ถอดรหัสองค์กรมีหัวคิดยุทธวิธีผ่าทางตันธุรกิจ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

-เผยกลยุทธ์บริหารจัดการสู่ Creative Organization
-องค์กร คน ที่มี “กระบาล-กระบวนการ”แบบสร้างสรรค์เป็นเช่นไร
-ศึกษาเทคนิค บ่มเพาะ “เมล็ดพันธ์”ให้เป็นคนไอเดียบรรเจิด
-เคล็ด ( ไม่)ลับ สำคัญ อยู่ที่องค์กรมี ระบบรองรับ ผู้นำมีกึ๋น ทักษะ Creative Leadership

ทำอย่างไร หากต้องการเพิ่มยอดขาย.. สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า...หาวิธีการใหม่ๆเพื่อให้การทำงานรวดเร็ว มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม ฯลฯ โจทย์เหล่านี้ล้วนต้องอาศัย “ความคิดสร้างสรรค์”หรือ Creativity เป็นเครื่องมือนำทางไปสู่เป้าหมายที่วางไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น “กระบาล” และ “กระบวนการ”จึงเป็นประเด็นสำคัญ ที่องค์กร และคน ผู้ซึ่งแสวงหาความสำเร็จทั้งหลาย จำเป็นต้องเรียนรู้ และทำความรู้จักมากยิ่งขึ้น เพื่อนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลายคนคิดได้ ได้คิด แต่หลายครั้งความคิดเหล่านั้น สูญเปล่า ถูกทิ้งขว้าง ไม่เคยถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ทั้งๆที่มันอาจเป็นความคิดสุดยอด ที่จะแก้ปมโจทย์ปัญหาได้อย่างไม่คาดคิด

“องค์กร ที่ต้องการหาวิธีการใหม่ๆเพื่อการทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง การบริหารคนเก่ง (Talent management) และเป็นองค์กรที่เคลื่อนไหว ยืดหยุ่นสูง เราเรียกว่า องค์กรความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creative Organization ” ศรัณย์ จันทพลาบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท 37.5 องศาเซลเซียส จำกัด ที่ปรึกษาทางด้านการจัดการองค์กร บอกกับ “ ผู้จัดการรายสัปดาห์ ” ถึง นิยามองค์กรความคิดสร้างสรรค์ในยุคปัจจุบัน

ไม่เพียงความคิดที่แตกต่างไปจากเดิมดังกล่าว แต่ยังต้องเกิดคุณค่า ( Added Value) กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร หรือ Stake Holder ซึ่งประกอบด้วย ผู้ถือหุ้น คู่ค้า พนักงาน และองค์กร จึงจะเป็นองค์กรมีหัวคิดที่สมบูรณ์แบบได้อย่างแนบเนียน

จากประสบการณ์ของเขาที่คลุกคลี ทำงานด้านบริหารในองค์กรต่างๆ ทั้งในฐานะผู้บริหาร และที่ปรึกษาองค์กรใหญ่ในเมืองไทยหลายแห่ง บางแห่งมีผู้บริหาร ทีมงาน เข้ามาเรียนรู้การมีความคิดสร้างสรรค์ ( อาทิ เอไอเอส ธนาคารกสิกร เอสซีแมทบอกซ์ คอลเกต ปาล์มโอลีฟ โซนี่ ตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ ) ทำให้พบว่า คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์แบบไม่ธรรมดา หากถูกเปิดโอกาสให้คิด รวมทั้งได้รับการแนะนำวิธีเป็นสเต็ป ขณะเดียวกัน อุปสรรคสำคัญ ที่หลายบริษัทเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ ทักษะด้าน Creative Leadership ซึ่งมีค่อนข้างมาก ทำให้ลูกน้องหลายคนที่มีความคิดดี สร้างสรรค์ท้อแท้ ไม่อยากคิด

“เมื่อก่อนเคยคิดว่า คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์น้อย เพราะเราเรียนหนังสือแบบให้ท่องจำ ปิดกั้นความคิดตลอด แต่หลังจากศึกษาบรรยายสัมผัสใกล้ชิดก็เปลี่ยนความคิดว่าคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์แบบไม่ธรรมดา เพียงแต่ ขาดการเรียนรู้ การฝึกทักษะคิดแบบสร้างสรรค์ ขณะเดียวกัน ความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน เมื่อไปกระทบอีโก้ของหัวหน้า มันก็ไปไม่ถึงไหน เป็นอุปสรรคขัดขวางการเป็นองค์กรคิดสร้างสรรค์”

