ลองนึกภาพธนาคารที่สามารถจะให้เงินกู้คุณเป็นจำนวนหลายล้านดอลลาร์ โดยไม่เรียกร้องให้ต้องจ่ายคืนนั่นก็คือ
"แบงก์ ออฟ เครดิต แอนด์ คอมเมิร์ซ อินเตอร์เนชั่นแนล(บีซีซีไอ)"
ธนาคารที่ถือเป็นโครงการระดับโลกอันมีเป้าหมายหนึ่งเดียว คือเพื่อทำให้เจ้าของธนาคารร่ำรวยอย่างมหาศาล
สัมพันธภาพระหว่างชาย 2 คนคือกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่ปริศนาทั้งปวด อกา ฮาซัน
อเบดี ผู้ฝันเฟื่องและสร้างวิมานในอากาศ และเกธ พาราออนบุคคลออกหน้าผู้ห้าวหาญ
แผนการของทั้งสองดำเนินไปได้อย่างราบรื่นเป็นเวลาถึง 18 ปี จนกระทั่งบีซีซีไอถึงกาลล่มสลาย
จุดเริ่มต้น
ชุมชนจอร์เจียในริชมอนด์ ฮิลล์ต้องประหลาดใจเป็นอันมากกับผู้มาตั้งรกรากใหม่
"เกธ พาราออน" ผู้เริ่มเข้ามาเมื่อปี 1981 ทั้ง ๆ ที่ริชมอนด์
ฮิลล์นั้นน่าจะเรียกว่าเป็นเพียงทางแยกมากกว่าเมือง ตามสองข้างทางเรียงรายไปด้วยบ้านหลังย่อม
ๆ มีโบสถ์เรือนไม้หลังสีขาว 2 หลัง ร้านรวงต่าง ๆ สถานีดับเพลิง และสถานีตำรวจ
สิ่งที่เป็นที่รู้กันดีทั่วไปว่าเมืองนี้เป็นเมือง "เฮนรี่ ฟอร์ด"
ริชมอนด์ ฮิลล์ มั่งคั่งทางวัตถุขึ้นได้ก็ด้วยเจ้าของธุรกิจรถยนต์ยักษ์ใหญ่ผู้นี้
ที่นี่จึงมีคลีนิกรักษาโรค โรงเรียนสำหรับเด็กขาวและเด็กดำ (แต่แน่นอนว่าต้องแยกกัน)
ศูนย์กลางชุมชน โรงเรียนฝึกทักษะทางการค้าที่ฟอร์ดสร้างขึ้นเอง โครงการการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่
และถึงแม้ว่าฟอร์ดจะให้การสนับสนุนองค์กรทางศาสนาไม่มากนัก แต่เขาก็ได้สร้างโบสถ์ขึ้นมาด้วย
ฟอร์ดยังได้สร้างโรงเลื่อยสำหรับป้อนไม้ให้แก่โรงงานของเขาเอง มีห้องทดลองค้นคว้าของตนเองซึ่งตั้งอยู่ที่โรงสีเก่าแก่แห่งหนึ่ง
และต่อมาภายหลังห้องทดลองที่ว่าก็ได้กลายเป็นสำนักงานใหญ่ของอาณาจักรระดับโลกของเกธ
พาราออน
เฮนรี่ ฟอร์ดได้ทำให้ริชมอนด์ ฮิลล์กลายมาเป็นเมืองที่น่าภาคภูมิใจแห่งหนึ่งและเมืองดังกล่าวก็ไม่เคยถอยหลังกลับไปสู่ความกันดารอีก
เนื่องจากมักจะมีผู้เข้ามาให้การอุปถัมภ์ต่อ อันเป็นการธำรงตำนานแห่งยุคฟอร์ดเอาไว้
ภายหลังจากที่ฟอร์ดเสียชีวิตลง เศรษฐีรายใหม่ที่เข้ามาอุ้มชูเมืองก็คือคนหน้าใหม่
"เกธ พาราออน" นี่เอง เขาอ้างตัวว่าเป็นผู้มาทำหน้าที่แทนฟอร์ด
และเริ่มสร้างชื่อเสียงให้ระบือไกล ด้วยการเผยโฉมความมั่งมีอย่างล้นเหลือของตน
ชาวเมืองริชมอนด์ ฮิลล์ไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับชายผู้นี้ นอกจากว่าเขาเป็นคนอาหรับและเป็นเจ้าของธนาคารแห่งหนึ่ง
อย่างไรก็ดี รัฐจอร์เจียก็เป็นรัฐที่เน้นการแสดงออกมากกว่าคำพูดอยู่แล้ว
และเมื่อพาราออนได้พยายามแสดงความประทับใจให้แก่ชาวเมือง ด้วยการแปรเปลี่ยนเมืองที่เงียบ
เรียบง่าย ให้กลายเป็นเมืองแห่งความโอ่โถง หรูหราอย่างน่าตระหนก นั่น จึงเป็นสิ่งที่บอกขานความเป็นตัวเขาได้เป็นอย่างดี
ที่พำนักของพาราออนก็คือคฤหาสถ์เก่าและที่ดินของฟอร์ดนั่นเอง แทบทุกคนได้เห็นว่า
กระจก 500 บาทของคฤหาสถ์ถูกเปลี่ยนเป็นประจกใสวิจิตรพื้นระเบียงปูหินอ่อนไปจนถึงประตูหน้า
พาราออนยังได้ขุดสระน้ำขนาดใหญ่ ปูพื้นด้วยกระเบื้องสีดำสนิทเพื่อสามารถสะท้อนให้เห็นท้องฟ้าใสกระจ่าย
เขาแต่งสวนด้วยน้ำพุและรูปปั้นหินอ่อนขนาดเท่าตัวคนมีคอกม้าสำหรับม้าอาหรับของเขาเอง
และลูกม้าอาเจนต์ติเนียน ส่วนริมฝั่งแม่น้ำข้างเรือนคฤหาสถ์ทำเป็นที่จอดเรือยอร์ชขนาดใหญ่หลายต่อหลายลำของพาราออน
แม้ว่าชาวริชมอนด์ ฮิลล์จะไม่เคยเล่นกอล์ฟหรือแม้แต่พาราออนเองก็ตาม ทว่าเขาก็ได้สร้างสนามกอล์ฟขนาดใหญ่ที่เป็นส่วนตัวไว้สำหรับต้อนรับแขกผู้มั่งคั่งและมีชื่อเสียง
และเมื่อมีกลุ่มคนเหล่านี้เดินทางมาเยี่ยมเยือน พาราออนก็ส่งรถลีมูซินคันใหญ่ไปรับที่สนามบินในเซาท์
แคโรไลน่าเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ริชมอนด์ ฮิลล์ก็ไม่เคยได้รับประโยชน์อันใดจากยุคของพาราออน
เว้นแต่ที่ดินเพียงไม่กี่เอเคอร์ที่เขาสร้างศูนย์กลางชุมชน และต่อมาจึงมีชาวผิวดำที่ชื่อ
"ดุ๊ค" มาบริจาคเงินสร้างสถานีตำรวจให้ ตำนานแห่งริชมอนด์ ฮิลล์เล่าขานแต่ว่าอาณาจักรของฟอร์ดกลายเป็น
"เขตหวงห้ามของพาราออน" ซึ่งพวกเขานำเงินมหาศาลเหล่านี้มาจากไหนกัน?
