สงครามเกี๊ยวซ่า

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นประเพณีตั้งแต่โบราณกาลของชาวจีนที่ในช่วง "เทศกาลตรุษจีน" วันครอบครัวของชาวจีนทั้งมวล สมาชิกในครอบครัวจะต้องกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ให้พร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อที่สมาชิกทั้งหมด ปู่ ย่า พ่อ แม่ ลูกหลาน จะนั่งล้อมวงช่วยกันทำกับข้าวกับปลา แล้วมานั่งล้อมวงรับประทานอาหารแกล้มสุรา เพื่อพูดคุยไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ

สำหรับชาวจีน อาหารอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็น "ขาประจำ" บนโต๊ะอาหารในคืนก่อนวันตรุษจีนนั้นไม่ใช่หูฉลาม หมูหัน หรือกระเพาะปลาน้ำแดง แต่กลับเป็นอาหารง่ายๆ ที่เรียกกันว่า "เกี๊ยว"

"เกี๊ยว" ที่ชาวจีนเมืองหลวง หรือชาวจีนที่อยู่ทางภาคเหนือนิยมรับประทานหน้าตาจะไม่เหมือน "เกี๊ยว" บ้านเราเพราะเกี๊ยวแป้งสีเหลืองอย่างที่คนบ้านเราชอบกินนั้นบ้านเขาเรียกว่า "หุนตุ้น" หรือที่ฝรั่งเขาเขียนกันว่า Wonton แต่เกี๊ยวของเขาจะใช้แป้งสาลีขาวห่อด้วยไส้ ก่อนจะนำไปนึ่งหรือทอดเพื่อรับประทาน

ทั้งนี้ความสนุกสนานของการทำเกี๊ยว ในช่วงเทศกาลตรุษจีนก็อยู่ที่ตรงคนในครอบครัวจะได้ช่วยกันทำไส้ นวดแป้ง ห่อไส้ เกี๊ยวแล้วนำไปปรุงให้สุกก่อนที่จะนำมานั่ง ล้อมวงรับประทานกัน บรรดาลูกเขย-ลูกสะใภ้ หากจะหาโอกาสโชว์ฝีมือทำอาหารให้ประทับ ใจพ่อตา-แม่ยาย หรือพ่อ-แม่สามี ส่วนใหญ่ ก็ใช้โอกาสนี้ทั้งนั้น เพราะทักษะในการปรุงไส้ นวดแป้ง ห่อไส้เกี๊ยวให้รสชาติกลมกล่อม อร่อย พอดีคำและดูสวยงามนั้นถือเป็นศาสตร์ และศิลป์อย่างหนึ่งของคนจีนก็ว่าได้

สาเหตุที่ "เกี๊ยว" เป็นอาหารประจำเทศกาลตรุษจีนของชาวจีนไม่ใช่เพราะความ อร่อยแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีอีกหลายสาเหตุ ด้วยกันคือ หนึ่ง รูปลักษณ์ของเกี๊ยวนั้นคล้าย กับเงินจีนโบราณแสดงถึงความมั่งคั่ง-ร่ำรวย สอง เกี๊ยวนั้นเป็นอาหารที่มีไส้ คนจีนจึงชอบนำอาหารมงคลต่างๆ ใส่เข้าไปในเกี๊ยว เพื่อแสดงถึงความมีโชคลาภในปีที่จะมาถึง โดยครอบครัวชาวจีนส่วนใหญ่นั้นจะนิยมลงมือทำและรับประทานเกี๊ยวกันในช่วงหัวค่ำ ของวันตรุษจีนแล้วก็ล้อมวงสนทนากันไปถึงรุ่งสางโน่น

สำหรับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งหลาย ตรุษจีนปีหนูปีนี้หากจะกล่าวไปต้องถือว่าเป็น ตรุษจีนที่ไม่ค่อยน่าพิสมัยเท่าใดนัก เพราะตั้งแต่ก่อนเทศกาลก็เกิดภัยธรรมชาติครั้งร้าย แรงขึ้นในบริเวณพื้นที่ทางตะวันออก และตอนกลางของประเทศ เป็นพายุหิมะที่ตก อย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานถึง 4 สัปดาห์ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ และความโกลาหลในระบบคมนาคม-พลังงาน-การสื่อสาร จนแรงงานชาวจีนที่จากบ้านมา ทำงานในเมืองหลายล้านคนไม่สามารถเดินทางกลับบ้านไปฉลองเทศกาลตรุษจีนได้

เรื่องราวที่ไม่น่าพิสมัยของชาวจีนที่เกิดขึ้นในช่วงตรุษจีนปีหนูปีนี้อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ข่าวการตรวจพบว่า เกี๊ยวซ่าที่ผลิตจาก ประเทศจีนปนเปื้อนยาฆ่าแมลงโดยทางการญี่ปุ่น และทำให้มีชาวญี่ปุ่นต้องถูกส่งเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 10 คน ซึ่งในเวลา ต่อมากลายเป็นประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบ ถึงความสัมพันธ์ในระดับชาติเลยทีเดียว

รายงานจากสำนักข่าวญี่ปุ่นระบุว่า เรื่องราวของ "เกี๊ยวซ่าพิษ" ในประเทศญี่ปุ่น นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 แล้ว แต่กลายเป็นประเด็นใหญ่ในวันที่ 30 มกราคม 2551 เมื่อกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่นออกมา แถลงว่ามีชาวญี่ปุ่นจำนวน 10 คนที่อาศัยอยู่ ในจังหวัดชิบะและเฮียวโงเกิดอาการป่วยหลังจากบริโภคเกี๊ยวซ่าสำเร็จรูปแช่แข็งที่ผลิตจากโรงงานอาหารเทียนหยาง ที่ตั้งอยู่ในมณฑลเหอเป่ยของประเทศจีน

โดยกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเปิดเผยว่ามีชาวญี่ปุ่นมากกว่า 3,000 คน ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเพื่อรายงาน ถึงอาการผิดปกติของร่างกายและอาการป่วยหลังจากการบริโภคเกี๊ยวซ่าดังกล่าวไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 และเปิดเผยด้วยว่าสารพิษที่พบในเกี๊ยวซ่าแช่แข็งที่ผลิตจากจีนนั้นก็คือ สารที่ใช้ผสมเพื่อกำจัดแมลงที่ชื่อ เมธามิโดฟอส (Methamidophos)

ผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นแผ่ขยายวงไปอย่างรวดเร็ว โดยกินความตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ไปจนถึงระดับชาติ

ในญี่ปุ่น เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นออกแถลง การณ์ถึงกรณีดังกล่าว ส่งผลให้ในหมู่คนญี่ปุ่นเกิดกระแสความหวาดกลัวที่จะบริโภคสินค้าอาหารแช่แข็งที่นำเข้ามาจากจีน โดยหลังจากข่าวเผยแพร่ออกมายอดขายสินค้าอาหารแช่แข็งนำเข้าจากจีนก็ลดลงไปถึงร้อยละ 30 ขณะที่ในซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นนั้น ก็ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้วยการนำชุดเกี๊ยวทำเองแบบ DIY (Do It Yourself) มาวางขายแทน ขณะที่ราคาหัวหอม เนื้อหมู และเนื้อวัวที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของการทำเกี๊ยวในญี่ปุ่นก็พุ่งขึ้นเป็นเท่าตัว

ในเชิงธุรกิจบริษัทญี่ปุ่นที่นำเข้า-ผลิตอาหารแช่แข็งจากแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศจีนก็ถือโอกาสนี้ใช้กลยุทธ์โฆษณาที่ว่าสินค้าอาหารของตนเองนั้นไม่มีส่วนผสมที่ผลิตจากประเทศจีนเลยซึ่งก็เห็นผลพอสมควร ในทางตรงกันข้าม บริษัทที่นำเข้าสินค้าอาหารและอาหารแช่แข็งจากจีนและบริษัทที่เกี่ยวข้องกลับต้องประสบกับปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ขึ้นบัญชีบริษัทญี่ปุ่นอีก 18 บริษัทซึ่งค้าขายอยู่กับบริษัทอาหารเทียนหยาง พร้อมทั้งกดดันให้บริษัทดังกล่าวหยุดการขายสินค้าเหล่านั้นเสีย

