"บทลงโทษพ่อค้าฉวยโอกาสจาก VAT"


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

การนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT มาใช้บังคับแทนระบบภาษีการค้าเดิมได้สร้างความสับสนให้กับผู้ประกอบการผู้ขาย หรือผู้ให้บริการรวมถึงประชาชนผู้บริโภคทั่วไปพอสมควรราคาสินค้าหลายชนิดได้ขึ้นราคาไปจากเดิมโดยปราศจากเหตุผลทั้ง ๆ ที่ควรจะถูกลง ในช่วงต้นนี้เข้าใจว่ารัฐบาลยังคงให้การผ่อนผันกับผู้ปฏิบัติไม่ถูกต้อง แต่ต่อไปอีกสักระยะหนึ่งมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ จะต้องถูกนำมาใช้บังคับอย่างจริงจังและบุคคลใดจะยกความไม่รู้กฎหมายขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้ตนมิต้องรับโทษไม่ได้

ประเด็นก็คือ มีกฎหมายอะไรที่เป็นบทลงโทษ ผู้ไม่ปฏิบัติตาม หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายรวมถึงผู้ค้ากำไรเกินควรบ้าง

ในตัวกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มนี้มีบทกำหนดโทษที่ค่อนข้างรัดดกุมและรุนแรง ซึ่งหากผู้ใดคิดจะหลบหนีภาษีมูลค่าเพิ่มดังต่อไปนี้ อาทิ

หนึ่ง ปลอมใบเสร็จรับเงิน (ใบกำกับภาษี) โดยการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาบังหน้า โดยบริษัทดังกล่าวจะออกใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีปลอมให้กับห้างร้านต่าง ๆ

สอง แจ้งยอดขายเท็จ เช่น ขายหรือให้บริการมากแต่แจ้งยอดขายน้อย หรือขายแพงแต่แจ้งยอดขายต่ำ เมื่อขายต่ำภาษีขายก็จะต่ำไปด้วย เมื่อนำภาษีซื้อมาหักก็จะเสียภาษีน้อย หรืออาจจะได้รับคืนภาษีก็ได้

สาม หลบยอดซื้อและยอดขายทั้งสาย โดยเฉพาะการผลิตที่มีสายการผลิตสั้น

สี่ ปลอมเอกสารการส่งสินค้าออก เนื่องจากสินค้าส่งออกจะได้รับคืนภาษีซื้อทั้งหมด

การกระทำดังกล่าวนี้มีความผิด ผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาทางแพ่งก็คือต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ส่วนทางอาญาก็มีทั้งโทษจำคุกและปรับ

นอกจากนั้นยังมีบทกำหนดโทษอันเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มใบกำกับภาษี การจัดทำรายงานและการเก็บเอกสาร การยื่นแบบและการชำระภาษีและหากผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล

กฎหมายยังกำหนดให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ยินยอมหรือมีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

นอกจากนั้นพ่อค้าที่ค้ากำไรเกินควรหรือรวมหัวกันกำหนดราคาสินค้า และบริการที่ไม่เป็นธรรมอาจจะต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้า และป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 กฎหมายอันเกี่ยวกับการป้องกันการผูกขาด (ANTI-TRUSTLAW)

ในสหรัฐอเมริกา กฎหมายนี้กำเนิดในตอนปลายศตวรรษที่ 19 ในช่วงนั้นสวัสดิภาพของผู้บริโภคในอเมริกาต่ำมากเพราะมีบริษัทใหญ่ ๆ หลายบริษัทผูกขาด การผลิตสินค้าและบริการโดยบริษัทดังกล่าวได้ตกลงร่วมมือกันจำกัดการแข่งขันระหว่างกันในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ถูกเอาเปรียบ และที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ผลิตต่าง ๆ รวมตัวกันเป็นทรัสต์ (TRUSTS) เพื่อถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ และหุ้นเหล่านั้นก็ถูกโอนไปอยู่ในความครอบครองของทรัสตี (TRUSTEES) เพื่อจัดการประโยชน์แทนผู้ถือหุ้น

ดังนั้นบริษัทต่าง ๆ ดังกล่าวถึงอยู่ในความดูแลของทรัสตีชุดเดียวกัน การแข่งขันระหว่างบริษัทต่าง ๆ จึงไม่มีดังนั้นกฎหมายป้องกันการผูกขาดของสหรัฐอเมริกาจึงมีชื่อว่า ANTITRUST LAW โดยมีพระราชบัญญัติที่สำคัญคือ SHERMAN ACT 1890 ซึ่งถูกนำมาใช้โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้การตกลงระหว่างบริษัทเพื่อที่จะจำกัดการแข่งขัน หรือทำให้มีการผูกขาดในตลาดเป็นการผิดกฎหมายและมีโทษทางอาญา

เมื่อหันมาดูพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 ของไทยเรา ตามพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดขึ้นคณะหนึ่ง ในกรุงเทพมหานครโดยเรียกย่อว่า "คณะกรรมการกลาง" ในส่วนจังหวัดอื่นนอกจาก กทม. ทุกจังหวัดให้มีคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดโดยเรียกย่อว่า "คณะกรรมการส่วนจังหวัด" ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดราคาสินค้า เพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อราคาขายหรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการกลางมีอำนาจประกาศกำหนดให้สินค้าใดเป็นสินค้าควบคุมได้ เมื่อมีการประกาศกำหนดสินค้าควบคุมแล้ว คณะกรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) กำหนดราคาซื้อหรือราคาขายสินค้าควบคุม ให้ผู้ซื้อซื้อในราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่กำหนดหรือให้ผู้จำหน่ายจำหน่ายในราคาไม่สูงกว่าราคาที่กำหนด หรือตรึงราคาไว้ในราคาใดราคาหนึ่ง

