|
Green Mirror...เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuels) vs อาหาร
โดย
พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
...ราคาน้ำมันที่ทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ
...ความต้องการพลังงานของเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต
...ลดภาวะโลกร้อน-ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
...เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้รวมๆ กัน ผลักดันให้เราต้องหันมาพึ่งพาพลังงานชีวภาพกันอย่างจริงจัง ปัจจุบันใครๆ ก็หันมาจับตามองความเคลื่อนไหวของน้ำมันและรูปแบบของเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นแก๊สโซฮอล์ที่ออกมาในปี 2545 ไบโอดีเซลที่ออกมาในปลายปี 2549 และล่าสุดคือ E20 หรือแก๊สโซฮอล์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันเบนซิน 80% และเอทานอล 20% (แก๊สโซฮอล์แบบเดิมมีเบนซิน 90% และเอทานอลเพียง 10%) ต่อไปอีกไม่นานนักเราคงจะเห็นไบโอดีเซล 100% หรือน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลที่มาจากน้ำมันพืชล้วน ไม่มีน้ำมันดีเซลปนอยู่เลย ตามที่ในหลวงเคยทรงมีพระราชดำริไว้เมื่อหลายปีก่อน
แต่...เมื่อเรามองให้ลึกลงไปอีกมิติหนึ่ง เบื้องหลังประโยชน์ต่างๆ ที่เราจะได้รับจากเชื้อเพลิงชีวภาพ ยังมีข้อเสียอีกหลาย ประการที่จะต้องแลกเปลี่ยน นั่นคือผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม สังคม และทรัพยากรธรรมชาติ หากไม่มีการวางแผนป้องกันอย่างรอบคอบ
ผลิตพืชผลเพื่ออาหารหรือพลังงาน
อะไรจะมาก่อน
เป็นไปได้หรือที่เป้าหมายของการปลูก พืชผลหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย ปาล์ม มันสำปะหลัง จะหันเหจากการเป็นอาหาร มาสู่การเป็นพลังงาน คนเรามิต้องอดตายกัน หมดหรือ และราคาอาหารมิพุ่งสูงขึ้นหรือในระยะสั้นคงยังไม่ถึงขนาดนั้น เราจะยินดีในราคาพืชผลที่สูงขึ้น น้ำมันที่ถูกลง เป็นการดีเสียอีกต่อประเทศชาติโดยรวม เพราะผลผลิตรวมยังมีปริมาณสูงเกินกว่าปริมาณที่ต้องการเป็นอาหาร อันเป็นสาเหตุให้เกิดราคาพืชผลตกต่ำเป็นครั้งคราวและรัฐต้องออกมาประกันราคาให้เกษตรกร แต่ไม่ช้าก็เร็ว เมื่อความต้องการพืชผลเพื่อผลิตเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ก็ต้องการพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิต เกิดการแย่งดินและน้ำระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน และยังมีผลกระทบ ทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอีก เราก็คงจะรู้สึกได้ว่า อะไรจะต้องมาก่อน
ในระยะแรกของการเริ่มใช้ biofuels ชาวไร่อ้อยคงจะดีใจมิใช่น้อยที่จะได้ราคาดีขึ้น กากน้ำตาลจะนำไปขายได้ราคา แทนที่จะต้องนำไปเผาทิ้งหรือไปถมที่ นักลงทุนจะมอง เห็นกำไรแน่นอนในอนาคต เพราะที่ดิน น้ำ ยังคงถูกอยู่ ดินยังไม่เสื่อมโทรมมากนัก ในขณะที่ผลผลิตมีแต่ราคาจะสูงขึ้น เพราะมีความต้องการทั้งทางด้านอาหารและพลังงาน แต่ในระยะยาว อาจจะเกิดแรงกดดันกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจสังคม จากการที่เกษตรกรที่เป็นคนยากจนถูกแย่งทรัพยากรเพื่อผลิตพลังงานสำหรับคนมีอันจะกิน
