ปัญหาเรื่องสิทธิครอบครอบที่ดินในส่วนที่สีชังทองฯ จะสร้างเป็นท่าเรือน้ำลึกนั้นได้ก่อตัวและเป็นข่าวมานานนับปี
ที่ดินผืนนี้มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์เป็นสิทธิครอบครองหรือ สค.1
เนื่องจากลักษณะพื้นที่ริมเกาะโค้งเว้าตลอดแนวเมื่อรังวัดจะกำหนดแนวที่ดินเพื่อเปลี่ยน
สค. 1 ไปเป็นโฉนดที่ดิน เจ้าหน้าที่เสนอว่าจะวัดเป็นแนวเส้นตรงดีหรือไม่
จิระเห็นว่า "จะได้ไม่มีปัญหาในการวัดเขตและวัดแนวที่ดิน" เพราะเชื่อว่าตนมีสิทธิครองโดยถูกต้องอยู่แล้ว
ได้ตกลงกันว่าที่ดินจากแนวเส้นตรงไปถึงริมเกาะจะกันไว้เป็นระยะทาง 30 เมตรจากชายหาด
รวมพื้นที่ 20 ไร่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึงและต้องกันไว้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์
เพื่อความแน่นอน ในฐานะที่กรมเจ้าท่าเป็นผู้ดูแลพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง จึงให้ไปชี้แนวเขต
ปรากฎว่าที่ดินของกรมเจ้าท่ามีเพียง 8 ไร่เท่านั้นที่น้ำท่วมถึง ทำให้เหลือที่ดินอีก
12 ไร่เป็นหน้าผาซึ่งจิระคิดว่ากรมเจ้าท่าคงตีความรวมกันไปหมดว่าเป็นของเจ้าท่า
ถือเป็นการยกสิทธิครอบครองของตนให้กับกรมเจ้าทาและคงจะเป็นความดีความชอบที่จะทำให้โครงการผ่านเร็วขึ้น
แต่จิระคิดผิด พื้นที่ 12 ไร่ตรงนั้นไม่ใช่อของกรมเจ้าท่าและก็ไม่ยอมรับด้วยว่าเป็นของสีชังทองฯ
จิระหวังว่าถ้ามีการตีความว่าเป็นของจังหวัดตนก็ยินดีขอเช่าจากจังหวัดเพื่อก่อสร้างต่อไป
แต่ถ้าตีความว่าไม่รู้ของใคร ก็จะทำเรื่องขอคืนตามสิทธิครอบครองที่มีอยู่ก่อน
ขณะที่ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงคมนาคมรายหนึ่ง ได้ให้ความเห็นใครต่อใครว่าที่ตรงนี้เป็นของราชการซึ่งทางเอกชนหรือสีชังทองฯ
จะไม่มีสิทธิถูกต้องตามกฎหมายที่จะสร้างท่าเรือได้
ทางกระทรวงคมนาคมเองก็ทำหนังสือให้กรมที่ดินตีความ ระบุว่าเป็นที่ติดทะเลและเป็นของกรมเจ้าท่าทุกครั้งแต่ความจริงบริเวณดังกล่าวเป็นเนินเขา
และน้ำท่วมไม่ถึงกรมเจ้าท่าเองก็ยืนยันและตอบไปว่าที่ดินเจ้าปัญหานี้ไม่ใช่ของตน
ซึ่งมีการทบทวนกลับไปกลับมาตั้งแต่ปลายปี 2533
กระทั่งวันที่ 13 พฤศจิกายน 2534 ม.ล. เชิงชาญ กำภู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสิ่งล่วงล้ำลำน้ำนัดพิเศษ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นอีกชุดหนึ่งร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่ดิน
อ. ศรีราชาเพื่อตรวจสอบที่ดินที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นของใครอีกครั้ง หลังจากที่เคยยืนยันไปแล้วว่าเป็นของสีชังทองฯ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น คณะกรรมการฯเคยพิจารณาว่าเมื่อแก้ปัญหาเรื่องที่ดินไม่ได้
ก็ให้สีชังทองฯ ออกแบบท่าเรือใหม่ แต่ก็จะขัดกับสิ่งแวดล้อมที่อนุมัติไปแล้ว
และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงยกเลิกไป และกลับมาพิจารณาเรื่องที่ดินใหม่
ต่อมาถึงปลายเดือนธันวาคม ทางที่ดินศรีราชาโดยการตรวจสอบของกิ่งอำเภอสีชังได้สรุปอีกครั้งว่า
ที่ดินนี้น้ำท่วมไม่ถึง และเป็นของตระกูลหงศ์ลดารมภ์หรือสีชังทองฯ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองมาตั้งแต่
พ.ศ. 2497 โดยไม่มีผู้คัดค้านหรือโต้แย้งสิทธิครองครอง
ดูเหมือนว่าจิระจะรู้สึกโล่งอกเมื่อสรุปออกมาอย่างนี้คณะกรรมการฯ เองก็ยอมรับผลตรวจสอบที่ยืนยันเหมือนเดิม
แต่กำแพงขวางกั้นการสร้างท่าเรือยังไม่สิ้นสุด เกิดมีคำถามใหม่อีกว่า พื้นที่สร้างท่ามีหาดทรายหรือไม่
