บางจาก พันธสัญญาบนความขัดแย้ง

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาพพนักงานบางจากเดินแถวรณรงค์และรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วจากผู้ประกอบการร้านค้า รวมถึงประชาชนทั่วไปในเขตชุมชนต่างๆ เพื่อนำไปแปลงรูปแปรสภาพให้เป็น บี 100 มิได้เป็นภาพที่แปลกแยกออกจากการรับรู้ของผู้คนในสังคมเท่าใดนัก

เนื่องเพราะภาพลักษณ์ของบางจาก ผูกพันอยู่กับการดำเนินกิจกรรมชุมชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

หากแต่การเคลื่อนเข้าลงทุน เพื่อสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีกำหนดจะแล้วเสร็จและเริ่มกระบวนการผลิตได้ในปี 2552 อาจฉายภาพผู้นำพลังงานทดแทน รายนี้แตกต่างออกไป

แม้ว่าก่อนหน้านี้บางจากได้เปิดหน่วยผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ขนาดกำลังผลิต 50,000 ลิตรต่อวัน ขึ้นในพื้นที่บริเวณโรงกลั่นบางจาก สุขุมวิท 64

แต่หน่วยผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วดังกล่าวดูจะมีสภาพเป็นเพียง showcase เพื่อตอบสนองต่อวาทกรรมว่าด้วยการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงาน

ควบคู่กับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) มากกว่าที่จะดำเนินการเพื่อผลสัมฤทธิ์ในเชิงธุรกิจอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ดี ภายใต้มาตรการของรัฐที่กำหนดให้เร่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลภายใต้มาตรฐาน บี 2 และบี 5 เป็นลำดับ ซึ่งส่งผลให้ปัจจัยด้านราคาของน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นวัตถุดิบ หลักในการผลิตไบโอดีเซลปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกับกระแสข่าวที่ระบุว่ากลไกราคาน้ำมันปาล์มได้รับผลกระทบจากการแย่งชิงน้ำมันปาล์มระหว่างผู้ประกอบการไบโอดีเซลกับผู้ผลิตน้ำมันพืชเพื่อการบริโภค

ก่อนที่จะเป็นเหตุให้ผู้ผลิตไบโอดีเซล เรียกร้องให้รัฐปรับสูตรในการคำนวณราคาใหม่และระบุว่าอาจไม่สามารถดำเนินการผลิต ต่อไปได้ หากข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนอง

กรณีดังกล่าวกลายเป็นแรงผลักดันให้บางจาก ซึ่งประกาศวิสัยทัศน์ไว้ที่การเป็นผู้นำพลังงานทดแทน ต้องเข้าร่วมวงไพบูลย์เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน เพื่อสร้างหลักประกันสำหรับการผลิตไบโอดีเซล ประหนึ่งพันธสัญญาที่ไม่อาจเลี่ยง

"บางจากจำเป็นต้องเตรียมพร้อมและ มีหลักประกันด้าน บี 100 เพื่อเป็นวัตถุดิบใน การปรุงดีเซลให้ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่าน มาเป็นเพียงการซื้อและทำขึ้นส่วนหนึ่ง แต่จากนี้บางจากจะเป็นผู้ผลิตบี 100 ด้วย" อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บางจาก ปิโตรเลียม ระบุ

อย่างไรก็ดี จังหวะก้าวของบางจาก ในฐานะผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน นับจาก นี้กำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งครั้งใหญ่ ด้วยเช่นกัน

มิติมุมมองที่สะท้อนผ่านอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ในโอกาสต่างกรรมต่างวาระล้วนเน้นย้ำประเด็นว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ (conflict of interest) ที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานทดแทนอยู่บ่อยครั้ง

เนื่องเพราะในทัศนะของอนุสรณ์ พลังงานทดแทนที่เพิ่มมากขึ้น หมายถึงการเบียดแทรกพื้นที่ทางธุรกิจหลักของผู้ประกอบ การโรงกลั่นน้ำมันดิบและเป็นเหตุให้ผู้ประกอบ การบางส่วนประวิงเวลาในการตอบสนองต่อนโยบายไปโดยปริยาย

"การขัดกันดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในส่วนของแก๊สโซฮอล์ที่นำเอทานอลมาเติมเป็นส่วนผสมและไบโอดีเซลที่ต้องนำ บี 100 เข้ามาประกอบส่วน" อนุสรณ์ซึ่งในอีกบทบาท หนึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการพลังงานระบุ

ความหมายที่อนุสรณ์พยายามสื่ออยู่ที่ปริมาณน้ำมันที่โรงกลั่นผลิตได้ บางส่วนจะถูกผลักออกจากระบบการจัดจำหน่าย และกลายเป็นภาระให้กับผู้ประกอบการ ทั้งในมิติของการที่ต้องหาตลาดใหม่ หรือแม้กระทั่งการปรับลดกำลังการผลิต เพื่อขจัดปัญหาน้ำมันส่วนเกิน ซึ่งอาจติดตามมาด้วยต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่สูงขึ้นในที่สุด

