PURE Biodiesel ความท้าทายของรายเล็ก

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ความตื่นตัวในเรื่องพลังงานทดแทนนอกจากจะกลายเป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงทั้งในทางสังคมและแวดวงเศรษฐกิจแล้ว กรณีดังกล่าวได้เปิดให้เห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอีกด้วย

การขยายธุรกิจที่มุ่งเน้นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มของ PURE Biodiesel เป็นอีกหนึ่ง ตัวอย่างที่ชัดเจนมากในประเด็นที่ว่านี้

ภายใต้ข้อจำกัดที่ระยองเพียวริฟายเออร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่อยู่ในฐานะผู้ประกอบการโรงกลั่นขนาดเล็ก ที่อาศัย Condensate Residual (CR) มาเป็นวัตถุดิบในการกลั่น ทำให้ ระยองเพียวริฟายเออร์มีจุดเน้นอยู่ที่น้ำมันดีเซลเป็นด้านหลัก

ขณะที่โอกาสทางธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ดูเหมือนจะขยายตัวและสร้างผลกำไรในอัตราที่ลดน้อยถอยลงไปเป็นลำดับ ท่ามกลางการแข่งขันที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ มีแนวโน้มจะครอบงำตลาดได้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างง่ายดาย

มาตรการและนโยบายของรัฐที่มุ่งหมายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลให้มากขึ้น กลายเป็นประหนึ่งแรงกระตุ้นให้ระยองเพียวริฟายเออร์ ต้องเร่งหาหนทางที่จะรักษาตำแหน่งและสถานภาพทางธุรกิจในอุตสาหกรรมน้ำมันนี้

"การบังคับใช้ไบโอดีเซล บี 2 เป็นมาตรฐาน ทำให้บริษัทจำเป็นต้องหาบี 100 มาเป็นส่วนผสม แต่จะหาซื้อจากผู้ประกอบการรายอื่นหรือจะลงทุนผลิตเอง นี่เป็นโจทย์ ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจ"

บรรลือ ศรีโปดก เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของระยองเพียวริฟายเออร์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เพียว ไบโอดีเซล บอก "ผู้จัดการ"

สมการที่เป็นผลให้เกิดการก่อตั้งเพียว ไบโอดีเซล ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ระยองเพียวริฟายเออร์ มีกำลังการผลิตน้ำมันจาก CR ได้รวม 80 ล้านลิตรต่อเดือน โดย 80% ของการกลั่นเป็นดีเซล ส่วนที่เหลือเป็นน้ำมัน เตา (fuel oil) และสารละลาย (solvent)

แม้ว่าระยองเพียวริฟายเออร์จะพยายามดำเนินธุรกิจค้าปลีกเชิงรุกด้วยการขยายสถานีบริการเพียวในเขตภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผสานพันธมิตรกับสัมมากร จัดตั้งเพียวสัมมากร เพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกันในนาม "เพียวเพลส"

แต่น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ที่จำหน่ายในสถานีบริการเหล่านี้ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพียวต้องซื้อจากผู้ประกอบการรายอื่นทั้งสิ้น

การพึ่งพาบี 100 จากผู้ประกอบการรายอื่น เพื่อให้ได้ไบโอดีเซลตามมาตรฐานบี 2 หรือแม้กระทั่งบี 5 และบี 10 ในอนาคต ย่อมไม่ใช่คำตอบของระยองเพียวริฟายเออร์ ในระยะยาวอย่างแน่นอน

"บริษัทได้พิจารณาทั้งในส่วนของเอทา นอล และไบโอดีเซล (บี 100) ซึ่งนอกจากความแตกต่างในมิติของเงินลงทุนที่การผลิต เอทานอล ต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าแล้ว การ ผลิตบี 100 น่าจะเป็นการเสริมจุดแข็งให้กับธุรกิจของบริษัทได้มากกว่า"

การลงทุนของเพียวไบโอดีเซลเพื่อสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซล บี 100 โดยมี crude palm oil (CPO) เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการ อาจให้ภาพที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับประสบการณ์เดิมๆ ของระยองเพียวริฟายเออร์ที่ใช้ CR ซึ่งเป็น "ของเหลือ" หรือผลพลอยได้ (by-product) จากกระบวนการผลิตของบริษัทอะโรเมติคส์