ทำอย่างไรจึงจะเป็นทางออก
นักวิชาการจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศ ที่ปัจจุบันผลิตเอทานอลได้มากเป็นอันดับสอง ของโลก แนะนำว่า เราจะต้องค้นคว้าหาชนิด ของพืชพลังงานที่ปลูกได้ง่ายในที่แห้งแล้ง บนพื้นที่เสื่อมโทรมที่สภาพดินไม่เหมาะกับการปลูกพืชผลที่เป็นอาหาร ใช้ปุ๋ยใช้น้ำน้อย ขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพให้สามารถแปรสภาพ พืชเหล่านี้เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้างานวิจัยทั้ง 2 ด้านนี้ประสบผลก็สามารถเพิ่มทั้งปริมาณพืชวัตถุดิบและประสิทธิภาพ ของกระบวนการผลิต โดยมิต้องเสียพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้ปลูกพืชเป็นอาหาร นอกจาก นั้นการวิจัยยังควรรวมไปถึงการใช้พืชผลได้หลายๆ ชนิดเป็นวัตถุดิบอาจจะเป็นสาหร่าย ขี้เลื่อย เศษไม้ แกลบ เป็นต้น
สำหรับเมืองไทยเราควรหาพืชพลังงาน ที่นอกเหนือไปจากปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ก็เริ่มได้ยินข่าวปาล์มน้ำมัน ขาดแคลน มีราคาสูงขึ้นไปแล้ว ยิ่งกว่านั้นปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ต้องใช้ดินและน้ำมาก การส่งเสริมนักลงทุนขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ตามเป้าหมายนั้น ก็คงมิใช่ นโยบายที่ดีเสมอไป ถึงแม้ว่าจะจำเป็นในระยะเริ่มต้น เพราะแม้แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศกว้างใหญ่ มีพื้นที่โล่งมากมาย ก็ยังต้องคิดเผื่อไปถึงปัญหาพื้นที่เพาะปลูก พืชผล เศรษฐกิจที่ส่งเสริม เช่น ปาล์มน้ำมัน มีประโยชน์เป็นหลักอยู่แล้วหลายอย่าง ทั้งเป็นอาหาร เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมหลาย อย่าง จะเกิดปัญหาแย่งชิงกันในภายหลังจึงจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นๆ ออกมา เป็นข่าวดีที่ว่า ปัจจุบันสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้มีงานวิจัยออกมาบ้างแล้ว ในการใช้พืชชนิดอื่นผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น สบู่ดำ รวมทั้งการนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมารีไซเคิลกลับมาเป็นน้ำมันไบโอดีเซล นับว่าประเทศไทยเรายังมีคนเก่งอยู่อีกมาก โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งแต่นโยบายของภาครัฐ
ปัจจุบันใครๆ ก็พูดถึงไบโอดีเซลและ แก๊สโซฮอล์และถ้าเราจะจริงจัง ไทยก็มีศักยภาพไม่น้อย เพราะเราอยู่ในเขตร้อนชื้นซึ่งพืชเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและหลากหลาย เพียงแต่เราจะต้องเน้นเพิ่มขึ้นในเรื่องเทคโนโลยี การจัดการ และการอนุรักษ์ ให้เข้มแข็งขึ้นในทุกระดับ ที่มาก่อนสิ่งอื่นใด เห็นจะเป็นวิสัยทัศน์ของพวกนักการเมือง นักวางแผน ที่ต้องกว้างไกลครอบคลุมไปถึงแนวทางการผลิตที่ยั่งยืน ทุกวันนี้ผู้บริหาร ผู้ปกครองประเทศส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจ และจิตสำนึกว่า "การพัฒนาต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์จึงจะยั่งยืน"
