|
ธุรกิจรับเหมาพ้อต้นทุนพุ่งวอนรัฐฯปรับราคากลางใหม่
ผู้จัดการรายวัน(29 กุมภาพันธ์ 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
รับเหมาพ้อต้นทุนก่อสร้างพุ่ง ขณะที่ผู้ว่าจ้างบีบให้รับงานราคาถูก ฉุดกำไรเหลือไม่ถึง 2% ส่วนงานภาครัฐใช้ราคากลางตามต้นทุนเก่าโดยเฉพาะเมกะโปรเจคกต์ควรปรับราคากลางตามต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับใหม่ ด้านผู้ประกอบการชี้ต้นทุนพัฒนาคอนโดฯปรับขึ้นส่งผลราคาพุ่ง หนุนผู้บริโภคหันซื้อบ้านเดี่ยวเพิ่ม
นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองเลาขาธิการสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวภายในงานสัมมนาในหัวข้อ “อสังหาริมทรัพย์ในสายตาของผู้นำ” จัดโดยมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยว่า การเข้าสู่ธุรกิจอสังหาฯในปัจจุบันไม่ง่ายเหมือนเช่นในอดีต ผู้ประกอบการจะต้องมีเงินลงทุนเพียงพอในการพัฒนา เนื่องจากการบังคับใช้ของพ.ร.บ.การจัดการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ทำให้ไม่สามารถนำเงินดาวน์ของลูกค้าไปใช้ได้ อีกทั้งผู้บริโภคมีความต้องการในรายละเอียดมากขึ้น
“การลงทุนจะต้องทำการวิจัยตลาดก่อน เพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย ลงทุนระบบไอที และอื่นๆ ทำให้รายเล็กเกิดได้ยาก ปีนี้ไม่ใช่ปีทอง ของอสังหาฯ แต่จะเป็นปีทองแดงก่อนและค่อยดีขึ้นเรื่อย”
นอกจากนี้ตลาดบ้านเดี่ยวยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ประกอบกับต้นทุนในการพัฒนาคอนโดฯสูงขึ้น ทั้งราคาที่ดินที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงราคาค่าก่อสร้างที่คิดเป็น 50% ของต้นทุนขาย ขณะที่บ้านเดี่ยวค่าก่อสร้างคิดเป็น 30%
ด้านนายดนุช ยนตรรักษ์ กรรมการผู้จัดการ คริสเตียนีไทย แอนด์ เนลสัน จำกัด (มหาชน) และกรรมการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่จะเข้าสู่ธุรกิจนี้ จะต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ที่ผ่านมามีหลายโครงการมีนักเกร็งกำไรจำนวนมาก บางรายตัวแทนขายนำใบจองออกมาเร่ขายเองอีกด้วย
ส่วนโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) บางโครงการสร้างกำลังซื้อ(ดีมานด์) เทียม เพื่อนำโครงการเสนอขายให้กคช. ทำให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการจับเสือมือเปล่าไม่ควรเข้ามาในตลาดนี้ เมื่อต้นทุนก่อสร้างปรับขึ้น ขณะที่ขายในต้นทุนเดิม เมื่อการเงินสะดุดผู้รับเหมาต้องแบกรับต้นทุนก่อสร้างที่ลงไป
“ผู้รับเหมาถูกบีบจากผู้ประกอบการให้รับงานถูกๆ แค่ 14,000 บาท/ตนร.ม. ขณะที่เค้าไปขายในราคา 7-8 หมื่นบาท ทำให้เรามีกำไรสุทธิน้อยมากแค่ 1.5% ขณะที่กำไรขั้นต้น 8%”
สำหรับภาวะต้นทุนก่อสร้างปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาเหล็กที่ปรับสูงขึ้นกว่า 30 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเหล็กคิดเป็น 10-20% ของค่าก่อสร้างรวม ซึ่งแนวทางที่บริษัทดำเนินการในปัจจุบันเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากต้นทุนก่อสร้างที่ผันผวนด้วยการประมูลงานในราคาต้นทุน ณ ปัจจุบัน บวกเพิ่มล่วงหน้าอีกเล็กน้อย ส่วนการรับงานจากภาครัฐ ยังคงไม่ปรับราคากลางใหม่ แต่ยังมีค่าเคเป็นตัวป้องกันความเสียงบ้างเล็กน้อย
นายดนุช กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการเมกะโปรเจคต์ที่รัฐบาลใหม่ประกาศเดินหน้าทั้ง 7 สายนั้นจะช่วยลดความกดดันให้แก่ผู้รับเหมาในการแย่งงานกันทำ ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.1 ล้านตันหากสร้างครบทุกสาย อย่างไรก็ตามต้องการให้รัฐบาลทบทวนราคากลางของการก่อสร้างใหม่ เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีการคิดคำนวณมานานแล้ว ซึ่งเป็นต้นทุนก่อสร้างเก่าซึ่งต้นทุนในปัจจุบันปรับขึ้นไปสูงมากแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|