กระนั้นบริษัทญี่ปุ่นที่ดูจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดก็คือบริษัท JT Foods ผู้นำเข้าอาหารแช่แข็งรายสำคัญของญี่ปุ่น บริษัทในเครือ Japan Tobacco และผู้นำเข้าเกี๊ยวซ่าชุดที่ทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากหลังเกิดเหตุการณ์ JT Foods นอกจากจะต้องเรียกสินค้าทั้งหมดคืนจากซูเปอร์มาร์เก็ต ทั่วประเทศ ต้องออกแถลงการณ์ขอโทษคนญี่ปุ่นแล้วยังต้องประกาศเลื่อนการควบรวม กิจการของบริษัทกับ Nissin Food Products อีกด้วย ซึ่งหากไม่เกิดเหตุการณ์เกี๊ยวซ่าพิษนี้ ขึ้นเสียก่อน และ JT Foods กับ Nissin สามารถควบรวมกิจการกันได้อย่างราบรื่น บริษัทที่เกิดจากการรวมกิจการดังกล่าวก็จะกลายเป็นบริษัทอาหารแช่แข็งที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นซึ่งจะมียอดขายสูงถึงปีละ 2,400 ล้าน เหรียญสหรัฐ (ราว 79,000 ล้านบาท)

ทั้งนี้ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้น จากกรณีดังกล่าวไม่ใช่ผลกระทบทางธุรกิจ แต่เป็นผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนกับญี่ปุ่น ที่แต่ไหนแต่ไรมาก็มีความเปราะบางอยู่แล้ว

ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 ก.พ. โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น โนบุทากะ มาชิมูระ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า "ถ้าใช้คอมมอนเซนส์สักหน่อย มันก็เป็นไปได้ที่ยากำจัดศัตรูพืชจะถูกใส่ลงไปก่อนการบรรจุหีบห่อ ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามันเกิดขึ้นในโรงงาน (ที่ประเทศจีน)" ขณะที่โยอิจิ อาซูโซเอะ รัฐมนตรีสาธารณสุขของญี่ปุ่นก็ออกมาแสดงท่าทีที่ไม่ค่อยเป็นมิตรต่อจีนนัก โดยกล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นจากความจงใจ (คือมีคนจงใจใส่สารพิษลงไปในห่ออาหาร) ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงทางเจ้าหน้าที่ตำรวจของญี่ปุ่นอาจตั้งข้อหาพยายามฆ่ากับผู้ที่ทำก็ได้ ซึ่งความเห็นดังกล่าวของผู้ใหญ่ ของรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้รับการสำทับจากชาวญี่ปุ่นอย่าง ศ.โทชิมิตสุ ชิเกมูระ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยวาเซดะที่ออกมากล่าวว่า "ในเมื่อต้นเหตุของเรื่องนี้เกิดจากประเทศจีน ชาวจีนก็ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ และตอนนี้ชาวญี่ปุ่นไม่เชื่อใจจีนแล้ว... และพวกเขาต้องการการแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง!"

