Palm Oil : The Glittering Future?

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ภายใต้ต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรณีว่าด้วยพลังงานทดแทนได้ถูกหยิบยกขึ้นมาให้เป็นประหนึ่งคำตอบสำหรับอนาคตที่สุกสกาวที่ก่อให้เกิดการปรับตัวของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปัญหาว่าด้วยผลกระทบจากราคาพลังงานได้รับการระบุให้เป็นกรณีเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการแก้ไขทันที

โดยมาตรการที่รัฐบาลกำหนดไว้อยู่ที่การเร่งรัดโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากผลผลิตทางการเกษตร ทั้งแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล เพื่อลดภาระการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

กรณีดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำอีกครั้งในประเด็นว่าด้วยการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งระบุว่า รัฐบาลจะส่งเสริมสนับสนุนให้มีการผลิตพืชพลังงาน ทั้งปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง เพื่อสนับสนุนนโยบายพลังงานข้างต้น

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การศึกษาและใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2520 (แก๊สโซฮอล์ 2524 และไบโอดีเซล 2528)

แต่กรณีดังกล่าวกลับมิได้ถูกกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์แบบบูรณาการในระดับชาติ (National integrated strategy) ที่มีความหมายครอบคลุมไปถึงการวางมาตรการเพื่อการพัฒนาอย่างจริงจังรอบด้าน

การกำหนดนโยบายในลักษณะที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่เบื้องหน้า เช่นนี้ย่อมไม่สามารถสร้างหลักประกันสำหรับ ประสิทธิภาพของการจัดการในระยะยาวได้

กรมธุรกิจพลังงานอาจพึงพอใจกับตัวเลขอัตราการบริโภคน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1,280 ล้านลิตร ในปี 2549 ซึ่งถือเป็นร้อยละ 18 ของปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินทุกชนิดในประเทศ

หากแต่ในส่วนของผู้ประกอบการโรงงานผลิตเอทานอล ซึ่งเป็นส่วนผสมใน น้ำมันแก๊สโซฮอล์แล้ว แม้กรณีดังกล่าวจะหนุนนำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มกับพืชผลทางการเกษตรทั้งอ้อยและมันสำปะหลัง แต่ในอีกด้านหนึ่งความไม่ชัดเจนในแนวนโยบาย กลับส่งผลให้เกิดภาวะเอทานอลล้นตลาดในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกันความล้มเหลวที่เกิดจากความไม่สามารถกำหนดมาตรการเชิงรุกที่สะท้อนให้เห็นจากกรณีการปรับลดมาตรฐานขั้นต่ำของน้ำมันไบโอดีเซล จากระดับไบโอดีเซล บี 2 ให้เหลือเพียงไบโอดีเซล บี 1 จากผลของปัญหาปัจจัยด้านราคาและภาวะขาดแคลนน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นวัตถุดิบเป็นอีกหนึ่งประจักษ์พยานที่ชัดเจนในเรื่องนี้

ความมุ่งหมายของภาครัฐที่จะขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ปีละ 5 แสนไร่ในช่วงเวลา 4 ปีนับจากนี้เพื่อแก้ปัญหาด้าน supply และรองรับการขยายตัวสำหรับการผลิตไบโอดีเซลในอนาคต ภายใต้เงื่อนไขของการส่งเสริมหลากหลาย กลายเป็นประหนึ่งการให้สัมปทานบัตรในการ "ขุดหาทองคำบนผิวดิน" และเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหลายรายผันตัวเข้าหาโอกาสทางธุรกิจที่เชื่อว่ามีศักยภาพในการเติบโตนี้

ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ด้านพลังงานไว้อย่างน่าสนใจ และน่าจะเป็นภาพสะท้อนทิศทางธุรกิจการเกษตรของเจริญโภคภัณฑ์ ได้อย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

ธนินท์อ้างถึงประเทศในตะวันออก กลางว่าสามารถสร้างความมั่งคั่งได้ จากผลที่ประเทศเหล่านี้มีน้ำมันดิบอยู่ "ใต้ผิวดิน" หากแต่ประเทศไทยก็สามารถสร้างความมั่งคั่งได้ เพราะมีน้ำมันอยู่ "บนผิวดิน"

