"หลังบีไอเอส แบงก์ใหญ่ลอยตัว แบงก์กลางลำบาก"

โดย สมชัย วงศาภาคย์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ในปีนี้ แบงก์ชาติกำหนดให้แบงก์พาณิชย์จะต้องปรับปรุงฐานะเงินกองทุนและการดำเนินธุรกิจเข้าสู่กฎเกณฑ์ของบีไอเอส ต้นทุนของการดำเนินธุรกิจและความระมัดระวังในการบริหารจะเพิ่มมากขึ้น การแสวงหาธุรกิจที่ที่ไม่เป็นภาระต่อเงินกองทุนเป็นทางรอดที่นายแบงก์ทุกรายมองเห็น การบ้านของนายแบงก์ข้อนี้จะทำอย่างไรช่วงจากนี้ไป

สัญญาณการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจแบงก์พาณิชย์กำลังเกิดขึ้น เมื่อแบงก์ชาติได้เสนอการแก้กฎหมายแบงก์พาณิชย์มาตรา 4 และ 10 ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของบีไอเอส ไปยังสุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีคลังเพื่อขอความเห็นชอบก่อนที่จะนำเข้าสู่สภาออกเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป ซึ่งคาดหมายว่าคงจะสำเร็จลงในช่วงก่อนมีนาคมนี้

การแก้ไขมาตรา 4 และ 10 ที่ว่า เป็นประเด็นเกี่ยวกับการขยายนิยามของเงินกองทุนและวิธีคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ให้กว้างขึ้นจากเดิม

นิยามเงินกองทุนใหม่จะกินความกว้างถึงส่วนที่ไม่ใช่ทุนที่แท้จริง เป็นทุนส่วนที่เสริมที่เรียกว่า SUPLEMENTARY CAPITAL ส่วนการคำนวณเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้สามารถรวมความเสี่ยงจากสินทรัพย์และรายการธุรกรรมที่อยู่นอกงบดุลเข้าด้วยกัน

เดิมเงินกองทุนหมายถึงทุนที่แท้จริงที่ประกอบด้วยทุนที่ชำระแล้ว กำไรสะสม ส่วนล้ำมูลค่าหุ้นและสำรองตามกฎหมาย

แบงก์ชาติได้กำหนดระดับความพอเพียงของทุนแต่การขยายตัวของสินทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ของบีไอเอส ในอัตราไม่น้อยกว่า 8%

"แต่เชื่อว่าแบงก์ชาติจะให้เวลาปรับตัวภายใน 5 ปีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในปีแรก อัตราที่ยอมรับได้คงจะอยู่ในอัตราไม่น้อยกว่า 6.5-7%" แหล่งข่าวระดับบริหารในธนาคารพาณิชย์ชื่อดังรายหนึ่งกล่าวถึงขั้นตอนการปรับตัวหลังใช้บีไอเอส

บีไอเอสเป็นข้อตกลงของกลุ่มธนาคารกลาง 12 ประเทศในยุโรปที่กระทำกันที่บาเซิล สวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2530 ซึ่งประกอบด้วยประเทศ เบลเยียม แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่นเนเธอร์แลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ สหรัฐฯ และลักเซมเบิร์กข้อตกลงนี้เกี่ยวพันกับเรื่องการกำหนดกฎเกณฑ์และการกำกับด้านความมั่นคงของเงินกองทุนและสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์

การปรับตัวที่ต้องใช้เวลาภายใน 5 ปีเนื่องจากหนึ่ง-แบงก์ชาติต้องการให้แบงก์ไทยทั้ง 15 แห่งมีเวลาเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนและการบริหารสินทรัพย์ภายใต้มาตรฐานของบีไอเอสก่อนที่จะเปิดรับการแข่งขันอย่างเสรีตามแรงกดดันของแกตต์

"เอากันแค่การผ่อนคลายมาตรการบังคับให้แบงก์ต้องปล่อยสินเชื่อชนบท (ซึ่งไม่เข้าข่ายความเสี่ยง) ไม่น้อยกว่า 20% ของเงินฝาก ซึ่งทางแบงก์ชาติต้องยกเลิกในที่สุดเมื่อเข้าบีไอเอสได้ก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินเฉพาะเพื่อสินเชื่อเกษตรคือ ธ.ก.ส. มีความแข็งแกร่งมากกว่านี้ ก็ต้องใช้เวลาเป็นปี" แหล่งข่าวกล่าวยกตัวอย่างสิ่งที่เผชิญหน้าแบงก์ชาติในช่วงให้เวลาปรับตัวแก่แบงก์พาณิชย์

นอกจากนี้สินเชื่อนโยบายของรัฐที่แบงก์กรุงไทยแบกรับหน้าที่อยู่ ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ต้องยกเลิกเพื่อให้แบงก์กรุงไทยสามารถดำเนินธุรกิจบริหารความเสี่ยงสินทรัพย์โดยอิสระก่อนที่แบงก์กรุงไทยจะเข้ามาอยู่ในกฎเกณฑ์ของบีไอเอส

เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว แบงก์กรุงไทยก็เสียเปรียบแบงก์พาณิชย์เอกชนรายอื่น ๆ ในการบริหารเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง

สอง-การจัดระบบบัญชีและวิธีปฏิบัติการคำนวณความเสี่ยงของสินทรัพย์ตามมาตรฐานของบีไอเอส สลับซับซ้อนมากต้องใช้เวลาในการศึกษาและเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายตั้งแต่ เจ้าหน้าที่ของแบงก์พาณิชย์ บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี และเจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์

ผู้บริหารระดับสูงในฝ่ายกำกับของแบงก์ชาติเคยเล่าให้ฟังว่า การคำนวณน้ำหนักความเสี่ยงของสินทรัพย์ (สินเชื่อ) ในงบดุลตามกฎหมายที่ใช้อยู่เดิมมีเพียง 2 อัตราคือ 0% กับ 100% เท่านั้น แต่ถ้าตามบีไอเอส การคำนวณถ่วงน้ำหนักความเสี่ยงจะมีหลายอัตราทั้งในงบดุลและนอกงบดุลเช่นสัญญาคุ้มครองความเสี่ยงจากการปริวรรต มีการถ่วงน้ำหนักความเสี่ยงระหว่าง 0.5-5% (ด้านอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่า 1 ปี 0.5% และอัตราแลกเปลี่ยน 2.0% และถ้า 1 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 2 ปี ด้านอัตราดอกเบี้ย 1.0 และอัตราแลกเปลี่ยน 5.0%) แต่เดิมรายการนี้น้ำหนักความเสี่ยงเท่ากับ 0%

"การคำนวณมันซับซ้อนกว่าในงบดุล คือมันต้องทำ 2 ครั้ง ต้องแปลงเข้ามาอยู่ในงบดุลก่อนแล้วดูว่ามันมีความเสี่ยงเท่ากับสินทรัพย์ตัวไหน แล้วจึงปรับน้ำหนักความเสี่ยงเข้าไป" แหล่งข่าวในแบงก์ชาติเล่าให้ฟังถึงวิธีการคำนวณถ่วงน้ำหนักความเสี่ยงสินทรัพย์นอกงบดุล

หลังจากใช้บีไอเอส นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ชั้นนำต่างเชื่อว่า แบงก์ส่วนใหญ่จะมีเงินกองทุนเพิ่มสูงขึ้นจนไม่เป็นภาระกับผู้ถือหุ้นที่ต้องเพิ่มทุนอย่างน้อย 2 ปี "เพราะว่าลำพังการประเมินที่ดินของแบงก์ที่กระจัดกระจายอยู่ตามสาขารวมทั้งสำนักงานใหญ่ซึ่งทั้งระบบมีถึง 2311 แห่งก็ช่วยให้แบงก์มีเงินเพิ่มขึ้นมาก" นักวิเคราะห์หลักทรัพย์อุตสาหกรรมแบงก์พาณิชย์พูดถึงผลกระทบด้านเงินกองทุนของแบงก์

แบงก์ชาติได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินราคาที่ดินที่ตั้งสาขาและสำนักงานใหญ่ที่แบงก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพื่อตีเข้าไปเป็นมูลค่าของเงินกองทุนชั้น 2 ตามกฎเกณฑ์ของบีไอเอส โดยเอาราคาประเมินตามราคาตลาดหักด้วยราคาทุน แล้วปรับด้วยส่วนลดลง 30%

เงินกองทุนของระบบแบงก์จะเพิ่มขึ้นจากส่วนนี้ถึง 34,000 ล้านบาทจากราคาทุน 7,788 ล้าน ซึ่งโยงมาสู่ความสามารถในการขยายสินเชื่อได้อีก 300,000 ล้านบาทโดยไม่ต้องเพิ่มทุนแม้แต่บาทเดียว

แต่จะมี 5 แบงก์ ที่ไม่ได้รับผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินกองทุนจากสาเหตุนี้ คือ แบงก์ศรีนคร กรุงเทพฯ พาณิชย์การ มหานคร เอเชีย นครหลวงไทย คิดเป็นวงเงินประมาณกว่า 9,000 ล้านบาท

ศรีนคร กรุงเทพฯ พาณิชย์การ มหานคร นครหลวงไทย และเอเชีย ไม่ได้รับผลเพราะยังเคลียร์สำรองหนี้สูญไม่ครบ

ความเสียหายสินทรัพย์ของศรีนครในขณะนี้มีประมาณ 3,000 ล้านที่ยังต้องตั้งสำรอง มหานครคาดว่ายังมีความเสียหายอยู่อีก 1,700 ล้าน (จากหนี้สงสัยที่เหลืออยู่ปกติ 3,600 ล้าน) ที่คงต้องตั้งสำรองต่อไป เอเชียมีความเสียหายที่ยังต้องตั้งสำรองต่อไปอีกประมาณ 2,000 ล้าน กรุงเทพพาณิชย์มีความเสียหายเหลืออยู่อีก 2,000 ล้าน และนครหลวงไทยอีกประมาณไม่น้อยกว่า 3-4,000 ล้าน