คำตอบก็คือ เขาเปล่าเพราะอาณาจักรมูลค่าประมาณ 23 ล้านดอลลาร์ที่ริชมอนด์
ฮิลล์นั้น แท้จริงแล้วได้มาจากเงินกู้ที่มีเงินฝากของลูกค้าจำนวนมากของบีซีซีไอค้ำอยู่
ริชมอนด์ ฮิลล์จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพื่อค้ำจุนความน่าเชื่อถือของบีซีซีไอแหล่งดูดซับเงินทุนมหาศาลจากลูกค้าที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
เบื้องหลังบุคคลหน้าฉาก
เกธ พาราออนเนั้นเป็นคนสำคัญที่สุดคนแรก ซึ่งถือเป็น "บุคคลหน้าฉาก"
ของบีซีซีไอมิพักต้องพูดถึงข่าวลือที่ไร้สาระอย่างที่สุดที่ว่า เขาเป็นอภิมหาเศรษฐีระดับพันล้านชาวซาอุฯ
หรือที่ว่าเขามีกิจการของตนเองหลายต่อหลายแห่ง รวมไปถึงกิจการธนาคาร แต่พาราออนก็ได้กว้านซื้อบ้านหลายต่อหลายหลังทั่วโลก
เรือแพง ๆ และเครื่องบินส่วนตัวแม้ว่าเขาจะไม่เคยทำตัวเสเพล แต่ก็มีภริยาถึง
2 คน แต่อ้างเสมอว่ายังเป็นโสด
เรื่องราวอันฉาวโฉ่ที่จะกลายเป็นตำนานไม่รู้สิ้นนี้เริ่มต้นเมื่อเกธ พาราออนพบกับ
อกา ฮาซัน อเบดี ผู้ก่อตั้งบีซีซีไอ อเบดีเป็นคนแรกที่จัดหาเงินทุนให้แก่พาราออน
และตัวพาราออนเองก็ไม่เคยเอ่ยปากถามถึงที่มาของเงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์ที่ธนาคารครอบครองอยู่
ในทางกลับกัน บีซีซีไอก็สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยพาราออน ผู้คอยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง
เพื่อช่วยให้บีซีซีไอสามารถกระทำการหลายต่อหลายอย่างที่ธนาคารที่ถูกกฎหมายทั่วไปไม่อาจทำได้
กล่าวได้ว่า หากปราศจากพาราออนหรือคนอย่างเขาแล้ว บีซีซีไอก็เกิดขึ้นไม่ได้
ความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างอเบดีและพาราออน และเข้าใจว่าสัมพันธภาพที่ว่านี้ให้ดอกออกผลอย่างไร
เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะไขปัญหาไปสู่การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของบีซีซีไอ เพราะสิ่งนี้จะให้คำตอบ
2 ประการต่อคำถามเร่งด่วนที่ว่า พวกเขาหลบเลี่ยงเงื้อมือของกฎหมายไปได้อย่างไร?
และพวกเขาเอาเงินมาจากไหน ? ซึ่งส่วนหนึ่งของคำตอบที่ว่านี้ก็คือ "เกธ
พาราออน" นั่นเอง
พาราออนนั้นโชคดีที่ได้รับการเกื้อหนุนจากอับดุล อาซิส ผู้ก่อตั้งซาอุดิอาระเบียยุคใหม่เนื่องจากอับดุล
อาซิสไว้วางใจ ดร. ราชิดพาราออน พ่อของเกธ ผู้เปรียบเสมือนแพทย์ประจำตัว
ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาของอับดุลในเรื่องอื่น ๆ ด้วย ดร. ราชิดยังได้เป็นที่ปรึกษาอาวุโสในเชิงนโยบายของบรรดาขุนนางแห่งซาอุฯ
เขาจึงร่ำรวยพอที่จะส่งบุตรชายคนเดียวไปร่ำเรียนในฝรั่งเศส, เลบานอน, สวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐฯ
จนจบการศึกษาระดับเอ็มบีเอที่ฮาร์วาร์ด
โชคดีครั้งที่ 2 ของพาราออนก็เมื่อเขากลับมาจากซาอุฯ เมื่อปี 1966 อันเป็นช่วงเวลาที่อเบดีกำลังร่ำรวยจากขุมน้ำมัน,
การค้าขายและการผูกสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญ ๆ
ในสายตาของอเบดีแล้ว บีซีซีไอมิได้เป็นอะไรมากไปกว่าความคิดชั่วแวบที่แล่นเข้ามาในสมอง
ตอนนั้นความพยายามทั้งหมดของเขาทุ่มให้กับยูไนเต็ด แบงก์ ออฟ ลาโฮร์ (ยูบีแอล)
ซึ่งเขาได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายทศวรรษ 1950 ด้วยหวังจะให้เป็นคู่แข่งกับ
ฮาบิบ แบงก์ ธนาคารในปากีสถาน บ้านเกิดของเขา อเบดีได้ชักชวน "ไมอัน
ยูซูฟ ไซโกล" เจ้าของธุรกิจสิ่งทอชาวปัญจาบ ให้ร่วมลงขัน 7 ล้านดอลลาร์
เพื่อเป็นทุนเริ่มแรกของธนาคาร
ธนาคารดังกล่าวดูจะกระจ้อยร่อยเมื่อเทียบกับบีซีซีไอ ทว่าทั้งสองแห่งมีกลไกทำงานที่อิสระเหมือน
ๆ กัน เพราะแม้แต่ตอนที่ดำเนินงานยูบีแอล อเบดีก็ไม่ใคร่จะให้ความสนใจต่อการบริหารงานวันต่อวันของธนาคารมากไปกว่าการแสวงหาลูกค้าทว่าเขาเป็นคนที่มีพลังอย่างมหาศาล
และสามารถประจบประแจงคนทุกคนที่เขาคิดว่าจะสามารถเกื้อหนุนเขาได้
แม้ว่าอเบดีจะไม่ประสบความสำเร็จในซาอุดีอาระเบียนัก แต่เขาก็ได้สร้างสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับคนใหญ่คนโตที่นั่น
คือ "ชี้ค คามาล อัดฮัม" ผู้มีศักดิ์เป็นน้องของอิฟฟัต ภริยาคนโปรดของกษัตริย์ไฟซาล
อัดฮัมเป็นผู้ติดต่อราชการส่วนพระองค์ ทั้งยังเป็นตัวแทนของสายการบินโบอิ้ง
และเป็นหัวหน้าหน่วยรักษาความมั่นคงภายในซาอุฯ หรือที่เรียกว่า "เจนเนอรัล
อินเทลลิเจนซ์ ไดเร็กต์ทอเรท" เขายังเกี่ยวพันกับซีไอเอ โดยมีชื่อรหัสที่เป็นที่รู้กันว่า
"ทัมเบิลวีด"
ทัมเบิลวีดได้แนะนำให้อเบดีรู้จักกับเกธ พาราออนเมื่อปี 1966-1967 ซึ่งเมื่อครั้งกระโน้น
ฝ่ายหลังมีอายุเพียง 26 ปี และกำลังมองหางานธุรกิจงานแรกอยู่จากนั้นอเบดีก็ได้แนะนำพาราออนให้กับไซโกลผู้ให้การอุปถัมภ์ตัวเขา
อีกต่อหนึ่ง ทั้งอเบดีและพาราออนร่วมกันมองหาช่องทางเจาะตลาดซาอุฯ ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องอาศัยคู่ค้าระดับท้องถิ่น
