ACD ดันเอเชียใหม่ยกThaksinomic


ผู้จัดการรายวัน(6 มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ทักษิณชูความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) เป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างทวีปที่มีผู้บริโภคมากที่สุดแห่งนี้ให้เข้มแข็ง เป็น "เอเชีย ใหม่" ทศวรรษหน้า โดยมีพันธบัตรเอเชียเป็น เครื่องมือแก้ปัญหา "วงจรอุบาทว์ด้านเงินทุน" และสภาพคล่อง ย้ำไทยพร้อมผลักดันอินโดจีนเข้มแข็ง หวังการประชุมเอซีดีที่เชียงใหม่อีก 2 สัปดาห์ จะมีการตัดสินใจนำไปสู่การ ตั้งเอเชียบอนด์ ขณะที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ยาหอมผู้นำไทยแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยดีเยี่ยม สมควรเรียกเป็นนโยบายเศรษฐกิจแบบ Thaksinomic

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสัมมนาอนาคตของเอเชีย (The Future of Asia) ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์นิเคอิ ณ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น วานนี้ (5 มิ.ย.) ว่าถึงเวลาแล้วที่เอเชียจะต้องไขว่คว้า หาแนวทางเป็นหุ้นส่วนใหม่บนพื้นฐาน ความเข้มแข็ง และความหลากหลาย ที่ชาติต่างๆ ในทวีปนี้มีร่วมกัน

เขากล่าวว่าเอเชียต้องการแนวคิดรูปแบบ ใหม่ ที่เป็นแนวคิดเปิดกว้าง และนำไปสู่ความ ร่วมมือที่จะเสริมสร้างความเชื่อมั่น การยอมรับ นับถือความแตกต่างหลากหลาย ขณะเดียวกัน ยังคงยึดมั่นคุณค่าของเอเชีย แนวคิดเพื่อการปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนแปลงนี้ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความมั่นคงแต่ละประเทศ ความมั่งคั่งผาสุกของประชาชน และความรับผิดชอบ ของคนรุ่นปัจจุบัน

"นโยบายภายในประเทศและต่างประเทศ ของผมมาจากคำสอน และหลักปรัชญาเอเชีย ที่ช่วยชี้ให้เกิดวิสัยทัศน์ ดังนั้น ผมจึงมีความมั่นใจมากว่า เอเชียสามารถนำเอาวัฒนธรรม อารยธรรม และความหลากหลายที่มีอยู่ มาคิดค้น และสร้างระบบเศรษฐกิจของเอเชียร่วมกันใหม่ได้อีกครั้ง และเชื่อว่า การพัฒนาและการเติบโตอย่างเต็มที่ด้าน การค้าของเอเชีย จะเป็นทางเลือกที่สำคัญยิ่งอีกทางหนึ่งสำหรับส่วนอื่นๆ ของโลก"

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ความกระตือรือร้น ที่จะเห็นความมั่งคั่งในเอเชีย และดำเนินการตามหลักปรัชญา และความรู้ที่มีอยู่ในเอเชีย ทำให้เขาเชื่อมั่นว่า ความคิดริเริ่มของผู้นำเอเชียหลายคน ที่จะร่วมกันก่อตั้งกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี-Asia Cooperative Dialogue) เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ที่อำเภอชะอำ เพชรบุรี เป็นโอกาสที่เหมาะสม และเป็นยุทธ-ศาสตร์ที่สมควรแก่เวลาอย่างยิ่ง เพื่ออนาคตของเอเชีย

เพราะเอซีดีเป็นเวทีสำหรับผู้มีหน้าที่ตัดสินใจของทวีปเอเชีย ที่จะใช้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้ความร่วมมือระดับทวีปเอเชีย สัมฤทธิผล ซึ่งจุดประสงค์คือ การเสริมสร้างสันติภาพ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียว กันของประเทศในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่าความเป็นหุ้นส่วนใหม่ในเอเชีย จะไม่สัมฤทธิผล หากไม่มีพิธีการ และการดำเนินการเพื่อจัดการกับนโยบาย การเงินที่เหมาะสม และเกื้อหนุนระบบเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องเงินทุน และสภาพคล่องในเอเชีย ยังไม่ได้รับการแก้ไข

เอเชียบอนด์ช่วยตัดวงจรอุบาทว์

สิ่งที่จะเป็นเครื่องมือการเงินที่เหมาะสม ที่จะตัดวงจรอุบาทว์ ที่เป็นต้นเหตุปัญหาด้านเงินทุนได้ คือพันธบัตรเอเชีย (Asia Bond) ซึ่งระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการของเอซีดี ว่าด้วยความร่วมมือ ทางการเมือง และพันธบัตรเอเชีย ที่กรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ปฏิกิริยาจากผู้ร่วมประชุม ล้วนเป็นบวก ขณะเดียวกันประเทศคู่ค้านอกภูมิภาค ก็กระตือรือร้น กับแนวความคิดเรื่องพันธบัตรเอเชีย ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