ตัวเลขความเสียหายเหล่านี้ได้รับการคาดหมายอย่างอนุรักษ์ที่สุดแล้วว่าเป็นยอดความเสียหายที่แบงก์ต้องตัดสำรองหนี้สูญอย่างแน่นอน เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้รายย่อยที่ไม่มีการเคลื่อนไหวแล้วและขาดหลักประกัน

ทางออกของแบงก์เหล่านี้อยู่ที่การมุ่งหารายได้มากขึ้นเพื่อชดเชยความเสียหาย แต่ก่อนรายได้จะมาจากการทำธุรกิจและเงินช่วยเหลือในรูปซอฟต์โลนจากแบงก์ชาติ

เอเชียมีรายได้จากซอฟต์โลนปีละกว่า 100 ล้าน นครหลวงไทยปีละ 287 ล้าน มหานครปีละ 297 ล้าน รายได้จากซอฟต์โลนในปีหน้าจะหมดไป เมื่อเอเชียจะต้องคืนแบงก์ชาติตามสัญญาในเดือนมีนาคม มหานครได้คืนก่อนล่วงหน้าแล้วเมื่อกลางปีที่แล้ว

ยกเว้นก็แต่นครหลวงไทยจะต้องคืนในพฤษภาคมปีนี้ แต่ดูจากความสามารถในการพัฒนาหนี้สินที่มีปัญหาที่ยังคงค้างอีก 6,000 ล้านและคาดว่าจะเสียหายอย่างแน่นอนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะสำรองตัดความเสียหายได้หมด

"เราคงต้องขอทางแบงก์ชาติเพื่อยืดเวลาการคืนซอฟต์โลนออกไป" กฤษดา หูตะเศรณี เลขานุการกรรมการธนาคารและผู้จัดการฝ่ายวิจัยกล่าวถึงหนทางออก

เมื่อ 5 ปีก่อน นครหลวงได้เงินช่วยเหลือซอฟต์โลนจำนวน 3,500 ล้านในการฟื้นฟูฐานะงบดุลของธนาคารจากปัญหาความเสียหายของสินทรัพย์

เงินซอฟต์โลนที่นครหลวงไทยต้องการขยายเวลาการคืนออกไปอีกคาดว่ามีจำนวน 2,000 ล้าน

ยังไม่มีคำตอบของการเจรจาระหว่างสม จาตุรศรีพิทักษ์แห่งนครหลวงไทยกับทางแบงก์ชาติว่า ข้อเสนอขอยืดเวลาคืนซอฟต์โลนจะได้รับการตอบสนองอย่างไรบ้าง

การเข้ารับกฎเกณฑ์บีไอเอสในปีหน้า ดูเป็นเรื่องยุ่งยากไม่น้อยสำหรับแบงก์สหธนาคารและบรรดาแบงก์ที่มีขนาดเงินกองทุนเล็ก ๆ และขนาดกลาง ๆ

แบงก์ที่มีขนาดกองทุนใหญ่ ๆ ที่เรียกว่าบิ๊กไฟร์ คือกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์และศรีอยุธยา นั้นรอดตัวสบายเนื่องจากมีที่ดินที่ตั้งสำนักงานมาก จึงได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในกองทุนชั้น 2 จนไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนในกองทุนชั้น 1 ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

ดังกรณีตัวอย่างแบงก์กรุงเทพ มีเงินกองทุนชั้น 2 เพิ่มขั้นทันทีประมาณ 13,000 ล้านบาท

ที่ดินสำนักงานใหญ่สีลมของแบงก์กรุงเทพจำนวน 8 ไร่ ซื้อมาตั้งแต่สมัยชิน โสภณพานิช เป็นกรรมการผู้จัดการแบงก์เมื่อ 24 ปีก่อนในราคาตารางวาละ 18,000 บาท เพราะต้องการขยับขยายสำนักงานใหญ่จากพลับพลาไชยมาที่สีลม ราคาประเมินในเวลานี้ตกตารางวาละเกือบ 500,000 บาท หักส่วนลดลงอีก 30% มีราคาสุทธิตารางวาละ 338,100 บาทที่แบงก์กรุงเทพได้ประโยชน์จากการตีมูลค่าสินทรัพย์นี้เข้าไปในเงินกองทุนชั้น 2

แบงก์กสิกรไทยก็เช่นกัน ที่ดินสำนักงานใหญ่ถนนพหลโยธินจำนวน 10 ไร่ แบงก์ซื้อมาเมื่อ 10 ปีก่อนในราคาตารางวาละไม่ถึง 20,000 บาท ราคาตลาดเวลานี้ตกตารางวาละไม่น้อยกว่า 150,000 บาท

แบงก์กสิกรไทยจะได้รับประโยชน์จากการ ประเมินที่ดินเข้าไปในกองทุนชั้น 2 หลายพันล้านบาท

ส่วนแบงก์ขนาดกลางอย่างแบงก์สหธนาคารมีปัญหาพื้นฐานที่ต่อเนื่องมาจากอดีตเกี่ยวกับความขัดแย้งในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ระหว่างพันธมิตรเอบีซี ซึ่งประกอบด้วยเพ็ญชาติ อัศวินวิจิตร และเอบีซีกับชลวิจารณ์

