|
ธปท.งัดข้อคลังไม่ลดดอกเบี้ยจับตาทุนไหลเข้าดันบาทแข็ง
ผู้จัดการรายวัน(20 มีนาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ศึกรอบใหม่คลัง-แบงก์ชาติระอุ "หมอเลี้ยบ"ระบุลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นหน้าที่กนง. ขณะที่บิ๊ก สศค.แนะให้ลดดอกเบี้ยหลังเฟดหั่นดอกเบี้ยรอบใหม่ 0.75% ป้องกันแรงกดดันเงินทุนไหลเข้า ขณะที่แบงก์ชาติเมิน ลั่นให้ความสำคัญเงินเฟ้อและปัจจัยภายในประเทศ นายแบงก์แนะ ธปท.อย่าแทรกแซงค่าเงินมากเกิน ด้านตลาดหุ้นต่างประเทศคึกคัก หลังเฟดลดดอกเบี้ย 3 สลึง
กรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 3.00% เหลือ 2.25% ทำให้ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยถึง 1% นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า เป็นเรื่องของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้าไปดูแล ควบคู่กับอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมั่นใจว่า ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและสามารถตัดสินใจได้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแน่
ขณะที่ นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทย เป็นแรงดึงดูดให้กระแสเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก และกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก ดังนั้น การลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯในครั้งนี้ จะสร้างแรงกดดันให้ธปท. รับมืออย่างหนักจากกระแสเงินทุนไหลเข้า
ดังนั้น หลังจาก ธปท.ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ไปแล้ว ก็น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศควบคู่กันไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในการตัดสินใจเรื่องดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการ (กนง.) ในการตัดสินใจว่าจะมีการปรับลดลงหรือไม่
"หลังจากยกเลิกมาตรการ 30% แล้ว ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาการดูแลค่าเงินบาทถือว่ามีเสถียรภาพอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีการแข็งค่าขึ้นบ้างแต่ก็ยังเป็นการแข็งค่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศเพื่อนบ้าน"
ผอ.สศค.มองว่า เฟดลดดอกเบี้ยเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่เกิดจากปัญหาสินเชื่อซับไพรม์ซึ่งก็เป็นไปตามคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% อย่างไรก็ตาม คงจะต้องรอดูกันต่อไปว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจะสามารถแก้ปัญหาให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่สามารถแก้ไขได้ก็ เชื่อว่าเฟดจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้ง
นางพรรณีเปิดเผยด้วยว่า สศค. ปรับประมาณการจีดีพีปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 5.5% จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 4.5-5.5% หรือเฉลี่ยที่ประมาณ 5% ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยลบในเรื่องราคาน้ำมันที่คาดว่าจะเกินสมมติฐานที่คาดไว้ที่ 80-85 เหรียญ/บาร์เรล ก็ตาม แต่ยังมีปัจจัยบวกทั้งเรื่องของการลงทุนเพิ่มขึ้น การเริ่มโครงการเมกะโปรเจกต์ การจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการ ก็ส่งผลให้ภาคเอกชนพร้อมที่จะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จะมีการแถลงการปรับประมาณการจีดีพีในปี 2551 อย่างเป็นทางการ ในสิ้นเดือนมี.ค.นี้
"เรื่องราคาน้ำมันคงจะต้องรอดูทั้งปี ถึงแม้ว่าตอนนี้จะสูงเกิน 100 เหรียญ/บาร์เรลก็ตาม แต่หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 1 เหรียญจะมีผลกระทบต่อจีดีพีประมาณ 0.3%" นางพรรณี กล่าว
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์เกรงว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามาไทยมากและทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ารวดเร็ว ซึ่งจากการติดตามข้อมูลของสมาคมธนาคารไทยพบว่า ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ธปท.มีการแทรกแซงค่าเงินมากพอสมควร ทำให้บาทไม่ได้แกว่งตัวมากนัก
“คิดว่าดอกเบี้ยของไทยในระดับ 3.25% กนง.เองก็ควรจะพิจารณาด้วยเพราะสูงกว่ามากอาจเปิดช่องให้เกิดการเก็งกำไรได้ แต่ก็เข้าใจว่า กนง.อาจเป็นห่วงเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็คงจะต้องดูความเหมาะสมในหลายปัจจัยด้วยซึ่ง กนง.น่าจะทราบดีว่าควรลดระดับใดเพื่อความเหมาะสม”
ธปท.ย้ำให้น้ำหนักปัจจัยภายใน
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. ยืนยันว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยจะไปในทิศทางใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการประชุม กนง.ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ แต่ทั้งนี้ ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศ ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพราะต้องพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
