|
จัดสรรวงเงินลุยตปท.ลงตัว บุคคล5ล้าน$สถาบัน10เท่า
ผู้จัดการรายวัน(14 มีนาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ก.ล.ต.จัดสรรวงเงินไพรเวตฟันด์ลุยต่างประเทศแล้ว เผยนิติบุคคลรับไปรายละ 50 ล้าน$ แต่ทยอยรับครั้งละไม่เกิน 5 ล้าน$ เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ลงทุนได้ไม่เกินครั้งละ 5 แสน$จนกว่าจะเต็มเพดานที่ 5 ล้าน$ สุดไฮเทค ยื่นขอผ่านระบบอัติโนมัติ พร้อมตัดเงินทันทีหาก 30 วันไม่มีการใช้เงิน ส่วนวงเงิน FIF ทบทวนการจัดสรรใหม่ทุกๆ 3 เดือน มีผล14 มีนาคมนี้
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำนักงานได้ออกประกาศซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดสรรวงเงินลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งลงนามโดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานก.ล.ต.ให้กับบริษัทจัดการกองทุนรับทราบ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดสรรวงเงินลงทุนเพิ่มอีกจำนวน 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแนวทางการจัดสรรวงเงินดังกล่าว แยกออกเป็นวงเงินสำหรับกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงวงเงินสำหรับกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวตฟันด์)
โดยในส่วนของกองทุนส่วนบุคคล สำนักงานได้กำหนดวงเงินลงทุนต่างประเทศให้กับผู้ลงทุนที่เป็นนิติบุคคลตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รายละไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะทยอยจัดสรรให้ครั้งละไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อใช้ไปถึง 4 ล้านเหรียญสหรัฐ สามารถขอจัดสรรเพิ่มเติมได้จนกว่าจะเต็มวงเงินที่ได้รับอนุมัติในแต่ละราย
ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาและผู้ลงทุนอื่นๆ นอกเหนือจากนิติบุคคล กำหนดวงเงินลงทุนรายละไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะทยอยจัดสรรวงเงินให้ครั้งละไม่เกิน 5 แสนเหรียญสหรัฐ และเมื่อใช้ไปถึง 4 แสนเหรียญสหรัฐ สามารถขอจัดสรรเพิ่มเติมได้จนกว่าจะเต็มวงเงินที่ได้รับอนุมัติในแต่ละรายเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ การจัดสรรวงเงินลงทุนในต่างประเทศของสำนักงานในกรณีของกองทุนส่วนบุคคลนั้น จะไม่นับรวมกรณีบุคคลต่างชาติหรือนิติบุคคลต่างชาติที่จดทะเบียนในต่างประเทศ และกรณีที่นิติบุคคลสามารรถขอวงเงินลงทุนต่างประเทศได้โดยตรงจากธปท. หากประสงค์จะลงทุนในต่างประเทศผ่านกองทุนส่วนบุคคล จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุมัติวงเงินจากสำนักงาน
โดยขั้นตอนของการขอวงเงินนั้น ให้บริษัทจัดการยื่นขออนุมัติผ่านระบบควบคุมวงเงินในต่างประเทศของสำนักงาน (ระบบ FIA) ซึ่งการยื่นขออนุมัติวงเงินดังกล่าว จะพิจารณาโดยระบบในลักษณะ real time โดยวงเงินดังกล่าวจะมีอายุ 30 วัน หากไม่มีการแจ้งการใช้วงเงินไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เมื่อครบระยะเวลาระบบจะดึงวงเงินคงเหลือคืนทั้งหมดโดยอัติโนมัติ ซึ่งระบบดังกล่าวจะเปิดใช้งานในวันที่ 14 มีนาคมนี้
สำหรับการจัดสรรวงเงินของกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานกำหนดให้กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศ ต้องขอวงเงินจากสำนักงานก่อน โดยให้บริษัทจัดการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนพร้อมทั้งระบุจำนวนเงินทุนโครงการต่อสำนักงาน ส่วนกองทุนที่มีนโยบายลงทุนต่างประเทศบางส่วน ให้ระบุสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศด้วย และเมื่อสำนักงานอนุมัติกองทุนดังกล่าว จะนำส่งรายชื่อต่อธปท.ต่อไป
