|
Sir Edmund Hillary วีรบุรุษของนิวซีแลนด์
โดย
ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
หากมีการถามว่าใครเป็นชาวนิวซีแลนด์ที่มีชื่อเสียงที่สุด ผมเชื่อว่าหลายคนคงต้องเคยได้ยินชื่อของเอ็ดมัน ฮิลลารี่ ผู้ที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอร์ เรสต์เป็นคนแรกของโลกในปี 1953 เพราะว่าความสำเร็จของเซอร์เอ็ดมัน ฮิลลารี่ ได้กลายเป็นตำนานของนักผจญภัยทั่วโลก แม้ว่าเซอร์เอ็ดมัน ฮิลลารี่ เองมักจะออกตัวเสมอว่า "ผมไม่ใช่คนที่เก่งเป็นพิเศษ แต่เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่มีความขยันอดทนและเอาจริงเอาจังกับสิ่งที่ผมทำ"
เอ็ดมัน ฮิลลารี่ ผู้มีคำพูดติดปากว่า "พิชิตในสิ่งที่ไม่ท้าทายไม่ถือว่าเป็นชัยชนะ" ถือกำเนิดในปี 1919 จากครอบครัวเจ้าของฟาร์มผึ้งเชื้อสายอังกฤษ ตั้งแต่วัยเด็ก เอ็ดมัน ฮิลลารี่มีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นนักผจญภัย เมื่อเขาอายุ 16 ปี เอ็ดมันได้ไปทัศนศึกษาภูเขาไฟรูอาเปฮู ทำให้เขามีความสนใจในการ ปีนเขาขึ้นมาเพราะว่าในระหว่างทัศนศึกษาเขาปีนเขาได้ดีกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ทุกคนต้องมีก้าวแรกเสมอ ยอดเขาแรกที่เอ็ดมันพิชิตได้สูงเพียง 1,900 เมตร ชื่อเม้าท์ โอลลิเวียร์ ซึ่งเอ็ดมัน ฮิลลารี่ร่วมกับสมาชิกชมรมปีนเขาของมหาวิทยาลัยโอ๊กแลนด์ ปีนเขานี้ตอนอายุ 20 ปี
หลังจากสงครามโลกสงบลง เอ็ดมัน ฮิลลารี่ได้เข้าร่วมทีมนักปีนเขาของอังกฤษซึ่งนำโดยอีริค ชิพตัน กงสุลอังกฤษประจำมณฑลซินเกียง ในปี 1951 ทีมของชิพตันได้พยายามพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ แต่ความพยายามในครั้งแรกของพวกเขาประสบความ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะเจอกับหน้าผาที่เกิดจากน้ำแข็งทางทิศตะวันตกของภูเขา สำหรับทุกวันนี้การใช้เชือกและสลิงกับอุปกรณ์ทันสมัยทำให้การปีนหน้าผาน้ำแข็งเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ว่าในสมัยนั้นหน้าผาน้ำแข็ง เป็นสิ่งที่นักปีนเขาไม่สามารถปีนได้เพราะเทคโนโลยียังไม่เพียงพอ ในปีถัดมาทีมของชิพตันตัดสินใจปีนเขาโจวเอาหยู ซึ่งเป็นภูเขา สูงอันดับที่ 6 ของโลกเป็นทีมแรกแต่ก็ประสบ ความล้มเหลวเพราะเจอผาน้ำแข็ง
จากความล้มเหลวสองครั้งติดกัน กงสุลชิพตันได้ลาออกและยกตำแหน่งหัวหน้าให้กับพันเอกจอห์น ฮันต์ เพื่อพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ในปี 1953 โดยคณะของ พันเอกฮันต์ประกอบด้วยนักปีนเขา 3 คน ซึ่งฮิลลารี่เป็นหนึ่งในนั้น ทีมสนับสนุน 15 คน มัคคุเทศก์เผ่าเชอร์ปาอีก 20 คน ซึ่งรวมถึง นอร์เก เทนซิง และลูกหาบชาวเชอร์ปาอีก 362 คน เมื่อไปถึงภูเขาหิมาลัยแล้วผู้พันฮันต์ ได้จัดทีมปีนเขาเป็นสองทีมประกอบด้วยทีมตัวจริงสัญชาติอังกฤษแท้คือทอม บอดินลอน กับชาร์ล อีวาน ส่วนทีมสำรองคือเอ็ดมัน ฮิล ลารี่ จากนิวซีแลนด์ กับนอร์เก เทนซิง มัคคุเทศก์เผ่าเชอร์ปาจากเนปาล แต่ทว่าทีมตัวจริงต้องถอดใจเพราะออกซิเจนร่อยหรอที่ 8,757 เมตร ทีมของเอ็ดมันในฐานะตัวสำรอง ที่รออยู่ที่แคมป์บริเวณเซาท์โคลในระดับความสูง 7,906 เมตรจึงกลายเป็นตัวจริงแทน แม้ว่าจะห่างจากยอดเขาเพียง 942 เมตร แต่ เซาท์โคลนั้นเป็นจุดสุดท้ายที่จะตั้งค่ายพักได้เพราะเหนือเซาท์โคลขึ้นไปความกดอากาศและปริมาณออกซิเจนนั้นจะมีน้อยมากจนได้ฉายาว่าโซนมรณะ เพราะแม้แต่ในปัจจุบันเมื่อพ้นเดดโซนไปแล้วมนุษย์ทั่วไปก็ไม่สามารถ ทนสภาพอากาศได้เกิน 3 วัน
ทีมสำรองของเอ็ดมัน ฮิลลารี่ได้ออกจากแคมป์ ในวันที่ 28 พฤษภาคม 1953 และ เมื่อพ้นยอดเขาทางใต้มุ่งไปสู่ยอดเขาเอเวอร์ เรสต์ทั้งคู่พบหินสามขั้นเป็นแนวตรงสูง 12 เมตร ซึ่งปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็งและ จุดที่ยากที่สุดในการปีนเขาเอเวอร์เรสต์ ซึ่งนักปีนเขาในปัจจุบันเรียกหินสามขั้นนี้ว่าฮิลลารี่ สเต็ป ปัจจุบันการข้ามจุดนี้ไม่ยากเท่าสมัย นั้นเพราะมีการใช้สลิงซึ่งจะมีเชือกขึงให้ปีนได้ แต่ในตอนนั้นเอ็ดมัน ฮิลลารี่ต้องปีนตามรอยแตกของหินกับน้ำแข็งเพื่อไปสู่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ในตอนแรกฮิลลารี่ปฏิเสธที่จะตอบว่าเขาหรือเทนซิงไปถึงยอดเขาก่อนแต่พูดว่าเขากับเทนซิงไปกันเป็นทีมต้องได้เครดิตเท่ากัน ทำให้มีการครหาว่าฮิลลารี่ไม่ได้ไปถึงคนแรกแต่เดินตามไกด์ชาวเชอร์ปา แต่ว่าเทนซิงกลับกล่าวว่า เอ็ดมัน ฮิลลารี่ปีนนำไปตามรอยแตกของหินและเทนซิงปีนตาม เพื่อช่วยสนับสนุน ก่อนที่ฮิลลารี่จะฝังไม้กางแขนไว้บนยอดเขาและถ่ายรูปให้กับเทนซิงตอนปักธงชาติอังกฤษเพราะเทนซิงใช้กล้องถ่ายรูปไม่เป็น ทำให้คำครหากลายเป็นคำยกย่องว่า ฮิลลารี่เป็นคนที่เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าตนเอง ไม่ได้มุ่งแต่หาเงินทองหรือชื่อเสียงใส่ตนเอง
หลังจากพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าไฟในการผจญภัยของเซอร์ ฮิลลารี่จะหมดไป เขาตัดสินใจที่จะพิชิตขั้วโลก ใต้ร่วมกับคณะเครือจักรภพนำโดย ดร.วิเวียน ฟัดจ์ ในปี 1958 แม้ว่าหน้าที่ของเซอร์ฮิลลารี่ จะเป็นเพียงทีมสนับสนุนโดยมีหน้าที่สร้างค่ายที่แหลมแมคเมอร์โด ปัจจุบันได้ถูกพัฒนาเป็นสถานีวิจัยสกอตเบสของนิวซีแลนด์ และวางแนวเสบียงจากแมคเมอร์โดไปถึงขั้วโลกใต้ ซึ่งมีสถานีอมุนเซนสกอตของอเมริกาตั้งอยู่ โดยฝ่าย ดร.ฟัดจ์เชื่อว่าพวกเขาจะมาถึงขั้วโลกใต้และได้ชื่อว่าเป็นผู้พิชิตขั้วโลกใต้คนที่ 3 หลังจากอมุนเซนต์และสกอต ในปี 1912 โดยทีมของ ดร.