ทางแก้ปัญหานั้นมีอยู่แน่นอน เราต้องหาจุดที่เหมาะสมในการจัดสรรที่ดิน จัดการน้ำและมองสถานการณ์ไกลไปกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ นั่นคือเราต้องมีการวางแผนกำหนดนโยบายอย่างรอบคอบ และเร่งสนับ สนุนงานวิจัย วิจัยเพื่อหาวิธีการปลูกพืช พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้พื้นที่น้อย ใช้น้ำน้อย ไม่ล่วงเกินพื้นที่เกษตรกรรมที่เป็น อาหาร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการใช้พืชผลเป็นพลังงานและประชากรก็มีอาหารกินอย่างอุดมสมบูรณ์
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และสังคม
ดังได้กล่าวเกริ่นๆ ไว้แล้วว่า การใช้พืชผลเป็นพลังงานนั้น มีได้ก็ต้องมีเสีย การเพาะปลูกพืชพลังงานมากๆ ก็เช่นเดียวกับเกษตรกรรมเร่งรัดโดยทั่วๆ ไป คือ ก่อให้เกิด ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น เกิดความเสื่อม โทรมของดิน มีการปนเปื้อนตกค้างของปุ๋ย สารเคมีในดินและน้ำ สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และใช้พื้นที่ใช้ทรัพยากรน้ำมาก สำหรับประเทศที่ไม่ใหญ่โตนักอย่างไทย ที่ดินทุกตารางนิ้วมีค่า การใช้ที่ดินจะต้องมีการวางแผนให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามาก ที่สุด และต้องมีการเพาะปลูกพืชผลโดยเน้นการอนุรักษ์ดินและน้ำไปด้วย
การปลูกพืชเชิงเดี่ยวในวงกว้าง นอก จากทำให้ดินเสื่อมแล้ว ยังกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiver- sity) ด้วยการสูญเสียความหลากหลายทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล กล่าวคือทำให้วัฏจักรของธรรมชาติ เช่น ห่วงโซ่อาหาร วงจรของแร่ธาตุและน้ำแปรเปลี่ยนไปทุกอย่าง ก็จะเสื่อมโทรมไปหมด
นอกจากทางด้านสิ่งแวด ล้อมยังมีผลกระทบต่อสังคมซ่อนอยู่ด้วย ที่ดินทำกินที่ชาวบ้านควรจะได้ครอบครองเพื่อเลี้ยงชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะถูกแย่ง ชิงไปเป็นพื้นที่ปลูกพืชพลังงาน ส่วนป่าชุมชนที่ชาวบ้านอาศัยเป็นแหล่งอาหาร และเพื่อรักษาสภาพ ธรรมชาติ ก็จะถูกตีตราเป็นพื้นที่ไร้ประโยชน์ ควรนำมาปลูกพืชพลังงาน แหล่งอาหารแหล่งน้ำส่วนหนึ่งสำหรับชาวบ้านก็จะถูกลิดรอนไปด้วยเหตุที่อ้างถึงพลังงาน ความยากจนขัดสนไม่มีอะไรจะกิน ก็จะย่างกรายเข้ามาสู่ประชาชนที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติ เกิดการอพยพเข้ามาในเมืองเป็นปัญหาสังคมต่อไปอีกทอดหนึ่ง พวกที่ร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้นไปคือนักลงทุนที่ประกาศตัวว่า อนุรักษ์พลังงานและลดภาวะโลกร้อน
ลดผลกระทบได้ด้วยมาตรการอนุรักษ์และเทคโนโลยี
ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น พืชผลต้นไม้ขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เราจึงอาจปลูกพืชพลังงานขึ้นมาใช้หมุนเวียนได้อย่างจริงจัง ให้เป็นพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) ได้อย่างแท้จริง โดยเราจะสามารถทำได้ต่อเมื่อมีการวางแผนพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อย่าง เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศ นอกจากนั้นเรายังต้องส่งเสริม ให้มีการค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจัง
จากการดำเนินงานของประเทศบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิต เอทานอลได้มากที่สุดในโลก 50% ของจำนวนอ้อยที่ปลูกทั้งหมดถูกนำ มาผลิตเอทานอลแต่ขณะนี้บราซิลกำลังประสบกับผลกระทบต่างๆ และ ข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ ทำให้เริ่มชะลอตัวลง สหรัฐฯ ผลิตเอทานอลได้ เป็นอันดับสองของโลก โดยใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ สหรัฐฯ เริ่มตระหนัก ถึงความตึงเครียดต่อภาคการบริโภค และชี้ให้เห็นว่างานวิจัยเท่านั้นที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตได้อย่างจริงจัง
งานวิจัยควรจะมีสองทาง คือด้านหนึ่ง พัฒนาพืชพลังงานให้มีหลากหลายชนิด ปลูก ในพื้นที่แห้งแล้ง ให้ใช้ดินและน้ำน้อย แต่ได้ปริมาณผลผลิตมาก อีกด้านหนึ่งคือพัฒนา biotechnology หรือเทคโนโลยีชีวภาพที่จะเปลี่ยนพืชพลังงานที่ขึ้นในที่แห้งแล้ง เช่น วัชพืช ให้แปรรูปย่อยสลายเป็นเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ งานวิจัยที่นอกเหนือไปจากนี้ ซึ่งควรพิจารณาต่อเนื่องไปในอนาคต คือ การนำเทคนิค GMO เข้ามาช่วยดัดแปลง พืชพลังงานให้ปลูกในที่แห้งแล้งได้มากขึ้น ใช้น้ำ ใช้ปุ๋ยน้อยลง จะได้ไม่ไปเบียดบังพื้นที่ เพาะปลูกเพื่อเป็นอาหาร อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ GMO ก็ยังเป็นปัญหาไม่เป็นที่ยอมรับ อย่างเต็มที่นัก
ส่วนมาตรการอนุรักษ์นั้น ก็คือการนำเอาเทคนิคการเพาะปลูกโดยทั่วไปมาใช้ เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกสลับกับพืชชนิดอื่น การลดการใช้สารเคมีด้วยการหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การลดการพังทลายของดินด้วยการปลูกหญ้าแฝกและไม่ปลูกในที่ลาดชัน การประหยัดน้ำ เช่น วิธีการให้น้ำแบบหยด ที่สำคัญรัฐจะต้องวางแผนกำหนดพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับพืชผลเพื่อการบริโภคก่อน ส่วนพืชพลังงานควรกำหนดให้ปลูกในที่ที่แห้งแล้งกว่า ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน หรือแปรรูปชีวมวลที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น
ในด้านเศรษฐกิจ รัฐอาจจะต้องเตรียม นโยบายที่จะต้องตรึงราคาพืชพลังงาน เช่น อ้อย ปาล์ม มันสำปะหลัง ไว้มิให้กระทบต่อผู้บริโภค ในขณะที่กำหนดเป็นราคาวัตถุดิบที่คุ้มทุนสำหรับผลิต biofuels รัฐจะต้องเตรียมพร้อมกับการกระจายการลงทุนในสเกล ใหญ่เชิงอุตสาหกรรม และในระดับท้องถิ่น ส่วนครัวเรือนในท้องถิ่นก็สนับสนุนให้มีการใช้มูลสัตว์ในการผลิต biogas สำหรับหุงต้ม การหมักเอทานอลจากวัสดุเหลือทิ้ง การรีไซเคิลน้ำมันที่ใช้แล้ว เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเครื่องจักรกลการเกษตร
เชื้อเพลิงชีวภาพลดภาวะโลกร้อนได้แค่ไหน
นอกจาก biofuels จะเข้ามาทดแทนน้ำมันประเภทฟอสซิลได้แล้ว ยังสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ด้วย จะลดได้แค่ไหน นั้นลองมาดูการวิเคราะห์ที่นักวิชาการทั่วโลกทำกันมา