(2) กำหนดอัตรากำไรสูงสุดต่อหน่วยของสินค้าควบคุม หรือกำหนดอัตราส่วนแตกต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายสินค้าควบคุมในแต่ละช่วงการค้า

(3) กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมแสดงราคาสินค้าควบคุม

(4) กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการและเงื่อนไขให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมปฏิบัติเกี่ยวกับการผลิต การจ่ายแจกการนำเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกนอกราชอาณาจักร การซื้อการจำหน่าย หรือการเก็บรักษาสินค้าควบคุม

(5) กำหนดท้องที่ หรือกำหนดระยะเวลาในการใช้บังคับประกาศของคณะกรรมการ

(6) กำหนดให้แจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย กระบวนการผลิตและวิธีการจำหน่ายสินค้าควบคุมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

(7) กำหนดให้มีการเก็บหรือเพิ่มปริมาณการเก็บสำรองสินค้าควบคุม และกำหนดท้องที่และสถานที่ให้เก็บสำรองสินค้าควบคุม

(8) ห้ามหรืออนุญาตการส่งออกไปนอกหรือนำเข้ามาในท้องที่หนึ่งที่ใดซึ่งสินค้าควบคุม

(9) สั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต การซื้อ การจำหน่าย หรือการเก็บรักษาสินค้าควบคุม รวมทั้งให้ระงับหรือลดค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่กำหนดไว้เกินสมควร

(10) จัดให้มีการปันส่วนในการซื้อและการจำหน่ายสินค้าควบคุมหรือกำหนดเงื่อนไขในการซื้อและการจำหน่ายสินค้าควบคุม

(11) บังคับให้จำหน่ายสินค้าควบคุมตามปริมาณและราคาที่กำหนด ตลอดจนบังคับให้จำหน่ายแก่ส่วนราชการหรือบุคคลใดซึ่งคณะกรรมการกำหนด

(12) ห้ามการจำหน่าย ให้ ใช้เอง ยักย้าย หรือเปลี่ยนสภาพซึ่งสินค้าควบคุมเกินปริมาณที่กำหนด

(13) ให้เลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการเกี่ยวกับการผลิต การขนส่ง การซื้อ การจำหน่าย และการเก็บรักษาสินค้าควบคุม

(14) กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าควบคุมหรือครอบครองสินค้าควบคุมเกินปริมาณที่กำหนด

ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดข้างต้นหรือเปลี่ยนแปลงราคาโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่แจ้งรายการตามประกาศของคณะกรรมการกลาง ต้องระวางโทษตามมาตรา 43 คือ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เฉพาะในข้อ (3) ที่กำหนดให้ผู้ผลิต หรือผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมต้องแสดงราคาสินค้าควบคุมต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเป็นกรณีที่มีโทษปรับสถานเดียว เลขาธิการกลางสำหรับกรุงเทพมหานคร หรือประธานคณะกรรมการส่วนจังหวัด สำหรับจังหวัดอื่น ๆ มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ทันทีหากชำระตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายใน 15 วัน คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน

นอกจากนั้นตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 29 ยังห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใด โดยลำพัง สมคบ หรือร่วมกับบุคคลอื่นดำเนินการใด ๆ โดยจงใจที่จะกดราคาสินค้าให้ตกต่ำเกินสมควรหรือทำให้สูงเกินสมควรหรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาสินค้า

และมาตรา 30 บัญญัติว่า ห้ามมิให้บุคคลใดกักตุนสินค้าควบคุม โดยมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะกรรมการตามมาตรา 24 (14) หรือเก็บสินค้าควบคุมไว้ ณ สถานที่อื่นนอกจากที่เก็บตามที่ได้แจ้งไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 24 (6) หรือผู้ประกอบธุรกิจใดซึ่งมีสินค้าควบคุมไว้เพื่อจำหน่าย แล้วไม่นำออกจำหน่ายหรือเสนอขายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่ายหรือประวิงการจำหน่าย หรือส่งมอบสินค้าควบคุมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 29 มาตรา 30 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและหากผู้กระทำผิดเป็นคนต่างด้าว ให้เนรเทศผู้นั้นออกนอกราชอาณาจักรด้วย

นอกจากนั้นในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย

ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นระบบภาษีสากลที่ใช้จัดเก็บกันอยู่ทั่วโลกซึ่งเป็นระบบภาษีที่ส่งเสริมการผลิตการส่งออก ก่อเกิดการจ้างแรงงาน และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวม แม้จะทำให้ผู้บริโภคคนสุดท้ายต้องรับภาระภาษีนี้ไป แต่เมื่อสินค้าส่วนใหญ่ต้นทุนการผลิตต่ำลงราคาของสินค้าก็ควรจะต้องถูกลงไปด้วยผู้ผลิตหรือพ่อค้าผู้ใดที่คิดจะโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือค้ากำไรเกินควร หรือกำลังทำอยู่เลิกคิดทำซะเถอะครับนอกจากจะมีโทษทาง กฎหมายแล้ว ชื่อเสียงของบริษัทและของตัวสินค้าก็จะเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้บริโภคสู้ฉวยโอกาสในช่วงนี้ ประกาศว่าตนจะรับภาระภาษีทั้งหมดไว้เองดูจะเข้าท่ากว่าเป็นไหน ๆ จริงไหมครับ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.