"ผมหวังว่าการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ เอซีดี ครั้งที่ 2 ที่จะมีขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า จะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ และมีการตัดสินใจร่วมกัน เพื่อให้การสนับสนุนทาง การเมืองกับการกองตั้งพันธบัตรเอเชีย" พ.ต.ท. ทักษิณกล่าว

แนะเปิดเสรีการค้าเอเชีย

ผู้นำไทยกล่าวว่า ขณะที่เอซีดีเป็นกระบวนการ สร้างเสริมสมรรถนะ และเปิดกว้างระดับทวีปเอเชีย ประเทศต่างๆ ในเอเชีย ก็ต้องหามาตรการอื่นๆ เสริม สมรรถนะระบบเศรษฐกิจประเทศนั้นๆ ด้วย ซึ่งความ ตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area) ไม่ว่าจะเป็นระดับทวิภาคี หรืออนุภูมิภาค จะเป็นมาตรการหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดความมั่งคั่ง และศักยภาพที่สูงขึ้น ในตลาดแต่ละประเทศ เมื่อตลาดในเอเชียมั่งคั่งขึ้น ต่อเนื่อง ทีละตลาดจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ที่จะทำการค้าและมีความมั่งคั่ง ตาม ไปด้วย

ไทยพร้อมผลักดันอินโดจีนแข็งแกร่ง

"ผมเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย หากพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีความมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น ประเทศไทย ซึ่งฟื้นตัวจากวิฤตปี 1997 (พ.ศ. 2540) ได้อย่างรวดเร็วกว่าที่หลายคนคาดคิด พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศเพื่อนบ้าน

"การทำให้เพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคเดียวกัน มีสมรรถนะทางเศรษฐกิจดีขึ้น จะเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของไทย การที่อนุภูมิภาคอินโดจีน มีเศรษฐกิจที่แข็งแรง และมีเสถียรภาพทางการเมือง มีความสำคัญอย่างมากต่ออนาคตของเอเชีย" พ.ต.ท. ทักษิณ กล่าว

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า อนาคตของเอเชีย ต้องการการสร้างความมั่นใจด้านสันติภาพ และความมั่นคง เพราะการลงทุน การค้า และท่องเที่ยว ต่างขึ้นกับจัดการปัญหาความขัดแย้ง และความ สามารถจัดการปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งเวทีว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิก ควรจะได้รับการสนับสนุนให้เป็นเวทีด้านความมั่นคง ที่มีบทบาทมากขึ้น

เอซีดีสร้างเอเชียใหม่-ทศวรรษหน้า

"เอซีดีแม้จะมีอายุเพียง 11 เดือน แต่ก็ได้ทำให้ผู้นำประเทศในอาเซียนจำนวนมาก เชื่อมั่นในความสำคัญอย่างยิ่ง ที่มีต่อประเทศในอาเซียน เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกัน เพื่อปูพื้นฐานสำหรับความ เจริญเติบโตที่ยืนยาว และเสถียรภาพทางสังคม ที่จะเป็นประโยชน์ให้กับทวีปเอเชีย และประชาคมระหว่างประเทศ เอซีดีเป็นสมาคมฯ ที่เปิดกว้าง และกระทบวนการเอซีดี จะช่วยทำให้เกิดเอเชียใหม่ที่เข้มแข็ง และมีพลัง โดยจะเป็นทวีปแห่งวันติภาพ และความมั่นคง สำหรับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต" พ.ต.ท.ทักษิณประกาศก้องที่เมืองหลวงของ ญี่ปุ่น

พ.ต.ท.ทักษิณย้ำความเชื่อมั่นในพลัง และความ แข็งแกร่งที่มีอยู่ในทวีปเอเชีย รวมทั้งความเชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นเอเชีย ประโยชน์ที่จะเกิดจากกระบวนการเอซีดี และศักยภาพที่มีอยู่ของประเทศในเอเชีย จะทำให้เอเชียสร้างเสริมพลังเพื่อพัฒนาทวีปของเราให้เหมาะสมได้สำเร็จ "ทศวรรษหน้าจะเป็นทศวรรษแห่งทวีปเอเชีย"

ด้านนางกลอเรีย อาโรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ซึ่งกล่าวสุนทรพจน์ก่อน พ.ต.ท.ทักษิณ ในงานเดียวกัน ระบุตอนหนึ่งว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ติดตาม การปฏิบัติงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาตลอด 2 ปี

Thaksinomic

พบว่านายกรัฐมนตรีไทย กระตือรือร้นตลอดเวลา และยังติดตามนโยบายเศรษฐกิจของไทย ที่ให้ความสำคัญระดับพื้นฐาน ซึ่งก้าวหน้ามาก ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในอัตราที่สูง จึงต้องการจะเรียกแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย เป็นนโยบายเศรษฐกิจแบบทักษิณ หรือ Thaksinomic พร้อมกับแสดงความชื่นชมแนวทางแก้ไขปัญหาของไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.