หากข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ภายใต้เงินลงทุนกว่า 400 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซล บี 100 ที่มีกำลังการผลิต 3 แสนลิตรต่อวัน เพียวไบโอดีเซลย่อมไม่อาจถูกประเมินด้วยสายตาดูแคลนในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลที่กำลังเติบโตนี้ได้

ความแตกต่างที่อาจเป็นข้อด้อยของเพียวไบโอดีเซล เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการ รายอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางจาก และ TOL บริษัทในเครือ PTT Chemical อาจอยู่ที่ขนาดและช่องทางการจำหน่าย

แต่ในทางกลับกันความแข็งแกร่งในฐานะผู้ประกอบการที่มีพื้นฐานและประสบการณ์จากดีเซล การก้าวเข้าสู่ธุรกิจไบโอดีเซลอย่างเต็มตัว อาจทำให้เพียวไบโอดีเซลอยู่ในฐานะผู้ประกอบการที่มีแต้มต่อไม่มากก็น้อย

ขณะเดียวกันด้วยเหตุที่เพียวไบโอดีเซล มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้กับโรงกลั่นของระยองเพียวริฟายเออร์ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และแวดล้อมด้วยโรงกลั่นน้ำมันรายอื่นๆ อาจเป็นข้อได้เปรียบสำคัญของ เพียวไบโอดีเซล

"ในฐานะผู้ค้าน้ำมันและกลั่นน้ำมัน ย่อมมีความคุ้นเคยและความเชื่อถือระหว่างกัน ซึ่งในมิติหนึ่งอาจเหมือนเป็นคู่แข่ง แต่ในความเป็นจริงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ อยู่ในฐานะที่เป็นคู่ค้ากันมากกว่า"

สิ่งที่บรรลือ ศรีโปดก ในฐานะผู้กุมบังเหียนเพียวไบโอดีเซลสะท้อนออกมาอยู่บน ฐานของความจริงที่ว่า ผู้ประกอบการโรงกลั่น น้ำมันปิโตรเลียมที่มีอยู่รวม 7 แห่งในปัจจุบัน มิได้หันมาลงทุนเพื่อผลิตไบโอดีเซล บี 100 ทุกราย

กระนั้นก็ดี โอกาสทางธุรกิจอาจมิได้เปิดกว้างและรอคอยให้เพียวไบโอดีเซลเข้าแสวงประโยชน์โดยปราศจากแรงเสียดทาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ข้อเท็จจริง ที่ว่า โรงงานของเพียวไบโอดีเซลจะสามารถ เดินเครื่องผลิตบี 100 ได้ในเดือนสิงหาคม 2551

หรือหลังจากที่รัฐกำหนดให้น้ำมันดีเซลภายในประเทศต้องอยู่ภายใต้มาตรฐาน ขั้นต่ำ บี 2 ไปนานกว่า 5-6 เดือนแล้ว

จุดยืนของเพียวไบโอดีเซลอาจมิได้อยู่ที่การประกาศจะเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทน ที่กำลังเป็นวาทกรรมหลักในการสร้างมูลค่าทางการตลาด

หากแต่ด้วยเหตุแห่งชื่อของเพียวไบโอดีเซล ที่สะท้อนนัยความหมายของทิศทางธุรกิจในอนาคต

ความท้าทายที่รอคอยเพียวไบโอดีเซลอยู่เบื้องหน้า จึงเป็นประหนึ่งการพิสูจน์ให้เห็นความแหลมคมในวิสัยทัศน์ หรือเป็นเพียงชื่อที่เกิดขึ้นบนทัศนะที่ต้องยอมรับเงื่อนไขที่ครอบลงมาและกำหนดให้เดินเท่านั้น

ขึ้นอยู่กับว่าเพียวไบโอดีเซลจะมีศักยภาพเพียงพอต่อการตอบโจทย์เหล่านี้ในมาตรฐานใด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.