ชายคนนี้อยู่ในวัยชราแล้ว แม้ตัวเลขอายุจะเลยวัยเกษียณไม่มาก แต่สุขภาพร่างกายทรุดโทรมเกินกว่าวัย
สาเหตุมีประการเดียวคือการโหมทำงานหนักมาตลอดชีวิต แต่ผลงานที่ทุ่มเทชีวิตสร้างไว้ในแผ่นดินเป็นสิ่งที่วงการธนาคารจะไม่ลืมเลือน
โดยเฉพาะพนักงานแบงก์รวงข้าว
บัญชา ล่ำซำปีนี้อายุ 68 เป็นโรคกระเพาะมาแต่หนุ่ม ระยะหลังทยอยตัดกระเพาะไปเรื่อย
ๆ เมื่อเป็นมะเร็งที่กระเพาะ ตัดหมดไปเมื่อประมาณ 2 ปีแล้วใช้เครื่องช่วย
ว่าในด้านร่างกายทรุดโทรมเพราะโรคภัยไข้เจ็บ แต่ในด้านจิตใจนั้น เขาเป็นคนเข้มแข็งเด็ดขาดมาแต่ไหนแต่ไร
และด้านกลยุทธ์ดารบริหารงานและบริหารคนนั้นเขาก็เป็นเลิศ
บัญชาจะมีสูตร ๆ หนึ่งใช้สำหรับการป้องกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในกลุ่มตระกูลซึ่งหลายคนเป็นผู้ถือหุ้นแบงก์กสิกรฯ
รายใหญ่
สูตรที่ว่าคือบัญชาจะให้กรรมการผู้ถือหุ้นอาวุโสท่านหนึ่งชื่อบุญส่ง ชัยกิตติศิลป์เป็นผู้เสนอเรื่องราวต่าง
ๆ ที่บัญชาต้องการให้มีการตัดสินพิจารณาในที่ประชุม หรือให้ผู้อาวุโสท่านนี้เป็นคนไกล่เกลี่ยประนีประนอม
ในการแต่งตั้งบัณฑูรครั้งนี้ บัญชาก็ใช้กลยุทธ์เดิมคือให้บุญส่งเอ่ยปากเสนอ
ความสัมพันธ์ของบัญชาและบุญส่งแนบแน่น เมื่อมีปัญหาอะไรใหญ่ ๆ บัญชาต้องให้บุญส่งช่วยอยู่เสมอ
ไม่ว่าในการแต่งตั้งหรืออะไรต่าง ๆ เพราะในการประชุมกรรมการนั้นต้องใช้ฐานสนับสนุนมาก
ต้องหาคนที่มีอาวุโสเป็นคนที่ผู้อื่นเชื่อถือ
บัญชาเองให้ความเคารพนับถือบุญส่งมาก ขณะที่ตัวเขาก็เป็นผู้ที่มีอาวุโสที่สุดในกลุ่มตระกูลเวลานี้
ธรรมเนียมการเคารพผู้อาวุโสของตระกูลล่ำซำทำให้ลูกพี่ลูกน้องทั้งหลายปฏิบัติตาม
แต่ว่าโดยเฉพาะตัวบุญส่งก็เป็นคนที่มีฝีไม้ลายมือน่าเคารพยำเกรงอยู่ไม่น้อย
เขาเป็นคนใจเย็น พูดจามีเหตุผล พูดให้คนยอมรับได้ทุกฝ่าย แก้ปัญหาเก่งและวางแผนได้นิ่มนวลอย่างหาตัวจับยาก
ไม่เฉพาะกรรมการแบงก์กสิกรไทยเท่านั้นที่ให้การยอมรับนักการเมืองรุ่นเก่าและนายธนาคารอาวุโสอื่น
ๆ ก็ยำเกรงกันอยู่ไม่น้อย
ชาตรี โสภณพนิชและอุเทน เตชะไพบูลย์ต่างรู้จักเขาเป็นอย่างดี!