ทางด้านจีนเมื่อเกิดเหตุอื้อฉาวดังกล่าวขึ้นรัฐบาลจีนซึ่งเดิมทีก็ปวดหัวกับปัญหาของพายุหิมะในช่วงตรุษจีนอยู่แล้วก็ร้อนรนเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการประสานงานไปยังรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งมีการสั่งการให้สำนักงานควบคุมและตรวจสอบคุณภาพสินค้าจีน (AQSIQ) ดำเนินการประสานงานกับทางญี่ปุ่น และส่งทีมผู้เชี่ยวชาญจากจีนไปร่วมตรวจสอบต้นตอของปัญหา ถึงประเทศญี่ปุ่น

หลังถูกอัดเสียน่วมจากสื่อญี่ปุ่นและสื่อตะวันตกได้สักพัก ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทางการจีนและสื่อภายใต้ความควบคุมของรัฐบาลจีนก็ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวเป็นระยะ โดยหลังจากการตรวจสอบข้อมูลและหลักฐาน พร้อมกับการนำคณะตัวแทนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ไปชมโรงงานอาหารเทียนหยางซึ่งผลิตเกี๊ยวซ่า ล็อตที่มีปัญหาแล้ว หวัง ต้าหนิง หัวหน้าคณะ ตรวจสอบและผู้อำนวยการฝ่ายการนำเข้า-ส่งออกอาหารของ AQSIQ ได้ชี้แจงว่าการปนเปื้อนของสารพิษดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในโรงงานจีน รวมถึงระหว่างการขนส่งเพราะ จากการตรวจสอบเกี๊ยวซ่าห่ออื่นๆ ที่ผลิตในล็อตเดียวกันกับเกี๊ยวซ่าชุดที่เกิดปัญหากว่า 2,000 ห่อแล้ว กลับไม่พบสารพิษใดๆ ทั้งสิ้น

ประเด็นเรื่อง "เกี๊ยวซ่าพิษ" กลายเป็นปัญหาใหญ่ในระดับชาติจนถึงขนาดที่ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ระหว่างการประชุม Group of Seven หรือการพบปะกันของรัฐมนตรีคลังของประเทศร่ำรวยที่ประเทศญี่ปุ่น ในการพูดคุยแบบทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีคลังของจีน และรัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น คือเซี่ย ซู่เหริน และฟูกูชิโร นูกากะ แทนที่ประเด็นหลักของการสนทนาจะเป็นเรื่องค่าเงินหยวน ประเด็นการ สนทนากลับกลายเป็นประเด็นเรื่องเกี๊ยวซ่าไปเสีย

ทั้งนี้ หลังการพบปะรัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่นกลับมีท่าทีที่เป็นมิตรต่อจีนมากขึ้น โดยกล่าวว่า "ทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมมือกันสืบสวนหาสาเหตุเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ เช่นเดียวกันนี้อีกและที่สำคัญไม่ให้เกิดอุปสรรค ต่อมิตรภาพระหว่างสองประเทศด้วย"

ในความเห็นของผมลึกๆ แล้ว ปัญหาเรื่อง "เกี๊ยวซ่าพิษ" นี้แม้จะส่งผลดีต่อบริษัทผู้ผลิตอาหารของไทยบ้างไม่มากก็น้อยเพราะ หากผู้นำเข้าญี่ปุ่นไม่นำเข้าอาหารแช่แข็งจากจีนก็ต้องเบนเข็มมานำเข้าจากประเทศเวียดนามหรือประเทศไทยแทน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ควรที่จะถูกขยายความให้ใหญ่โตจนกลายเป็นประเด็นที่กระทบต่อความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ แต่ควรจะเป็นการไล่เบี้ยกันในหมู่บริษัทผู้ผลิตอาหารและนำเข้าของทั้งจีนและญี่ปุ่นมากกว่า เพราะจากข้อเท็จจริง ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศ ที่นำเข้าอาหารจากต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 60 ของอาหารทั้งหมดที่บริโภคกันในประเทศ โดยแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับหนึ่งก็คือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาก็คือ จีน โดยเฉพาะอาหารแช่แข็งที่วางขายในญี่ปุ่นนั้นมากกว่าครึ่งผลิตมาจากประเทศจีน

กระนั้นสิ่งที่พวกเราน่าเอาเยี่ยงอย่างจากกรณีนี้ก็คือ เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าสำหรับชาวญี่ปุ่นแล้วประเด็นเรื่องการปกป้องผู้บริโภคนั้นเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งและรัฐบาลไม่อาจจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้เลย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.