ในการสันดาปในเครื่องยนต์ หรือเผาไหม้เป็นเปลวไฟ biofuels ทั้งแก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลสามารถเผาไหม้ได้ง่ายกว่าสมบูรณ์กว่า เพราะมีโครงสร้างโมเลกุลของ ไฮโดรคาร์บอนซับซ้อนน้อยกว่าน้ำมันประเภท ฟอสซิล University of California, Berkeley รายงานว่า ethanol 15 (gasoline 85%, ethanol 15%) สามารถลดปริมาณคาร์บอน ไดออกไซด์ได้ถึง 40% แต่เมื่อคิดรวมองค์ประกอบอื่นๆ เข้าด้วยกันตั้งแต่การปลูก การ แปรสภาพ การปล่อยทิ้งของเสียแล้ว ทุกขั้นตอนเหล่านี้กว่าจะได้มาเป็นผลผลิตแก๊สโซฮอล์ หรือไบโอดีเซลพร้อมใช้ที่ปั๊มน้ำมัน จะต้องใช้พลังงานใส่เข้าไปในการผลิตออกมา เป็นการคิดอย่างที่นักวิชาการเรียกว่า Life cycle analysis คือคิดรวมตั้งแต่การกำเนิดถึงการกำจัดของเสียเอทานอลทั้งวงจรนั้นสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อย ลงเนื่องจากมีพลังงานส่วนหนึ่งที่ใช้ไป ฉะนั้นค่าสุทธิ หรือ net carbon reduction จึงเหลือเพียง 20-30% เท่านั้น ตัวเลขนี้อยู่ในช่วงกว้างเพราะแต่ละพื้นที่มีการใช้ปุ๋ย น้ำ เครื่องจักร ไม่เท่ากัน
เช่นเดียวกับเอทานอล น้ำมันไบโอดีเซลสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่าง สำคัญ มากถึง 80% เลยทีเดียว และยังลดก๊าซฝนกรดอย่างซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกไปได้อย่างสิ้นเชิง ปัจจุบันไบโอดีเซลผลิตได้น้อย กว่าเอทานอล โดยมีประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นผู้นำในการผลิต
ที่นึกไปไม่ถึงก็คือว่า พื้นที่ป่าฝนที่อุดมสมบูรณ์ของบราซิลและอินโดนีเซียลดลง ไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากถูกแผ้วถางเป็นไร่อ้อยและสวนปาล์มน้ำมัน ทำให้โลกสูญเสียการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไปมาก การลดลงของคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ไบโอ ดีเซลจะชดเชยได้หรือไม่ นักอนุรักษ์ออกมาประกาศว่า ถ้าการปลูกพืชน้ำมันจะต้องแลก มาด้วยป่าฝนแล้ว ประเทศนั้นก็ไม่สามารถที่จะอ้างการใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้อย่างยั่งยืน
เป็นที่คาดกันโดยทั่วไปว่า biofuels จะมาเป็นพลังงานทดแทนหลักในอนาคตอันใกล้ และจะใช้ในภาคขนส่งเป็นส่วนใหญ่ เราจึงต้องวางแผนไว้เพื่อความยั่งยืนในอนาคต และการศึกษา Life cycle analysis ไว้ ก็เพื่อเตือนสติผู้ที่เกี่ยวข้องมิให้หลงดีใจกับผลประโยชน์ที่ได้รับแต่เพียงอย่างเดียว แต่ให้คิดถึงภาพรวมซึ่งรวมไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจด้วย
รายงานล่าสุดแว่วออกมาว่ามีงานศึกษา (Andrews 2006, Jacobson 2007) เปรียบเทียบการใช้น้ำมันเบนซินในรถยนต์กับ แก๊สโซฮอล์ E85 (ethanol 85%, gasoline 15%) ที่มีต่อสุขภาพของประชาชน โดยดูความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งและโรคภูมิแพ้ (ที่เป็นผลข้างเคียงจากมลพิษของการเผาไหม้ เชื้อเพลิงทำปฏิกิริยากับก๊าซโอโซนในอากาศ) พบว่า ในเมืองลอสแองเจลิสมีผู้ป่วยภูมิแพ้เพิ่มขึ้น 10% หลังจากมีการใช้ E85 อย่างแพร่หลาย แต่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงในการเป็นโรคมะเร็ง การศึกษาสรุปได้ว่า การใช้ E85 ในรถยนต์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้จากก๊าซโอโซนได้มากกว่าน้ำมันเบนซินจะเชื่อได้แค่ไหนนั้นต้องพิจารณากันเอาเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|