เป้าหมายการเพิ่มทุนจาก 800 ล้านบาทเป็น 1,600 ล้านบาทของกลุ่มชลวิจารณ์ถูกขัดขวางจากฝ่ายพันธมิตรเอบีซีเพื่อปรับปรุงฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้เข้ามาตรฐานไม่สามารถกระทำได้

เมื่อไม่สามารถเพิ่มทุนได้ สหธนาคารจึงพบมรสุมความไม่พอเพียงของทุนต่อการทำธุรกิจ ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อการทำกำไร

เมื่อสิ้นปี 34 สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในราว ๆ 6% เท่านั้น

แหล่งข่าวจากแบงก์ชาติเปิดเผยว่าจากการทดลองถ่วงน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยงของแบงก์ขนาดกลางและเล็กจากงบดุลปี 2533 พบว่า มีอยู่ 6 แบงก์ฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่า 8% ศรีนคร 7.36% กรุงเทพฯ พาณิชย์การ 5.85% นครหลวง 6.6% เอเชีย 6.5% และนครธน 5.6% และสหธนาคาร 6%

สำหรับแบงก์เล็ก ๆ อย่างนครธน ความไม่พอเพียงของเงินกองทุนเกิดจากแบงก์ยังไม่ได้ประโยชน์จากการประเมินราคาที่ดินที่นับรวมเข้าเป็นเงินกองทุน เนื่องจากที่ดินสำนักงานใหญ่ในอาคารสาธรธานีเป็นกรรมสิทธิ์ห้องชุด แบงก์ซื้อมาจากบริษัทสาธรธานี

"เราได้แสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินหลายพันตารางเมตรในอาคารนี้ให้แบงก์ชาติแล้ว" เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของแบงก์นครธนเล่าให้ฟังถึงความเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาการไม่ได้ประโยชน์จากที่ดิน

อาคารสาธรธานีจดทะเบียนเป็นอาคารสำนักงานที่ผู้ซื้อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม มีทั้งหมด 2 อาคารตั้งอยู่บนถนนสาธร

"เราคาดหมายว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินในอาคารชุดน ี้เมื่อนำมาประเมินแล้ว จะทำให้แบงก์มีเงินกองทุนชั้น 2 เพิ่มขึ้นนับร้อยล้านบาท" แหล่งข่าวในนครธนกล่าวอย่างมีความหวัง

ความไม่พอเพียงของเงินกองทุนที่เกิดขึ้นในแบงก์นครธนไม่ได้มีปัญหาที่น่าหวั่นวิตกอะไร เนื่องจากไม่ได้มาจากสาเหตุต้องแบกภาระความเสียหายของสินทรัพย์เหมือนกับที่แบงก์ขนาดกลางรายอื่น ๆ ประสบอยู่

ปัญหาของแบงก์ที่ยังต้องแบกภาระความเสียหายของสินทรัพย์ก็คือ เขาจะสามารถรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรได้อย่างไรภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ความพอเพียงของทุนกับระดับการขยายตัวของสินทรัพย์

แบงก์เล็ก ๆ และกลางที่อยู่ 10 แบงก์มีส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อและบริการทางการเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเฉลี่ยเพียง 30% ของระบบเท่านั้น

แบงก์เล็ก ๆ เช่นนครธน ไทยทนุ แหลมทอง ไม่มีปัญหาความเสียหายของสินทรัพย์และภาระสำรอง ความเสียหายนั้น แบงก์ขนาดกลางดูจะมีปัญหาตรงนี้มากที่สุด

มหานครยังคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีในการตั้งสำรองความเสียหายไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรเพื่อตัดความเสียหายของสินทรัพย์ที่ยังเหลืออีก 1,700 ล้าน "ถ้าเราจะตัดความเสียหายให้หมดก็ทำได้แต่จำเป็นหรือไม่ ?" อุทัย อัครพัฒนากูล กรรมการผู้จัดการแบงก์มหานครกล่าว

การตัดความเสียหายทันที มีข้อดีคือ ทำให้แบงก์มหานครแข็งแรงขึ้น แต่ผลเสียย่อมมีผลกระทบต่อระดับขนาดของกำไรสุทธิอย่างน้อย 2 ปี

เช่นเดียวกับเอเชียที่ยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 ปีในการตั้งสำรองปีละ 300 ล้านเป็นอย่างน้อยเพื่อทยอยตัดความเสียหายลงจนหมด

ยิ่งไม่มีรายได้ซอฟต์โลนช่วยปีละ 297 ล้านสำหรับมหานครและอีกปีละกว่า 100 ล้านสำหรับเอเชีย

การหารายได้อย่างหนักหน่วงบนพื้นฐานของการพึ่งเงินกองทุนให้น้อยที่สุดของทั้งสองแบงก์จึงเป็นหนทางเดียว และรายได้ที่ว่าจะต้องมาจากการขยายสินเชื่อและบริการทางการเงินอื่น ๆ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญในการบริหารสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่อความเสียหายน้อยที่สุดและการใช้นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ในธุรกิจนอกงบดุล

