เอ็มเอฟซี ปรับกระบวนทัพรับศึก บลจ.ชิงฐานลูกค้ารายย่อย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงยุคธุรกิจจัดการกองทุนแข่งเดือด ทำปู่โสม เอ็มเอฟซี ต้องเร่งปรับโฉมเจาะลูกค้ารายย่อย แข่งกับ บลจ.ในเครือแบงก์ที่ใช้จุดแข็งมีสาขาเป็นช่องทางการจัดจำหน่าย จากปัจจุบันที่มีลูกค้าสถาบันเป็นลูกค้าหลัก

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี ได้ประกาศปรับกลยุทธ์ทางการตลาดและภาพลักษณ์ใหม่ โดยเน้นการสร้างแบรนด์องค์กรให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น ผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมการตลาด ตลอดปีนี้ ด้วยงบประมาณ 20 ล้านบาท

กาญจนา โรจวทัญญู รองกรรมการผู้จัดการ สายการขายและการตลาด บลจ. เอ็มเอฟซี กล่าวว่าการปรับโฉมครั้งนี้จะใช้สื่อ 3 ชนิดภายใต้สโลแกนว่า "มันสมองทางการลงทุนที่คุณวางใจ" ประกอบด้วย ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่(บิลบอร์ด), การโฆษณาบนรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมทั้งการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์

"การปรับภาพลักษณ์ใหม่นี้ก็เพื่อให้แบรนด์ของ เอ็มเอฟซี เป็นที่รู้จักของนักลงทุนรายย่อยมากขึ้น โดยจะโฟกัสกลุ่มเป้าหมายหลักที่อยู่ในเมืองซึ่งเป็นคนที่มีพื้นฐานเรื่องการลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งเบื้องต้นได้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยเป็น 30% จากสัดส่วนในปัจจุบันที่มีนักลงทุนกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 10-20% ของลูกค้ารวม ส่วนที่เหลือเป็นนักลงทุนสถาบันในสัดส่วนประมาณ 80-90%"

นอกจากนี้ เอ็มเอฟซี ยังมีการใช้กลยุทธ์ Endosement นำบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมมาร่วมโปรโมทกองทุนอีกด้วย เพราะพฤติกรรมการซื้อกองทุนของลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อแบบตามๆกัน และธุรกิจจัดการกองทุนถือเป็น Service Industry ที่ต้องการความเชื่อมั่นค่อนข้างสูง ดังนั้นลูกค้าจึงต้องมีความมั่นใจในแบรนด์ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ

สำหรับต้นเหตุการปรับโฉมครั้งนี้คงหนีไม่พ้นประเด็นการแข่งขันในปัจจุบันที่รุนแรงขึ้นมากของธุรกิจจัดการกองทุน โดยเฉพาะ บลจ.ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ซึ่งใช้ยุทธศาสตร์นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายในเครือไปยังลูกค้ารายย่อยผ่านสาขาของธนาคารซึ่งถือเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่เข้าถึงและสร้างความสะดวกแก่ลูกค้า ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น

ขณะที่สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร(Asset Under Management:AUM)ของ เอ็มเอฟซี ส่วนใหญ่จะมาจากลูกค้าสถาบันเพียงไม่กี่ราย โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายหลักผ่านที่ปรึกษาการลงทุนและตัวแทนขาย นอกจากนี้รูปแบบของหลายๆกองทุนก็ยังเป็นประเภทที่มีกำหนดอายุ/Target Fund อีกด้วย เช่นกองทุนวายุภักษ์, กองทุนเอนเนอร์จี ฟันด์, I-SPORT ฯลฯ

แม้ เอ็มเอฟซี จะเป็นบริษัทแรกที่ดำเนินธุรกิจกองทุนรวมในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งมาแล้วถึง 33 ปีและถือหุ้นใหญ่โดยกระทรวงการคลัง แต่ภายใต้สภาพการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจนี้ หากไม่มีการปรับกลยุทธ์กระจายไปยังฐานลูกค้ารายย่อยใหม่ๆให้มากขึ้นแล้ว ก็มีความเสี่ยงที่ AUM จะเติบโตน้อยกว่าคู่แข่งอื่นๆได้ในอนาคต

ทั้งนี้เป้าหมายของการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดและภาพลักษณ์ก็เพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ให้ฉีกจากภาพลักษณ์เดิมๆ ซึ่ง เอ็มเอฟซี ก็ถือว่าเป็น บลจ.แห่งที่สองแล้วที่มีการปรับ หลังจากก่อนหน้านี้ บลจ.อยุธยาเจเอฟ(AJF) ได้มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดรวมถึงภาพลักษณ์และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บลจ.อยุธยา(AYF) เนื่องจาก เจเอฟ แอสเซ็ท แมนเนจเมนท์ ในเครือเจพีมอร์แกนได้มีการขายหุ้นและไถ่ถอนกองทุนออกเมื่อกลางปี 2549 ซึ่งทำให้ บลจ.อยุธยา ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบงานครั้งใหญ่ภายในองค์กร ทั้งด้านตัวบุคลากร ,ไอที, ชื่อกองทุน, ระบบการให้บริหารที่เจาะเข้าถึงลูกค้ารายย่อยมากขึ้น, การสร้างภาพลักษณ์, รวมทั้งตราโลโก้ที่ได้มีการออกแบบขึ้นมาใหม่ด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.