ฟัดจ์เริ่มเดินทางจากตอนเหนือโดยคาดว่าจะไปรอฮิลลารี่ที่สถานีอมุนเซนสกอต แต่พอเอาเข้าจริงๆ ฮิลลารี่กลับไปถึงขั้วโลกใต้ก่อนฟัดจ์และได้ชื่อว่าเป็นคนที่ 3 ที่พิชิตขั้วโลกใต้ทางบกแทนฟัดจ์ และยังทำเวลาได้เร็วที่สุดในยุคนั้น หลังจากพิชิตขั้วโลกใต้แล้ว ในปี 1985 เอ็ดมัน ฮิลลารี่ ใช้ประสบการณ์นักบินของเขาตอนไปรบในสงครามโลก เข้าร่วมกับนีล อาร์มสตรองนักบินอวกาศที่ไปเหยียบดวงจันทร์ ทำการพิชิตขั้วโลกเหนือทางอากาศโดยใช้เครื่องบินใบพัดขนาดเล็กบินข้ามขั้วโลกเหนือ ทำให้เขาเป็นคนเดียวในโลกที่พิชิตทั้งยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ขั้วโลกใต้ และขั้วโลกเหนือ
นอกจากนี้ฮิลลารี่ไม่เคยลืมความสำคัญ ของชาวเชอร์ปาที่เป็นผู้มีส่วนร่วมในความสำเร็จของเขา เอ็ดมัน ฮิลลารี่ได้ก่อตั้งองค์กร ไม่แสวงผลกำไรชื่อหิมาลายันทรัสต์เพื่อสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สถานพยาบาล และยังซ่อมแซมดูแลศาสนสถานหลายแห่งให้กับชาวเชอร์ปา
แต่สิ่งที่ทำให้เอ็ดมัน ฮิลลารี่เป็นข่าวมากที่สุดในช่วงหลัง คือการที่เขาได้ออกมาประณามนักปีนเขารุ่นหลังที่แล้งน้ำใจต่อนัก ปีนเขาด้วยกันเอง การพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ยังคงเป็นความฝันของนักปีนเขาจนถึงทุกวันนี้ จึงมีนักปีนเขาจำนวนไม่น้อยที่มุ่งแต่จะพิชิตยอดเขาโดยไม่เห็นใจเพื่อนนักปีนเขาด้วยกัน ในปี 1996 นักปีนเขา 8 คนเสียชีวิตจากพายุ หิมะที่ฮิลลารี่สเต็ป แต่มีนักปีนเขาชาวญี่ปุ่นอีก 2 คนที่เห็นนักปีนเขาชาวอินเดีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์กำลังจะตาย แทนที่จะช่วยพา คนเจ็บกลับไปเซาท์โคล พวกเขากลับเฉยเมย และปีนผ่านไปเพื่อพิชิตยอดเขา เหตุการณ์ คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในปี 2006 เมื่อทีมนักปีน เขาเกือบ 40 คน ทิ้งให้นักปีนเขาชาวอังกฤษ ขาดออกซิเจนตายในระดับ 8,500 เมตร ขณะที่พวกเขาปีนต่อไปเพื่อพิชิตยอดเขา เหตุการณ์ ดังกล่าวทำเอาเซอร์ฮิลลารี่ออกมาวิจารณ์ว่า "ความคิดแต่จะพิชิตยอดเขาโดยไม่สนใจผู้อื่น เป็นสิ่งที่ทุเรศ ถ้ามีคนกำลังจะขาดออกซิเจน ตายคุณเดินผ่านเขาไปเฉยๆ นั่นคือสิ่งที่ผิด ถ้าคุณพิชิตยอดเขาด้วยความเห็นแก่ตัวไม่สนใจคนที่กำลังจะตาย ผมไม่นับว่าสิ่งนั้นเป็น ความสำเร็จโดยเด็ดขาด"
ด้วยชีวิตที่ไม่ด่างพร้อยในวันที่ 11 มกราคม 2008 เซอร์เอ็ดมัน ฮิลลารี่ ได้เสียชีวิต อย่างสงบด้วยวัย 88 ปีที่โรงพยาบาลกลาง นครโอ๊กแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ได้พร้อมใจกันลดธงลงครึ่งเสาเพื่อระลึกถึงเซอร์เอ็ดมัน ฮิลลารี่ แม้ว่าตัวจะตายแต่ชื่อของเขายังคงอยู่อีกนานเท่านาน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|