ธุรกิจนอกงบดุลที่ทุกแบงก์ทำอยู่ในเวลานี้ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ การรับรองการค้ำประกันกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ และการอาวัลตั๋วของลูกค้า

รายการเหล่านี้ จะต้องถูกนับเข้าความเสี่ยงเต็ม 100% จากเดิมที่ไม่มีความเสี่ยงเลย

เมื่อรายการธุรกิจนอกงบดุลเหล่านี้เป็นภาระด้านเงินกองทุนของแบงก์ที่จะต้องกันไว้เต็มถึง 80%

แบงก์ที่มีปัญหาเงินกองทุนจำกัดเช่นสหธนาคารและบรรดาแบงก์ที่มีปัญหาหนี้เสียก็ต้องหันมาทำธุรกิจนอกงบดุลที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า 100% ลงมา

เช่นภาระผูกพันในการออกหนังสือค้ำประกันให้ลูกค้า ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่ระหว่าง 20-50% และการทำสัญญาคุ้มครองความเสี่ยงจากการปริวรรต ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่ระหว่าง 0.5-5%

ส่วนธุรกิจในงบดุล ก็จะถูกจำกัดวงเฉพาะธุรกิจที่มีภาระความเสี่ยงต่ำกว่า 100% ลงมา หรือถ้าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงเต็ม 100% ก็ต้องอยู่ในระยะเวลาที่สั้น ๆ ภายใน 12 เดือน

มองในมุมนี้ก็เท่ากับว่า หลังใช้บีไอเอส บรรดาแบงก์ที่มีปัญหาข้อจำกัดในการระดมทุน เพื่อสร้างความพอเพียงของทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากปัญหาต้องแบกภาระกันเงินสำรองเพื่อตัดหนี้เสีย หรือมีปัญหาขัดแย้งกันในหมู่ผู้ถือหุ้น ดูเหมือนจะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ หนึ่ง-ต้องหาทางควบกิจการระหว่างกัน หรือ อีกทางหนึ่ง-ต้องหาช่องทางการทำธุรกิจที่พึ่งพิงเงินกองทุนให้น้อยที่สุด

การควบกิจการเป็นเรื่องที่เป็นได้ยาก ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเจ้าของทุนกับอำนาจการบริหารแบบครอบครัวที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน "มันเป็นเรื่องของหน้าตา ที่ไม่มีใครยอมหรอก" นิติกร ตันติธรรม ผู้จัดการฝ่ายบริหารเงินและการปริวรรตแบงก์ไทยทนุให้เหตุผลถึงอุปสรรค

ธนาคารพาณิชย์ไทย ส่วนมากยังอยู่ภายใต้การสืบทอดมรดกทางอำนาจการจัดการอยู่ภายในครอบครัว แบงก์กรุงเทพ (โสภณพนิช) กสิกรไทย (ล่ำซ่ำ) ศรีนคร (เตชะไพบูลย์) กรุงศรี (รัตนรักษ์) และสหธนาคาร (ชลวิจารณ์) เป็นตัวอย่างการสืบทอดจากชนรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก

แบงก์กรุงเทพ ชิน โสภณพนิชได้ส่งผ่านมาให้ชาตรีผู้ลูกหลายปีมาแล้ว และชาตรีก็กำลังส่งผ่านมาให้ชาติศิริ ลูกชายในอนาคตอันใกล้

แบงก์กสิกรไทย บัญชาสร้างแบงก์ให้เติบโตหลังรับมรดกมาจากเกษมผู้เป็นอาขณะที่ตัวเองอยู่ในวัยหนุ่มแน่นเมื่อ 30 ปีก่อน และเวลานี้เขาก็ได้ส่งผ่านต่อให้บัณฑูร ลูกชายเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ศรีนครเช่นกันอุเทน ได้ส่งผ่านมาให้วิเชียร เตชะไพบูลย์ลูกชายคนโตของเขารับมรดกผู้นำการบริหารแบงก์ต่อจากเขา

ส่วนแบงก์นครธนและแหลมทองเป็นตัวอย่างของการสืบทอดมรดกจากพี่สู่น้องแบงก์นครธน(หวั่งหลี) สุวิทย์ ผู้พี่กุมพังเหียนผู้นำมานานก็ได้ส่งผ่านอำนาจการจัดการสู่วรวีย์ หวั่งหลีผู้น้อง และแหลมทอง (จันทร์ศรีชวาลา) หลังสุระ ผู้พี่ขับไล่สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ออกจากแบงก์แล้ว เขาก็หยิบกุรดิษฐ์ น้องชายขึ้นกุมบังเหียนผู้นำบริหารแทน

สำหรับแบงก์นครหลวง เอเชีย ไทยพาณิชย์ ทหารไทย ไทยทุน และกรุงไทย แม้นไม่ได้อยู่ในวงจรของการสืบทอดแบบครอบครัว แต่นครหลวงไทย เอเชีย และกรุงไทยต่างกำลังตกอยู่ในวังวนของการต้องแบกภาระผลความเสียหายของสินทรัพย์อยู่

