ค่ายรถรุมยำหน่วยงานจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะกรม สรรพสามิตดำเนินงานไม่ทันการพัฒนาเทคโนโลยี
และนวัตกรรมอุตสาหกรรมยานยนต์ คิดอะไรง่ายๆ ไม่เข้าใจธุรกิจรถยนต์ ชอบแต่เล่นบทตัวถ่วงสวนทางนโยบายรัฐบาล
เผยหากในปี 2549 ภาษีเป็นอุปสรรคทำให้ไทยไม่สามารถผลิตรถได้ 1 ล้านคันต่อปี ตามเป้าหมาย
ที่รัฐบาลบรรจุไว้เป็นเป้าหมายแห่งชาติ กรมสรรพสามิตจะต้องไปตอบ คำถามนายกรัฐมนตรีเอง
ขณะที่ ฟอร์ด ฟันธง! วิธีเดียวที่จะแก้ไขได้ รัฐบาลจะต้องออกพ.ร.บ.รถยนต์ จัดการแก้ไขปัญหาโครงสร้างภาษี
ทั้งระบบด่วน
อุตสาหกรรมรถยนต์ปัจจุบันได้ถูกรัฐบาลจัดให้เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมหลักของไทย
เนื่องจากมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำเงินทุนเข้าประเทศ,การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ,การสร้างรายได้ให้กับภาครัฐ,ตลอดจนถึงการสร้างงานเป็นจำนวนมาก
แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการ ดำเนินงานของหน่วยงานจัดเก็บรายได้ของรัฐ
โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตที่มีความซ้ำซ้อน และไม่ชัดเจน จนฉุดให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยพลอยสะดุดไปด้วย
เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น สมาคมผู้สื่อ ข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย จึงได้จัดเสวนาเรื่อง
"โครงสร้างภาษีใหม่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย"โดยได้เชิญ ผู้ประกอบการ
ผู้ผลิตชิ้นส่วน และตัวแทนหน่วยงานรัฐ มาร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นถึงข้อดีข้อเสียของโครงสร้างภาษีในปัจจุบัน
และในอนาคตที่กำลังจะมีการแก้ไข ใหม่ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยโดยตรง
และนำเสนอความคิดเพื่อหาจุดลงตัวที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภคได้ประโยชน์มากที่สุด
นางวิไล ตันตินันทนา นักวิชาการภาษี 8 ว. กรม สรรพสามิต เปิดเผยว่า เกี่ยวกับนโยบายในการจัดทำโครงสร้างภาษีใหม่
หลักการคือต้องเรียบง่าย เป็น ธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ภาครัฐ
และผู้บริโภค โดยเฉพาะภาษีจะต้องไม่ปิดกั้นเทคโนโลยีในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์
อย่างไรก็ตาม การจัดโครงสร้างภาษีใหม่แต่ละครั้งจะต้องส่งผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอน
ผู้ประกอบการบางรายอาจจะได้รับตรงๆ บางรายก็อาจ จะได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นกรมสรรพสามิตจึงต้องนำมาชั่งน้ำหนักว่า
ภาษีที่จัดทำขึ้นใหม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมมากน้อยแค่ไหน แต่หลักการคือต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ในส่วนรายละเอียดของโครงสร้างภาษีใหม่ ตอนนี้ยังเป็นขั้นตอนที่ไม่สามารถเปิดเผยได้
และยังไม่สรุปชัดเจน ทราบเพียงคร่าวๆ จากการที่ท่านรัฐมนตรีฯ เปิดเผยว่า จะแบ่งออกเป็น
4 ประเภท คือ 1.รถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง 2. รถยนต์นั่งมากกว่า 10 ที่นั่ง
3. รถปิกอัพ และสุดท้ายรถจักรยานยนต์ และรถสามล้อ แต่รายละเอียดมากกว่านี้ไม่ทราบ
การมารับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเสวนากันในครั้งนี้ ก็จะรับฟังและนำไปแจ้งกับผู้อำนาจตัดสินใจ
เพื่อหาจุดลงตัวที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และไม่ขัดกับนโยบายของรัฐบาล
นายฉัตรชัย บุนนาค ประธาน ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก
รองจากสหรัฐอเมริกาเพียงแห่งเดียว ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตรถปิกอัพในรูปแบบต่างๆ
อย่างต่อเนื่อง แต่การพัฒนา และเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรม บาง ครั้งอาจจะเกิดความไม่สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต
โดยเฉพาะในเรื่องของการตีความที่ไม่ตรงกัน ระหว่างภาครัฐ กับกลุ่มอุตสาหกรรม
ภาษีสรรพสามิตที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ครอบคลุม การจัดเก็บภาษีในวงกว้างมาก ตั้งแต่ไพ่
เหล้า บุหรี่ น้ำหอม และอื่นๆ รวมมาถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ และในอนาคตอันใกล้นี้
ยังจะครอบคลุมไปถึงภาษีธุรกิจ โทรคมนาคมอีกด้วย ซึ่งรูปแบบการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์
เป็นการเก็บแบบภาษีซ้อนภาษี เป็นการเก็บภาษีที่หน้าโรงงาน เนื่องจากมีพ.ร.บ. เป็นตัวกำหนดวิธีการจัดเก็บไว้
ดังนั้น แนวทางที่กรมสรรพสามิต จะนำมาใช้ด้วยการจัดหมวดหมู่รถใหม่ ให้มีความชัดเจนขึ้น
นับเป็นแนวทางที่ดี แต่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถปิกอัพโลก
ต้องมองในแนวลึกไปถึงปัญหาที่แท้จริง เนื่องจากในอนาคตไม่อาจทราบได้ว่า รูปแบบของรถจะมีการพัฒนาออกมาเป็นอย่างไร
รถรุ่น ใหม่ที่ผลิตออกมา อาจจะไม่เข้าข่ายหมวดหมู่ที่จัดวางไว้ จะต้องมีการตีความกันอีกว่า
รถคันนี้ควรจะอยู่ในหมวดไหน ปัญหาก็จะย้อนกลับมาเช่นในปัจจุบันอีก
อุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ใช่อุตสาหกรรมระดับพันล้าน หมื่นล้าน แต่เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า
เกินกว่าล้านล้านบาท สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็น จำนวนมาก แต่น่าแปลกที่ไม่มี
พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ยานยนต์ที่ชัดเจน กำหนดขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะ ซึ่งในอนาคตหากมีการแก้ไข
พ.ร.บ. และเกิดความชัดเจนโปร่งใส ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เชื่อว่าจะช่วยเอื้อประโยชน์ให้ประเทศไทย
กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถปิกอัพของโลก และช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ผลิตของไทยมีความสามารถในการแข่งขันกับเวทีการค้าโลกได้อย่างไม่เป็นรองใคร
ด้วยเหตนี้การแก้ไขพ.ร.บ. จึงน่าจะเป็นแนวทาง สำคัญในการแก้ปัญหาระยะยาว เนื่องจากอุตสาห-กรรมยานยนต์
เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีความ เฉพาะเจาะจง สามารถระบุได้ชัดเจนว่า รถแต่ละคันมีที่มาที่ไปอย่างไร
ตรวจสอบได้แน่นอนว่ารถแต่ละคันขายให้ใครเมื่อไร เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดเก็บภาษีที่หน้าโรงงาน
สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ที่น่าจะมีการแก้ไข มีอยู่ 2 เรื่อง คือในเรื่องของสถานที่ในการจัดเก็บภาษี
และการกำหนดอัตราภาษี ซึ่งในปัจจุบันใช้การเก็บที่หน้าโรงงาน รถยังไม่ได้ขาย ยังไม่ได้ส่งออก
