AYF แอคทีฟมากขึ้น

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

บลจ.อยุธยา จำกัด หรือ AYF เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 1 ใน 5 ที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ทว่ากองทุนที่ไปลงทุนเกือบทั้งหมดเป็นกองทุนปิดที่มีระยะเวลา 3 เดือน และ 6 เดือน แต่ในปีนี้ AYF มุ่งมั่นที่จะเปิดกองทุนต่างประเทศเพิ่มอีก 4 กอง หลังจากจัดระบบภายในเรียบร้อยแล้ว

AYF เป็นบริษัทแรกๆ เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ ก.ล.ต.ได้เปิดโอกาสให้ บลจ.ไปเปิดตลาดกองทุนรวมในต่างประเทศได้ ซึ่งในตอนนั้นบริษัทยังใช้ชื่อเดิมคือ บลจ. อยุธยาเจเอฟ (เอเจเอฟ) และปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น บลจ.อยุธยา จำกัด

และจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาจนกระทั่งถึงวันนี้ บลจ.อยุธยามองว่านักลงทุนไทยมีความรู้และความเข้าใจกองทุน FIF เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และบริษัทเองก็มองเห็นว่าโดยภาพรวมของนักลงทุนมีความต้องการไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น

ทำให้ในปีนี้ บลจ.อยุธยาจะให้ความสำคัญในการเปิดตัวกองทุนใหม่ของ FIF เพิ่มขึ้นอีก 4 กอง โดยจะเน้นลงทุนในตลาดเอเชีย ที่มีอัตราการเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับการเติบโตในภูมิภาคอื่นๆ เป็นคำบอกกล่าวของ ฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.อยุธยา จำกัด

เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้เปิดตัวกองทุนแรกไปแล้ว มีชื่อว่า กองทุนเปิด อยุธยา เอเชียน แวลู แอนด์ โมเมนตัม (AYF CAVAM) เป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุนที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนต่างประเทศเพียงกองทุน เดียว (Feeder Fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมตราสารแห่งทุนที่ลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผ่านกองทุนรวมต่างประเทศชื่อ Citi Asian Value & Momentum Fund บริหารโดย Citigroup First Investment Manage-ment Limited

กองทุนเปิดขายไอพีโอระหว่างวันที่ 28 มกราคม-5 กุมภาพันธ์ 2551 มีจำนวนทุนโครงการ 1,500 ล้านบาท

ซึ่งวิธีการคัดเลือกหุ้นจะเลือกหุ้นในเอเชีย 2 พันกว่าบริษัท และนำเข้าไปสู่โมเดล 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า Value Stock คัดเลือกหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานและใช้ระบบนี้คัดเลือกบริษัทที่มีแนวโน้มน่าจะสูงกว่าตลาด

อีกโมเดลหนึ่งเรียกว่าโมเมนตัม ดูความเคลื่อนไหวของหุ้นเป็นอย่างไร และมีการปรับปรุงต่อเนื่องหรือไม่ และนำ 2 โมเดล นี้มาบวกกัน แล้วเลือกหุ้นให้เหลือ 30 ตัว ซึ่งรูปแบบการลงทุนในรูปแบบนี้ที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 5 ปี มี 44%

"จริงๆ แล้ว ลักษณะการลงทุนของเรา จะเป็น Value Stock เรามีความเข้าใจในการเลือกหุ้น แต่โมเมนตัมเราใช้น้อยแต่หลังจากที่ศึกษากับซิตี้แบงก์แล้ว โมเมนตัมก็มีส่วนดี"

การเปิดตัวกองทุนใหม่และการวิเคราะห์ข้อมูลในตลาดเชิงลึกของกองทุน FIF นั้น บลจ.อยุธยายังต้องพึ่งพาประสบการณ์ และความชำนาญของพันธมิตรอยู่อีกมาก แม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทจะมีออกกองทุนไปต่างประเทศก็ตาม แต่กองทุนเกือบทั้งหมดเป็นกองทุนปิดที่มีระยะเวลาการซื้อขายเพียง 6 เดือนเท่านั้น

ปีนี้จึงเป็นปีที่ บลจ.อยุธยาจะศึกษาและเรียนรู้กองทุนต่างประเทศอย่างจริงจังมากขึ้น โดยอาศัยเรียนรู้จากพันธมิตร อย่างเช่น ซิตี้แบงก์ที่เปิดตัวกองทุนไปแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รวมทั้งพันธมิตรอย่าง เจพีมอร์แกน ซึ่งบริษัทมองว่าการมีพันธมิตรจึงเป็นก้าวแรกที่จะไปสู่ตลาดต่างประเทศ และมีความอุ่นใจมากกว่าที่จะต้องไปเพียงลำพังเพื่อลงทุนโดยตรง

นอกจากนั้นบริษัทยังไม่มีผู้จัดการ กองทุนที่ดูแลกองทุน FIF โดยตรง แต่มีผู้จัดการกองทุนที่ร่วมกันดูแล ศึกษาวิธีการลงทุนในต่างประเทศ เจาะลึกการทำงานของ พันธมิตร และติดต่อประสานงานกับกองทุนอย่างต่อเนื่อง

"นักบริหารต้องรู้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะรับแรงเหวี่ยงอย่างไร ดูจังหวะแรงๆ ไปทางไหน จะลดความเสี่ยงอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้ว การทำงานของกองทุนมีหน้าที่บริหารขาลงอย่างเดียว"

เป้าหมายของ บลจ.อยุธยาในปีนี้จะเปิดตัวกองทุนใหม่อีก 4 กอง และให้น้ำหนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียเป็นหลักเพราะ ยังมีโอกาสเติบโตสูง ส่วนสินค้าที่สนใจลงทุน อาทิ เกษตร ทองคำ ยา สุขภาพ และอสังหา ริมทรัพย์ รวมทั้งวัตถุดิบที่เป็น hard com-munities เช่น น้ำมัน ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลา

กองทุน FIF ในปีนี้จะคึกคักและมีสีสัน เหมือนที่ผู้บริหาร บลจ.มองไว้ตั้งแต่ต้นปีหรือไม่ และสถานการณ์ที่แวดล้อมที่ผันผวนตลอดเวลา ย่อมเป็นตัวชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่า แม่ทัพแต่ละแห่งจะนำพาธุรกิจ บลจ.ให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้มากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.