แบงก์ที่แข็งแรง แต่อยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ผสมผสานกันระหว่างความเป็นเจ้าของกับการจัดการ กับแบงก์ที่อ่อนแอ และอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบครอบครัว

ความสัมพันธ์แบบนี้ ยากที่จะทำให้เกิดการควบกิจการกันได้เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับแบงก์ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ

การควบกิจการระหว่างแบงก์เป็นกระบวนการของเหตุผลทางธุรกิจ เพื่อต้องการลดต้นทุนของเงินทุน และการดำเนินงานและประโยชน์จากการประสานเครือข่ายทางธุรกิจ (ลูกค้า) เข้าด้วยกัน

เคมิคอลแบงก์และแมนทรัสต์ แห่งนิวยอร์ก ที่กำลังยุ่งยากจากปัญหาความเสียหายของสินทรัพย์ควบกิจการกันก็ด้วยเหตุผลนี้ เช่นเดียวกับที่มิตซุยแบงก์ต้องควบกิจการกับไตโยโกเบ (หลังควบกิจการแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นซากุระแบงก์) และเซ็คเคียวริตี้ แปซิฟิกแบงก์ต้องควบกิจการกับแบงก์อเมริกาแห่งแคลิฟอร์เนียก็มีผลมาจากสาเหตุเดียวกัน

แต่การควบกิจการในหมู่แบงก์ไทยเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปแม้นว่าสถานการณ์ความมั่นคงของเงินกองทุนและสินทรัพย์ของบางแบงก์ที่กำลังประสบปัญหาอยู่เวลานี้ จะบีบรัดให้กระทำแล้วก็ตาม "ขนาดแนวคิดให้ขายสาขาทิ้งหรือปิดสาขาที่ขาดทุนเพื่อประหยัดต้นทุนหรือไม่ก็เพื่อเอาเงินสดเข้ามาเสริมเงินกองทุน ซึ่งจำเป็นต้องลดขนาดสินทรัพย์ลง ยังไม่ยอมกันเลย นับประสาอะไรกับเรื่องควบกิจการ" แหล่งข่าวในแบงก์ชาติให้ความเห็นถึงความเป็นไปได้ในการควบกิจการ

มีเรื่องน่าตลกอยู่เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในบอร์ดรูมของแบงก์ศรีนครเมื่อ 3 ปีก่อน ห้วงเวลานั้นวีรชัย วณึกกุล ที่ปรึกษาระดับเซียนคนหนึ่งของเมืองไทย ได้รับเชิญจากวิเชียร เตชะไพบูลย์ ให้เข้ามาร่วมบริหารในแบงก์ศรีนคร

แบงก์ศรีนครขณะนั้นมีปัญหาหลายด้านที่หมักหมมมาสินทรัพย์หลายพันล้านอยู่ในสภาพมีแนวโน้มว่าจะเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อที่ไร้คุณภาพ สาขาส่วนใหญ่เจอปัญหาขาดทุนสะสมมานาน เนื่องจากไม่ได้ทำธุรกิจเป็นแต่เพียงเครือข่ายหาเงินฝากเพื่อส่งผ่านมาให้สำนักงานใหญ่ใช้เป็นเงินทุนในการปล่อยสินเชื่อ

ความสามารถในการแข่งขันของแบงก์คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง แบงก์มีภาระต้องเพิ่มทุนเป็นระยะ ๆ เพื่อเป็นเซฟตี้เน็ต จากภาระความเสียหายของสินทรัพย์

วีรชัย เสนอแนวคิดให้ลดขนาดสินทรัพย์ลงโดยให้ปิดและขายสาขาที่ขาดทุนหรือทำกำไรไม่คุ้มทิ้งเพื่อเอาเงินสดเข้ามาเสริมในเงินกองทุน

แนวคิดนี้ของวีรชัย เป็นแนวคิดของการแก้ปัญหาแบงก์ที่นิยมทำกันในยุโรปและสหรัฐฯ แต่ผู้บริหารแบงก์ศรีนครพวกเตชะไพบูลย์คัดค้าน เพราะเห็นว่าวิธีการนี้จะยิ่งสร้างผลเสียหายต่อภาพพจน์และธุรกิจของศรีนครแม้ว่าจะรู้ดีว่าแนวคิดนี้มีตรรกะของการแก้ปัญหา

แต่อย่างสุภาษิตที่ว่า "คนเราเมื่อยังไม่เห็นโลงศพ ย่อมไม่หลั่งน้ำตา" หรือพูดอีกแบบหนึ่งตราบใดที่แบงก์ชาติยังไม่เข้าแทรกแซงอย่างรุนแรงเหมือนที่เกิดกับมหานคร ทางออกของการแก้ปัญหาที่พวกเตชะไพบูลย์มองอยู่ย่อม มีอยู่เสมอ ทำให้แนวคิดของวีรชัยถูกปฏิเสธจากพวกเตชะไพบูลย์อย่างสิ้นเชิง

