อีซี่บายโอ่เพิ่ม'ยูเมะพลัส'4แสนใบ


ผู้จัดการรายวัน(19 มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

อีซี่บายตั้งเป้าขยายยูเมะ พลัส เพิ่ม 4 แสนบัตร ควบคุมNPLไม่ให้เกิน 3.8% กลยุทธ์ปีนี้เน้นแสดงความรับผิดชอบต่อลูกค้า คลอดโฆษณาภายใต้แนวคิด ใช้เท่าที่มี...เป็นหนี้เท่าที่จำเป็น

นายชาติชัย เลิศบรรธนาวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีฐานบัตรกดเงินสด ยูเมะ พลัส อยู่ที่ 500,000 บัตร โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนบัตรดังกล่าวอีก 400,000 บัตร จากปีก่อนเพิ่มขึ้น 200,000 บัตร ซึ่งจะทำให้ฐานบัตรในสิ้นปีจะอยู่ที่ 900,000-1,000,000 บัตร อย่างไรก็ตามในปีนี้บริษัทคาดว่ายอดหนี้คงค้างจะเพิ่มเป็น 24 ,500 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 21,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ตั้งเป้าหมายจะควบคุมให้อยู่ที่ระดับ 3.7-3.8% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน ด้วยระบบการคัดเลือกลูกค้าที่เข้มงวดขึ้นรวมถึงการใช้ระบบติดตามหนี้ที่ดี

ส่วนกลยุทธ์ในปีนี้จะเน้นการรักษาฐานลูกค้าเก่าและการคัดเลือกลูกค้าที่ดี ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ทำให้มียอดใบสมัครที่ไม่ผ่านการอนุมัติอยู่ที่ 35-40% จากเดิมอยู่ที่ 20-25% ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้สัดส่วนลูกค้าในปัจจุบันยังอยู่ในกรุงเทพฯ 60% และต่างจังหวัด 40% โดยแนวโน้มลูกค้าในต่างจังหวัดมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยแนวทางหลักในการทำตลาดนั้นจะเน้นแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงการใช้เงินเท่าที่จำเป็น โดยอัตราการให้สินเชื่อจะให้ไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือนตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนฐานเงินเดือนขั้นต่ำของการสมัครบัตร ยูเมะ พลัสในเขตกรุงเทพฯจะอยู่ที่ 7,000 – 8,000 บาท และ ต่างจังหวัดจะอยู่ที่ 5,000 บาท ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้นคำนวณตามระบบเครดิตสกอริ่ง โดยอัตราการชำระหนี้ขั้นต่ำอยู่ 3.5 -8%

“ยูเมะ พลัส บัตรกดเงินสด สามารถใช้กดเงินสดและเช่าซื้อ โดยที่ลูกค้าสามารถบริหารเงินของตัวเองได้ ในปีนี้กลุ่มเป้าหมายในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ฐานเงินเดือนในการสมัครบัตรยูเมะ พลัส ต่างกัน ลูกหนี้ชั้นดีจะกู้ได้มากขึ้น โดยจะดูจากพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นการฝึกให้ผู้บริโภคมีวินัย ใช้แล้วจ่ายคืน จะทำให้บริหารชีวิตได้ดีขึ้น โดยที่ผู้ถือบัตร ยูเมะ พลัส สามารถกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารนครหลวงไทยโดยเสียค่าธรรมเนียม 13 บาทต่อรายการและขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคารแห่งอื่นเพื่อขยายการให้บริการกดเงินสด” นายชาติชัยกล่าว

นายชาติชัย กล่าวอีกว่า การระดมทุนของบริษัทนั้นจะเน้นทำโดยการกู้เงินในประเทศทั้งจากธนาคารของไทยและต่างชาติ รวมถึงการออกหุ้นกู้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำได้ดีกว่าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยการออกหุ้นกู้นั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจังหวะเวลาที่เหมาะสม

ล่าสุดได้ทุ่มงบประมาณ 30 ล้าบาท เปิดตัวโฆษณาชุดใหม่ จากแนวคิด “ใช้เท่าที่มี เป็นหนี้เท่าที่จำเป็น” ด้วยจุดมุ่งหมายในการดำเนินธุรกิจที่ไม่ต้องการแสวงหาผลกำไรอย่างเดียว อีกทั้งต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างทัศนคติที่ดีในการใช้เงินให้แก่คนไทย ให้ผู้บริโภคใช้เงินอย่างมีสติอย่าใช้เงินเกินตัว ให้หวนคิดก่อนเป็นหนี้ และควรคำนึงถึงภาระหรือผลเสียที่จะตามมาทำให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของบริโภคนิยม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.