุนรัฐบาล เลียนแบบ กองทุนรัฐบาลลอดช่อง เพื่อลงทุนทั้งธุรกิจเอกชน และภาคราชการ-รัฐวิสาหกิจ หากภาคเหล่านี้มีปัญหา เพื่อเป็นเครื่องมือบริหารเศรษฐกิจประเทศ เร่งศึกษารายละเอียดกองทุนนี้ให้เสร็จภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า ขุนคลังยันต่างจากกองทุนฟื้นฟูฯ ปัจจุบัน

ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ รัฐมนตรีคลัง เปิดเผยว่าขณะนี้ กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะตั้งกองทุนรัฐบาล ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง เพื่อใช้ลงทุนธุรกิจไม่จำกัดประเภท คล้ายกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาล สิงคโปร์ (Government of Singapore Investment Corp : GIC) กองทุนนี้ จะเป็นเครื่องมือแก้ไข เมื่อ เกิดปัญหาเศรษฐกิจรอบใหม่ขึ้น ได้อีกทางด้วย

ปัจจุบัน GIC ลงทุนธุรกิจด้านต่างๆ ทั้งในสิงคโปร์ และทั่วโลก เน้น ซื้อสินทรัพย์ราคาถูกจากประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เริ่มจากประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 เพื่อลงทุนระยะยาว หวังทั้งกำไรส่วนต่างของราคาหุ้น (capital gains)ที่สูงขึ้น หลังวิกฤติเศรษฐกิจ และเงินปันผล รวมถึงความเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของกิจการต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย

เน้นลงทุนธุรกิจเอกชน-รัฐ

หลักการของกองทุนรัฐบาลที่กระทรวงการคลังของไทยกำลังศึกษา และเตรียมตั้ง คือรัฐบาลไทยจะตั้งกองทุน โดยใช้หลักทรัพย์ที่มีอยู่ปัจจุบันรวมไว้ในบัญชีตั้งเป็นกองทุน และบริหารกองทุนให้เกิดดอกออกผล เป็นทุนสะสมของกองทุนต่อไป โดยจะนำเงินจากกองทุนนี้ ลงทุนภาคเศรษฐกิจ-ธุรกิจต่างๆ ไม่เฉพาะภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเท่านั้น เมื่อภาคเศรษฐกิจเกิดปัญหา ก็สามารถนำเงินจากกองทุนนี้ช่วยแก้ปัญหาได้

ต่างจากกองทุนฟื้นฟูฯ

ร.อ.สุชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนนี้แตกต่างจากกองทุนฟื้นฟูเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน การเงิน (FIDF) ที่ก่อตั้งด้วยวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หลังจากเกิดวิกฤติแล้ว แต่กองทุนที่จะตั้งใหม่ดังกล่าว จะเตรียมการล่วงหน้า หากมีปัญหาเศรษฐกิจอนาคต ก็ สามารถนำเงินส่วนนี้ช่วยแก้ปัญหาได้

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า ไม่ได้เตรียมตั้งเพราะกระทรวงการคลังเห็นว่า จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจประเทศไทยรอบใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่เตรียมไว้เท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีกองทุนประเภทนี้ เมื่อเกิดปัญหา จึงต้องระดมเงินด้วยการออกพันธบัตร

ขณะนี้ กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาในรายละเอียดต่างๆ ซึ่งจะศึกษาให้เสร็จภายในประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้า

"ที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลต้องการใช้เงิน ก็ต้องออก พันธบัตร เพื่อระดมเงินเข้ามา ซึ่งเสียเวลา และขาดสภาพคล่อง แต่หากมีกองทุนนี้แล้ว เมื่อเกิดปัญหา หรือต้องการใช้เงิน รัฐบาลก็สามารถนำไปใช้ได้ทันที" ร.อ.สุชาติกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.