แนวคิดของวีรชัยถูกต้องตามหลักบริหารสมัยใหม่ แต่ใช้ไม่ได้กับตลาดการเงินเมืองไทย ที่มีความเชื่อมั่นเรื่องความมั่นคงของแบงก์สูงมากๆ ว่าล้มไม่ได้มานาน

ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สมัยยุคเริ่มต้นธุรกิจแบงก์พาณิชย์ในประเทศไทยเมื่อทศวรรษที่ 50 ตลาดการเงินถูกปลูกฝังมาตลอดว่าธุรกิจแบงก์ไม่มีวันล้มได้ เพราะอยู่ภายใต้การคุ้มครองปกป้องจากรัฐ (ดูกราฟวิวัฒนาการฯ)

แต่ในทศวรรษนี้เป็นต้นไป รัฐเริ่มส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจะค่อย ๆ ยกเลิกการคุ้มครองธุรกิจนี้และปล่อยให้มีการแข่งขันอย่างเสรีในทุก ๆ ด้าน

กระนั้นก็ตาม แบงก์ที่อ่อนแอเหล่านี้ ก็ไม่พร้อมที่จะหาทางออกให้กับตัวเองโดยวิธีการควบกิจการกัน

"หนทางที่เป็นไปได้ที่สุดในสายตาผมก็คือทุกแบงก์พยายามเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจที่พึ่งพิงเงินกองทุนน้อยที่สุด" บัณฑูร ล่ำซำวิเคราะห์แนวโน้มการปรับตัวของแบงก์พาณิชย์ภายใต้แรงกดดันบีไอเอส

ธุรกิจที่แบงก์พาณิชย์สามารถพึ่งพิงเงินกองทุนน้อยที่สุดคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนและบริการด้านปริวรรตเงินตรา

"เรากำลังมุ่งไปที่ธุรกิจทั้งสองนี้อย่างจริงจังเพราะเรามีฐานธุรกิจและกลไกที่พร้อมแล้ว" บัณฑูรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงทิศทางการปรับตัวของแบงก์กสิกรไทยยุคบีไอเอส

กสิกรมีฐานลูกค้าด้านส่งออกและนำเข้าอยู่มากพอสมควรและที่สำคัญมีลูกค้าระดับบลูชิพอยู่จำนวนมาก ฐานลูกค้าเหล่านี้กำลังมีความต้องการใช้บริการสินค้าปกป้องความเสี่ยงด้านการปริวรรตเงินตรามากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความผันผวนของตลาดเงินที่กำลังถูกเชื่อมโยงเข้าหาตลาดโลกตามนโยบายของแบงก์ชาติ

"การยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินฝาก ออมทรัพย์และกำลังปลดปล่อยเพดานดอกเบี้ยเงินกู้เพื่ออัตราดอกเบี้ยผันผวนตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง เป็นกระบวนการหนึ่งที่เราต้องการให้ระบบการเงินของแบงก์พาณิชย์เชื่อมโยงเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น เพื่อเป็นการปูฐานอย่างมีขั้นตอนก่อนที่เราจะเปิดรับการแข่งขันอย่างเสรีในตลาดเงินไทยตามแรงบีบของแกตต์ในอนาคตอันใกล้" แหล่งข่าวในแบงก์ชาติกล่าวถึงนโยบายแข่งขัน

กสิกรมีกลไกที่อยู่ในเครือข่ายธุรกิจด้านตลาดทุนที่เข็มแข็งในตลาดอยู่มาก "ผมคิดว่าเข็มแข็งกว่ากลุ่มของแบงก์กรุงเทพเสียอีก" สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญตลาดทุนให้ความเห็นถึงความพร้อมของแบงก์ยักษ์ใหญ่

แบงก์กรุงเทพเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทสินเอเชีย ร่วมเสริมกิจกรุงเทพธนาทรและหลักทรัพย์เอเชีย ขณะที่แบงก์ไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนสยาม ธนชาติและเอกชาติ

แบงก์กสิกรเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในภัทรธนกิจ ทิสโก้ ศรีมิตร เอกธนกิจและเอกธำรง กลุ่มบริษัทเหล่านี้พร้อมที่จะเป็นกลไกในการเข้าประสานกับแบงก์ในตลาดทุน "แบงก์จะเป็นตัวขายโดยใช้เครือข่ายสาขาที่กว้างขวางทั่วประเทศและเป็นคัสโตเดี้ยน ขณะที่บริษัทในเครือข่ายทั้ง 4 เป็นผู้นำในการทำดีลและจัดการ" บัณทูรยกตัวอย่างในการนำแบงก์เข้าตลาดทุนประเภทตราสารหนี้

เมื่อเดือนมกราคม รัฐบาลได้เห็นชอบในหลักการของร่างกฎหมายธนาคารพาณิชย์ที่อนุญาตให้แบงก์สามารถทำธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดการออกตราสารแห่งหนี้ของลูกค้า ธุรกิจนี้เป็นความหวังที่แบงก์ขนาดใหญ่คาดหมายว่าจะนำมาซึ่งรายได้และผลกำไรสู่แบงก์ได้มากและมีผลกระทบต่อเงินกองทุนน้อยมาก

