|

หุ้นซึมวอลุ่มเทรดวูบกังวลการเมืองเดือด
ผู้จัดการรายวัน(7 มีนาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดหุ้นไทยยังซึม มูลค่าการซื้อขายไม่ถึง 2 หมื่นล้าน นักลงทุนไม่มั่นใจเต็มที่จะเข้ามาลงทุน แม้ได้รับอานิสงส์ราคาน้ำมันทะยานทะลุ 104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทำให้มีการเข้ามาเก็งกำไรหุ้นน้ำมันค่อนข้างสูง โบรกฯเชื่อหุ้นร่วงแน่ก่อนเข้าวันหยุดเหตุนักลงทุนไม่มั่นใจปัญหาการเมือง รวมถึงหวั่นการรวมตัวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (6 มี.ค.) ตลอดทั้งวันดัชนีแกว่งตัวอยู่ในแดนบวกหลังจากในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบ โดยได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนทำสถิติใหม่อีกครั้ง แต่มูลค่าการซื้อขายยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากนักลงทุนยังไม่มั่นใจต่อการเข้ามาลงทุนอย่างเต็มที่ ส่งผลทำให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาปิดที่ 827.71 จุด เพิ่มขึ้น 2.73 จุด หรือ 0.33% โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 833.41 จุดและจุดต่ำสุดอยู่ที่ 827.55จุด มูลค่าการซื้อขาย 17,188.11 ล้านบาท
ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 278.74 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 41.35 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 320.09 ล้านบาท
นายอภิศักดิ์ ลิมป์ธำรงกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ นครหลวงไทย จำกัด กล่าวว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลส่งผลทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ถึง 104.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จึงเป็นแรงกระตุ้นให้มีการเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะหุ้น PTT และ PTTEP
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของตลาดหุ้นในภูมิภาคหลังจากช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวในทิศทางขาลงเป็นส่วนใหญ่จึงส่งผลดีต่อจิตวิทยาในการลงทุน ทั้งในช่วงที่ยังรอข่าวดีเข้ามาสนับสนุนยังมีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนต่างชาติอาจจะมีการขายสุทธิออกมาได้อีกในช่วงระยะสั้น เนื่องจากปัญหาวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ในสหรัฐฯซึ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย
สำหรับแนวโน้มในการลงทุนวันนี้ คาดว่าประเด็นผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์ยังคงเป็นประเด็นหลักต่อกดดันการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก โดยล่าสุดข่าวการประกาศหยุดให้สินเชื่อบ้านของบริษัทเมอร์ริลลินซ์ รวมถึงการขายกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจซับไพร์มโดยสิ้นเชิง พร้อมทั้งปลดพนักงานออกกว่า 650 คน ยังเป็นข่าวลบต่อจิตวิทยาในการลงทุนที่อาจจะทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงได้อีก
อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายสัปดาห์มีโอกาสที่นักลงทุนจะขายออกมาเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน เนื่องจากมีข่าวเรื่องการกลับมาของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจากความไม่พอใจโดยเฉพาะประเด็นการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงหลายตำแหน่ง โดยนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าวที่ต้องติดตามแล้ว ยังต้องติดตามการประกาศตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯในคืนนี้ เพราะจะส่งผลกับความเคลื่อนไหวของดัชนีดาวโจนส์ โดยมองแนวรับที่ 820 จุด และแนวต้านที่ 830 จุด
นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดลูกค้าบุคคล บล.ธนชาต กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยดีดกลับหลังจากปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับได้แรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาเข้าซื้อสุทธิอีกครั้งเนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นพลังงาน ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองยังถือว่าไม่ได้สร้างความกดดันให้ตลาดหุ้นมากนัก
ทั้งนี้ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานหลังราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังที่ประกาศออกมาซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลชัดเจนขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะมีการประชุมในวันที่ 18 มี.ค.นี้ โดยในรอบนี้อาจจะต้องปรับลดลงอีกอย่างน้อย 0.50% หลังรายงานผลสำรวจกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Beige book) ของ 12 เขตเศรษฐกิจส่งสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวอย่างชัดเจน ซึ่งหากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยจริงจะทำให้ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ กับอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยห่างกันมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันให้ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแนวรับที่ 827 จุด แนวต้าน 835 จุด ตลาดยังรอปัจจัยกระตุ้นใหม่ๆ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะประกาศออกมา ซึ่งหากไม่เลวร้ายเกินไปตลาดหุ้นก็มีโอกาศที่จะปรับบวกต่อได้อีกวัน แนะนำนักลงทุนใช้จังหวะที่มีการปรับฐานทยอยซื้อสะสม
นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ยังคงติดตามการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นดาวโจนส์ว่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางใดเนื่องจากยังมีประเด็นเกี่ยวกับซิตี้ กรุ๊ป อาจต้องตัดขาดทุนเพิ่มอีก 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ตลาดหุ้นดาวโจนส์ปรับลงแรงๆ และจะเป็นปัจจัยกดดันให้ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงตาม
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|