องค์กรความคิดสร้างสรรค์ มีลักษณะเด่นที่น่าสนใจ คือ พนักงานส่วนใหญ่ ซึ่งทำงานแผนกหนึ่ง มักจะมีไอเดีย ข้อเสนอใหม่ให้กับแผนกอื่นๆ โดยไม่จำเป็นความคิดตนเองเฉพาะงานที่รับผิดชอบเท่านั้น แต่ยังเผื่อแผ่ไปยังงานส่วนอื่นที่อยู่คนละแผนกอีกด้วย

“องค์กรทั่วไป พนักงานแต่ละแผนกเคยชินกับการทำงานเดิมๆแบบซ้ำๆ แต่ถ้าเป็นองค์กรความคิดสร้างสรรค์ พนักงานต่างแผนกจะมีหัวคิด ข้อเสนอใหม่ๆอยู่เสมอ ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์ดีๆ จึงมักเกิด นอกขอบข่ายตัวเองบ่อยครั้งๆ”

บันไดสู่ Creative Organization

ดังนั้น กระบวนการของการเป็นองค์กรมีหัวคิดสร้างสรรค์ จำเป็นต้องเริ่มต้นจาก การวิเคราะห์ โดยตั้งคำถามมุมกลับว่า ทำไมจึงไม่เกิดความสร้างสรรค์ ซึ่งเบื้องต้นอาจเกิดจาก พนักงานไม่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือคิดว่าตัวเองไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่รู้วิธี หรือ ความคิดไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างที่ควรจะเป็น

“ บางครั้ง พนักงานมีครีเอทีฟไอเดีย แต่พอเสนอหัวหน้าไปก็ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือ บางครั้งมีไอเดีย ได้รับการสนับสนุน แต่มันก็ยังไม่พัฒนาหรือลงมือปฎิบัติจริง เปรียบเสมือน ต้นไม้ ซึ่งกำลังเติบโต แต่ไม่มีปุ๋ยใส่ รดน้ำ ในที่สุดต้นไม้ความคิดเหล่านี้ก็เหี่ยวเฉา ไม่ออกดอกผลก็ไร้ประโยชน์”

แกนสำคัญในการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ให้เกิด “เมล็ดพันธ์” ศรัณย์ แนะนำว่า จะต้องโฟกัสให้พนักงานรับรู้และเรียนรู้ถึงพลังความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวคนในลักษณะต่างๆ ได้แก่ ข้อแรก - คิดนอกกรอบ หรือ (out of box Thinking) ข้อสอง-เรียนรู้วิธีคิดแบบจินตนาการ คิดมากๆ(Divergence Thinking) และข้อสาม-รู้จักวิธีคิดแบบมีเหตุผล หลักการ วัตถุประสงค์ และนำไปใช้ได้จริง (Convergence Thinking)

“ ไม่ใช่เพราะเราคิดไม่ออก แต่เพราะคิดไปแล้ว แต่ไม่ยอมให้มันออกมาต่างหาก เพราะมันมีกรอบกั้นความคิดนั้นเอาไว้ เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องหากรอบนั้นให้เจอและทำลายมัน”

สิ่งสำคัญ ในการขับเคลื่อน คนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ นอกจาก “คิดแล้วมีคนรู้” หมายถึง ความคิดที่เสนอมามีคนอื่นๆได้รับรู้ว่าเราเป็นเจ้าของความคิดแล้ว ศรัณย์ บอกว่า จะต้อง “เห็นสิ่งที่ตัวเองคิดถูกนำไปใช้” ซึ่งจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ไม่สำคัญ เท่ากับความคิดนั้นถูกนำไปใช้

อย่างไรก็ตาม ความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรมีหัวคิด จะประสบความสำเร็จได้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ “ระบบรองรับ” หรือ กระบวนการบริหารจัดการที่เป็นขั้นตอน ซึ่งมีจุดเริ่มต้น จาก ทีมบริหารจัดการองค์กร จะต้องมีการคุยกันว่าจะสร้างสรรค์ให้องค์กรมีความคิดสร้างสรรค์กันอย่างไรก่อน และจะมีการวางระบบอะไรบ้าง จากนั้นจึงจัดทีมดูแลที่เรียกว่า Creative Committee เพื่อทำงานเสริมจากระบบที่มีอยู่

Creative Committee หรือ ทีมบริหารจัดการความคิดสร้างสรรค์นี้ คัดเลือกมาจากแผนกต่างๆอาจมาจากระดับหัวหน้า หรือระดับบริหารองค์กร ทำหน้าที่เอาประเด็น หรือทิศทางจากบอสระดับบนว่าจะให้สร้างสรรค์เรื่องอะไร จากนั้นก็นำเอาโจทย์ดังกล่าว มาทำให้เกิดความคิดทั้งองค์กร ซึ่งเมื่อพนักงานเสนอความคิดเข้ามา คณะกรรมการฯชุดนี้ก็จะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และให้ Feedback กลับไป โดยในจุดนี้ มันอาจเป็น Cross Division ก็ได้