อย่างไรก็ดี สัมพันธภาพระหว่างพาราออนกับไซโกลก็ไม่ค่อยงอกงามนัก ซ้ำร้ายพาราออนยังได้ขู่ว่าจะจับหนึ่งในครอบครัวของไซโกลเข้าคุก
ในข้อหาฉ้อโกง กระทั่งอเบดีให้สัญญาว่าจะออกทุนให้กับทุกธุรกิจที่พาราออนต้องการทำ
เรื่องดังกล่าวจึงจบลงและต่อมาทั้งสองก็ได้ร่วมลงทุนในโรงแรมไฮแอท
ประสบการณ์ครั้งนั้นได้หนุนช่วยให้พาราออนสามารถก่อสร้างธุรกิจใหม่ของตนเองที่ชื่อ
"ซาอุดีอาระเบีย รีเสิร์ช แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น" หรือเรียกสั้น
ๆ ว่า "รีเด็ค" ซึ่งเป็นธุรกิจควบคุมโครงการก่อสร้าง รีเด็คนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
และกลายเป็นบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในซาอุฯ อย่างน้อยที่สุดก็ในแง่มูลค่าหนี้สิน
อย่างไรก็ดี หาใช่เงินทั้งหมดของรีเด็คจะมาจากอเบดีไม่ มีธนาคารตะวันตกอีกมากกว่า
50 แห่งที่ได้ปล่อยกู้ให้แก่บริษัทดังกล่าวเป็นมูลค่าถึง 300 ล้านดอลลาร์
โดยหนี้ส่วนใหญ่อาศัยโครงการต่าง ๆ เป็นตัวค้ำประกัน อเบดียังเป็นที่ปรึกษาให้แก่พาราออน
ทว่าเขามักจะปฏิเสธที่จะเป็นคนออกหน้าในธุรกิจต่าง ๆ ที่ทั้งสองร่วมกันทำแต่ขอเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแทน
และพร้อมที่จะจัดหาหรือค้ำประกันหนี้สินทุกประเภทให้ อเบดีนั้นเป็นบุคคลที่มักจะมองไปข้างหน้ามีทัศนะกว้างไกล
และด้วยเหตุนี้เองเขาจึงได้หนุนให้พาราออนเป็นบุคคลออกหน้าสำหรับบีซีซีไอ
พาราออนกลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งทั้งที่เบื้องหลังแล้วเขามิได้มีแก่นสารอันใดเลย
จุดเริ่มต้นแบงก์ฉาวโฉ่
เดือนมกราคม ปี 1972 ยูบีแอลและธนาคารเอกชนอื่น ๆ ของปากีสถาน ได้ถูกควบคุมโดยซุลฟิคาร์
อาลี บุตโต ผู้ขึ้นปกครองประเทศด้วยเสียงจากมหาชน อเบดีและประธานธนาคารอื่น
ๆ ถูกคุมขังไว้ด้วยกันในบ้านหลังหนึ่ง เนื่องจากบุตโตสงสัยว่านายธนาคารเหล่านี้หลีกเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่รัฐ
ในระหว่างนั้น อเบดีจึงได้มีโอกาสคิดรายละเอียดของแผนการก่อตั้งบีซีซีไอ
ที่เขาขนานนามว่าจะเป็น "ธนาคารระดับโลกที่แท้จริงแห่งแรก" และเขาปรารถนาให้มันเป็นเอกลักษณ์
บีซีซีไอจะเป็นสถาบันระดับชาติที่มีเครือข่ายกว้างไกลในระดับสากล บีซีซีไอจะไม่เป็นของชาติใดชาติหนึ่ง
แต่จะเป็นของทุก ๆ ประเทศในเขตโลกที่ 3 เป็นที่จุดประกายความคิดและแรงจูงใจอันหลากหลาย
บีซีซีไอที่ดูใหญ่โต แท้จริงแล้วจึงเป็นเพียงสถานที่ผู้ฝากเงิน นำเงินมาลงทุนเพื่อเก็งกำไรในธุรกิจที่มีความเสี่ยง
เช่น การค้าเงิน หรือการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้า ดังนั้นหากผู้ฝากเงินแม้เพียงส่วนหนึ่งแห่มาถอนเงินสดพร้อมกันในวันเดียวแล้ว
ก็มีสิทธิทำให้ธนาคารล้มได้ง่าย ๆ
ทว่าสิ่งหนึ่งที่อเบดีตระหนักเป็นอย่างดีก็คือเขาไม่อาจห้ามไม่ให้ลูกค้ามาถอนเงินออกจากธนาคารได้
และการกระทำดังกล่าวก็อาจทำให้ความแตกขึ้นมาได้ กระนั้น การบริหารเงินแบบวันต่อวันก็มิใช่สิ่งที่อเบดีถนัดนัก
ทั้งยังมิได้เป็นส่วนหนึ่งของธนาคารที่ดำเนินการในระดับประเทศ ดังนั้น อเบดีจึงตัดสินใจไปตั้งรกรากธนาคารที่ลักเซมเบิร์กและเกาะเซย์แมน
ซึ่งข้อกำหนดธนาคารค่อนข้างหละหลวมแทน
เมื่อบีซีซีไอเริ่มเปิดดำเนินการเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1992 ธนาคารมีเงินทุนเริ่มแรกเพียง
2.5 ล้านดอลลาร์ มิใช่ 10 ล้านดอลลาร์ดังที่เข้าใจกัน โดย 625,000 ดอลลาร์ของจำนวนนี้มาจากสำนักงานสาขาของแบงก์ออฟอเมริกา
ส่วนที่เหลือมาจากเงินฝากของ ชี้ค ซาเยด
ส่วนผู้ถือหุ้นที่เหลือของธนาคาร และเงินทุนที่อ้างว่าจัดหามาได้นั้นล้วนเป็นเรื่องจอมปลอมทั้งสิ้นอย่างไรก็ดี
มีเงินทุนจากผู้ถือหุ้นเพิ่มเข้ามาอีกโดยอาศัยเงินกู้จากธนาคารเป็นเครื่องค้ำประกัน
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือบีซีซีไอเป็นธนาคารที่ระดมทุนให้แก่ตนเอง โดยอาศัยเงินฝากจากลูกค้าที่ไม่อาจระบุชื่อได้
ผลที่ตามมาจากกลยุทธ์การดำเนินงานเช่นที่ว่านี้ ทำให้คุณภาพฐานเงินทุนของธนาคารต่ำมาก
ๆ คำถามที่ว่า บรรดาผู้สอบบัญชีมิได้ล่วงรู้ความจริงข้อนี้เลยหรือ ? คำตอบก็คือ
บรรดาผู้สอบบัญชีแม้แต่ในลักเซมเบิร์กและเซย์แมนก็รับรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี
ดังนั้นบีซีซีไอจึงต้องหาทางปกปิดด้วยการเปลี่ยนหน้าบุคคลหน้าฉาก หรือบุคคลที่จะทำให้ธนาคารดูน่าเชื่อถือ
นับตั้งแต่ คามาล "ทัมเบิลวีด" อัดฮัม และเกธ พาราออน
เริ่มส่งกลิ่น
ในช่วงทศวรรษแรก บีซีซีไอพออกพอใจกับการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ธนาคารได้เข้าไปตั้งสำนักงานสาขาในอียิปต์,
ปากีสถาน, ไนจีเรีย, เคนย่า, แซมเบีย, ปานามา, บราซิล, ซิมบับเว, และตุรกี
