พรีเมียม บรอดแบนด์ คุณภาพเกินตัวกลุ่มเบญจจินดา


ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

เบญจจินดา โฮลดิ้ง ตั้งเป้ายกระดับธุรกิจไอทีสู่ "พรีเมียม บรอดแบนด์" ยืนหยัดจุดยืนชัดเจน เตรียมเม็ดเงิน 100 ล้านสร้างเครือข่าย "ไวแม็กซ์" หลังได้รับไลเซนส์จาก กทช. ยึด "ภูเก็ต" พื้นที่ยุทธศาสตร์ประเดิมทดสอบ "ไวแม็กซ์" ที่แรกในประเทศ ก่อนเตรียมเปิดให้บริการในภายหลัง

เมื่อเร็วๆ นี้ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของประเทศไทยในปี 2551 โดยคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในปี 2551 จะมีจำนวนประมาณ 2 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 66.7% ลดลงเล็กน้อยจากปี 2550 ที่ขยายตัวประมาณ 70.2% และคาดว่าปี 2551 จะมีสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อยู่ที่ 13% จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด 15.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีสัดส่วนเพียง 8.9%

รายงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า โอกาสการเติบโตของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ยังมีอนาคตสดใสอีกหลายปี สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ "เบญจจินดา โฮลดิ้ง" ที่เป็นการลงทุนของพี่น้องตระกูล "เบญจรงคกุล" ภายหลังจากถอนตัวจากบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ด้วยการขายหุ้นของคนในตระกูลทั้งหมดให้กับกลุ่มเทเลนอร์ด้วยมูลค่า 9,000 ล้าน ที่มองเห็นโอกาสการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉพาะธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จึงยังได้นำเม็ดเงินส่วนหนึ่งลงทุนธุรกิจทางด้านอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์

ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทบรอดแบนด์ภายใต้ บริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง จำกัด มีทั้งสิ้น 3 บริษัท ประกอบไปด้วย หนึ่ง บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด บริษัทให้บริการเช่าวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงเชื่อมโยงเครือข่ายระยะทางกว่า 50,000 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ระดับอำเภอทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยให้บริการกับกลุ่มลูกค้าชั้นนำทั่วประเทศทั้งภาคราชการและภาคเอกชน ครอบคลุมภาคการเงินการธนาคารประกันภัย การผลิต ธุรกิจค้าปลีก ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือไอเอสพี สถาบันการศึกษา รวมไปถึงองค์กรหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ

สอง บริษัท บีบี บรอดแบนด์ จำกัด ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับองค์กรธุรกิจ ที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยสูง และสาม บริษัท เอซิส ไอ-ซีเคียว จำกัด ผู้ให้บริการทางด้านการเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงจากภัยด้านความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ ทั้งที่มาจากการใช้อินเทอร์เน็ต และภัยคุกคามทางอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

และเพื่อเป็นการเสริมศักยภาพความเข้มแข็งให้กับกลุ่มธุรกิจบรอดแบนด์ของกลุ่มเบญจจินดาในการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ทางบริษัทในกลุ่มซึ่งประกอบไปด้วยบริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หรือยูไอเอช กับบริษัท บีบี บรอดแบนด์ จำกัด นำร่องทดสอบเทคโนโลยีไร้สายความเร็วสูง ก้าวใหม่ของระบบสื่อสารในประเทศไทย "ไวแม็กซ์"

วิชัย เบญจรงคกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มเบญจจินดา เผยว่า ทุกวันนี้การสื่อสารแบบไร้พรมแดนได้ก้าวเข้ามาพร้อมการผสมผสานระหว่างการส่งผ่านข้อมูลและมัลติมีเดีย โดยไม่มีข้อจำกัดอุปกรณ์ปลายทางที่ใช้รับ-ส่งสัญญาณไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ พีดีเอ หรือโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ โดยในปี 2551 ทางกลุ่มเบญจจินดาได้รับอนุญาตให้ทำการทดสอบไวแม็กซ์จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.

