|

วิสัยทัศน์ของนักประดิษฐ์ Rudolf Diesel
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
"The use of vegetable oils for engine fuels may seem insignificant today.
But such oils may become, in the course of time, as important as petroleum
and the coal tar products of the present time"
Rudolf Diesel's speech of 1912
หาก Rudolf Diesel ยังมีชีวิตอยู่ วันที่ 18 มีนาคม ปีนี้เขาจะมีอายุครบ 150 ปี
และคงยินดีที่เครื่องยนต์ที่เขาค้นคิดและประดิษฐ์ขึ้นมาเมื่อปี 1892 สามารถใช้น้ำมันจากพืชเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนได้ตามที่เขาเคยคิดหวังไว้
วิสัยทัศน์ของ Rudolf Diesel ว่าด้วยการใช้น้ำมันจากพืชมาเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ มิได้สะท้อนมิติความก้าวหน้าเฉพาะในส่วนของการออกแบบเครื่องจักรกลเท่านั้น
แต่ยังเป็นการสะท้อนความคิดคำนึงในเชิงสังคมวิทยาของนักประดิษฐ์ผู้นี้ได้เป็นอย่างดี
เพราะในขณะที่ Gottlieb Daimler Wilhelm Maybach และ Karl Benz ซึ่งได้รับการยกย่องในเวลาต่อมาว่าเป็น 3 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกยานยนต์ของเยอรมนี กำลังคิดค้นการออกแบบและพัฒนาเครื่องยนต์ให้มีขนาดเล็กและมีความเร็วสูงขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ปัจเจกบุคคล
Rudolf Diesel กลับคิดสร้างเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงราคาถูก สำหรับการทดแทนเครื่องจักรไอน้ำที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในยุคหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วย
แม้ว่าความนิยมในเครื่องยนต์ดีเซลจะดำเนินไปอย่างเชื่องช้าก็ตาม
Rudolf Diesel เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 1858 ที่กรุงปารีส ในครอบครัวของชาวเยอรมันที่อพยพจาก Augsburg, Bavaria เข้าสู่ฝรั่งเศส แต่เมื่อเกิดสงคราม Franco-Prussian War ในปี 1870 ครอบครัวของเขาถูกผลักดันให้ย้ายถิ่นฐานไปยังกรุงลอนดอน Rudolf Diesel ถูกส่งให้ไปอาศัยอยู่กับลุงและป้าของเขาที่เมือง Augsburg, Bavaria เพื่อเรียนรู้ภาษาเยอรมันที่กำลังแผ่อิทธิพลอย่างแข็งแกร่ง และเข้าเรียนที่ Royal County Trade School (Konigliche Kreis-Gewerbsschule) ก่อนจะสมัครเข้าเรียนใน Industrial School of Augburg ในเวลาต่อมา
เขาได้รับทุนเล่าเรียนดีให้เข้าศึกษาต่อใน Royal Bavarian Polytechnic ซึ่งทำให้ได้พบกับ Carl von Linde ในฐานะครูและยังเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องทำความเย็น โดยมี Rudolf Diesel ร่วมออกแบบและพัฒนาด้วย
แม้ว่าการทำงานกับ Carl von Linde จะทำให้ Rudolf Diesel ครอบครองสิทธิบัตรหลากหลาย แต่ในฐานะพนักงานของบริษัท Rudolf Diesel ไม่สามารถนำไปพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวได้ และกลายเป็นแรงผลักดันให้ Rudolf Diesel แสวงหาโอกาสใหม่ๆ ที่พ้นไปจากธุรกิจเครื่องเย็น
ในช่วงต้นทศวรรษ 1890 Rudolf Diesel เริ่มต้นการลิ้มลองอนาคตบนเส้นทางใหม่
ช่วงเวลาขณะนั้น Gottlieb Daimler และ Karl Benz ได้คิดค้นและประดิษฐ์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine) แบบ Otto Cycle ที่พัฒนาไปสู่นวัตกรรมยานยนต์แล้ว ตั้งแต่เมื่อปี 1887
แต่ Rudolf Diesel พัฒนาออกแบบเครื่องยนต์จากฐานของ Carnot Cycle ซึ่งเป็นระบบกลไกแบบขับเคลื่อนด้วยความร้อน (thermodynamic) ก่อนจะนำไปสู่การนำเสนอหนังสือชื่อ "Theory and Constrution of a Rational Heat-Engine to Replace the Stream Engine and Combustion Engines Know Today" ในปี 1893
หนังสือดังกล่าวถือเป็นต้นร่างทางความคิดและพื้นฐานในการพัฒนาเครื่องยนต์ ที่ได้รับการเรียกขานว่าเครื่องยนต์ดีเซล ในเวลาต่อมา
วิสัยทัศน์ของ Rudolf Diesel ที่จะประดิษฐ์เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงราคาถูก ปรากฏผลเป็นจริง เมื่อเขาใช้น้ำมันถั่ว (peanut oil) เป็นเชื้อเพลิง สำหรับสาธิตการทำงานของเครื่องยนต์นี้เป็นครั้งแรกที่เมือง Augsburg เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 1893
โดยในช่วงระหว่างปี 1893-1897 ถือเป็นช่วงที่ Rudolf Diesel มีโอกาสพัฒนาเครื่องยนต์ของเขาอย่างต่อเนื่อง โดยมีบริษัท MAN AG ผู้ผลิตเครื่องยนต์ใน Augsburg เป็นผู้สนับสนุนการทดสอบและพัฒนา
ผลงานการพัฒนาของ Rudolf Diesel ส่งผลให้เขาก้าวสู่ความมั่งคั่ง โดยเครื่องจักรกลของเขานำไปแทนที่เครื่องจักรไอน้ำ ในระบบสาธารณูปโภคหลากหลาย ทั้งโรงไฟฟ้า โรงกรองน้ำ และระบบงานอุตสาหกรรม
แต่ช่วงชีวิตของ Rudolf Diesel กลับเป็นช่วงเวลาที่แสนสั้น
Rudolf Diesel ในวัย 55 ปี หายไปจากเรือและเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ ระหว่างการเดินทางโดยเรือ เพื่อข้ามช่องแคบอังกฤษ จากเมือง Antwerp ในเบลเยียม เพื่อมุ่งหน้าสู่เมือง Harwich ในอังกฤษ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 1913
โดยมีผู้พบศพ Rudolf Diesel อยู่บนชายฝั่งของเนเธอร์แลนด์ 10 วันหลังจากที่เขาหายไปจากเรือ
ทิ้งไว้เพียงมรดกด้านวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อยอดออกไปอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่วันที่ 10 สิงหาคมของทุกปี ได้รับการประกาศให้เป็นวันไบโอดีเซลนานาชาติ (International Biodiesel Day) เพื่อรำลึกถึงวิสัยทัศน์ของผู้ประดิษฐ์เครื่องยนต์ดีเซล
แม้ว่าน้ำมันถั่ว (peanut oil) ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในครั้งนั้น จะไม่ใช่ไบโอดีเซลตามคำนิยามในปัจจุบันก็ตาม
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|