กสิกรมองต่างมุม FIF บูมแค่ไตรมาสแรก

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่า บลจ.กสิกรไทย จะมีกองทุน FIF ถึง 14 กอง และเปิดกองใหม่ถึง 11 กอง เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมายอมรับว่าปีหมูเป็นปีทองของกองทุน FIF แต่ปีหนูนี้จะแตกต่างออกไป วิวรรณ ธาราหิรัญโชต ถึงกับเอ่ยปากออกมาว่า กองทุน FIF จะไปได้อีกไตรมาสแรกของปี 51 เท่านั้น

เหตุผลหนึ่งที่ช่วยยืนยันมุมมองของวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ รองประธานกรรมการ บริหาร บลจ.กสิกรไทย ก็คือกองทุนของกสิกร ที่เปิดขายเมื่อปลายปี 50 คือกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ที่นำไปลงทุน 9 เดือน ที่ได้มีการปรับค่าความเสี่ยงแล้ว แต่ได้รับผลตอบแทนกลับมาเพียง 3.7% ส่วนกรณีที่ลงทุนในระยะเวลา 3 เดือน เหลือผลตอบแทน 3.6% แสดง ให้เห็นว่าการลงทุนในครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผลตอบแทนกลับมาเลย

รองประธานกรรมการบริหารยังตอก ย้ำให้เห็นตัวเลขว่า FIF ในปีนี้จะโตเพียง 1-2% จากกองทุนรวมโต 20% จากปีที่แล้ว กองทุนมีมูลค่า 1,382,759.74 ล้านบาท (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2550)

การลงทุนในกองทุน FIF เป็นสถาน การณ์ที่มีความผันผวนตลอดเวลา โดยเฉพาะ ในปีนี้ บลจ.กสิกรไทยมองว่าเป็นความท้าทาย อีกปีหนึ่งของการทำงาน ดังนั้นแผนการออกกองทุนใหม่ของบริษัท จะใช้เวลาดูแนวโน้ม 2-3 เดือนล่วงหน้าเท่านั้น

เหตุที่มองล่วงหน้าระยะสั้น เพราะเชื่อว่าตลาดตราสารหนี้และหุ้นมีความผันผวน ทั่วโลก เนื่องจากมีการเลือกตั้งกว่า 20 แห่งรวมไปถึงสหรัฐอเมริกา เกาหลี ทำให้แนวโน้ม เศรษฐกิจสังคม การประเมินไม่นิ่ง เงินเฟ้อสูง ราคาน้ำมันปรับตัว เชื่อว่าปีนี้เหนื่อยแน่นอน!!

แม้จำนวนกองทุน FIF ในปีนี้จะน้อย กว่าปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้รูปแบบของกองทุนจะมีสีสันมากขึ้น แต่ก็จะเน้นหนักเปิดตัวกองทุนประเภทตราสารหนี้เหมือนกับครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เป็นตราสารหนี้ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เหตุเนื่องจากในเดือนสิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา มีปัญหาซัพไพร์มภาคอสังหาริมทรัพย์ การปล่อยสินเชื่อหดตัวลง ในอเมริกาและยุโรปดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยดอกเบี้ยอยู่ในภาวะ ขาลง จึงทำให้เกิดช่องว่าง ทำให้ บลจ.เห็นโอกาสการลงทุน

"FIF ตราสารหนี้ในช่วงนั้นเยอะมาก และไม่ได้ลงเฉพาะตราสารหนี้ธนบัตรรัฐบาล แต่ลงตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เรียกว่า ECP (European Commercial Paper) ขยายไปถึงนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และอังกฤษ ตราสารหนี้ได้รับความนิยม เราเปิดหมื่นล้าน ก็ขายหมด จึงทำให้ขนาดกองทุน FIF มีถึง 290,274 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2549 มี 28,880 ล้านบาท"

นอกจากการลงทุนในตราสารหนี้แล้ว บลจ.กสิกรจะออกกองทุนใหม่ๆ โดยเลือกกองทุนที่อยู่ในรูปแบบของ theme fund อาทิ พลังงานทางเลือกที่ลงทุนน้ำ ลม หรือ soft communities เช่น อาหาร กาแฟ โกโก้ น้ำมันถั่วเหลือง สินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มราคา สูงขึ้น เป็นไปตามความต้องการของตลาดโลก ที่ต้องการบริโภคมากขึ้น

"theme fund ส่วนใหญ่ที่ออกมาจะเป็นหุ้น เป็นตราสารหนี้ ผู้จัดการลงทุนส่วนใหญ่อยากออก theme fund 1 แต่คนสนใจ น้อย ออกกองหุ้นได้อย่างเก่งไม่เกิน 500 ล้านบาท"

การเลือกลงทุนเชิงภูมิศาสตร์ บลจ. กสิกรไทยจะไม่เน้นลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จะเน้นลงทุนในภูมิภาคหรือตลาดโลกมากกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และจากการศึกษาพฤติกรรมลูกค้าของ บลจ. จะพึ่งบริษัทมากกว่าทำเอง ดังนั้นบริษัทจะทำหน้าที่ลดน้ำหนักหรือเพิ่มน้ำหนักการลงทุนให้กับลูกค้าอย่างเช่น หากอเมริกาหรือญี่ปุ่นเกิดสถานการณ์ที่ไม่ดี บริษัทก็จะลดน้ำหนักและไปเพิ่มลงทุนในกลุ่ม ประเทศอื่นๆ เป็นการจัด asset a location ให้กับนักลงทุน

ส่วนรูปแบบการลงทุนของ บลจ.จะเน้นเข้าไปลงทุนในกองทุนที่มีอยู่แล้ว หรือ ฟันด์ ออฟ ฟันด์ เพราะมีความคล่องตัว ซื้อขายได้ตลอดเวลา

พันธมิตรที่สนับสนุนออกกองทุนของ บลจ.มีจำนวนมากเพราะไม่ยึดติดกับรายใดรายหนึ่งและพันธมิตรที่ร่วมทำงานอยู่ในปัจจุบัน อาทิ แบล็กล็อก (ควบรวมกิจการกับเมอร์ริล ลินช์) ซึ่งมี 2 กองทุน ที่บริษัทเข้าไปลงทุน ส่วนพันธมิตรอีกรายคือ Natixis บริษัทฝรั่งเศสที่มีธนาคารออมสินฝรั่งเศสเป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่ ปัจจุบันมีบริษัท บลจ.ในเครือ 16 แห่งทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีพันธมิตร โอ๊คมาร์ค, มอร์แกนสแตนเลย์, เวลฟาร์โก และดอยช์แบงก์

พันธมิตรเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนธุรกิจให้กับบริษัท ส่วนทีม fund manager ของบลจ.กสิกรไทยที่มีทั้งหมด 5-6 คน จะดูแลกองทุนรวมและกองทุน FIF ทำหน้าที่บริหารกองอื่นๆ ด้วย อาทิ ตราสารหนี้, บริหารกองหุ้น ทีมที่ทำงานจะมีประสบการณ์ ด้าน FX ตราสารหนี้และหุ้น

วิธีการทำงานของทีม fund manager จะมีการประชุมทุกสัปดาห์เพื่อจัดพอร์ตการลงทุน สรุปภาพรวม ผลตอบแทน และประเมินความเสี่ยง แต่กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเหมือนเช่นซัพไพร์ม หรือเหตุการณ์ลดดอกเบี้ย จะต้องมีการประชุมทันที เพื่อวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและต้องปรับตัว กันอย่างไร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.