ก่อนหน้านี้ ทางธนาคารได้เข้าไปเปิดสำนักงานกว่า 50 แห่งในอังกฤษ โดยมุ่งเน้นที่ชุมชนซึ่งมีชาวเอเชียอาศัยอยู่มาก
ๆ ในปี 1981 ธนาคารอ้างว่าตนเป็นธนาคารที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ทว่าบีซีซีไอก็ยังไม่เป็นที่สนใจในหมู่สาธารณชนนัก
จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคมปี 1981 นิตยสารรายสัปดาห์ "นิวส์ สเตทแมน"
ก็ได้ตีพิมพ์บทความ 2 บทอันนำมาซึ่งความปั่นป่วนในสำนักงานใหญ่ซึ่งไม่เป็นทางการของบีซีซีไอที่ถนนลีเดนฮอลล์
กรุงลอนดอน อันเป็นที่ซึ่งอเบดีได้เริ่มขยายอาณาจักรธุรกิจของเขา บทความดังกล่าวเขียนขึ้นโดยทารีค
อาลี นักขุดคุ้ยเรื่องราวชื่อดัง และกล่าวถึงภาพลวงตาของบีซีซีไอ ซึ่งอเบดีเป็นผู้วาดขึ้น
จุดสนใจที่สำคัญของอาลีอยู่ที่วิถีทางการประกอบธุรกิจอันสับสนของบีซีซีไอ
หรือที่เขาเรียกว่า "ธนาคารที่กว้านซื้อโลกที่ 3" ทว่าจุดที่คนสนใจมากที่สุดก็คือ
การที่เขาเปิดโปงเรื่องของอัดฮัมและพาราออน ผู้ที่อ้างตนว่าถือหุ้นใหญ่ในบีซีซีไอ
แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงคนออกหน้าของธนาคารซึ่งได้เข้าเทคโอเวอร์ "อัทท็อคปิโตรเลียม"
บริษัทที่เกือบจะเป็นกิจการผูกขาดของรัฐบาลอังกฤษซึ่งทำการขุดเจาะและกลั่นน้ำมันในปากีสถาน
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงบางประการที่ทารีค อาลีได้มาก็ไม่ถูกต้องดังนั้นเขาจึงถูกฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท
ซึ่งโจทย์ผู้ฟ้องร้องมิใช่บีซีซีไอ แต่เป็นมูลนิธีโลกที่ 3 (Third World
Foundation) องค์กรการกุศลที่อเบดีเป็นผู้ควบคุม และเคยตกเป็นขี้ปากของอาลีมาก่อนแล้วเช่นกัน
นับว่าอาลีเลือกเวลาผิดในการขุดคุ้ยเรื่องบีซีซีไอเพราะเขาเองก็ยังไม่มีข้อมูลในมือมากนัก
ไม่นานเรื่องฉาวโฉ่ที่เขาเปิดโปงจึงถูกลืมเลือนไป และบีซีซีไอก็กลับมาเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นเดิม
หาทางขยายไปสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าบีซีซีไอจะเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลก ทว่าในขณะนั้นบีซีซีไอกลับยังไม่เคยรุกล้ำเข้าไปในสหรัฐอเมริกาเลย
ทั้ง ๆ ที่ธนาคารจำเป็นต้องแสวงหาตลาดใหม่ ๆ เรื่อย ๆ เพื่อให้มีกระแสเงินฝากเข้ามาค้ำจุดการดำรงอยู่ของตน
บีซีซีไอนั้นมีฐานเงินทุนที่ต่ำมาก ๆ ในอันที่จะช่วยค้ำประกันหนี้เสีย ซึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์
หนี้ดังกล่าวนั้นไม่เคยได้ดอกเบี้ยหรือบริการใด ๆ กลับคืนมาเลย ปัจจัยสนับสนุนเบื้องหลังที่ทำให้ธนาคารไม่ขาดแคลนเงินสดเลย
ก็คือ กระแสเงินฝากใหม่ ๆ ที่เข้ามาอุดช่องว่างอยู่อย่างสม่ำเสมอนั้นเอง
แต่จะหาเงินฝากเหล่านั้นได้จากที่ไหนกันล่ะ?
พนักงานส่วนใหญ่ของบีซีซีไอนั้นเป็นชาวปากีสถาน และสำนักงานสาขาทั่วโลกของธนาคารก็มุ่งเจาะที่ลูกค้าที่พูดภาษาเออร์ดู
ขณะเดียวกัน บรรดาลูกค้าที่เข้ามาหาบีซีซีไอ ก็มักจะเป็นลูกค้าที่ต้องการบริการพิเศษ
เช่น คนที่กระหายจะนำเงินออกนอกประเทศโดยปราศจากข้อจำกัดเรื่องเพดานเงิน
และต้องการหาแหล่งปกปิดซุกซ่อนเงิน ดีลเลอร์ผิดกฎหมาย ไปจนถึงพ่อค้ายาเสพติดและแม้แต่กลุ่มอาชญกรรมที่พออกพอใจในลักษณะการให้บริการแบบสบาย
ๆ ไม่ซักถามเรื่องส่วนตัวของบีซีซีไอ
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ในช่วงนั้นบีซีซีไอไม่คิดจะขยายอาณาเขตเข้าไปในสหรัฐฯ
แม้ว่าการค้าของธนาคารจะกระทำกันในรูปเงินดอลลาร์ และแม้ว่าอเบดีจะเคยตั้งปณิธานไว้
ว่าจะทำให้บีซีซีไอกลายเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2000 ก็เพราะเฟดเดอรัล
รีเซิร์ฟหรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้กำหนดมาตรฐานตายตัวไว้ว่า สู้ยอมให้มิคกี้เมาส์มาตั้งแบงก์
ยังดีกว่าจะเป็นบีซีซีไอ
ทั้งนี้เพราะข้อหาหลาย ๆ ประการที่บรรดาผู้คุมกฎสหรัฐฯ ได้ยินมา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปตั้งบริษัทแม่ในลักเซมเบิร์ก
ที่ซึ่งไม่มีธนาคารกลางคอยควบคุม และหมายถึงว่าจะไม่มีธนาคารแห่งสุดท้ายที่จะคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ฝากเงินเมื่อเกิดเหตุอันใดขึ้น
ธนาคารอเมริกันอื่น ๆ ทั้งในบอสตันและชิคาโกก็ปฏิเสธที่จะทำธุรกิจกับบีซีซีไอ
พวกเขาไม่แม้แต่จะรับเลตเตอร์ ออฟ เครดิตของธนาคาร บีซีซีไอจึงสามารถเพียงเปิดสำนักงานสาขาในสหรัฐฯ
แต่ไม่อาจรับฝากเงินใด ๆ ได้ และความพยายามถึง 2 ครั้ง 2 คราของอเบดี ในอันที่จะซื้อธนาคารอเมริกันด้วยวิธีการลักลอบโดยผ่านบุคคลออกหน้า
ก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า
จนกระทั่งเมื่อ ที. เบอร์แทรม แลนซ์ หรือที่รู้จักกันในนามของ "เบิร์ท"
เพื่อสนิทที่สุดของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ และในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานและงบประมาณ
เริ่มเข้ามาในวงจรอื้อฉาวนี้
แลนซ์ยังเป็นทนายความ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเนชั่นแนล แบงก์ ออฟ จอร์เจีย
(เอ็นบีจี) ที่ตั้งอยู่ในแอตแลนต้า จึงทำให้เขาสามารถมีสิทธิควบคุมดูแลกิจการต่าง
ๆ ของธนาคาร นโยบายการปล่อยกู้ของธนาคารนั้น ดูเหมือนจะเน้นหนักที่เพื่อนฝูงและญาติสนิทของแลนซ์
และมีข่าวว่าเขาไม่ยอมแยกเงินของธนาคารออกจากกระเป๋าของตนเองอันเป็นเหตุให้เขาถูกฟ้องร้อยเป็นเงิน
50,000 ดอลลาร์
ข้อกล่าวหาที่ว่านี้ถูกเปิดโปงต่อสาธารณชนและย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนนี้นักและในที่สุดธนาคารของเขาก็ล่มสลาย
อันทำให้เขาต้องมีหนี้สินถึง 5 ล้านดอลลาร์
คลาร์ก คลิฟฟอร์ดที่ปรึกษากฎหมายผู้เลื่องชื่อโดยเคยให้คำปรึกษาประธานาธิบดีอเมริกันหลายต่อหลายสมัย
นับตั้งแต่ทรูแมนจนถึงคาร์เตอร์ และเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในสมัยรัฐบาลจอห์สันอยู่
1 ปี คือผู้พยายามเข้ามาไขปัญหา คลิฟฟอร์ดนั้นเป็นที่เคารพนับถือในพรรคเดโมเครติค
และแม้ว่าบริษัทกฎหมายของวอชิงตันที่เขาดำเนินการอยู่จะเป็นเพียงบริษัทเล็ก
ๆ แต่ก็มีคอนเนกชั่นมากมาย
แลนซ์มาหาคลิฟฟอร์ดที่บ้านในวันอาทิตย์แล้วทั้งสองก็นัดเจอกันที่อาคารสำนักงานบริหารเก่าของทำเนียบขาวในเช้าวันแรงงาน
เดือนกันยายนปี 1997 คลิฟฟอร์ดนั้นเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายของแลนซ์ ขณะเดียวกัน
คลิฟฟอร์ดเองก็พร้อมจะช่วยเหลือแลนซ์เต็มที่ และเพื่อให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น
คลิฟฟอร์ดจึงไได้นำโรเบิร์ต อัลท์แมน คู่ค้าและผู้อยู่ในความอุปถัมภ์ของเขามาด้วย
อัลท์แมนนั้นมีสายสัมพันธ์ลับ ๆ ในวอชิงตัน ภริยาของเขาคือ ลินดา คาร์เตอร์
"วอนเดอร์วูแมน" ที่เป็นที่รู้จักกันดี
ทว่าสถานการณ์ของแลนซ์ก็รุนแรงเกินกว่าจะกู้ขึ้นมาได้ เขาลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการงบประมาณ
ทว่าทั้งคลิฟฟอร์ดและอัลท์แมนก็ได้เริ่มวางบทบาทและกำหนดสัมพันธภาพอันจะตามต่อมากับแลนซ์
พวกเขากำลังนำผลประโยชน์อันมหาศาลอันยิ่งมาสู่บีซีซีไอ, คามาล อัดฮัม, เกธ
พาราออนและแน่นอนว่า ตัวเขาทั้งสองเองด้วย
3 เดือนหลังลาออกจากตำแหน่ง แลนซ์ได้ขายหุ้นให้เนชั่นแนล แบงก์ ออฟ จอร์เจียให้แก่พาราออนเป็นมูลค่า
2.4 ล้านดอลลาร์ มากกว่าที่คนอื่นคาดกันไว้ถึง 2 เท่า โดยเงินส่วนใหญ่ที่นำมาซื้อหุ้นดังกล่าวนั้นได้มาจากเงินกู้ที่พาราออนนำมาจากบีซีซีไอ
นอกจากนี้ พาราออนยังต้องการอีก 20 ล้านดอลลาร์เพื่อนำไปซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นคนอื่น
ๆ
ต่อมาแลนซ์ก็ได้เงินกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจากบีซีซีไออีก 3.5
ล้านดอลลาร์ อันช่วยเปิดช่องให้เขาสามารถจ่ายหนี้สินที่เหลือคืนได้ แลนซ์ยังได้รับตำแหน่ง
"ที่ปรึกษา" ในสำนักงานสาขาแห่งหนึ่งของบีซีซีไอ โดยภารกิจหลักของเขาก็คือการกว้านซื้อหุ้นใน
"เฟิร์สต์ เจนเนอรัล แบงก์แชร์ส" หรือต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น
"เฟิร์สต์ อเมริกัน" เชนธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในวอชิงตัน
เพื่อจะสามารถทำเช่นนั้นได้ แลนซ์จำเป็นต้องอ้างตัวว่าเป็น "ปัจเจกบุคคล"
หนึ่งในสี่ของบรรดานักลงทุนตะวันออกกลาง ซึ่งนำทีมโดยคามาล อัดฮัม การระบุว่าเป็น
"ปัจเจกบุคคล" นั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะนักลงทุนรายบุคคล หรือกลุ่มบุคคลซึ่งจะเข้าซื้อหุ้นของบริษัทสาธารณชนใด
ๆ มากกว่า 5% ขึ้นไป จะต้องเปิดเผยข้อมูลสาธารณชนต่อคณะกรรมการควบคุมตลาดหลักทรัพย์
(เอสอีซี)
แต่สถานภาพของแลนซ์นั้นเป็นเพียงนักลงทุนรายบุคคล มิใช่รายกลุ่ม และเขายังอ้างตัวว่าเป็นเพียงลูกค้าของบีซีซีไอ
และต้องการหุ้นเพียง 4.9% เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลใด
ๆ
ทว่าเอสอีซีเองก็เห็นว่าคำกล่าวอ้างเหล่านี้หาได้เป็นความจริงไม่ ด้วยทราบดีว่าอเบดี,
แลนซ์ และนักลงทุนตะวันออกกลางทั้ง 4 ซึ่งรวมถึงทัมเบิลวีด-อัดฮัมนั้น ล้วนถูกฟ้องว่าฝ่ากฎการค้าหลักทรัพย์ทั้งสิ้น
กระทั่งคลิฟฟอร์ดและอัลท์แมนได้เข้ามาเป็นทนายความของอเบดีและบีซีซีไอ
พวกเขาได้ทำเอกสารยื่นไปยังเอสอีซี และในที่สุดเจ้าของหุ้นส่วนใหญ่ของเฟิร์สต์
อเมริกันก็ได้ตกลงใจขายหุ้นส่วนใหญ่ให้ ภายใต้การอนุมัติจากธนาคารกลางสหรัฐฯ
เพราะแม้ว่าธนาคารกลางจะตั้งข้อกังขาในเรื่องนี้แต่คามาล อัดฮัมก็ให้การปฏิเสธอย่างแข็งขันว่ามิได้ทำหน้าที่เป็นบุคคลหน้าฉากให้แก่บีซีซีไอเลยทั้งยังปฏิเสธว่าบีซีซีไอ
หรือสำนักงานสาขาของธนาคารได้เข้ามาข้องเกี่ยวในการนี้ด้วย
ในที่สุดหุ้นของเฟิร์สต์ อเมริกันก็ได้รับทุนมาจากบีซีซีไอ และถูกส่งต่อไปยังบีซีซีไอ