ที่จริงถ้าดูผลสำรวจพื้นที่ตั้งแต่ครั้งแรกก็สรุปได้แล้วว่าไม่มีแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงคมนาคมกล่าว
"คนทำงานเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงถามย้อนไปย้อนมาเหมือนกับไม่เชื่อใจหน่วยราชการด้วยกัน"
ยิ่งไปกว่านั้น ที่ตลกก็คือบางคนมองพื้นที่ที่ระเบิดหินอยู่ข้าง ๆ เป็นหาดทรายตอนหลังมีคณะทำงานไปเก็บภาพอย่างละเอียดของบริเวณที่จะสร้างท่าเรือสุดท้ายก็สรุปได้ว่า
ไม่มีหาดทราย
แม้แต่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 15 มกราคมศกนี้มีการสอบถามว่า ทำไมใบอนุญาตยังไม่ออกเสียที
แต่ก็มิได้หมายความว่าจะออกใบอนุญาตได้แล้ว
เพราะล่าสุด มีเสียงโจษขานกันว่า ข้าราชการระดับสูงคนนั้นได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกรมที่ดินโดยตรงในประเด็นเดิมอีกครั้งหนึ่ง
เพื่อให้กรมที่ดินรับรองว่าสีชังทองฯ มีสิทธิครอบครองโดยถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งที่ปกติแล้วจะไม่มีการรับรองบุคคลสิทธิ
กรมที่ดินได้ตอบโดยมีใจความว่า ไม่อาจรับรองได้อย่างไรก็ตาม ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า
การวินิจฉัยของที่ดินอำเภอศรีราชาได้ศึกษา ตรวจสอบและสรุปไปแล้ว ซึ่งน่าจะทำให้พิจารณาปัญหาได้ในเบื้องต้น
กระแสเล่าลือออกมาหลายทาง จึงทำให้เกิดคำถามและข้อสันนิษฐานจากคนไม่น้อยว่า
มีเบื้องหลังอะไรหรือไม่
เพราะการถามไปถามมาต่อหลายหน่วยงาน การนำไปตีความแล้วย่อมจะไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนตายตัวตรงกัน
ก็เหมือนจะบอกได้ว่า ยังไม่มีข้อสรุปที่สมบูรณ์ ใบอนุญาตก็ออกไม่ได้
ถึงเวลานี้กระทรวงคมนาคมน่าจะสรุปได้แล้วว่า จะเอายังไงกับโครงการนี้
การจะสรุปตีความ สมมติถ้าเป็นประเด็นกฎหมายหากสรุปในระดับกระทรวงไม่ได้
ก็ยังมีรองนายกที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอย่างมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งน่าจะช่วยตัดสินปัญหาได้
ไม่ควรที่จะปล่อยให้คาราคาซัง ซึ่งกลับกลายจะเป็นข้อครหาต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเองมากกว่าจะเป็นผลดี
ขณะที่สงครามการค้าระหว่างประเทศก็เข้มข้นอย่างต่อเนื่อง
จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ CAPTAIN M.W.L. TOZER ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท
โอเรียน ในกลุ่มเอ็นโอแอลให้ความเห็นต่อ "ผู้จัดการ" เมื่อพูดถึงสีชังฯ
อย่างทีเล่นทีจริงว่า "จะแข่งกับท่าเรือสิงคโปร์หรือ" แต่แล้วเขาก็กล่าวเพิ่มอย่างจริงจังว่า
"ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะสิงคโปร์ยังมีแผนพัฒนาและขยายข่ายธุรกิจออกไปอีกมา"
เนื่องจากไทยมีปัญหามากมาย กว่าจะพัฒนาได้ สิงคโปร์ก็ไปโลดแล้ว อาจจะเหลือเพียงกระดูกที่ไทยจะได้ไปเท่านั้น
การที่เอ็นโอแอลจะไปร่วมพัฒนาท่าเรือไฮฟองย่อมเป็นประจักษ์พยานได้ดีกว่าอะไรทั้งหมด
ขณะที่ไทยติดอยู่กับปัญหาที่ดินเพียงไม่กี่ไร่
การณ์ครั้งนี้ คงกลายเป็นบทเรียนใหญ่สำหรับจิระด้วยเช่นกันว่า การที่มีแต่ใจ
และพลัง โดยคิดไปว่าความตรงไปตรงมาจะเป็นเกราะคุ้มกันและช่วยกรุยทางธุรกิจนั้น
สำหรับเมืองไทยอาจจะไม่ใช่
แต่จำเป็นที่จะต้องมีทีมเจรจามืออาชีพและทีมประชาสัมพันธ์มือโปรที่จะสร้างเข้าใจและคุณค่าการตลาดทางสังคม
แม้ว่ากิจกรรมจะเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม
วันนี้ จิระยอมรับว่า "ผมอาจจะเข้าผิดช่องทาง"
แม้จิระจะเชื่อว่าฟ้าลิขิตให้เขามาทำโครงการนี้ แต่ก็ดูเหมือนว่า "บุญมีแต่กรรมบัง"