แม้กรณีดังกล่าวจะมีส่วนสอดรับกับข้อเท็จจริงทางกายภาพของการผลิตน้ำมัน แต่นั่นดูจะเป็นการประเมินสภาพทางการตลาดของน้ำมันและเชื้อเพลิง ในมิติที่หยุดนิ่ง

และอาจไม่สอดรับกับท่วงทำนองของบางจาก ที่ประกาศจะเป็นผู้นำพลังงานทดแทน เท่าใดนัก

ภายใต้แผนการลงทุนของบางจาก โรงงานผลิตไบโอดีเซลขนาดกำลังผลิต 300,000 ลิตรต่อวัน ถูกจัดวางไว้ในพื้นที่ใกล้คลังน้ำมันของบางจากที่บางปะอิน เพื่อความสะดวกในการผสม เป็นน้ำมันดีเซลตามมาตรฐาน บี 2 บี 5 และบี 10 รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการเติมเต็มช่องทางธุรกิจในอนาคต

"ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลส่วนใหญ่ หรือกว่า 70% อยู่ในภาคกลาง รวมทั้งคลังน้ำมันของผู้ค้ารายอื่นๆ ก็อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเหมาะสมกว่าที่จะเคลื่อนโรงงานไปอยู่ใกล้แหล่งเพาะปลูกปาล์มในภาคใต้"

กระนั้นก็ดี การลงทุนของบางจากดังกล่าวดูจะเกิดขึ้นล่าช้ากว่าผู้ประกอบการในธุรกิจน้ำมันรายอื่นๆ และอาจไม่สามารถตอบโจทย์ในเชิงเป้าหมายของบางจากได้มากนัก

หากขาดมาตรการเสริมในเชิงรุกที่ดำเนินไปท่ามกลางการสานสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐที่บางจากคุ้นเคย

เพราะแม้ว่าบางจากจะมีโรงงานผลิตบี 100 อย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้ แต่หลักประกันในมิติของ CPO ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ยังเป็นความท้าทายที่บางจาก ต้องเผชิญและแสวงหาหนทางป้องกันด้วย

"บางจากพยายามขอทำสัญญาซื้อ CPO ล่วงหน้า แต่ในวันนี้ผู้เพาะปลูกปาล์ม และผู้ประกอบการโรงหีบปาล์มอยู่ในฐานะที่มีอำนาจในการต่อรองสูงประเด็นดังกล่าวจึงอยู่ที่ภาครัฐว่าจะกำหนดแผนและนโยบายอย่างไร"

ความชัดเจนในประเด็นว่าด้วยการเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดจะขยายให้ได้ปีละ 5 แสนไร่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับกับความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มในอนาคต อาจกลายเป็นข้อต่อเชื่อมสำคัญสำหรับบางจากด้วย

เพราะทิศทางของบางจากในระยะยาวมิได้จำกัดบทบาทไว้เพียงในฐานะผู้จำหน่ายและผู้ผลิตไบโอดีเซลเท่านั้น หากยังก้าวล่วงสู่การเป็นผู้ปลูกปาล์มที่จะเติมเต็มวงจรธุรกิจไบโอดีเซลของบางจากให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

"พื้นที่สวนส้มย่านรังสิต เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ เพราะมีปริมาณน้ำพอสมควรแก่การเพาะปลูกปาล์ม หรือแม้กระทั่งพื้นที่ภาคตะวันออกก็น่าสนใจ แต่กรณีดังกล่าวต้องใช้เวลา 3-5 ปีจึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลได้เต็มที่"

ท่วงทำนองของบางจากในการผันเข้าสู่การเป็นผู้ปลูกปาล์ม มิใช่กรณีที่ไกลเกินความเป็นจริง หากเพราะภายใต้ศักยภาพที่บางจากบ่มเพาะผ่านสหกรณ์การเกษตรและชุมชนต่างๆ เครือข่ายเหล่านี้อาจเป็นกลไกขับเคลื่อนให้บางจากบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้

กระนั้นก็ดี กรณีดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อประเด็นว่าด้วยผลกระทบด้านสิ่งแวด ล้อมอย่างไม่อาจปฏิเสธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเรื่องราคาปาล์มที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้มีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มอย่างไร้การควบคุมที่นำ ไปสู่การปัญหาการใช้ที่ดินและการบุกรุกป่า

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ดอกผลที่รอคอยให้บางจากเก็บเกี่ยวนี้จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในรูปแบบใหม่อีกหรือไม่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.