สีชังฯ เป็นร่องน้ำธรรมชาติชายฝั่งทะเลอ่าวไทยในระดับ 18 เมตรด้านเหนือจะเป็นที่ตั้งชุมชนเกาะสีชังที่ค่อนข้างแออัดส่วนกลางของเกาะเป็นแหล่งที่มีคนอาศัยน้อย
ซึ่งแบ่งได้ 2 ส่วน คือที่ตั้งสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลจุฬาลงกรณ์วิทยาลัย
ในบริเวณเดียวกับพระราชวังจุฑาธุชราชฐาน และอีกส่วนหนึ่งเป็นที่ของตระกูลหงส์ลดารมภ์ใช้เป็นที่เพาะปลูกเล็กน้อย
และมีบริษัท พรเพ็ญประทานจำกัดระเบิดหินไปจำหน่าย โดยบริเวณใกล้เคียงนี้จะใช้สร้างท่าเรือ
การสร้างท่าเรือ สีชังฯ ได้ศึกษาและกำหนดแผนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีจริยา
บรอคเคลแมน น้องสาวของจิระเป็นผู้สำรวจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดโดยศึกษา
3 ขั้นตอน จากที่ สวล. กำหนดไว้แค่ 2 ขั้นตอนเท่านั้นได้แก่ บริเวณป่า กระแสน้ำ
ปะการัง และศึกษาพิเศษในเรื่องโอกาสที่น้ำมันจะรั่วลงสู่ทะเล การกำจัดขยะ
พร้อมวิธีการป้องกันและแก้ไข
การออกแบบโรงงานและกระบวนต่าง ๆ จะมีมาตรการนำสารมลพิษออกจากวัตถุดิบเสียก่อน
จะมีการติดตามคุณภาพน้ำของโครงการ ทั้งระยะก่อสร้าง ซึ่งได้แก่น้ำเสียจากบ้านพักคนงาน
สำนักงานในเขตก่อสร้าง ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียครบถ้วน และระยะดำเนินโครงการ
ต้องเพิ่มเติมถังเก็บกักสารที่รั่วไหลพร้อมระบบท่อปิดเพื่อมิให้มีการรั่วไหลของสารลงสู่พื้นดินหรือทะเล
ให้มีมาตรการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำทะเลโดยทำงานร่วมกับสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล
และศูนย์ฝึกนิสิตเกาะสีชัง จุฬาฯ พร้อมทั้งมีแผนติดตามคุณภาพอากาศตามวิธีที่
สวล. กำหนด และรายงานการศึกษาผลกระทบเช่น บริเวณเตาเผาขยะ ถังเก็บน้ำมัน
หรือโรงเก็บวัตถุดิบ รวมไปถึงย่านชุมชนสีชัง
ด้านสาธารณูปโภค ให้มีระบบกำจัดของเสียทั้งจากน้ำมันและคาบน้ำมัน ระบบกำจัดขยะ
และมีมาตรการสร้างความปลอดภัย
ส่วนการพัฒนาชุมชน เสนอตั้ง "โครงการสีชังทอง" มีเป้าหมายที่จะพัฒนาและรักษาคุณภาพชีวิตบนเกาะสีชัง
โดยกำหนดพื้นที่สีเขียวเป็นสถานที่พักผ่อน ให้สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย
พนักงานทุกคนจะมีพื้นที่อยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 10 ตารางเมตรต่อคนหรือเฉลี่ย
10 คนต่อไร่ จะร่วมปรับปรุง พัฒนาและยกระดับโรงเรียนที่มีอยู่ 3 แห่ง คือ
ระดับอนุบาล ประถมหก และ ม.3 ให้มีการสอนถึงมัธยมอย่างสมบูรณ์และส่งเสริมช่างฝีมือให้เกิดขึ้น
จริยากล่าวว่าจากการทำแบบสอบถามนักเรียน 75 คนจาก 82 คน ต้องการเรียนวิชาชีพเพื่อทำงานกับสีชังฯ
เมื่อเรียนจบ ขณะเดียวกัน จะลดการจับปลาบริเวณเกาะที่นับวันปลาจะน้อยลง และพัฒนาคนที่มีความรู้เครื่องยนต์ให้เป็นช่างของโครงการต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะอนุรักษ์โบราณสถานบนเกาะ คือ พระราชวังจุฑาธุชราชฐานเกาะสีชังซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่
5 เพื่อเป็นพระราชฐานส่วนพระองค์โดยทางสีชังฯ ได้ยื่นจดหมายต่อกรมศิลปากรเมื่อวันที่
21 พฤษภาคม 2533 ที่จะเป็นผู้ร่วมบูรณะ โดยออกทุนเริ่มแรก 5 ล้านบาทใช้จัดตั้งกองทุนมูลนิธิฟื้นฟูพระอุโบสถและหามาตรการพิทักษ์รักษาให้อยู่ในสภาพดี
และจะเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้
สีชังฯ ยังได้เสนอตัวขอเป็นผู้ร่วมอนุรักษ์โบราณคดีใต้น้ำ เนื่องจากเกาะสีชังอยู่ในเส้นทางเดินเรือตั้งแต่สมัยอยุธยา
และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่ามีเรือสินค้าอับปางบริเวณเกาะโดยเฉพาะรอบเรือโบราณ
ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้ประวัติศาสตร์ด้านคมนาคม ค้าขาย ชีวิตความเป็นอยู่
จึงกำหนดที่จะแสดงสิ่งเหล่านี้ในรูปของ "พิพิธภัณฑ์" ด้วยการตั้งมูลนิธิเพื่อพัฒนาส่วนนี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จิระได้ทำบันทึกความเข้าใจในข้อตกลงกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าในหลักการสำคัญว่า
สีชังฯ จะไม่ขยายโครงการเกินขีดความสามารถการขยายตัวของชุมชนเกาะสีชัง จนชุมชนขยายตัวมากเกินไปและกระทบต่อสังคมเกาะสีชังในด้านลบ
จริยาและจิระกล่าวว่า เป็นการถือปรัชญา "ป้องกันดีกว่าจะมาแก้ไขทีหลัง"
เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเมื่อเสียไปแล้วยากที่จะแก้ไข
อีกประการหนึ่ง นักธุรกิจควรจะลงทุนในด้านต้นทุนสิ่งแวดล้อมและสังคมไปด้วย
นโยบายการบริหารสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ศิลปกรรมที่สีชังฯ ทำไว้ จึงเป็นความภูมิใจอย่างเงียบ
ๆ ดังที่จริยาเล่าว่า "มีหลายคนชมว่าทำดี ลงทุนเงินไปหลายล้าน"
จิระหวังว่าการเริ่มต้นอย่างถูกต้องจะเป็นการช่วยให้โครงการเดินไปอย่างราบรื่น
แต่วันนี้คงได้คำตอบแล้วว่า "ยังคงไม่ใช่"