“ไอเดียจากพนักงานแผนกบัญชี อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริการลูกค้า ก็สามารถส่งไป committee พิจารณา ให้คิดต่อ หรือต่อยอดเพิ่มเติม เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ทีมบริหารนี้ก็ให้ แผนกบริการลูกค้านำไปใช้ดู”

เคล็ด ( ไม่)ลับ อยู่ที่ระบบ-ทักษะผู้นำ

ระบบดังกล่าวนี้ ยังมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “การให้รีวอร์ด” ให้กับคนที่มีไอเดีย สร้างสรรค์ต่อองค์กร ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น “เงิน” แต่เป็นรูปแบบ “การยอมรับ”จากคนในองค์กร โดยการแสดงออกให้เห็นว่า ความคิดนี้มาจากคนนี้ และมีประโยชน์ต่อองค์กรส่วนอื่นๆ ไม่จำกัดเฉพาะแผนกของตน แต่ยังเผื่อแผ่ไปยังคนอื่นด้วย

“ รีวอร์ด เป็นกุญแจสำคัญตัวหนึ่ง ที่นำพาไปสู่องค์กรความคิดสร้างสรรค์ เพราะมันเปรียบเสมือนโมเมนตัมที่เหวี่ยงไปให้เรื่องที่คิดออกมาเป็นเรื่อง สแตนดาร์ด(standard) ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำ หรือ job description อาจกำหนดเดือนละ 1 ไอเดียที่ต้องคิดเข้ามา ไม่ใช่เป็นเรื่อง ออพชั่น (option) หรือทางเลือก ที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ส่วนจะเป็นไอเดียดีหรือไม่ดีก็ไม่เป็นไร”

นอกจากระบบแล้ว สิ่งสำคัญ คือ ผู้นำในองค์กร ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะชี้เป็น ชี้ตาย ความสำเร็จขององค์กรความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย ที่ปรึกษาทางด้านการจัดการองค์กรคนเดิม อธิบายว่า ในระดับหัวหน้า ซึ่งได้แก่ ซูเปอร์ไวเซอร์ แมเนเจอร์ ควรจะมีความรู้เรื่อง “ครีเอทีฟ ลีดเดอร์ชิพ”หรือ Creative Leadership ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ว่าด้วยการ ทำอย่างไรที่พวกเขาจะรีดเอาความคิดสร้างสรรค์จากลูกน้อง ทีมงานออกมาให้ได้มากที่สุด

ในทางปฎิบัติ เมื่อพนักงาน ทีมงานคิดเป็น หรือมีความคิดใหม่ๆผุดขึ้นมาแล้ว หัวหน้า ซึ่งมีทักษะแบบครีเอทีฟ ลีดเดอร์ชิพจะมีกลยุทธ์บริหารจัดการให้ความคิดเหล่านี้ออกมาเป็นผลผลิตที่สร้างสรรค์ นำไปใช้ได้จริง โดยที่เจ้าของไอเดีย อาจไม่จำเป็นต้องลงมือทำ แต่ทำหน้าที่ช่วยคิด ถ้าสำเร็จหัวหน้าก็จะให้รางวัล ประเมินเป็นผลงานอีกข้อหนึ่ง

“ระบบรองรับนี้ จะช่วยหนุนให้คนในองค์กรอยากคิดไอเดียใหม่ๆออกมามากๆ เพราะคิดแล้วมันส์ ที่สำคัญไม่ต้องลงมือไปทำด้วยตัวเอง แต่เป็นการช่วยคิดแทนให้ โดยเฉพาะองค์กรที่เป็น Talent Organization มีคนเก่งทำงานอยู่ หรือ บางแห่งเงินเดือนน้อย แต่ถ้าพนักงานได้ทำงานกับองค์กรลักษณะนี้ ชีวิตทำงานก็จะมีสีสัน มีกำลังใจ กระตือรือร้นอยากทำงานเสมอ” ศรัณย์ ย้ำถึง คุณค่าของระบบในองค์กรความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังเป็น ยุทธวิธีหนึ่งในการดึงศักยภาพคนออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

เขาบอกว่า ทักษะ Creative Leadership ของหัวหน้า สามารถฝึกฝน เรียนรู้ได้จากตำรา ประสบการณ์ทำงาน แต่อาจต้องใช้เวลาสั่งสมนาน กว่าจะมีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ปัจจุบันสามารถศึกษาเรียนลัดได้ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ มีหลักสูตรในการเรียนรู้ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับหนึ่ง- Top Management เพื่อให้ผู้บริหารระดับบนเรียนรู้ ในการกำหนดทิศทาง มุมมองต่างๆในการบริการจัดการ เรื่องความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในองค์กร รวมถึงการสร้างบรรยากาศองค์กรความคิดสร้างสรรค์

