ทุนนอกรุกคืบธุรกิจโบรกเกอร์


ผู้จัดการรายวัน(17 มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

โบรกเกอร์สัญชาติเกาหลี-ญี่ปุ่น แห่ขอข้อมูลโบรกเกอร์ไทยหวังเข้ามาร่วมทำธุรกิจในประเทศไทย "กัมปนาท" ระบุเทกโอเวอร์ยาก เหตุต้องการฐานลูกค้าในประเทศ เชื่อคงถือหุ้นร่วมทำธุรกิจ ระบุปูทางก่อนเข้ามาลุยตลาดอนุพันธ์ ด้านบิ๊กโบรกเกอร์ ออกโรงเตือนดึงพันธมิตรต่างชาติร่วมถือหุ้นอาจจะไม่ใช่ทางรอด จี้ต้องเร่งสร้างฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่มให้มากขึ้น

นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการผู้อำนวยการบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีบริษัทหลักทรัพย์จากประเทศเกาหลี และประเทศญี่ปุ่น เข้ามาหารือพร้อมขอข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหลักทรัพย์ในไทย เพื่อศึกษาโอกาสในการเข้ามาลงทุนร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทย หลังจากที่คาดว่าจะมีการเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ในปี 2555 นี้

ทั้งนี้ เชื่อว่ารูปแบบในการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนจากเกาหลีและญี่ปุ่นจะแตกต่างจากกลุ่มทุนที่มาจากประเทศอื่นๆ เนื่องจากการเข้ามาลงทุนของกลุ่มดังกล่าวต้องการเข้ามาลงทุนในลักษณะร่วมลงทุนกับพันธมิตรในประเทศไทย เนื่องจากยังต้องการฐานลูกค้ารายย่อยในประเทศเป็นหลัก ขณะเดียวกันอาจจะมีคำสั่งซื้อขายาจากประเทศนั้นๆ ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นเข้ามาบ้าง

"การเข้ามาคงเป็นการเข้ามาคู่เพื่อเป็นพันธมิตรมากกว่า เพราะส่วนใหญ่ต้องการฐานลูกค้าในประเทศจึงจำเป็นที่ต้องหาโบรกเกอร์ที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว แต่การเข้ามาก็ต้องช่วยเพิ่มประโยชน์ให้ทั้ง 2 ฝ่าย"นายกัมปนาทกล่าว

สำหรับความแตกต่างของกลุ่มทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องการเข้ามาซื้อใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อย่างชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์จากนักลงทุนในประเทศ เนื่องจากมีฐานลูกค้าในต่างประเทศที่มากพอสำหรับการเข้ามาส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย ขณะที่อีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่ยังต้องการรักษาลูกค้ารายย่อยในประเทศแต่ไม่มีช่องทางจึงจำเป็นที่จะต้องเข้ามาจับมือกับพันธมิตรในประเทศ

ส่วนโอกาสในการเข้ามาลงทุนนั้น คาดว่ากลุ่มทุนทั้งจากเกาหลีและญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจด้านตลาดอนุพันธ์ เนื่องจากในหลายประเทศอัตราการเติบโตธุรกิจดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงมาก ซึ่งที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของตลาดอนุพันธ์ในประเทศไทยก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี แม้ว่าจะยังไม่เติบโตมากเหมือนในหลายประเทศ

"เงินของกลุ่มทุนจากประเทศเหลือเยอะ เพราะรัฐบาลเค้าสนับสนุนให้ออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ความสนใจต่อตลาดหุ้นไทยที่มีมากขึ้นเนื่องจากเค้ามองเห็นแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในบ้านเรา แต่การหารือคงต้องดูกันยาวๆ ไม่ใช่มาคุยกันแค่ครั้งหรือสองครั้งแล้วร่วมทุนกัน "นายกัมปนาทกล่าว

แหล่งข่าวจากผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า แม้ว่าใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จะมีการเปิดขายแบบเสรีในช่วงปี 2555 แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีข่าวการเข้ามาจับมือร่วมทำธุรกิจระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ไทยกับบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากในสภาวะที่ตลาดหุ้นยังไม่คึกคักการเร่งปรับตัวเพื่อรอจังหวะที่ตลาดหุ้นจะกลับมาสดใสเป็นเรื่องที่หลายคนเริ่มมองเห็น

ทั้งนี้ การจับคู่ทั้งการหาพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมถือหุ้นนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยในเรื่องข้อดีเครือข่ายทีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการได้เงินเข้ามาเพื่อสภาพคล่องเพื่อศักยภาพในการแข่งขั้นถือว่าเป็นโอกาสในการปรับตัวเพื่อรองรับส่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันการไหลเข้ามาของทุนจากต่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อบริษัทหลักทรัพย์ที่ยังไม่สามารถปรับตัวรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ทัน โดยบริษัทที่ไม่มีรูปแบบเฉพาะไม่มีความชัดเจนในการทำธุรกิจจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่สุด

"หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยคงอยู่ไม่ได้แน่ แต่การเปลี่ยนแปลงโดยถึงทุนจากต่างชาติเข้ามาก็อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด การปรับตัวในอยู่รอดนั้นในขณะนี้คงยังไม่มีรูปแบบที่ตายตัวคงต้องรออีกระยะถึงจะเริ่มเห็นลู่ทางที่ชัดเจนขึ้น"แหล่งข่าวกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.