ในฐานะหลักประกันหนี้ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นหนี้ที่ไม่ได้รับคืนในที่สุดบีซีซีไอก็ได้เป็นเจ้าของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในกรุงวอชิงตัน
ทนายความทั้งสองได้รับรางวัลตอบแทนอย่างงามในการนี้ ภายหลังจากที่การเทคโอเวอร์ลุล่วง
คลิฟฟอร์ดและอัลท์แมนก็กลายเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเฟิร์สต์
อเมริกัน และได้รับอนุญาตให้เข้าซื้อหุ้นจากธนาคารจากหนี้สินของบีซีซีไอ
แล้วหลังจากนั้นทั้งสองคนก็ได้ขายหุ้นกลับให้แก่บีซีซีไอในราคากำไรอย่างน้อย
9.8 ล้านดอลลาร์
ทุกวันนี้ คลิฟฟอร์ดและอัลท์แมนอ้างว่าพวกเขาถูกบีซีซีไอหลอกใช้และว่าพวกเขาไม่ล่วงรู้เลยว่า
"นักลงทุน" ของบีซีซีไอนั้นแท้จริงแล้วก็คือบุคคลหน้าฉากนั่นเอง
อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็เป็นตัวบ่งชี้แล้วว่า พวกเขามั่งมีขึ้นได้อย่างมหาศาลจากการเพิกเฉยที่ว่านี้เอง
สัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับคาร์เตอร์
นอกเหนือจากประโยชน์ในการขยายธุรกิจในตลาดยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาแล้ว อเบดียังได้ประโยชน์มหาศาลอีกอย่าง
จากการเข้าไปมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีคาร์เตอร์ ภายหลังจากที่คาร์เตอร์ออกจากทำเนียบขาว
บีซีซีไอก็ได้บริจาคเงิน 500,000 ดอลลาร์ให้แก่อาคารเพื่อการศึกษาคาร์เตอร์เซนเตอร์
แห่งมหาวิทยาลัยอีโมรี่ ในแอตแลนต้า บีซีซีไอยังเป็นผู้บริจาครายใหญ่ มูลค่า
8 ล้านดอลลาร์ให้แก่กองทุนการกุศลของจิมมี่ คาร์เตอร์ หรือที่เรียกว่า "โกลบัล
2000" อันอุทิศเพื่อการปรับปรุงสาธารณสุขและการเกษตรในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งคาร์เตอร์และอเบดีเป็นประธานร่วมกัน
อเบดีถึงกับขับเครื่องบินส่วนตัวโบอิ้ง 727 ไปรับคาร์เตอร์และแอนดรูว์ ยัง
อดีตเอกอัครราชทูต ไปยังสหประชาชาติ และไปทัวร์อาฟริกา ยังสรุปความสัมพันธ์ของทั้งสองอย่างสั้น
ๆ ว่า "ความคิดที่ดี ๆ ทุกอย่างที่คาร์เตอร์ หรือผมมี ก็จะได้รับการสานต่อด้วยความเต็มใจจากเงินทุนของอเบดี"
สัมพันธภาพระหว่างทั้งสองยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา อเบดีมักจะจัดหาเครื่องบินให้แก่คาร์เตอร์
และโรซาลีน ภริยาของเขาเพื่อการท่องเที่ยวในนามขององค์การกุศลสู่ประเทศโลกที่
3 ส่วนคาร์เตอร์ก็ได้แนะนำอเบดีให้รู้จักกับคนใหญ่คนโตมากมาย รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีลอร์ด
คอลลาแกน และเมื่ออเบดีล้มป่วยด้วยโรคหัวใจกำเริบเมื่อปี 1988 คาร์เตอร์ถึงกับบินไปลอนดอนด้วยตนเองเพื่อเยี่ยมไข้และจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านโรคดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดให้คอยดูแลรักษาเขา
จนถึงทุกวันนี้ คาร์เตอร์ยอมรับว่าเขาถูกอเบดีและบีซีซีไอ "ใช้เป็นเครื่องมือ"
ลอร์ด คอลลาแกน ผู้เป็นเจ้าขององค์กรการกุศล,มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ และคอมมอนเวลธ์
ทรัสต์ ที่ได้ประโยชน์จากความใจบุญสุนทานของบีซีซีไอก็เชื่อว่าธนาคารเป็นผู้บริจาครายใหญ่แก่กองทุนประเทศโลกที่
3 โดยดูจากปรัชญาของธนาคาร ทว่าในความเป็นจริงแล้ว เพื่อนฝูงและผู้ใกล้ชิดของอเบดี(นอกเหนือจากคาร์เตอร์)
ก็ยอมรับว่าทั้งหมดนั้นเป็นเพียงภาพลวงตาที่อเบดีสร้างขึ้นเพื่อตนเองและเพื่อธนาคารของตนเท่านั้น
ด้วยภาพพจน์ที่ดีเยี่ยมในสายตาของประเทศโลกที่ 3 จึงทำให้บีซีซีไอสามารถขยายตัวด้วยอัตราที่น่ามหัศจรรย์ใจยิ่งในช่วงทศวรรษ
1980 เมื่อปลายทศวรรษ 1970 ธนาคารมีสำนักงานใน 32 ประเทศและมีบัญชีเงินฝากมากกว่า
2,000 ล้านดอลลาร์แต่พอถึงสิ้นปี 1988 ธนาคารมีสำนักงานในประเทศต่าง ๆ ร่วม
73 ประเทศ และถือเงินฝากถึง 20,000 ล้านดอลลาร์โดยว่าจ้างพนักงานร่วม 14,000
คนเพื่อประจำสำนักงาน 417 แห่ง
สัมพันธภาพที่แนบแน่นระหว่างอเบดีกับคาร์เตอร์เป็นสัญลัษณ์ที่สำคัญยิ่ง
ที่ทำให้เขาดูน่าเลื่อมใสสำหรับผู้บริหาร และพนักงานของธนาคารโดยทั่วไปแล้ว
อเบดีเป็นมากกว่าประธานธนาคาร อเบดีจึงสามารถขยายวงคนรู้จักออกไป นับจากญาติสนิท
เพื่อนฝูง เพื่อนของเพื่อน ไปจนถึงญาติห่าง ๆ ซึ่งเขาก็ได้แจกจ่ายหุ้นกู้จำนอง,
ให้การสนับสนุนทางการเงิน, การดูแลรักษาสุขภาพ และจัดทัวร์ระดับเฟิร์สต์
คลาสให้แก่คนเหล่านั้น รวมไปถึงช่องทางการหาเงินและอำนาจอันมหาศาลที่คาดไม่ถึง
ในทางกลับกันคนเหล่านั้นก็ให้การจงรักภักดีอย่างไม่ลืมหูลืมตาแก่อเบดี มันเปรียบเสมือนโลกที่อเบดีสรรค์สร้างขึ้น
และมีเขาเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ดี ตัวเขามิใช่ราชาเพราะไม่มีใครเกรงขามเขา
พาราออนนั้นก็เช่นเดียวกับอเบดี คือหมั่นเพาะความสัมพันธ์กับบุคคลที่มั่งคั่งและมีชื่อเสียงจึงไม่น่าแปลกที่เขามีมิตรสหายเป็นคนเด่นคนดังทั้งในแวดวงการเมืองอย่าง
