ฟินันซ่า ซื้อบล.เคที บทพิสูจน์อีกขั้น


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทฟินันซ่า จดทะเบียนจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2532 แต่ดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังในปี 2534 โดยในปีนี้เอง ที่บริษัทได้ใบอนุญาตจากทางการให้สามารถประกอบกิจการเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงิน จุดประสงค์การจัดตั้งบริษัทครั้งแรก คือ การให้คำปรึกษาแก่บริษัท ที่ต้องการเข้าลงทุนในตลาดไทย และ อินโดจีน ปัจจุบันมีบริษัท เอ็น.บี.ซี โฮลดิ้งส์ จำกัด ถือหุ้น 68.99% และ เอบีเอ็น แอมโร เอเชีย (โฮลดิ้งส์) ถือหุ้น 31%

ฟินันซ่าวางตำแหน่งการก้าวเดินไปในแนวทางของ merchant banking โดยมีธุรกิจหลักคือ การบริหารเงินกองทุน การทำ corporate finance, M&A, ดูแลตลาดเงิน และตลาดทุน รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาทางด้านวาณิชธนกิจ

นอกจากนี้แล้วฟินันซ่ายังเข้าไปร่วมลงทุนกับลูกค้าด้วย โดยเชื่อว่าเป็นการสร้างเครดิตให้กับตนเองทั้งยังเป็น การสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้กับลูกค้าว่า ฟินันซ่าไม่ใช่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยัง ลงทุน ร่วมกับลูกค้าด้วย

ฟินันซ่าเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ไม่สามารถทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลา ที่ พร้อมๆ กันได้ ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงใช้เวลาทำธุรกิจ ที่ตนเองถนัดไปก่อน ตลอดเวลา ที่ฟินันซ่าดำเนินธุรกิจในไทย ได้สร้างความเชื่อถือด้านธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน และการบริหารกองทุน

อย่างไรก็ดี บริษัทยังมีข้อบกพร่องทางด้านการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการที่ไม่มีใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจด้านธุรกิจหลักทรัพย์ ด้วยเหตุนี้ฟินันซ่าจึงตัดสินใจซื้อกิจการ บล.เคที บริษัทหลักทรัพย์ ที่หยุดดำเนินการมาปีกว่า อดีต เป็นของบงล.กรุงไทยธนกิจ (KTT) และ Barclays de Zoete Wedd (BZW) โบรกเกอร์จากอังกฤษถือหุ้นสัดส่วน 50 : 50

การเข้าไปถือหุ้น 99.99% ของฟินันซ่าใน บล.เคทีครั้งนี้ต้องใช้เงินถึง 234 ล้านบาท และสิ่งที่ฟินันซ่าได้มา คือ ใบประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และสินทรัพย์บางอย่างเช่น เงินสด ออฟฟิศ และ ที่ดิน ส่วน margin loan ได้ถูกโอนออกไปเรียบร้อยแล้ว

ภายใน บล.เคทีปัจจุบันมีเงินสด และหนี้สินอยู่บางส่วน ที่ฟินันซ่าจะต้องชำระด้วยบางส่วน เมื่อหักกลบลบหนี้ออกไปแล้วจะเหลือส่วนของผู้ ถือหุ้น ประมาณ 50 ล้านบาท "แต่มันก็มีส่วนอื่นอีก เช่น ภาษีในขาดทุนสะสม ที่สามารถนำไปหักภาษีได้ คือ ทุนจดทะเบียนทั้งหมดประมาณ 200 ล้านบาท แต่ว่าปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นเหลือแค่ประมาณ 50 ล้านบาท และขาดทุนสะสมประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้ เราสามารถนำไปหักภาษีได้" ธนาธิป วิทยะสิรินันท์ กรรมการบริหารฟินันซ่ารับผิดชอบงานวาณิชธนกิจ กล่าว

ต่อข้อสงสัย ที่ว่า "คุ้ม" หรือไม่สำหรับเม็ดเงินลงทุน 234 ล้านบาท ธนาธิป กล่าวว่า "มันมีค่าสำหรับ คนที่จะเข้าไปลงทุน และสามารถทำกำไรได้ แล้วแต่คนมองบางคนอาจจะมองว่าไม่มีค่าก็ได้"

ด้านวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ กรรมการบริหารฟินันซ่าอธิบายเสริมว่า "ตัวเงิน ที่เราจะนำไปหักภาษีในส่วนขาดทุนสะสม 150 ล้านบาท ซึ่งจะหักในอัตรา 30% ถ้าทำธุรกิจแล้วขาดทุนต่อเนื่องไป 5 ปีส่วนนี้ก็จะหายไป เราคงไม่สามารถสร้างกำไรได้ภายในปีเดียวแน่คงจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี ซึ่งมูลค่า นี้มันอยู่ ที่ว่าเราจะทำกำไรได้มากน้อยแค่ไหน"

ปัจจุบันฟินันซ่าเตรียมตัวเข้าไปดำเนินธุรกิจในบล.เคที แต่ต้องได้รับ อนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในด้านการเข้าไปเป็นกรรมการหลักทรัพย์เสียก่อน เนื่องจากฟินันซ่ายังไม่มีอำนาจ เพราะคณะกรรมการบล.เคทียังเป็นชุดเดิมอยู่