คาดบาท 30.20-ธปท.อย่าแทรกแซง
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า ภายในสิ้นปีนี้น่าจะเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าไปถึงระดับ 30.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าทิศทางเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย จึงส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ยิ่งอ่อนค่าลงไปอีก คาดว่าปีนี้เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง
"ธปท.ควรลดการดูดซับสภาพคล่องเงินดอลลาร์ในระบบ เนื่องจากจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยน้อยลง โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเงินสำรองต่างประเทศอยู่ในระดับสูงแล้วจึงไม่จำเป็นต้องดูดซับเงินดอลลาร์เข้าไปอีก และการส่งออกของไทยยังเกินดุลจึงไม่มีปัญหาน่าเป็นห่วง"นายกอบสิทธิ์ กล่าว
ส่วนค่าเงินบาทวานนี้ ทรงตัว โดยปิดตลาดที่ระดับ 31.18-31.19 บาทต่อดอลลาร์ นักบริหารเงินคาดว่าวันนี้ จะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.20 บาทต่อดอลลาร์
เฟดลดดอกเบี้ย 3 สลึงทำตลาดหุ้นขึ้นคึกคัก
สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า เฟดมีมติในการประชุมเมื่อวันอังคาร(18) ตัดลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฟดฟันด์เรต ลงมารวดเดียว 0.75% นับเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดในความพยายามชนิดทุ่มเทสุดกำลัง เพื่อต่อสู้กับปัญหาวิกฤตสินเชื่อที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ
ทางด้านตลาดการเงิน ก็ตอบสนองมาตรการคราวนี้ในทางบวก แต่ถึงกระนั้น การตัดสินใจลดดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรต ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) คราวนี้ ยังน้อยกว่าที่ตลาดการเงินคาดหมายว่า น่าจะหั่นลงมา 1% เต็ม
ขณะเดียวกัน ในคำแถลงที่ออกมาภายหลังการประชุมเฟด ก็เน้นน้ำหนักเรื่องความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเอาไว้ค่อนข้างมาก กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่า เฟดยังเปิดประตูกว้างที่จะลดดอกเบี้ยลงมาอีกอยู่ดี ถ้าหากมีความจำเป็น
โดยนักวิเคราะห์อย่าง เค. แดเนียล ลิบบี ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโออาวุโสแห่ง แซนด์ส บราเธอร์ส ซีเล็ค แอคเซส ฟันด์ ในเมืองกรีนิช มลรัฐคอนเนตทิคัต ให้ความเห็นว่า "เฟดแสดงให้เห็นว่า พวกเขากำลังโฟกัสการนำเอาเศรษฐกิจกลับมายืนให้มั่นคงให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรกสุด จากนั้นพวกเขาจึงจะมากังวลกับเรื่องเงินเฟ้อที หลัง"
ดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรต เป็นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยที่เฟดต้องการให้พวกธนาคารพาณิชย์คิด ในการปล่อยกู้ระหว่างกันเองในชั่วเวลาข้ามคืน เมื่อลดลงมาอีก 0.75% เช่นนี้ ก็จะเหลืออยู่ที่ 2.25%
นอกจากนั้น เอฟโอเอ็มซียังมีมติในคราวเดียวกันนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยดิสเคาน์เรต ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เฟดคิดกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่มาขอกู้กับตนในชั่วเวลาข้ามคืน ตามมาลง 0.75% เช่นกัน ทำให้เวลานี้ดิสเคาน์เรตอยู่ที่ 2.50%
จากมติลดเฟดฟันเรต 0.75% คราวนี้ บวกกับข่าวดีจากการรายงานผลประกอบการของวาณิชธนกิจยักษ์ 2 แห่ง คือ โกลด์แมนแซคส์ และ เลห์แมนบราเธอร์ส ส่งผลให้ตลาดวอลล์สตรีทพุ่งทะยานในวันอังคาร จนตอนปิดตลาด ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ บวก 420.41 จุด หรือ 3.51%ปัจจัยการลดดอกเบี้ยของเฟด ยังส่งอานิสงส์ทำให้ตลาดแถบเอเชียวานนี้ (19)ปิดในแดนบวกกันเป็นแถวด้วย โดยที่โตเกียวบวก 2.48%, ฮ่องกง 2.26%, เซี่ยงไฮ้ 2.53%, มุมไบ 1.09%
เมื่อถึงช่วงการซื้อขายของทางยุโรป ตลาดกลับตกวูบลงมาช่วงบ่าย โดยทั้งลอนดอน, แฟรงเฟิร์ต, และปารีส ต่างติดลบเกือบๆ 1% เนื่องจากข่าวลือที่ต่อมาถูกปฏิเสธว่า ธนาคาร เอชบีโอเอส ในอังกฤษประสบปัญหาสภาพคล่อง
สำหรับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ข่าวเฟดลดดอกเบี้ยส่งผลให้ดอลลาร์แข็งขึ้น โดยเมื่อเทียบกับเงินยูโรแล้ว 1 ยูโรแลกได้ 1.5626 ดอลลาร์ ตอนคืนวันอังคารที่นิวยอร์ก จากที่อยู่ ณ 1.5725 ในคืนก่อนหน้า ส่วนเทียบเงินเยน 1 ดอลลาร์ก็แลกได้ 99.72 เยนในคืนวันอังคาร จากที่ได้เพียง 97.32 เยนในคืนวันจันทร์
ส่วนราคาน้ำมัน พวกเก็งกำไรซึ่งอยู่เต็มตลาดได้ถือเอาข่าวเฟดลดดอกเบี้ยเป็นข่าวดีที่จะดันราคาขึ้น สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบไลต์สวีตครูด ปิดตลาดไนเม็กซ์ในวันอังคารที่ 109.42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงขึ้นจากวันก่อน 3.74 ดอลลาร์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|