โดยหลังจากสำนักงานอนุมัติวงเงินตามที่ขอไปแล้ว บริษัทจัดการต้องเสนอขายหน่วยลงทุนและจดทะเบียนกองทุนรวมภายในระยะเวลา 30 วันหลังจากวันที่ยื่นหนังสือชี้ชวน ซึ่งหากบริษัทจัดการนั้นไม่จดทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนด สำนักงานจะยึดวงเงินคืนทั้งหมด แต่ในกรณีที่จดทะเบียนตามระยะเวลาที่กำหนด ในกรณีที่เป็นกองทุนปิดที่ไม่มีการเสนอขายเพิ่ม ให้บริษัทจัดการคืนวงเงินที่เกินกว่าจำนวนที่ขายได้
ทั้งนี้ สำนักงานจะทำการทบทวนวงเงินดังกล่าวทุกๆ 3 เดือน นับจากเดือนที่รับจดทะเบียน โดยจะพิจารณาวงเงินจากการรายงานยอดคงค้างที่บริษัทจัดการส่งให้ หากยอดคงค้างไม่ถึง 50% ของวงเงินที่ได้รับ สำนักงานจะยึดวงเงินคืนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ยังไม่ได้นำไปลงทุนต่างประเทศ ณ ขณะนั้น สำหรับกองทุนเดิมที่ได้รับวงเงินไปแล้ว สำนักงานจะยึดคืนครั้งแรก โดยพิจารณาจากยอดคงค้าง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2551 ส่วนการขอวงเงินเพิ่ม กองทุนนั้นต้องมีการลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่ 75% ของวงเงินที่ได้รับการจัดสรร
สำหรับกรณีพอร์ตของบริษัทจัดการ สำนักงานกำหนดวงเงินลงทุนในต่างประเทศสูงสุดบริษัทละไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจัดสรรให้ครั้งละไม่เกิน 5 ล้านเหรียญ และสามารถขอการจัดสรรเพิ่มเติมได้จนกว่าจะเต็มวงเงินเมื่อใช้ไปถึง 4 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ บริษัทจัดการต้องยื่นขอใช้วงเงินผ่านระบบ FIA ซึ่งสำนักงานจะดึงวงเงินคืนโดยผ่านระบบหากวงเงินที่ได้รับการจัดสรรไม่ได้ถูกใช้ไปภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับการอนุมัติ
สำนักงาน ก.ล.ต. ระบุเพิ่มเติมว่า ให้บริษัทจัดการรายงานการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนส่วนบุคคล โดยรายงานแยกรายกองทุน และของบริษัทจัดการ เพื่อจัดส่งให้ ธปท. และสำนักงานเป็นรายเดือน ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2551 เป็นต้นไป
ก่อนหน้านี้ สำนักงานก.ล.ต. รายงานว่า หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาขยายวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้สำนักงาน ก.ล.ต. อีก 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เมื่อรวมกับวงเงินการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่ง ธปท. ได้อนุมัติไว้แล้ว และวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศส่วนที่ต่ำกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (เดิม ธปท. เป็นผู้อนุมัติให้ผู้ลงทุนโดยตรง) จะมีวงเงินต่างประเทศไว้จัดสรรรวมทั้งสิ้น 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ กำนหนดให้สำนักงาน จัดสรรวงเงินการลงทุนในรูปแบบต่างๆ และการโอนเงินออกต่างประเทศ ทั้งการลงทุนในกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์ ที่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย บุคคลทั่วไปที่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) หรือลงทุนตรงผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไม่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของคนไทยในบริษัทต่างประเทศมาจดทะเบียนเพื่อระดมเงินในตลาดหลักทรัพย์ที่ร้อยละ 25 และการสนับสนุนให้ออกตราสารทางการเงินสกุลบาทที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น Transferable Custody Receipt (TCR)
นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้บุคคลธรรมดาสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่าน บล. ในฐานะนายหน้าหรือผู้ค้าได้ โดยให้ลงทุนได้เฉพาะหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนใน Regulated Exchange หรือ Sovereign Bond เท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|