ระดับสอง-ระดับหัวหน้างาน อาทิ Director, Manager และ Supervisor เพื่อเรียนรู้วิธีการทำอย่างไรให้เป็นหัวหน้านำทีมงานไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ โดยเน้นด้าน Creative Leadership และระดับสาม- ระดับพนักงานทั่วไป เรียนรู้วิธีคิดแบบสร้างสรรค์ ( Creative Thinking )

ดังนั้น เคล็ดลับสำคัญ เพื่อนำไปสู่คนมีความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creative Organization อย่างเห็นผล จะต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ทั้งหมด(mind set) ถ้าหากระดับหัวหน้า ที่มีลูกน้องที่มีความคิดสร้างสรรค์ หัวหน้าควรสนับสนุนส่งเสริมความคิดจากเขาเหล่านี้ ไม่ควรไปคิดแข่งขันกับลูกน้อง หรือ ถ้าหากระดับ พนักงานก็ควรเรียนรู้วิธีสร้างความคิดสร้างสรรค์หลากหลายแบบ และฝึกฝนใช้อยู่เสมอ

ระดับหัวหน้า ควรเรียนรู้ทักษะ Creative Leadership เพื่อรีดเอาความคิดสร้างสรรค์จากลูกน้อง ถ้าหากเป็นหัวหน้าที่มีประสบการณ์และมีทักษะครีเอทีฟลีดเดอร์ชิพก็จะไม่คิดแข่งกับลูกน้อง แต่จะเอาความคิดใหม่นี้ไปผสมกับความคิดของตัวเอง ดังนั้นอีโก้หัวหน้ากับลูกน้องจึงไม่เบียดกัน โอกาสที่ความคิดสร้างสรรค์จะได้ผลก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น ขณะที่ระดับลูกน้องพนักงาน ก็ต้องมีเทคนิคว่า เมื่อมีความคิดสร้างสรรค์แล้วทำอย่างไรให้หัวหน้ายอมรับความคิดเห็น

“หัวหน้าองค์กรทั่วไป มักคิดว่า ถ้าชั้นเอาความคิดเธอ แสดงความชั้นไม่มีความสามารถที่จะคิด เพราะหัวหน้ามีหน้าที่ต้องคิด หรือบางคนคิดว่า สิ่งที่พวกเค้าทำ มันไม่ดีเท่ากับสิ่งที่ลูกน้องเสนอมาก”ศรัณย์กล่าว

ชื่อ-นามสกุล : ศรัณย์ จันทพลาบูรณ์
อายุ : 46 ปี
การศึกษา :-MBA (with distinction) De Paul University, Chicago, Illinois, USA
บริหารธุรกิจ (เกียรตินิยมอันดับ2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

-การศึกษาพิเศษ ร่วมฝึกอบรมและรับประกาศนียบัตรในหลักสูตรต่างๆ อาทิเช่นการพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากร (Human Performance Improvement: HPI) จากสมาพันธ์การฝึกอบรมและพัฒนาบุคคลากรแห่งสหรัฐอเมริกา (American Society of Training and Development: ASTD)
- สมาชิกสามัญสมาพันธ์การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรแห่งสหรัฐอเมริกา (American Society of Training & Development, ASTD)
-สมาชิกสามัญศูนย์การศึกษาด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Education Foundation: CEF)
ประสบการณ์ทำงาน : ผู้อำนวยการฝ่ายขายโฆษณาและสปอนเซอร์ บ. ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ยูบีซี)
กรรมการผู้จัดการ บ. สยามมาร์เก็ตติ้งโซลูชั่น จำกัด
Vice President บ. สยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
ผู้จัดการทั่วไป บ.มีเดียพลัส จำกัด
ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และผู้จัดการฝ่ายขาย บ.ฟูจิโฟโต้ฟิลม์ (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บ.เนสท์เล่ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้บริหารงานวิจัย บ.โอกิลวี่แอนด์เมเธอร์ แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง(ประเทศไทย) จำกัด
CLO (Chief Learning Officer) บ.37.5 องศาเซลเซียส จำกัด

ด้านที่ปรึกษา -วิทยากรรับเชิญให้แก่สมาคมและองค์กรต่างๆ อาทิเช่น สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย(TMA) สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น(TPA) AIS, Shin Corp, NECTEC, Unilever, Toyota ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ปูนซีเมนต์ไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต อิตัลไทย TPI Polene LG ฮอนด้า Sharp วาโก้ ITV ไบเออร์ มติชน MK CPF ICC COTTO ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกณ์การเกษตร สสว. ตลาดหลักทรัพย์ Osotspa Central Pattana Colgate มิตรผล Kurnia ไทยประกันชีวิต ทิพยประกันภัย Sony CAT Telecommunication dtac และ PTT Plc เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.