เพราะมันเป็นธุรกิจที่แบงก์ไม่ต้องปล่อยสินเชื่อเพียงแต่เป็นคนกลางที่จับเอาผู้ลงทุนในตลาดกับผู้ต้องการเงินทุนมาเจอกันเท่านั้น

มองในแง่นี้ยักษ์ใหญ่ 5 ราย (ยกเว้นกรุงไทย) ย่อมได้เปรียบกว่าแบงก์อื่น ๆ เพราะมีฐานลูกค้ารายใหญ่มากและพวกลูกค้ารายใหญ่เหล่านี้เอง ที่มีเครดิตสูงพอที่จะออกตราสารหนี้เพื่อกู้ยืมจากตลาดได้

"เราต้องปรับตัวเข้าหาธุรกิจวณิชธนกิจ" นี่เป็นเสียงเดียวกันของแบงก์ขนาดกลางและเล็กทุกแบงก์

นครธนมีความชำนาญในธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ หนทางเข้าสู่วาณิชธนกิจที่อยู่ที่ตลาด TREASURY PRODUCTS มหานครกำลังเร่งธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ให้สูงขึ้นตาม

โครงสร้างธุรกิจของลูกค้าและการเป็นผู้บุกเบิกวางรากฐานตลาดในหมู่คนจีนมานาน พร้อม ๆ กับพยายามเพิ่มความสำคัญในธุรกิจปริวรรตเงินตรา

แบงก์เอเซียหลังจากรู้ตัวว่าขีดความสามารถในการเข้าทำธุรกิจ TREASURY PRODUCTS มีจำกัดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วจึงเข้าทำข้อตกลงกับเงสต์แพ็คแบงก์แห่งออสเตรเลีย เข้าร่วมบริหารงานและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้

"คือเรามีฐานลูกค้าที่ต้องการบริการด้านนี้ แต่เราทำให้ไม่ได้ จึงต้องให้เวสต์แพ็คเข้ามาช่วย โดยเราแบ่งผลประโยชน์กัน คือเราได้ค่าธรรมเนียมจากลูกค้า ขณะที่เวสต์แพ็คได้กำไรจากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนหรือดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างการซื้อขาย" จุลกร สิงห์โกวินทร์ ผู้บริหารระดับสูงแบงก์เอเซียเล่าให้ฟังถึงด้านหนึ่งของการปรับตัวหลังบีไอเอส

แบงก์เอเชียมีกลไกที่จะเข้าสู่ตลาดทุนได้เหมือนกัน หลังจากเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์เอกเอเชีย ที่เทคโอเวอร์มาจากบริษัทหลักทรัพย์เฟิร์สแปซิฟิก

เอกเอเซียมีเครือข่ายธุรกิจหลักทรัพย์อยู่หลายประเทศในอาเซียนฮ่องกง และลอนดอน เครือข่ายเหล่านี้ สามารถเป็นกลไกในการเป็นที่ปรึกษาและขายตราสารแห่งหนี้ทั้งในสกุลบาทและนอกสกุลบาทให้ลูกค้าของแบงก์เอเซียได้

แบงก์นครหลวง ก็มีโครงสร้างและกลไกที่จะเข้าสู่ตลาดทุนประเภทตราสารแห่งหนี้ได้ เพราะมีบริษัทนครหลวงเครดิต และหลักทรัพย์นครหลวงเป็นแขนขาในการอันเดอร์ไรต์

แต่กลุ่มนี้ ก็มีปัญหาเรื่องความเชี่ยวชาญในการจัดการการให้บริการออกตราสารแห่งหนี้ เนื่องจากความชำนาญและเอาจริงเอาจังอยู่ที่การค้าหลักทรัพย์และจำหน่ายหลักทรัพย์

นอกจากนี้การที่แบงก์มีฐานลูกค้ารายใหญ่จำนวนน้อย ย่อมเป็นอุปสรรคโดยธรรมชาติที่จะเอื้อประโยชน์ต่อปริมาณธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาและให้บริการการจัดออกตราสารแห่งหนี้

นั่นหมายความว่า แบงก์มีศักยภาพเพียงการเป็นนายหน้าผู้ร่วมกับแบงก์อื่น ๆ เข้ารับจำหน่ายตราสารแห่งหนี้เท่านั้น

แบงก์ที่ยังไม่มีความพร้อมทั้งในด้านของกลไกและศักยภาพที่จะเข้าสู่ธุรกิจตลาดทุนคือแบงก์กรุงเทพพาณิชย์ ศรีนคร สหธนาคาร มหานคร แหลมทอง และกรุงไทย

เมื่อเป็นดังนี้ ดูเหมือนทางรอดของแบงก์พวกนี้มีอยู่ทางเดียวคือทำธุรกิจในงบดุลโดยมาตรการปล่อยสินเชื่อที่เป็น TRADITIONAL BANKING ต่อไป พร้อม ๆ กับผู้ถือหุ้นต้องมีภาระเพิ่มทุนเป็นระยะ ๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.