แต่กลุ่ม อุตสาหกรรมต้องจ่ายภาษีก่อน ควรแก้ไข พ.ร.บ.มาเก็บ ณ จุดขาย และคิดภาษีจากฐานราคาที่จำหน่าย
และอีกเรื่องในส่วนของอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ร.บ.กำหนดไว้ว่าห้ามจัดเก็บเกิน 50%
ซึ่งควรจะมีการแก้ไขเป็น พ.ร.บ. สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะ และเปิดช่องให้อัตราภาษีมีตัวเลขสูงกว่านี้
เพื่อป้องกันภาครัฐสูญเสียรายได้ จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดเก็บภาษี ส่วนการจะกำหนด
อัตราภาษีอย่างไร เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ควรจะมีการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ
ส่วนการเก็บภาษี ณ จุดขาย ไม่ใช่เป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค เนื่องจากการเก็บภาษีหน้าโรงงาน
ภาษีที่จ่ายไปก็รวมเข้ามาอยู่ในราคารถทุกคันอยู่ดี แต่ผลดีจากการเก็บภาษีในรูปแบบนี้
คือผู้ผลิต สามารถนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดโดยไม่ต้องสนใจกับเรื่องการตีความ
มองที่ราคาเป็นหลัก อุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวมเกิดการพัฒนา เกิดความชัดเจน โปร่งใส
นักลงทุนกล้าที่จะลงทุนเพิ่ม ผู้บริโภคมีโอกาสที่จะได้เลือกใช้รถยนต์ที่มีเทคโนโลยี
สูงขึ้น ภาครัฐเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น และจะไม่สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดโดยเฉพาะได้
นายอัจฉรินทร์ สารสาส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กล่าวว่า การจัดทำโครงสร้างภาษีต้องดูความเป็นจริง อย่างเช่นรัฐบาลให้นโยบายจะตั้งภาษีขึ้นมาไม่ให้กระทบกับการพัฒนาเทคโนโลยี
แต่แนวคิดโครง สร้างภาษีใหม่จัดให้รถบางประเภทที่มีพื้นฐานมาจากปิกอัพไปอยู่ในหมวดรถยนต์นั่ง
นั่นแสดงให้เห็นว่ากรมสรรพสามิตยังไม่เข้าใจ นโยบายรัฐบาล เพราะปัจจุบันรถหลายรุ่น
เช่นรถอเนกประสงค์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ล้วนมีพื้นฐานมาจากปิกอัพทั้งนั้น
นายวิชัย จั่วแจ่มใส เลขาธิการสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้บรรจุเป็นวาระแห่งชาติ
โดยจะผลักดันให้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องผลิตรถให้ได้ครบ 1 ล้านคัน และรัฐบาลจะได้ภาษีโดยตรงสูงถึง
9.5 หมื่น ล้านบาท แต่หากกรมสรรพสามิตพิจารณาด้วย การออกภาษีอะไรมาหากเป็นอุปสรรค
และทำให้โครงการ นี้ไม่ได้ตามที่วางไว้ กรมสรรพสามิตและผู้ที่เกี่ยวข้อง จะต้องไปแก้ตัวกับท่านนายกรัฐมนตรีเอง
นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่รัฐบาลจะต้องมองให้รอบคอบ
โดยเฉพาะกรมสรรพสามิตที่มีแนวคิดจะแบ่งประเภทการจัดเก็บภาษีใหม่เพียง 4 ประเภทนั้น
ดูเหมือนจะง่ายไปเพราะรถยนต์แต่ละรุ่นมันมีอนุกรมของมัน
ฉะนั้นกรมสรรพสามิตจะต้องคิดให้กว้างกว่านี้ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการ
และผู้บริโภค แต่ทั้งหมดก็ต้องเป็นไปตามนโยบายและหลักการของรัฐบาลที่วางไว้ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการพูดคุยและหาทางที่เหมาะสมที่สุด
เพราะหากไทยจะเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย หรือจะเป็นฐานการผลิตปิกอัพ 1 ตันของโลกแล้ว
ทุกอย่างจะต้องสนับสนุนไปในทิศทางเดียวกัน