นัยความหมายของธนินท์ ในด้านหนึ่งอาจประเมินได้ว่าเป็นถ้อยความปลอบประโลม ไม่ต่างจากวาทกรรมในอดีตว่าด้วย "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ซึ่งเคยเชื่อว่าเป็นปัจจัยเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้สังคมไทยมาตลอดเวลานับศตวรรษ

หากแต่ข้อเท็จจริงที่สอดรับกับถ้อยแถลงของธนินท์ดังกล่าวอยู่ที่ ภายใต้กลไกที่กว้างขวางของ CP ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรรายใหญ่ของประเทศ การหันกลับมาให้ความสนใจธุรกิจพลังงาน ที่มีฐานจากพืชผลทางการเกษตรที่ CP มีความชำนาญการพิเศษ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่อาจมองข้าม

ขณะเดียวกันภายใต้มาตรการลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กำลังทดลองการแปลงสภาพน้ำมันพืชใช้แล้วจากกระบวนการผลิตให้กลับมาเป็นไบโอดีเซล สำหรับใช้ประโยชน์ในโรงงานด้วย

แต่การนำปาล์มน้ำมันมาใช้เป็นพลังงานทดแทน มิได้เกิดขึ้นในสุญญากาศที่ปราศจาก แรงเสียดทาน

หากในความเป็นจริง ปาล์มน้ำมันจะมีฐานะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สังคมไทยคุ้นเคย และได้ใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน โดยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการแปรรูปปาล์มน้ำมัน เพื่อผลิตน้ำมันพืชและสินค้าเกี่ยวเนื่องอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว

กระนั้นก็ดี แรงดึงดูดของปาล์มน้ำมันได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการด้านพลังงาน หันความสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ธุรกิจที่กำลังถูกเปิดให้กว้างขึ้น แม้จะติดตามมาด้วยปัญหาการช่วงชิงวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างจำกัดในปัจจุบันก็ตาม

เหตุเพราะในด้านหนึ่งผู้ประกอบการพลังงานเหล่านี้จำเป็นต้องแสวงหาหลักประกันด้านวัตถุดิบเพื่อให้สามารถดำเนิน ธุรกิจหลักได้ตามมาตรฐานว่าด้วยน้ำมันไบโอดีเซลที่จะกำหนดใช้ในอนาคต

ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนเข้าสู่ธุรกิจนี้ภายใต้ความเชื่อ ที่ว่าปาล์มน้ำมันจะเป็นใบเบิกทางไปสู่โอกาสทางธุรกิจที่สดใสในอนาคต

กระนั้นก็ดี เมื่อพิจารณาในมิติของการพัฒนาศักยภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มจากปาล์มในเชิงธุรกิจอุตสาหกรรมแล้ว ต้องยอมรับว่าสังคมไทยยังอยู่ห่างไกลจากระดับขั้นการพัฒนาของประเทศผู้ปลูกปาล์มรายอื่นๆ อยู่พอสมควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ปลูกปาล์ม ที่อยู่ในภูมิภาคใกล้เคียงและเป็นเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ซึ่งต่างได้กำหนดยุทธศาสตร์และทิศทาง ของการพัฒนาปาล์มน้ำมัน รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอย่างครบวงจรและชัดเจน

ข้อเท็จจริงจากกรณีของมาเลเซีย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มมากกว่าประเทศไทยประมาณ 16 เท่า อาจไม่น่าสนใจเท่ากับการ ที่มาเลเซียได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (Malaysia Palm Oil Board : MPOB) เพื่อกำกับดูแลกลไกราคา และกำหนดทิศทางในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับปาล์มน้ำมัน

ซึ่งข้ามพ้นจากการใช้ปาล์มน้ำมัน มาเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตไบโอดีเซลไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ทั้งเวชภัณฑ์และอาหาร ที่มีระดับเทคโนโลยีและสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

วงจรธุรกิจของปาล์มน้ำมันในประเทศไทยนับจากนี้จะดำเนินไปอย่างไร อาจเป็นคำถามที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนกาล

เพราะวาทกรรมระดับชาติว่าด้วยพลังงานทดแทนที่ปราศจากวิสัยทัศน์ในเชิงยุทธศาสตร์ย่อมไม่สามารถเป็นคำตอบใน เชิงปฏิบัติการให้กับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่เบื้องหน้าได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.