ลุ้นดัชนีทะลุ900จุด วงการจี้คุมบัญชีเดินสะพัดแก้ปัญหาค่าบาท


ผู้จัดการรายวัน(3 มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

วงการตลาดทุนไทย สะท้อนความเห็นหลังแบงก์ชาติยอมยกเลิกสัญลักษณ์ปิดประเทศมาตรการกันสำรอง 30% นายกสมาคมโบรกเกอร์ต่างชาติ เตือนการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งขึ้น แม้จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้น-ตราสารหนี้ ด้าน "เศรษฐพุฒิ" ย้ำชัดปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่การดุลบัญชีเดินสะพัด เตือนสติแก้ปัญหาให้ตรงจุด โบรกเกอร์คาดหุ้นพร้อมปรับขึ้น "บล.ไทยพาณิชย์" คาดเดือนนี้ดัชนีมีโอกาสเหนือ 900 จุด ขณะที่นักวิชาการนิด้า คาดค่าเงินมีโอกาสแข็งค่าแตะ 30 บาทต่อดอลลาร์ หลังอัตราออฟชอร์-ออนชอร์วิ่งเข้าหากัน

ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศใช้มาตรการกันสำรอง 30% ของเงินทุนนำเข้าระยะสั้น ได้สร้างคำถามมากมายต่อการดำเนินนโยบายดังกล่าว เนื่องจากมาตรการดังกล่าวสร้างความสับสนต่อท่าทีถึงการเปิดรับเงินลงทุนจากต่างประเทศ แม้ว่าล่าสุด ธปท. จะประกาศยกเลิกการใช้มาตรการดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันนี้ (3 มีนาคม) ยังสร้างความไม่แน่ใจต่อผู้คนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงตลาดทุน เนื่องจากยังไม่มั่นใจต่อมาตรการรองรับที่อาจจะถูกนำมาใช้เพิ่มเติมหลังจากนี้

"ผู้จัดการรายวัน" ได้รวบรวมมุมมองจากหลายฝ่ายในภาคตลาดทุนต่อความเชื่อมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่ยังลงทุนอยู่ในตลาดทุนไทย รวมถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์หน้า ตลอดจนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 2551

ขณะที่ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกยังไม่คลายความกังวล คือ ปัญหาด้านสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ที่ยังสร้างผลกระทบในเชิงกว้างล่าสุดส่งผลทำให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ต้องประสบกับปัญหาขาดทุนจนทำให้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์ปรับตัวลดลงมากกว่า 300 จุด ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 24 นับตั้งแต่มีการก่อตั้งตลาดหุ้นดาวโจนส์ที่ดัชนีปรับตัวลดลงมากกว่า 300 จุดในวันเดียว

มล.ทองมกุฎ ทองใหญ่ ผู้บริหารระดับสูง บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซิตี้ คอร์ป (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ กล่าวถึง ผลที่จะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยหลังการประกาศยกเลิกมาตรการกัน 30% ว่า ตลาดหุ้นน่าจะตอบรับกับเรื่องดังกล่าวในเชิงบวก แต่การเคลื่อนไหวอาจจะไม่หวือหวามากนัก เพราะเป็นเรื่องที่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศรับทราบมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยอาจจะปรับตัวขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 858 จุด เนื่องจากสัญญาณของการยกเลิกมาตรการดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนต่างชาติหันมาให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น ขณะที่การออกพันธบัตรรัฐบาลที่จะระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการสาธาณูปโภคขนาดใหญ่หลายโครงการจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

"แม้จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้น แต่ต้องระวังเงินที่จะเข้ามาจะเข้ามาเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยน เพราะค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น อาจจะแข็งค่าไปแตะระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐที่อยู่ในสภาวะถดถอย" มล.ทองมกุฎกล่าว

แนะลงทุนลดตัวเกินดุลฯ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการวิจัยเศรษฐกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการ 30% เป็นสัญญาณที่ดีต่อนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้ค่าเงินบาทสะท้อนกลไกตลาดมากขึ้น หลังจากที่การประกาศใช้มาตรการดังกล่าวถือเป็นผลลบในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งมาตรการกันสำรองดังกล่าวไม่สามารถหยุดยั้งการแข็งค่าของเงินบาทได้อย่างที่ธปท. ต้องการ

สำหรับมาตรการที่ทางการจะนำมาใช้เพิ่มเติมนั้น เชื่อว่าคงแก้ปัญหาการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากสาเหตุที่แท้จริงของการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาท เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทำให้มีเงินไหลเข้ามาในประเทศจำนวนมาก การแก้ปัญหาการแข็งค่าเงินบาทจึงต้องแก้ไขจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยเฉพาะการเร่งลงทุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อลดตัวเลขการเกินดุลให้ลดลง

