"นำเชา" ผู้นำตลาดอุปโภค-บริโภคของไต้หวัน"

โดย สุพัตรา แสนประเสริฐ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

"นำเชากรุ๊ป" เริ่มเคลื่อนไหวเข้าเมืองไทยมาอย่างเงียบ ๆ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะประกาศตัวอย่างเป็นทางการ ว่าจะเข้ามาลงฐานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จในเมืองไทยอย่างจริงจัง และเน้นการส่งออกเป็นสำคัญมากกว่าที่จะทำตลาดในประเทศ

ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศขณะนั้นมีผู้ร่วมสังฆกรรมประมาณ 4 รายด้วยกันคือมาม่า ของค่ายไทยเพรซิเดนท์ ฟู้ดส์ ยำยำของค่ายอายิโนะโมะโต๊ะ ไวไว ของค่ายไวไวกรุ๊ป และหมูสับของค่ายสยามกว้างไพศาล แต่ละยี่ห้อจะวางสินค้าของตนเองครอบคลุมตลาดระดับล่างไว้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตลาดระดับล่างจะเป็นตลาดอยู่ประมาณ 65% ของมูลค่าตลาด 2,100 ล้านบาท

แจ๊ค ลู ผู้จัดการทั่วไป บริษัทนำเชา(ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่าเขาไม่สนใจที่จะลงเล่นตลาดระดับล่าง ซึ่งมีผู้นำตลาดที่แข็งแกร่งเช่นมาม่า แต่จากที่เขาได้เข้ามาสำรวจตลาดในเมืองไทยก่อนเข้ามาลงทุนล่วงหน้าถึง 2 ปีเต็มนั้น พบว่าตลาดระดับบนหรือพรีเมียมและซูเปอร์พรีเมียมซึ่งจัดอยู่ในราคา 6-14 บาทและ 15 บาทตามลำดับนั้นกลับเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง

เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในระดับนี้เริ่มมีวิถีชีวิตใกล้เคียงคนไต้หวันเข้าไปทุกที และเป็นระดับที่มีกำลังซื้อสูงประกอบกับเป็นผู้มีการศึกษา ซึ่งต้องการสินค้าที่มีคุณภาพแต่กลับมีผู้วางสินค้าในระดับนี้น้อย จึงเป็นโอกาสดีที่นำเชาจะนำสินค้าของตนเองเข้าตลาดในระดับนี้ซึ่งเป็นตลาดที่ตนเองถนัดอยู่แล้ว

นำเชากรุ๊ปเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จัดอยู่ในระดับชั้นนำของไต้หวันและนำเชายังเป็นผู้ส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ของโลกอีกด้วย ดังนั้นการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากไต้หวันเข้าสู่เมืองไทย ซึ่งนับได้ว่าเป็นประเทศแรกในแถบเอเซียที่นำเชาเข้ามาลงทุนอย่างจริงจังจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองของผู้ผลิตเดิมในเมืองไทย

แจ๊ค ลู เปิดเผยว่าทางนำเชาเล็งเห็นความพร้อมทางด้านผลผลิตการเกษตรที่สมบูรณ์พอ ๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมจากภาครัฐบาล นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเอื้อด้านวัตถุดิบและค่าแรงงานที่ต่ำกว่าประเทศต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ได้เป็นตัวกำหนดให้มีการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเข้าเมืองไทย

แม้ว่าเมืองไทยจะมีปัจจัยเอื้อหลายประการ ที่ทำให้นำเชาตัดสินใจเลือกเป็นแหล่งผลิตแห่งใหม่ในแถบเอเชียก็ตาม แต่ปัจจัยเหล่านี้ไม่ใช่องค์ประกอบที่เป็นหัวใจสำคัญพอที่จะผลักดันให้ เฉิน ฟี ลุง ประธานกรรมการบริษัท นำเชากรุ๊ป ไต้หวันจะยกมาเป็นข้อพิจารณามากไปกว่าเม็ดเงินจากการลงทุนครั้งใหม่

ว่ากันตามจริงแล้วต้นทุนของการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเข้าเมืองไทยหรือประเทศอื่น ๆ ที่ได้ทำการสำรวจมาแล้วเป็นเรื่องของผลได้ผลเสียต่อการลงทุนครั้งใหม่ว่าจะคุ้มกันหรือไม่ ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากการเกิดอัคคีภัยไหม้โรงงานของนำเซาที่ไต้หวัน ซึ่งเป็นโรงงานใหญ่ทำการผลิตสินค้าส่งออกไปทั่วโลกมูลค่าความเสียหายนับได้หลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นครั้งนั้นทำให้เฉินฟีลุง ต้องหาหนทางโยกย้ายการผลิตของเขาไปยังประเทศที่มีความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจ วัตถุดิบ ค่าแรงงานถูกและเปิดเสรีด้านการลงทุน ขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตก็จะต้องเป็นไปในลักษณะที่ต่ำกว่าการลงทุนใหม่ในไต้หวันอีกด้วย