เทคโนโลยีไร้สายอย่างไวแม็กซ์นี้นี้ จะเข้ามาเสริมศักยภาพการให้บริการในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการให้บริการสื่อสาร บรอดแบนด์ แอ็กเซส ซึ่งจะทำให้สามารถให้บริการเครือข่ายในรัศมีที่กว้างและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยกลุ่มเบญจจินดาได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารไร้สายไวแม็กซ์อย่างโมโตโรล่า ผู้นำในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไร้สายไวแม็กซ์อันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งทางโมโตโรล่าได้ทำการทดสอบมาแล้วในหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทยนั้น กลุ่มเบญจินดาได้โมโตโรล่าและอินเทลมาร่วมเป็นพันธมิตร ในการนำไวแม็กซ์มาทดสอบในประเทศไทยจึงทำให้มั่นใจได้อีกขั้นว่า การสื่อสารแบบไร้สายที่จะให้บริการโดยกลุ่มบรอดแบนด์จะเปี่ยมประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับพื้นที่ในการทดสอบบริการไวแม็กซ์ครั้งแรกในประเทศไทยนั้น ทางกลุ่มเบญจจินดาได้เลือกจังหวัด "ภูเก็ต" เป็นพื้นที่ในการทดสอบ เพื่อโชว์ศักยภาพการให้บริการในรัศมีที่กว้างไกลและมีประสิทธิภาพของเทคโนโลยีดังกล่าว โดยทำการทดสอบการรับ-ส่งสัญญาณมัลติมีเดียอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไวแม็กซ์ที่ติดตั้งบนเรือใบกลางทะเลห่างจากฝั่งเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ในลักษณะของการเคลื่อนที่กับคอมพิวเตอร์บนฝั่งที่เป็นแบบประจำที่ ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจเพราะสามารถเชื่อมต่อในแบนด์วิธที่มากกว่า 8 เมกะบิตต่อวินาที และยังสามารถสื่อสารข้อมูลแบบเคลื่อนที่ต่อเนื่องได้ตลอดเวลา แม้จะมีปัญหาทางด้านสัญญาณที่ขาดหายบ้างก็ตาม

"การที่เราเลือกภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกที่ทำการทดสอบบริการไวแม็กซ์ในครั้งนี้ เนื่องจากทางบริษัทเล็งเห็นโอกาสในการลงทุนที่มีอยู่ โดยเฉพาะปัจจัยอย่างเรื่องของอินฟราสตักเจอร์ในภูเก็ตเองที่ยังไม่พร้อมมากนัก มีการวางเครือข่ายสายเคเบิลยังไม่ทั่วถึง จึงเหมาะกับการใช้ที่จะนำไวแม็กซ์ที่สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แบบไร้สายเข้ามาเสริม อีกทั้งกำลังซื้อของคนในภูเก็ตเองที่สูง รวมถึงความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง"

ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตเองเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีการเติบโตสูง มีโรงแรม รีสอร์ตหรู เกิดใหม่ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นเกาะและภูเขาเช่น ภูเก็ต เกาะพีพี เกาะสมุย เกาะพะงัน ฯลฯ พื้นที่เหล่านี้มีความต้องการใช้งานระดับบรอดแบนด์แต่อาจมีปัญหาเรื่องการติดตั้งคู่สายความเร็วสูง ซึ่งไวแม็กซ์สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้งานทางด้านข้อมูลความเร็วสูง อาทิ อินเทอร์เน็ต วอยซ์โอเวอร์ไอพี หรือมัลติมีเดียนี้ได้

ด้วยเหตุผลที่ผู้บริหารกลุ่มเบญจจินดาหยิบยกขึ้นมาทำให้ "ภูเก็ต" กลายเป็นทำเลเหมาะที่ทางกลุ่มจะใช้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของกลุ่มในการนำบริการดังกล่าวมาให้บริการ หากได้รับไลเซนส์ให้บริการไวแม็กซ์จาก กทช.

