แบงก์จับตาทิศทางดอกเบี้ย หลังธปท.ยกเลิกสำรอง30%


ผู้จัดการรายวัน(5 มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% อาจทำให้แบงก์ชาติบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและดำเนินนโยบายการเงินลำบากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่ต้องรักษาสมดุลส่วนต่างกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯที่ลดลง สวนทางกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่ขยับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันและการเร่งอัดฉีดการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่โดยภาพรวมแล้วการยกเลิกมาตรการดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อตลาดทุนและการลงทุนในประเทศ ด้านฝ่ายวิจัยแบงก์กรุงเทพคาดแบงก์ชาติยังตรึงดอกเบี้ยในครึ่งปีแรกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่มีทิศทางขยับลงในครึ่งปีหลัง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลจากการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%ว่า อาจทำให้การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและการดำเนินนโยบายการเงินเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในอนาคต โดยแม้ว่าภายใต้ พ.ร.บ. ธปท. ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มีนาคม 2551 ธปท.จะมีเครื่องมือทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับการดูแลสภาพคล่องในระบบการเงิน รวมถึงสามารถจะบริหารจัดการสินทรัพย์ในขอบเขตที่กว้างขึ้นกว่าเดิม เพื่อการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคแล้ว การยกเลิกมาตรการกันสำรองท่ามกลางจังหวะเวลาที่เงินดอลลาร์ฯยังมีแนวโน้มตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯนั้น ประเด็นเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯที่มีแนวโน้มกว้างขึ้น อาจทำให้ ธปท.ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาสมดุลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ให้กว้างมากเกินไปในขณะที่รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว อาจทำให้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของประเทศเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลดีต่อตลาดทุนและการลงทุนในประเทศ เนื่องจากนับว่าเป็นการช่วยลดอุปสรรคสำหรับการลงทุนในตลาดทุน โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้และกองทุนรวม รวมทั้งน่าจะเอื้อให้นักลงทุนมีทางเลือกในการระดมทุนที่หลากหลายมากขึ้นภายใต้ข้อจำกัดที่ลดลง ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติอาจมีแนวโน้มนำเงินทุนเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในระยะถัดไปอย่างน้อยตลอดช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อันจะส่งผลให้เงินดอลลาร์ฯยังคงมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงเงินบาท โดยคาดเฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงสู่ 1.75-2.00% ภายในกลางปี 2551 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯกว้างขึ้น และอาจทำให้ความน่าดึงดูดสำหรับการลงทุนในตราสารทางการเงินของสหรัฐฯลดน้อยลง

นอกจากนี้ จะขึ้นอยู่กับการประเมินของนักลงทุน หากประเมินสภาพแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจในเชิงบวก หรือ ประเมินว่ามีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต ก็คงจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศสู่ตลาดเงินและตลาดทุนไทย แต่หากในทางกลับกัน ยังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองและแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ก็อาจมีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นในการลงทุนในตลาดการเงินไทย ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว การปรับตัวของตลาดเงินและตลาดทุนไทยคงจะเป็นไปด้วยความผันผวนมากขึ้น

ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นการยกเลิกมาตรการกันสำรองจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อตลาดหุ้นและธุรกิจกองทุนรวมในระยะยาว โดยช่วยสนับสนุนการขยายตัวของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทำให้การระดมทุนจากนักลงทุนต่างชาติเพื่อมาลงทุนในกองทุนประเภทนี้กระทำได้โดยง่ายขึ้น โดยไม่ต้องหักเงินสำรอง 30% หรือทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

สำหรับตลาดตราสารหนี้นั้น การไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ในภาพรวม เนื่องจากเป็นที่คาดว่า เงินทุนไหลเข้าดังกล่าวจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ ตลอดจนช่วยสนับสนุนให้การซื้อขายในตลาดมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังอาจมีแนวโน้มจะได้รับแรงบวกจากปัจจัยเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯที่มีแนวโน้มกว้างขึ้น และการดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ควรจะมีภาระต้นทุนทางการเงินในระดับต่ำ ซึ่งอาจสนับสนุนให้ ธปท.จำต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในท้ายที่สุด

คาดแบงก์ชาติตรึงดบ.สกัดเงินเฟ้อ

ด้านฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประเมินโดยภาพรวมแล้ว การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยคงไม่ถูกกระทบจากการยกเลิกมาตรการนี้มากนัก แม้ว่าการส่งออกอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็จะถูกชดเชยจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งน่าจะได้รับผลดีจากการยกเลิกมาตรการนี้

สำหรับในระยะยาว ค่าเงินบาทอาจจะไม่ได้แข็งค่าขึ้นรุนแรงอย่างที่คาดการณ์กันไว้ก็ได้ หากการลงทุนของภาคเอกชนฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และภาครัฐเร่งให้เกิดการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าได้โดยเร็ว ซึ่งจะทำให้การนำเข้าสินค้าทุนเร่งตัวขึ้น ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะมีแนวโน้มเกินดุลลดลง และแรงกดดันที่จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็จะลดลงตามไปด้วย นอกจากนั้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้นในปลายปีนี้ ก็จะทำให้มีกระแสเงินทุนไหลกลับไปลงทุนในสหรัฐฯมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะค่อยๆกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง และปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทก็น่าจะสิ้นสุดลง

ด้านอัตราดอกเบี้ย มีการคาดการณ์กันว่าหากยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ไปแล้ว ธปท.อาจจะต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารกลางของสหรัฐฯปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกในการประชุมวันที่ 18 มี.ค. ที่จะถึงนี้ เพื่อลดความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงจูงใจในการเก็งกำไรจากอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ล่าสุดอยู่ในระดับสูงถึง 5.4% ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะทำได้ยากลำบากขึ้น การปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยบรรเทาแรงกดดันที่มีต่อเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นว่าเมื่อธปท.ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ไปแล้วจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะนี้ แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีการลดดอกเบี้ยอาจสามารถทำได้ หากมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.