อเล็กซานเดอร์ เฮก และแอนดรูว์ ยัง หรือในแวดวงบันเทิงอาทิ เจ้าชายแห่งซาอุฯ
และดาราทีวีจีน คนเหล่านี้เดินทางมาเยี่ยมเยือนเขาที่ริชมอนด์ ฮิลล์ปีละ
1-2 ครั้งเสมอ ๆ
ระฆังเตือนครั้งแรก
จนกระทั่งถึงปี 1985 เมื่อราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างฮวบฮาบจากบาร์เรลละ 28
ดอลล์เหลือเพียง 9 ดอลล์ ระบบเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียจึงปั่นป่วนอย่างหนัก
บริษัทเพื่อการก่อสร้างของพาราออนที่ชื่อ รีเดคแทบวอดวาย และนั่นจึงถือเป็นสัญญาณเตือนครั้งแรกต่อความฉิบหายของบีซีซีและอเบดี
ธนาคารตะวันตกร่วม 50 แห่งที่ได้ปล่อยกู้ให้แก่พาราออนเริ่มคาดหวังว่าจะได้ดอกเบี้ยและเงินต้นคืน
โดยยอดหนี้สินที่รีเดคมีต่อธนาคาร ณ สิ้นปี 1985 นั้นอยู่ที่ 330 ล้านดอลลาร์
เหล่าธนาคารเริ่มต้องการให้พาราออนทำการชำระบัญชี ด้วยการขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป
เพราะพวกเขาคิดว่า อเบดีเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายอย่างนอกซาอุฯ อาทิ
ริชมอนด์ ฮิลล์ และเนชั่นแนล แบงก์ ออฟ จอร์เจีย
ดูเหมือนว่าพาราออนจะมีทางเลือกน้อยเสียเหลือเกิน เพราะสินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ถูกสมมติว่าเขาเป็นเจ้าของนั้น
เบื้องหลังที่แท้จริงแล้วก็คือบีซีซีไอที่อาศัยเขาเป็นหน้าฉากเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์เริ่มยืดเยื้อ
บรรดาธนาคารก็ยิ่งแพร่ข่าวในทางที่เสียหายต่อพาราออน และส่งผลให้กระทรวงการคลังซาอุฯ
ร้องเรียนต่อกษัตริย์ฟาฮัด (ซึ่งในขณะนั้นพ่อของเขาไม่ได้ให้การรับใช้อีกต่อไป)
กษัตริย์จึงสั่งริบพาสปอร์ตของเขาเสีย
สำหรับบีซีซีไอแล้ว ปัญหาของพาราออนเป็นเรื่องที่ล่อแหลมและสุ่มเสี่ยงมาก
เพราะมีโอกาสที่บางคนอาจสืบสาวได้ว่า พาราออนเป็นตัวแทนในกิจกรรมต่าง ๆ ของบีซีซีไอ
เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจเริ่มรู้ว่าพาราออนได้ใช้เงินของบีซีซีไอซื้อเนชั่นแนล
แบงก์ ออฟ จอร์เจีย แล้วพวกเขาก็อาจสืบจนรู้ว่าบีซีซีไอนั่นเองที่อยู่เบื้องหลังการซื้อเฟิร์สต์
อเมริกัน หนทางเดียวที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ก็คือ พาราออนจะต้องถูกแปรโฉมให้บุคคลที่น่าเชื่อถือในบรรดาเจ้าหนี้
ทั้งนี้ด้วยความหวังว่าพวกเขาจะหยุดกดดันพาราออน อย่างไรก็ดีนี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักแต่ก็ไม่เกินความสามารถของบีซีซีไอ
ในเดือนเมษายน ปี 1987 นิตยสารแอตแลนตา บิสซิเนสโครนิเคิลได้ขึ้นปกรูปเกธ
พาราออนและจั่วหัวว่า "บุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดในจอร์เจีย" ส่วนโปรยของบทความก็ว่า
เขาเป็น 1 ใน 15 อภิมหาเศรษฐี่โลก ผู้ใช้จ่ายเงินอย่างสบายใจ ทั้งยังทุ่มเงินพันล้านดอลลาร์เพื่อซื้อรถเมอร์ซีเดส,
เรือบอชต์, เครื่องบินเจ็ท และโบอิ้ง 727 ให้แก่นักธุรกิจชาวซาอุฯ จำนวนมาก
เบื้องหลังบทความชิ้นนี้ก็คือเดวิด มิซราฮี บรรณาธิการสิ่งพิมพ์ที่ชื่อ
"มิดอีสต์ รีพอร์ท" ซึ่งได้เดินทางท่องเที่ยวไปกับรถเมอร์ซีเดสสปอร์ตตี้ที่หรูหราของพาราออน
เขารู้สึกว่า บทความที่ว่าเป็นเรื่องไม่ซีเรียสอะไรเพียงแต่เป็นเรื่องสนุก
ๆ ที่ว่า เขาเห็นว่าพาราออนเป็นคนรวยที่เที่ยวแจกจ่ายเงินให้ใคร ๆ ตามใจชอบ
มิซรฮียังประมาณมูลค่าทรัพย์สินของพาราออนไว้ว่าคงราว ๆ 975 ล้านดอลลาร์
ไม่ช้าพาราออนก็ได้พาสปอร์ตคืน และได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากซาอุฯ ด้วยความเข้าใจว่าเขาสามารถประนีประนอมกับบรรดาเจ้าหนี้ตะวันตกได้
และเมื่อกลับถึงริชมอนด์ ฮิลล์ พาราออนก็ได้ขายเนชั่นแนล แบงก์ ออฟ จอร์เจีย
(เอ็นบีจี) เป็นมูลค่า 240 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าเป็นราคางามที่ได้กำไรถึง
22 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเบื้องหลังก็คือ บีซีซีไอเป็นผู้ซื้อโดยอาศัยชื่อของเฟิร์สต์
อเมริกัน ที่ธนาคารเป็นเจ้าของลับ ๆ อีกเช่นกัน ดังนั้นบีซีซีไอจึงได้เข้ามาเป็นเจ้าของเอ็นพีจีเต็ม
100%
อย่างไรก็ดี เมื่อพาราออนมิใช่ผู้ขายเอ็นบีจีที่แท้จริง กำไรก็หาใช่ของเขาไม่
แต่เป็นของบีซีซีไอ บีซีซีไอได้ขายเอ็นบีจีให้แก่ตนเอง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ
นี่เป็นเพียงเกมตบตาเท่านั้น ที่มีบีซีซีไอเป็นผู้เล่นเพียงคนเดียว อันมีเป้าหมายเพื่อกำจัดเอ็นบีจีให้พ้นจากการครอบครองของพาราออน
ซึ่งจะทำให้ธนาคารเจ้าหนืทั้งหลายไม่สามารถเข้ามายึดได้
การสร้างภาพพจน์ของพาราออนไม่หยุดเพียงแค่นั้น เพราะต่อจากนั้น เมื่อเดือนมิถุนายน
ปี 1987 พาราออนก็ได้ตกลงกับธนาคารตะวันตกว่าจะทำการปรับโครงสร้างหนี้ของรีเดคและนั่นหมายถึงว่า
พาราออนกำลังจะหนีออกจากห่วงของบริษัทแห่งนี้
จนถึงเดือนตุลาคม เขาก็ประสบโชคดีอีกครั้ง เมื่อนิตยสารฟอร์บส์ได้จัดอันดับให้เขาเป็นอภิมหาเศรษฐีระดับพันล้านคนหนึ่งของโลกโดยชี้ว่าเขามีมูลค่าสินทรัพย์ถึง
