ธปท.สั่งแบงก์คุมความเสี่ยงสกัด'ซับไพรม์'


ผู้จัดการรายวัน(4 มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.จี้แบงก์พาณิชย์บริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมแจงนโยบายการกำกับตรวจสอบธนาคารพาณิชย์โดยมุ่งเน้นใน 4 ประเด็น คือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของทางการ การบริหารจัดการ การควบคุมภายในเพื่อรองกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ และความพอเพียงของเงินกองทุน

วานนี้ (3 มี.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เรียกผู้บริหารธนาคารพาณิชย์จำนวน 14 แห่ง เข้าพบเพื่อทำการชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายการกำกับตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้

โดยนายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.เปิดเผยว่า ธุรกิจสถาบันการเงินในปีนี้จะต้องมีความระมัดระวังเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ที่เกิดจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งถึงจะเริ่มคลี่คลาย ซึ่งในส่วนของสถาบันการเงินจึงจำเป็นต้องมีการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ สถาบันการเงินยังต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกฎหมายทางการเงิน 3 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก กฎหมายเหล่านี้จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้

สำหรับนโยบายการกำกับตรวจสอบในปีนี้ ธปท. จะเน้นใน 4 เรื่อง ซึ่งประกอบด้วย 1.การกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยให้ความสำคัญกับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ 2.การบริหารความเสี่ยงที่ดีด้านเครดิต สภาพคล่อง และตลาดให้มีประสิทธิภาพ 3.การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของทางการ การบริหารจัดการ การควบคุมภายในเพื่อรองกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ และ 4. ความพอเพียงของเงินกองทุนต่อการขยายธุรกิจในปัจจุบันและในอนาคต

"การตรวจสอบสถาบันการเงินจะเน้นความเข้มแข็งของเงินกองทุนและมีเครื่องมือการตรวจสอบใหม่ เพื่อประเมินความเข้มแข็งของธนาคารพาณิชย์แต่และแห่งและทั้งระบบ เพื่อรองกับการใช้เกณฑ์บาเซิล 2 โดยปัจจุบันเงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 14-15% ซึ่งสูงว่าเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ 8.5% อย่างไรก็ตาม มองว่าปีนี้หากเศรษฐกิจไทยดีขึ้นการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็จะได้ประโยชน์ แต่การแข่งขันก็จะมีมากขึ้นด้วย" นายบัณฑิตกล่าว

นายบัณฑิต กล่าวว่า สำหรับเครื่องมือใหม่ตามเกณฑ์บาเซิล 2 จะจัดทำแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนฐานะของธนาคารพาณิชย์ที่แท้จริงตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดูว่าแผนธุรกิจจะต้องมีการปรับหรือไม่ รวมถึงดูว่าโครงสร้างธุรกิจเหมาะสมหรือไม่หรือต้องมีการตัดทอนอะไรออกไปบ้าง อีกทั้งต้องมีการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงอีกหรือไม่

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการรายงานการตรวจสอบในปี 2551 นั้นมีอยู่ 4 เรื่อง ประกอบด้วย การดูแลกิจการที่ดี การจัดการบริหารความเสี่ยง ความเพียงของเงินกองทุนและการบริหารสภาพคล่อง ซึ่งในส่วนของธนาคารนั้นได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว

"ธปท.เรียกมาเพื่อคุยเรื่องการบริหารความเสี่ยงและการปรับตัวของแบงก์ เพื่อรองรับกฎหมายใหม่ เช่น รูปแบบการทำธุรกรรมและเรื่องเงินกองทุน เพราะในปี 50 กำไรของแบงก์ลดลงไปมาก"นายชัยวัฒน์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.