"บริษัทฯ คงต้องรอแนวทางที่ชัดเจนจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในเรื่องของหลักเกณฑ์การขออนุญาตต่อไป ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะ อาจจะไม่ทันให้บริการภายในปีนี้"

สำหรับที่มารายได้หลักในกลุ่มบรอดแบนด์ของกลุ่มเบญจรงคกุลยังคงมาจากบริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หรือยูไอเอช ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมความเร็วสูงมากว่า 10 ปี ให้บริการเช่าวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงเป็นระยะทางกว่า 50,000 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ระดับอำเภอทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ

"รายได้หลักยังคงอยู่ที่บรอดแบนด์ ซึ่งเป็นคอร์ บิสซิเนสของบริษัท ในปีที่ผ่านมายูไอเอชมีรายได้ 3,000 ล้านบาท ในปี 2551 จากเป้าหมายที่วางไว้ให้บรอดแบนด์เป็นธุรกิจหลัก คาดว่าจะเติบโตประมาณ 15% และเติบโตในเรื่องกำไรประมาณ 10% ถ้า กทช.ให้ใบอนุญาตให้บริการไวแม็กซ์ ทางบริษัทเตรียมงบลงทุนในส่วนนี้ไว้ประมาณ 100 ล้านบาท โดยจะร่วมมือกับผู้ให้บริการท้องถิ่นอย่าง ภูเก็ตอินเตอร์เน็ต ที่แต่งตั้งให้เป็น ซิสเต็มอินทริเกเตอร์ทำหน้าที่กระจายสัญญาณตลอดจนการทำตลาดลูกค้าเองโดยตรงไปที่องค์กรธุรกิจและเอกชนทั่วไปผ่านทางยูไอเอช"

โดยทางยูไอเอชจะใช้จุดเด่นในด้านความเชี่ยวชาญในการเป็นผู้ให้บริการในธุรกิจนี้มาก่อนเป็นจุดขายด้วยการนำเสนอบริการที่มีคุณภาพ ความเร็วสูง ให้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกรูปแบบ พร้อมระบบซีเคียวริตี้ที่เป็นของตัวเอง ซึ่งต่างจากรายอื่นที่ต้องนำระบบของแบรนด์อื่น เป็นของต่างชาติมาให้บริการ โดยไม่มีความเข้าใจเหมือนคนไทยด้วยกันเอง

วิชัยได้วางเป้าหมายของกลุ่มธุรกิจไว้ที่การเป็นกลุ่มบริษัทที่จะยกระดับการให้บริการบรอดแบนด์ครบวงจรอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีทางยูไอเอชเป็นผู้นำทางด้านเครือข่ายบรอดแบนด์ ขณะที่บริการไอเอสพีสำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กรจะอยู่ภายใต้บริษัท บีบี บรอดแบนด์ จำกัด โดยจะนำเสนอบริการแบบ "พรีเมียมอินเทอร์เน็ต" ภายใต้แบรนด์ "Bee Net" และยังมีบริการเสริมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจเป็นบริการเสริม เพื่อให้ทุกการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว โดยมีความเสถียรของการใช้บริการถึง 99.9%

"ในช่วงปีสองปีนี้ กลุ่มลูกค้าของ Bee Net จะยังคงเน้นที่ตลาดลูกค้าองค์กรเป็นหลัก"

ขณะที่บริษัทในเครืออีกบริษัท คือ บริษัท เอซิส ไอ-ซีเคียว จำกัด ทางกลุ่มเบญจจินดาวางเป้าหมายให้เป็นบริษัทผู้ให้บริการทางด้านการเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงจากภัยด้านความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ ทั้งที่มาจากอินเทอร์เน็ตและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์

จากเป้าหมายดังกล่าวดูเหมือนจะใหญ่เกินกำลังของกลุ่มธุรกิจบรอดแบนด์เกินไปหรือไม่ วิชัยให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า "เราไปไม่ได้ในทุกที่ แต่ทุกที่ที่เราไปต้องใช้ได้ทุกเวลา อินเทอร์เน็ตไม่มีการล่ม"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.