|
First Impressions
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
Hallway หรือทางเดินผ่านหน้าห้องโถงตอนหน้าของอาคารเป็นจุดแรกที่เจ้าของบ้านจะเปิดโฉมบ้านของตัวเองให้ปรากฏแก่สายตาของผู้มาเยือน ทั้งสไตล์และการตกแต่งจึงสำคัญยิ่งต่อการสร้างบรรยากาศอันแสนจะอบอุ่นแก่เพื่อนๆ และคนในครอบครัว
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณต้องทุ่มเทงานไปที่ Hallway ก่อนเป็นอันดับแรกในกรณีที่ยังมีงานส่วนอื่นๆ ของบ้านให้ทำอีกมาก ไม่อย่างนั้นแล้วคุณต้องเจอปัญหาปวดหัวเป็นแน่ เพราะต้องดึงเอาตัวคนงานมาทำอีกเป็นพะเรอเกวียน เป็นเหตุให้งานอื่นๆ ค้างเติ่งไปหมด
สิ่งสำคัญคือคุณต้องเขียนแบบแปลนของ Hallway ไปพร้อมๆ กับห้องอื่นๆ ของบ้าน เพื่อให้แน่ใจว่าจะเกิดความต่อเนื่องและกลมกลืนระหว่าง พื้นที่ส่วนนี้กับส่วนอื่นๆ ของบ้านชนิดที่ว่าดูแล้วไม่มีอะไรสะดุดความรู้สึกแม้แต่น้อย
แต่นอกเหนือจากการให้สีและกำหนดสไตล์การตกแต่งแล้ว ยังมีองค์ประกอบสำคัญๆ อีกหลายอย่างที่นำมาช่วยทำให้ Hallway แลดูผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว
เริ่มต้นจากวัสดุปูพื้นซึ่งแม้จะมีผลกระทบต่อห้องอื่นๆ ที่อยู่ติดกับ Hallway ก็จริง แต่ คุณต้องคิดให้ถี่ถ้วนด้วยเช่นกันว่าพื้นของ Hallway ต้องรับการใช้งานหนักเพราะเป็นทางเดินที่ต้องมีคนเดินผ่านไปมาตลอดเวลา คำแนะนำคือ ถ้าคุณเริ่มต้นจากการสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมา วัสดุประเภทหินปูนน่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะไปด้วยกันได้ดีกับเฟอร์นิเจอร์ทั้งแบบเก่าและแบบสมัยใหม่ แต่ต้องให้แน่ใจด้วยว่าวัสดุที่ใช้ยาหินปูนมีคุณภาพดีพอที่จะทำให้พื้นหินปูนนั้นยังดูใหม่เอี่ยมแม้เวลาจะผ่านไปนานปีแล้วก็ตาม
ถ้าต้องการความรู้สึกสบายเท้าล่ะก็ ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรมปูพื้น (carpet) ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่อย่างที่บอกแล้วว่าบริเวณนี้เป็นทางเดิน การปูพรมอาจทำให้เกิดปัญหาถูกใช้งานหนักเกินไปหรือเกิดรอยขาดได้ ยกเว้นจะป้องกันด้วยการใช้พรมผืนเล็กเนื้อหนา (rug)
วัสดุประเภทพื้นไม้นอกจากจะให้ความรู้สึกอบอุ่นแล้ว ยังดีเยี่ยมเรื่องประโยชน์ใช้สอยอีกต่างหาก ถ้าต้องการอวดสีและลายของเนื้อไม้ก็ให้หา runner ซึ่งเป็นพรมผืนยาวหน้าแคบผืนสวยสำหรับปูทางเดินมาปูทับจะช่วยนำสายตาไปยังสีและลายไม้ได้เป็นอย่างดี หากไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ ลองใช้ runner ตามฤดูกาลก็จะยิ่งหรูเลิศเข้าไปอีก เช่น ฤดูร้อนปูด้วย สีน้ำตาลอมเทาอ่อนหรือสีครีม ขณะที่ฤดูหนาวก็เปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม
บริเวณที่เป็นห้องโถงมักจะมองข้ามเรื่องที่เก็บของไปอย่างน่าเสียดาย เห็นได้ชัด ถ้าห้องโถงบ้านไหนไม่มีที่เก็บของ บริเวณนั้นจะกลายเป็นที่สุมกองของเสื้อโค้ต กระเป๋า และรองเท้าจิปาถะรกไปหมด ในทางตรงข้ามถ้าคุณมีห้อง เช่น ห้องใต้บันได ให้ติดตั้งตู้แบบ built-in หรือซื้อตู้เข้าไปตั้งไว้ในห้องสักหลังหนึ่งสำหรับเก็บของจุกจิกจิปาถะให้เป็นที่เป็นทาง
ถ้าบริเวณ Hallway นั้นยังมีที่ว่างพอ ตั้งเก้าอี้ไว้สักตัวหรือสองตัวก็จะช่วยสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนแบบไม่รู้ลืมได้ และยังช่วยปรับบรรยากาศไม่ให้บริเวณนั้น แลดูเป็นเพียงทางเดินของบ้านเท่านั้น ยิ่งถ้าเลือกผ้าบุเก้าอี้มีลายดอกหรือสีสวยด้วยล่ะก็ จะยิ่งเป็นการสร้างบรรยากาศให้เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและช่วยเสริมรสนิยมขึ้นมาได้ทันที
อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการตกแต่ง ให้บริเวณโถงทางเดินแลดูมีชีวิตชีวาขึ้นทำได้ด้วยการวางตู้หรือโต๊ะหน้าแคบให้ชิดผนังซึ่งมีประโยชน์ใช้สอยไปในตัวด้วย หรืออาจเลือก เครื่องทำความร้อนหรือเครื่องปรับอากาศรูปทรงเพรียวบางดีไซน์เก๋ที่มีชั้นวางของอยู่บนสุดติดตั้งชิดผนังแทนก็ได้ ในกรณีที่คุณต้องการให้ตู้หรือโต๊ะอยู่ด้วยกันแบบผสมกลมกลืนกับโคมไฟ ก็ให้คิดในเชิงใช้งานจริง และให้แน่ใจด้วยว่าระบบสายไฟอยู่ในที่ในทางไม่มีส่วนเกินอะไรโผล่ออกมาให้รกสายตา
ที่ต้องไม่มองข้ามอีกอย่างหนึ่งคือระบบไฟให้แสงสว่าง เพราะส่วนมากแล้วแสงมักจะส่องไม่ถึงบริเวณโถงทางเดิน การมีโคมไฟเพียงอย่างเดียวจึงไม่พอสำหรับระบบส่องสว่าง จำเป็นต้องมีไฟเพดานช่วยด้วย ยกเว้นบ้านของคุณมีเพดานต่ำก็ต้องใช้ไฟผนังแทน คุณยังมีทางเลือกในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศจากแสงไฟเจิดจ้า แบบกลางวันเป็นสลัวๆ แบบกลางคืนด้วยการติดตั้งสวิตช์กดไฟระดับต่ำ (dimmer switch) และการติดกระจกให้ถูกทิศทางก็ช่วยเพิ่มความเข้มของแสงมากขึ้นถึงสองเท่าได้
Hallway ยังรับบทบาทเป็น art gallery ได้อย่างไม่เคอะเขิน เพียงแต่เลือกผลงาน ศิลปะที่คุณโปรดปรานไม่กี่ชิ้นมาประดับเท่านั้น แต่ต้องระวังอย่าให้มากเกินไปจนดูลานตาไปหมด
และท้ายที่สุดอย่าลืมทำให้ Hallway ของคุณหอมกรุ่นชื่นใจอยู่เสมอ จุดนี้มักถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย แต่เป็นเคล็ดลับสร้างความประทับใจไม่รู้ลืมได้อย่างไม่น่าเชื่อ การเลือกใช้เทียนหอมหรือบุหงารำไปคุณภาพดีเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศให้หอมสดชื่นจะช่วยได้มาก อย่าลืมแต่งเติมสีสันด้วยแจกันดอกไม้สดที่ให้ความรู้สึกเจริญตาเจริญใจและมีชีวิตชีวาเป็นการตบท้าย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|