แผนการฟินันซ่าในช่วง 3 เดือนแรกจะส่งธนาธิปเข้าไปดำเนินธุรกิจด้านวาณิชธนกิจก่อน "เรามีใบอนุญาตหลักทรัพย์ 4 ใบ คือ ธุรกิจการจำหน่ายหลักทรัพย์, ธุรกิจค้าหลักทรัพย์, ธุรกิจค้าหลักทรัพย์ และธุรกิจเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ซึ่งสองใบแรกจะ link กับธุรกิจวาณิชธนกิจมากกว่า ส่วนสองใบหลังจะ link กับ brokerage ซึ่งการทำธุรกิจในบล.เคทีเราจะใช้ประโยชน์จากสองใบแรกก่อน" วรสิทธิ์กล่าว

สำหรับธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ฟินันซ่าจะเริ่มดำเนินการได้ ประมาณครึ่งปีหลัง เพราะมองว่าธุรกิจหลักทรัพย์กำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง

"ธุรกิจโบรกเกอร์กำลังอยู่ใน transition ใหญ่มาก เพราะอินเตอร์เน็ต เข้ามาพร้อมๆ กับการ liberize โบรกเกอร์ฟี เชื่อว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้า หน้าตาโบรกเกอร์จะเปลี่ยนไปมาก" ธนาธิปกล่าว

เมื่อเป็นเช่นนี้ฟินันซ่าจึงอยากจะศึกษาเพิ่มเติม เพราะข้อดีของบริษัทคือ ไม่มี overhead "เราจะเป็นบล.ใหม่ ที่เริ่มจากศูนย์ ตรงนั้น จะช่วยเราในแง่ ที่ว่า สามารถศึกษาได้เต็มที่ทั้งระบบ ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ และเข้ากับเทคโนโลยี ใหม่ๆ ได้อย่างสมบูรณ์" วรสิทธิ์กล่าว

ขณะที่ฟินันซ่าดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ในช่วงนี้จะเกิดข้อเสียในแง่ไม่มีเจ้าหน้าที่การตลาด (marketing) และส่วนแบ่งตลาด "ถ้าเริ่มตอนนี้ต้องไป ซื้อทีมมาร์เก็ตติ้ง แต่เราไม่ต้องการ" วรสิทธิ์กล่าว

ฟินันซ่ามองว่าปัจจุบันธุรกิจโบรกเกอร์ในไทยอาศัยบรรดามาร์เก็ตติ้งอย่างมาก แต่ในอนาคตอันใกล้จะไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อมีการเปิดเสรีในเรื่องค่าคอมมิชชั่น และการซื้อขายหลักทรัพย์บนอินเตอร์เน็ต

"เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนี้เราจะ ship ไปตรงนั้น เลย และหลายแห่งมองว่า จุดขายจะอยู่ ที่ brand company มากกว่าตัวบุคคล" ธนาธิปกล่าว

นอกเหนือจากนี้ฟินันซ่ามีความรู้สึกว่านักลงทุนเข้าใจ และฉลาดขึ้น โดย เฉพาะการตัดสินใจเข้าไปลงทุนโดยจะเป็นของตัวเองมากกว่าจะพึ่งพิงตัวมาร์เก็ตติ้ง

รวมทั้งนักลงทุนเริ่มพัฒนาตนเองขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีอินเตอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้องในการลงทุน เพราะเทคโนโลยีสามารถทำ ให้นักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาสามารถเข้ามีส่วนในการซื้อขายได้ง่าย และราคาถูกมากขึ้น

"การเปล ี่ยนแปลงภาวะเช่นนี้จะเป็นสิ่งที่ฟินันซ่า design การทำธุรกิจ โบรกเกอร์" วรสิทธิ์กล่าว

เมื่อจัดทัพเสร็จเรียบร้อยฟินันซ่าจะทำการเปลี่ยนชื่อจากบล.เคทีเป็นชื่อใหม่ทันที โดยการดำเนินธุรกิจภายใต้บล. ใหม่จะเป็นธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน ส่วนฟินันซ่าจะดูแลกลุ่มธุรกิจบริหารการลงทุน

อีกทั้งฟินันซ่ากำลังเจรจากับพันธมิตรให้เข้ามาร่วมลงทุนในบล.แห่ง ใหม่ แต่พันธมิตรดังกล่าวฟินันซ่าไม่สนใจบริษัท ที่เป็น investment "เราสนใจ บริษัทเทคโนโลยีหรือ distribution และเรามอง partner ไว้ 2 ราย" วรสิทธิ์ กล่าว

เมื่อฟินันซ่าแยกธุรกิจชัดเจนแล้วก็จะกลายเป็นบริษัท ที่มีโครงสร้างโฮลดิ้ง คัมปานี โดยถือหุ้นในบล.ใหม่ และถือหุ้นบริษัทบริหารกองทุนในต่างประเทศ

จากนั้น ฟินันซ่ามีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในลักษณะโฮลดิ้ง คัมปานี ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ ในระหว่างควบรวมบริษัทในต่างประเทศ ที่ถือหุ้นอยู่ให้เข้ามาถือฟินันซ่าในไทย

แนวคิดการบริหารงานของฟินันซ่าเป็นแนวคิด ที่ทันสมัย มีสถาบันการเงินใหญ่ๆ สนับสนุน และสามารถระดมทุนได้ด้วยสายสัมพันธ์ ที่มีอยู่เดิมบวก กับความสามารถในการดำเนินธุรกิจในภาวะ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.