บุญส่งเป็นผู้บุกเบิกแบงก์รวงข้าวรุ่นเดียวกับโชติ ล่ำซำพ่อของบัญชาสมัยก่อนกสิกรไทยมีเงินฝากไม่กี่สิบล้านบาท
กรรมการแบงก์ต้องช่วยกันหาเงินฝากมาเข้าแบงก์ เฉพาะตัวบุญส่งนั้นว่ากันว่าสามารถหาได้ถึง
6 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นจำนวนที่มากอยู่ไม่น้อยในยุคแรก ๆ ของแบงก์
บุญส่งเป็นจีนแคระเหมือนตระกูลล่ำซำ
เป็นกรรมการฯ มาจนกรรมการรุ่นเดียวกันล้มหายตายจากไปหมด เขาก็ยังนั่งอยู่ที่เดิม
หากจะถือว่าเขาเป็นผู้ถือหุ้นอาวุโสที่สุดของแบงก์กสิกรไทยในเวลานี้ก็ไม่ผิดนัก
ในแง่ของตัวบุคคลนั้นบุญส่งถือหุ้นแบงก์ฯ เป็นอันดับ 1 หรือ 2 !!
พื้นเพเดิมของบุญส่งน่าจะมีเทือกเถาอยู่ที่นครสวรรค์ แต่เขาก็เข้ามาทำธุรกิจค้าขายจนเติบใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ
ปัจจุบันมีอายุประมาณ 75 ปี
ธุรกิจที่บุญส่งจับทำเป็นชิ้นแรก ๆ คือการค้าน้ำตาลทราย
บุญส่งร่วมกับคนในกลุ่มตระกูลและผู้รู้จักมักคุ้นก่อตั้งบริษัทวีณาขึ้นในปี
2495 มีทุนจดทะเบียน 500,000 บาท ระยะแรกดำเนินการค้าน้ำตาลทรายเป็นหลัก
เผชิญกับภาวะการค้าที่ผันผวนขึ้นลงมาตลอดเวลา จนในปี 2506 จึงเริ่มมีการส่งน้ำตาลดิบออกไปจำหน่ายในต่างประเทศด้วย
และมีภาวะการค้าที่ดีขึ้นมาก
ว่ากันว่าบริษัทวีณาเป็นผู้ผูกขาดจำหน่ายน้ำตาลให้องค์การรัฐวิสาหกิจด้วยในยุคหนึ่งเพราะเหตุที่บุญส่งเป็นคนทำอะไรได้ดีมาก
ๆ
ปัจจุบันบริษัทวีณาก็ยังทำธุรกิจน้ำตาลอยู่ แต่ไม่มีการผูกขาด บุญส่งไม่ได้ดูแลกิจการนี้แล้ว
มีลูกหลานรับช่วงดูแล แต่ดูเหมือนกิจการจะไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อน
งบดุลเมื่อสิ้นปี 2533 มีสินทรัพย์ 1.36 ล้านบาท รายได้ 23.97 ล้านบาท
และขาดทุนสะสม 40,017 บาท
เทียบกับบริษัทวีณา อินเตอร์เนชั่นแนลที่ก่อตั้งเมื่อปี 2517 เป็นบริษัทนำเข้า-ส่งออกสินค้าเคมี
สินค้าเกษตร มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ดูเหมือนบริษัทนี้จะมีรายได้ดีและมีกิจกรรมคึกคักกว่ามาก
วีณาอินเตอร์ฯ มีสินทรัพย์เมื่อสิ้นปี 2533 รวม 9.17 ล้านบาท รายได้ 22.14
ล้านบาท และกำไรสะสม 4.29 ล้านบาท
ว่ากันจริง ๆ ลูกหลานส่วนมากของตระกูลนี้สนใจทำราชการมากกว่าทำธุรกิจ หลานหลายคนรับราชการเป็นอัยการ
หมอ เภสัชฯ
บุญส่งมีหลานสาวคนหนึ่งทำงานที่ธนาคารกสิกรไทยด้วย ชื่อ อมรา วามะสุรีย์
เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาที่สะพานเหลือง ส่วนหลานเขยเป็นผู้จัดการสาขาที่พัฒน์พงศ์ชื่อวัชรินทร์
วามะสุรีย์
บุญส่งวันนี้ดูเหมือนจะวางมือจากธุรกิจต่าง ๆ โดยสิ้นเชิง เพราะอายุมากและมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน
อ่อนเพลียง่าย แต่เขาก็มาประชุมสำคัญ ๆ ของธนาคารไม่ได้ขาดถึงขนาดต้องนั่งรถเข็นมาก็ตาม