เมื่อพิจารณาขอบข่ายดังนี้แล้วเมืองไทย จึงเป็นเป้าหมายของการย้ายฐานการผลิตครั้งนี้ !!! แจ๊ค ลู เล่าว่าการบุกเบิกหาแหล่งที่ตั้งโรงงานของนำเซาในประเทศไทยมีเขาเป็นคนไต้หวันเพียงคนเดียว และคนไทยอีกหนึ่งคน คือ ณรงค์ แก้วมงคล ร่วมกันตระเวนหาที่ดินที่มีเนื้อที่กว้างพอที่จะสร้างโรงงานขนาดใหญ่ การคมนาคมขนส่งสะดวกและมีแหล่งน้ำบริสุทธิ์พอที่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าได้

"เราเลือกดูหลายจังหวัด โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือต้องมีแหล่งน้ำดี ซึ่งน้ำจะเป็นตัวจักรสำคัญในการผลิตสินค้าให้มีรสชาติอร่อยได้ตามมาตรฐานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่น้ำเป็นสำคัญ จังหวัดราชบุรีจัดเป็นจังหวัดที่มีน้ำดีเหมาะแก่การนำมาใช้ในการผลิตของเราได้จึงได้เลือกที่นี่เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบบครบวงจร"

แจ๊ค ลู เป็นหนุ่มไต้หวันอายุเพิ่ง 30 ต้น ๆ แต่มีความชำนาญงานและมีประสบการณ์มากพอที่จะทำให้เฉิน ฟีลุง ประธานกรรมการนำเชากรุ๊ปวางใจเขาและปล่อยให้ตัดสินใจแสวงหาที่ตั้งรกรากของนำเชาในเมืองไทยได้

ส่วนณรงค์ แก้วมงคล เคยเป็นนายธนาคารที่มีความชำนาญในสายการเงินฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ และไม่มีความรู้ด้านสินค้าอุปโภค-บริโภคมาก่อนเลย แต่ณรงค์ก็เป็นผู้มีสายสัมพันธ์กับวงการตลาดเป็นอย่างดี โดยเฉพาะค่ายดีทแฮล์มหรือเรียกได้ว่าเพราะเขา "หมี่จัง"จึงได้ดีทแฮล์มบริษัทการตลาดที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังในการสร้างสินค้าให้กับค่ายเนสท์เล่ ได้ประสบความสำเร็จในตลาดมาแล้วเป็นผู้วางตลาดหมี่จังโดยได้ค่ายลีโอเบอร์เนทท์เป็นผู้ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์โหมทัพอีก

"ผมเห็นเขาประกาศรับสมัครผู้ร่วมโครงการ ซึ่งตอนนั้นแจ๊คใช้โรงแรมมณเฑียรเป็นสำนักงานชั่วคราวอยู่ เมื่อคุยกันถูกคอแจ๊คยอมรับเราก็เริ่มงานด้วยกันทันที เริ่มตั้งแต่ออกตระเวนหาที่ดินเพื่อสร้างโรงงาน หาสำนักงาน รับสมัครพนักงาน รวมทั้งการติดต่อหาผู้จัดจำหน่าย" ณรงค์เล่าความเป็นมาที่กว่าจะมาเป็นนำเชา (ประเทศไทย)

บริษัท นำเชา (ประเทศไทย) จำกัดเป็นบริษัทในเครือนำเชาไต้หวันการขยายฐานเข้าสู่ประเทศไทยครั้งนี้ทางนำเชาลงทุน 700 ล้านบาทในการสร้างโรงงานผลิตบะหมี่และอาหารสำเร็จรูปบนเนื้อที่ 35 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณ หนองอ้อ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มีทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทยด้วยและมีกำลังการผลิต 120 ล้านซองต่อปี

ด้านการผลิต แจ๊ค ลู ชี้แจงว่า เนื่องจากเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจึงเน้นในเรื่องความสะอาด กระบวนการผลิตควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมการผลิต เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานซึ่งสามารถลดอัตราการสูญเสียได้เป็นอย่างดี

ตามนโยบายด้านการตลาดที่จะเข้ามาลงทุนของนำเชานั้นแจ๊ค ลู กล่าวว่าเราตั้งในที่จะเข้ามาลงทุนเพื่อการส่งออก 100% โดยวางเป้าหมายการส่งออกไว้ 300 ล้านบาทหรือคิดเป็น 15 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ตลาดที่จะรองรับการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "หมี่จัง" เป็นสำคัญคือไต้หวัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอันดับ 3 ของโลกซึ่งมีมูลค่าตลาดปีละ 6,000 ล้านบาทรองจากญี่ปุ่นที่มีปริมาณการบริโภคบะหมี่รายใหญ่ที่สุดและเกาหลีเป็นอันดับ 2 ตามมา

นอกจากนี้นำเชากรุ๊ปยังมีโครงการที่จะไปลงทุนสร้างโรงงานในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและจีนอีกด้วยหลังจากการลงทุนในเมืองสำเร็จตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ดีตามเป้าหมายหลักของการตลาดนำเชาในขณะนี้ได้เปลี่ยนไป โดยการเบี่ยงเบนจากการผลิตเพื่อการส่งออก 100% หันมาทำการตลาดในประเทศแข่งกับผู้ผลิตเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยเพรซิเดนท์ฯ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปัจจุบัน

แต่แจ๊ค ลูปฏิเสธว่า เขาไม่ได้เข้ามาทำการแข่งขันกับผู้นำตลาดไทย เขาส่งหมี่จังเข้ามาเป็นเพียงตัวเสริมตลาดในส่วนที่ยังมีช่องว่างและมีศักยภาพสูงในการขยายตัวได้อีกมากเท่านั้น ซึ่งตลาดที่เขาวางโดยส่วนใหญ่จะเป็นตลาดระดับฟรีเมียมและซูเปอร์พรีเมียมที่มีผู้เข้าตลาดน้อยเพียงแค่ 15% และ 3% ตามลำดับเท่านั้น

ขณะเดียวกันตลาดระดับบนนี้มีมาร์จินสูงกว่าตลาดระดับล่างถึง 5% จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจกว่าตลาดระดับล่างที่มีมาร์จินเพียง 2%เท่านั้น แต่หากเทียบกับสินค้าส่งออก ตลาดส่งออกกลับมีมาร์จินที่สูงถึง 10% เลยทีเดียว เมื่อเป็นดังนี้เขาจึงไม่คิดที่จะแข่งกับใคร

"ทั้งไทยเพรซิเดนท์ฯ และนำเชาเป็นเพื่อนกันมาตลอด ก่อนทำการเดินเครื่องผลิตเขายังได้รับคำแนะนำจากไทยเพรซิเดนท์ฯ มีฟาร์มเฮ้าส์ ขายมาได้ทุกวันนี้ก็มาจากการได้รับเทคนิเคิลโนฮาวจากนำเชาไต้หวันมาก่อน สิ่งเหล่านี้คือสายสัมพันธ์ของมิตรมากกว่าที่จะมาเป็นคู่แข่งทางการค้า"

แต่หากจะกล่าวว่านำเชาส่งหมี่จังเข้าตลาดเป็นสาเหตุของการกระตุ้นตลาดให้เคลื่อนไหวหรือตื่นตัวขึ้นมาบ้าง แจ๊คยอมรับว่าก็อาจจะเป็นคำกล่าวที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งการเข้าตลาด หมี่จังในครั้งนี้เขาได้วางกลยุทธไว้เป็น 4 ขั้นตอน

ขั้นตอนแรก เป็นเพียงประกาศให้ผู้บริโภคได้รู้จักชื่อเสียงของ "หมี่จัง" เสียก่อนและรอดูทีท่าว่าจะมีผู้บริโภคยอมรับหรือไม่ โดยวางคอนเซปของความแตกต่างกว่ายี่ห้ออื่น ๆ ตรงที่ใช้น้ำซุปเป็นจุดขาย โดยให้ทางลีโอเบอร์เนทท์ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณาทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้

ขั้นตอนที่สอง กระจายสินค้าให้ทั่วประเทศและรอการตอบสนองของผู้บริโภค แม้เพียงแค่ 50% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ถือว่าเป็นความพอใจของการวางแล้ว

ขั้นตอนที่สาม แจ๊คเล่าว่าจะเป็นขั้นตอนของการผลิตรสชาติใหม่ ๆ ที่นำเชามีการผลิตที่ไต้หวันถึง 16 รสชาติแต่ในเมืองไทยเพิ่งผลิตได้เพียง 2 รสชาติเท่านั้นคือ รสหมูสับและรสต้มยำซึ่งการผลิตรสชาติใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดนั้น ต้องสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคของคนไทยอีกครั้งว่าโดยอุปนิสัยคนไทยแล้วชอบรถชาติแบบใด

ส่วนขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นขั้นตอนของการทำแผนส่งเสริมการขายโดยวางแคมเปญ ณ จุดขาย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าและผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมในรายการนี้ทั้งสิ้น

"ตอนนี้เราอยู่ในขั้นตอนที่ 2 กำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 แล้วคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-5 เดือนหรือเข้าไตรมาสที่ 2 จะมีรสใหม่ออกสู่ตลาดพร้อมกับการวางกลยุทธขั้นที่ 4 ประกบทันที"

มีแนวโน้มว่าถ้าแผนการออกตลาดบะหมี่ประสบความสำเร็จกลุ่มนำเชา ซึ่งมีสินค้าในหมวดอาหารสำเร็จรูปอยู่หลายตัวก็พร้อมที่จะออกสินค้าตัวใหม่เข้าตลาดอีก

แม้นำเชาจะปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่คู่แข่งและไม่อาจจะแข่งกับไทยเพรซิเดนท์ฯ ผู้นำตลาดของไทยในปัจจุบัน แต่โครงสร้าง ความพร้อมและความเป็นเจ้าของเทคโนโลยี่ทำให้นำเชาได้เปรียบต่อบรรยากาศการแข่งขันในระยะยาวได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.