เปิดประตูตอนรับการลงทุน

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล. เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ข่าวดังกล่าวจะส่งผลดีต่อจิตวิทยาในการลงทุน เนื่องจากทำให้การไหลเข้าออกของเงินจากต่างประเทศทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ส่วนค่าเงินบาทหลังการประกาศยกเลิกมาตรการดังกล่าวคงมีการแข็งค่าขึ้นแต่เชื่อว่าจะเป็นเพียงการแข็งค่าในระยะสั้นเพื่อปรับฐานก่อนจะปรับเข้าสู่จุดสมดุลเอง

"การยกเลิกมาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องดี เป็นเสมือนการเปิดประเทศเพื่อรับการเข้ามาลงทุนอีกครั้ง เพราะในต่างประเทศที่ไม่มีการจำกัดการไหลออกของเงินแบบนี้ค่าเงินก็แข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับค่าเงินบาท" นายก้องเกียรติ กล่าว

โบรกฯเชื่อตลาดหุ้นตอบรับ

นายอดิพงษ์ ภัทรวิกรม ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้น่าจะปรับตัวเพิ่มได้ไปแตะระดับแนวต้านที่ 850-860 จุด ก่อนจะไต่ระดับขึ้นไปแตะ 890 จุดในช่วงเดือนมีนาคม รวมทั้งหากได้รับแรงหนุนจากปัจจัยจากต่างประเทศมีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวทะลุ 900 จุดไปที่ 925 จุด

นอกเหนือจากตอบรับการยกเลิกมาตรการ 30% แล้วนั้นยังเป็นผลตอบรับจากการดำเนินนโยบายต่างๆของรัฐบาลที่ค่อนข้างให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชน แม้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีข่าวเกี่ยวกับการปลดและโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในหลายหน่วยงานออกมาบ้าง ขณะที่สิ่งที่จะต้องติดตามในช่วงสัปดาห์นี้คือ การพิจารณาเรื่องการต่ออายุมาตรการการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) และการพิจารณาเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของคณะรัฐมนตรี

นายฉัตรชัย กิจธิคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส บล.สินเอเซีย กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีในสัปดาห์นี้ คาดว่าดัชนีจะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อได้ จากปัจจัยสนับสนุนจากการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะทำให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น ทั้งนี้ต้องรอดูทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศประกอบกันด้วย โดยประเมินแนวรับไว้ที่ 840 จุด แนวต้าน 860 จุด

นักวิชาการแนะปล่อยตามกลไก

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ (GSPA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะส่งผลดีต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งคาดว่าดัชนีราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าวดังกล่าวในช่วง 2-3 วันแรกของการซื้อขายในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการยกเลิกมาตรการดังกล่าวมีผลในเชิงจิตวิทยาทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติต้องการโยกย้ายเงินลงทุนมายังภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) ในสหรัฐอเมริกา ประกอบกับการถดถอยของเศรษฐกิจอยู่แล้วจึงส่งผลให้ เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว และการขยายตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน ทำให้เม็ดเงินลงทุนต้องแสวงหาที่ซึ่งให้ผลตอบแทนได้ดีและมีความปลอดภัยกว่า ซึ่งต้องยอมรับว่า ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้นหรือP/E Ratio ของตลาดหุ้นไทยที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

"ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยมีค่า P/E Ratio อยู่ที่ 10-12 เท่า ซึ่งค่อนข้างต่ำมาก เมื่อเทียบกับยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ที่จะอยู่ในราว 20 เท่า ขณะที่เพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชีย อยู่ที่ประมาณ 15 เท่า ส่วน P/E Ratio ของตลาดหุ้นเวียดนาม สูงถึง 80 เท่า เช่นเดียวกับจีนที่ค่า P/E Ratio สูงถึง 40 เท่า ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยจึงถือว่าได้เปรียบเพราะสะท้อนให้เห็นถึงราคาหุ้นที่ยังต่ำอยู่มาก ประกอบกับบริษัทจดทะเบียนสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและมีโอกาสในการทำกำไรที่สูงในอนาคตตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ดังนั้น จึงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น" นายมนตรีกล่าว

รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา กล่าวอีกว่า นอกจากผลดีกับตลาดหุ้นไทยแล้วจะส่งผลดีต่ออัตราแลกเปลี่ยนด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราแลกเปลี่ยน 2 อัตราซ้อนกันอยู่ คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ซื้อขายกันในประเทศหรือออนชอร์ (onshore) และอัตราแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในต่างประเทศหรือออฟชอร์ (offshore) ซึ่งเกิดช่องว่างระหว่างสองอัตราห่างกันถึง 10%

หลังจากยกเลิกมาตรการดังกล่าวแล้ว ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ เนื่องจากความต้องการเงินบาทจะเพิ่มมากขึ้น จากความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งทางการควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เพราะจะเป็นการสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ชัดเจน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.