975 ล้านดอลลาร์
ใกล้ถึงจุดล่มสลาย
ปี 1988 พาราออนยังได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้เสียมูลค่ามหาศาลของเซนทรัสต์ เซฟวิ่ง
แบงก์ ออฟ ไมอามี สถาบันเพื่อการออมและสินเชื่อที่ดำเนินการโดยเดวิด พอล
จนในที่สุดพอลและพาราออนก็ได้เป็นเพื่อนสนิทกัน ด้วยรสนิยมที่ชอบความหรูหราฟุ่มเฟือยเหมือน
ๆ กัน พอลได้เข้ามาช่วยถลุงเงินเป็นการใหญ่ โดยตกแต่งเซนทรัสต์ ทาวเวอร์
ด้วยเงินถึง 100 ล้านดอลลาร์ เขาเช่าเครื่องบินเจต, ซื้อเรือยอชต์, แจกจ่ายให้องค์การกุศลและสถาบันคาร์เตอร์ในแอตแลนตา
ปี 1988 เขายังได้บริจาคเงินให้พรรคเดโมเครตอีก 328,000 ดอลลาร์
ดูเหมือนพอลจะไม่คิดว่าเงินที่เขาใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยนั้น จะมีวันหมดลง
เช่นเดียวกับพาราออนที่ปั๊มเงินจากเซนทรัสต์ ราวกับว่ามันเป็นขุมเงินขุมทอง
จนเมื่อถึงปลายปี 1988 เงินก็เริ่มแห้งเหือด บรรดาผู้คุมกฎของธนาคารกลางสหรัฐฯ
เริ่มขู่ว่าจะเข้ามาจัดการ พาราออนจึงต้องถ่ายเงินจากบีซีซีไอมาอีกล้านดอลลลาร์เพื่อมาเข้าบัญชรเวนทรัสต์
ทว่าท้ายที่สุด เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1990 เซนทรัสต์ก็ล่มสลายลง
บีซีซีไอจึงจำเป็นต้องแสดงความจริงให้ปรากฏว่า เงินลงทุนของสถาบันอันเป็นตัวค้ำประกันหนี้ทั้งหมดของพาราออนนั้นแท้จริงแล้วเป็นหุ้นที่ไม่มีค่าอันใด
และแล้วก็ถึงช่วงเวลาอันทุกข์เข็ญยิ่งสำหรับบีซีซีไอ ในเดือนตุลาคม ปี
1988 คณะลูกขุนแห่งฟลอริดาได้ตั้งข้อหาธนาคารและเจ้าหน้าที่ธนาคารอีก 6 คนในข้อหากระทำการฟอกเงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด
ขณะเดียวกัน รองคณะกรรมาธิการของสหรัฐฯ ก็ได้สืบสวนสัมพันธ์ระหว่างบีซีซีไอกับนายพลมานูเอล
นอริเอก้า แห่งปานามา ทั้งยังมีหลักฐานว่าบีซีซีไอได้ถือหุ้นลับ ๆ ในเฟิร์สต์
อเมริกัน พร้อมกันในช่วงนั้น อเบดีก็เกิดป่วยด้วยโรคหัวใจขึ้นมาอย่างกะทันหัน
ทว่าเขายังวาดหวังกับบีซีซีไอ จะขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของธนาคารโลก ทางด้านไพรซ์วอเตอร์เฮาส์
สำนักสอบบัญชีของบีซีซีไออย่างจริงจัง
นับจากนั้นพาราออนก็ยังไม่ค่อยมาที่ริชมอนด์ ฮิลล์อีกด้วยประสบการณ์อันลำเค็ญที่เคยได้รับจากการถูกยึดพาสปอร์ตโดยกษัตริย์ซาอุฯ
พาราออนจึงเร่งหาพาสปอร์ตสำรองก่อน ซึ่งก็ได้มาโดยง่ายดายโดยทูตปารากวัย
แต่ภายหลังจากนั้นก็กลับถูกยกเลิกอีกครั้ง
พาราออนตัดสินใจขึ้นเครื่องบินส่วนตัวไปอาร์เจนตินา ซึ่งที่นั่นก็ให้การต้อนรับเขาเป็นอย่างดี
ในนามของ "พาราโอคนใหม่" แม้แต่บริษัทส่วนตัวของเขาเองก็ได้รับการเรียกขานว่า
"พาราโอ โฮลดิ้ง" เขายังใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และทำตัวเป็นพ่อบุญทุ่มกับคนใหญ่คนโตทุกคน
ทว่าโชคดีก็อยู่กับเขาไม่นานนัก เนื่องจากนักหนังสือพิมพ์อาร์เจนตินาเริ่มได้เบาะแสว่า
พาราออนมีสายสัมพันธ์อันซับซ้อนกับบีซีซีไอ โดยเฉพาะเรื่องการฟอกเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติด
ทางการยังสืบรู้ว่าบีซีซีไอได้ข้องเกี่ยวกับเงินผิดกฎหมายที่ได้จากนายพลนอริเอก้า
และบริษัทโคลัมเบียที่ค้าโคเคน ทว่าพาราออนอ้างตัวว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบีซีซีไอ
โดยมีหุ้นในครอบครองถึง 6,292,500 หุ้น หรือ 15% ของหุ้นทั้งหมด ทว่าภายหลังจากนั้น
เขาก็พยายามถอนตัวออกจากการเกี่ยวข้องกับบีซีซีไอ ด้วยการอ้างว่าได้ขายหุ้นบีซีซีไอออกไป
ในช่วงที่ต้องให้การต่อศาล พาราออนก็ได้ระเบิดโทสะไปว่า "ธนาคารแห่งใด
ๆ ในโลกก็ล้วนแล้วแต่ฟอกเงินกันทั้งนั้น แต่มีเพียงเฉพาะบีซีซีไอเท่านั้นที่ถูกระบุชื่อขึ้นมา"
คำกล่าวที่ว่าจึงกลายเป็นหลักฐานมัดตัวให้ต้องถูกยึดทรัพย์สิน และถูกถอนออกจากสถานภาพพลเมืองอาร์เจนตินา
พาราออนไม่ได้ปรากฏในตัวอาร์เจนตินาอีกหรือแม้แต่ในอเมริกา ในฝรั่งเศส
หรือบ้านเขาเองที่ซาอุดิอาระเบีย แม้จนถึงทุกวันนี้ ที่บีซีซีไอล่มสลายลงเป็นเวลา
6 เดือนมาแล้ว เขาก็ยังแล่นเรือไปยังเกาะกรีกโดยเรือยอชต์หรูหราส่วนตัว ซึ่งมีห้องซึ่งได้รับการตกแต่งอย่างหรูหราถึง
3 ห้อง เงินลงทุนของเขาในริชมอนด์ ฮิลล์ และในอาร์เจนตินานั้นกลับมิได้มีความหมายตามภาพที่เห็น
ส่วนโรงแรมไฮแอตในบัวโนส ไอเรสที่พาราออนอ้างว่าเป็นเจ้าของนั้น แท้จริงแล้วก็ได้จากการทำสวอปหนี้
ซึ่งเป็นวิธีที่บีซีซีไอใช้กับการแก้ปัญหาหนี้ของประเทศโลกที่ 3 ด้วย บีซีซีไอยังได้ซื้อหนี้ต่างชาติของอาร์เจนตินาอีกเป็นมูลค่า
37.5 ล้านดอลลาร์ จากบรรดาธนาคารตะวันตกเจ้าหนี้ที่หมดหวังแล้วว่าจะได้เงินคืน
และต่อมาธาคารจึงได้ขายหนี้ดังกล่าวให้แก่ธนาคารกลางอาร์เจนตินาตามมูลค่าหน้าตั๋ว
แน่นอนว่า ตำนานที่เล่าขานกันต่อมาในชุมชนริชมอนด์ ฮิลล์นั้นก็คือ "เขาไม่เหมือนเฮนรี่
ฟอร์ดเลย"