บทเรียนแพง ประมูลทศท.ต้องเขี้ยวจัด


ผู้จัดการรายวัน(10 มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ทศท.เปิดมิติใหม่วงการประมูล ด้วยยุทธศาสตร์ยืมมือที่ปรึกษา ปั้นผลสำเร็จโครงการบิลลิ่ง ใช้วิธีหลังพิง กม.อ้างระเบียบสำนักนายกฯ ปฏิเสธรับรู้การถือหุ้นโยงใยกลุ่มผู้ชนะกับกลุ่มที่ปรึกษา อาศัยฆ่า ตัดตอน เน้นความโปร่งใสขาดียวกับ ทศท.ส่วนที่ปรึกษาโครงการไม่รับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น

นายสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น แถลงข่าวถึงผลสรุปโครงการบิลลิ่งหรือระบบใบแจ้งหนี้ โดยยืน ยันว่ากระบวนการประกวดราคาเป็นไป ตามข้อกำหนดหรือทีโออาร์ทุกประการ

โดยบริษัท เทเลเมติคส์ถือเป็นผู้ชนะโครงการบิลลิ่ง ในวงเงิน 1,175 ล้านบาท ส่วนบริษัท โลคัส เทเลคอมมิวนิเคชั่น อิงค์ ชนะโครงการระบบบริการลูกค้า หรือคอลเซ็นเตอร์ในวงเงิน 884 ล้านบาท

โครงการบิลลิ่ง เป็นโครงการที่อื้อฉาวมาตลอดในทำนอง มีการถือหุ้นโยงใยกันระหว่างบริษัทที่ชนะการประมูลคือเทเลเมติคส์กับบริษัทที่มีส่วนร่วมในลักษณะการทำงานเชิงธุรการเป็นผู้ประสานงานอย่าง U.C.E.C. ที่ศูนย์บริการทางวิชาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาโครงการนี้ (ทำหน้าที่ร่วมเขียนข้อกำหนดและการทำการทดสอบ Benchmark) ว่าจ้าง

"ประเด็นคือความไม่ชัดเจนของ U.C.E.C ทำไมศูนย์บริการฯถึงว่าจ้างบริษัทที่มีความเกี่ยว ข้องกับเทเลเมติคส์ เข้ามาประสานงานด้วย"

การถือหุ้นโยงโยที่นำมาซึ่งความไม่โปร่งใสและจุดด่างในการประมูลครั้งนี้อยู่ที่นางยองค์การ อินทรัมพรรย์ ซึ่งถือหุ้น 1 หมื่นหุ้นใน U.C.E.C. (20%) ในขณะเดียวกันถือหุ้น ในบริษัท SAG 5 หมื่น หุ้น (5%) ซึ่งใน SAG มีนายวิสาล นีรนาทโกมล ถือหุ้น 5.07 ล้านหุ้น ซึ่งตัวนายวิสาล นีรนาทโกมลถือหุ้นใน เทเลเมติคส์ 1.089 ล้านหุ้น 20% ที่นายองค์การถือใน U.C.E.C. มาจากทุนจดทะเบียน 6 ล้านบาทหรือ 6 หมื่นหุ้น หุ้นละ 100 บาท

ตามรายชื่อผู้ถือหุ้น 27 เม.ย.2545 ซึ่งอยู่ในช่วง การดำเนินการโครงการนี้ มีคนถือหุ้น 8 คนเท่านั้น นายไพศาล สินธนาถือหุ้นใหญ่ 4.8 หมื่นหุ้น ที่เหลือ อีก 5 คนถือเพียง 1 หุ้น อีก 1 คนคือนายสุเทพ อเนกบุญลาภถือ 1 พันหุ้น

ใน U.C.E.C.มีกรรมการลงนามผูกพันบริษัทได้ 2 คน คือนายไพศาลกับนายองค์การเท่านั้น ต้อง ถือว่านายองค์การมีบทบาทในบริษัท กรณี SAG ที่ อ้างว่านายองค์การถือหุ้นน้อยแค่ 5% ในข้อเท็จจริงตามทะเบียนหุ้น 30 เม.ย. 2545 มีผู้ถือหุ้น 7 คนเท่านั้น โดยทุนจดทะเบียน 10 ล้านหุ้น หุ้นละ 10 บาท มี 4 คนที่ถือหุ้นในระดับนัยสำคัญ คือนายองค์การ 5 หมื่น หุ้น นายวิจิตร ศรีสอ้าน 5 หมื่นหุ้น นายวิสาล 5.07 ล้านหุ้น นางพัชรี นีรนาทโกมล 4.8 ล้านหุ้น ที่เหลืออีก 3 คนถือแค่ 10 หุ้น

ในเทเลเมติคส์ มีนายวิสาลถือหุ้นใหญ่ 1.089 ล้านหุ้น จากทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาทหรือ 2 ล้านหุ้น

ประเด็นการถือหุ้นถึงแม้จะพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า นายองค์การถือหุ้นในลักษณะมีนัยสำคัญทั้ง U.C.E.C. และ SAG ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเทเลเมติคส์ ผ่านทางนายวิสาล

แต่สำหรับทศท.แล้วนายสิทธิชัยอ้างระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่ไม่มีความ สัมพันธ์ในเชิงบริหาร ความสัมพันธ์ในเชิงทุน ความสัมพันธ์ในลักษณะการไขว้กันระหว่างเชิงบริการและเชิงทุน และอ้างว่า U.C.E.C. ไม่ใช่เป็นที่ปรึกษา ทศท. เป็นเพียงบริษัทที่ศูนย์บริการฯจ้างมาประสานงานด้านธุรการเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังอ้างว่าการถือหุ้นของนายองค์การเป็นเพียงผู้ถือหุ้นข้างน้อยเพียง 20% ใน U.C.E.C. และ 5% ใน SAG จึงไม่ถือว่าทั้ง 2 บริษัทมีผลประโยชน์ร่วมกัน

"ถ้าเป็นศูนย์บริการถือหุ้นอย่างนี้ก็ชัด แต่ U.C.E.C. ไม่ใช่ที่ปรึกษา อย่างเรื่องถืหุ้นผมยังถือหุ้น ทีเอเลย ซื้อตอนราคา 55 บาท" นายสิทธิชัยกล่าว

ปัญหาที่เกิดคือความไม่โปร่งใส ด้าน U.C.E.C. ซึ่งเมื่อสอบถามนายสิทธิชัยว่าทำไมศูนย์บริการฯถึงเลือก U.C.E.C. ที่ทำให้เกิดปัญหา ก็ไม่มี คำตอบจากนายสิทธิชัย เพราะถือเป็นเรื่องของศูนย์บริการนอกเหนืออำนาจของทศท.ในการตรวจสอบ

แหล่งข่าวในวงการประมูลกล่าวว่า ประเด็นการ ถือหุ้นดังกล่าว ถือว่า ทศท.อธิบายไม่ชัดเจน อ้างแต่ ข้อกม.ระเบียบสำนักนายกฯ โดยไม่ได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.