"การสร้าง MARKET POWER ให้กับนักลงทุน"


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ความพ่ายแพ้ของระบบสังคมนิยมและการล่มสลายของระบบ CENTRAL PLANNING ทำให้ทิศทางการเติบโตของระบบเศรษฐกิจโลก กำลังจะเคลื่อนที่เข้าสู่กลไกของระบบทุนนิยมมากขึ้น ส่งผลให้การเคลื่อนที่ของทุนมีความคล่องตัวไหลไปตามอุปสงค์และอุปทานที่เกิดขึ้นจริง

หมายความว่านับแต่นี้ไป โลกทั้งโลกกำลังจะกลายเป็นหนึ่งเดียว การเชื่อมต่อกันของสิ่งของต่าง ๆ จะเป็นไปอย่างรวดเร็วการเปลี่ยนแปลงของที่หนึ่งย่อมส่งผลกระทบไปยังอีกที่หนึ่งโดยใช้เวลาไม่นานนัก หรืออาจจะเพียงเสี้ยวนาทีหนึ่งด้วยซ้ำไป

เมื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดการเงิน (FINANCIAL MARKET) ในช่วงทศวรรษ 90 เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการเติบโตของระบบเศรษฐกิจโลก ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีของระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการใช้นโยบายผ่อนปรน (DEREGULATION) แก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เคยเป็นอุปสรรคต่อตลาดการเงินสิ่งเหล่านี้นับได้ว่าเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และจะต้องส่งผลกระทบมาถึงตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศต่าง ๆ ในที่สุด

การตอบสนองต่อความก้าวหน้าของตลาดเงินจากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ได้ก่อให้เกิด "นวัตกรรมทางการเงินใหม่" (FINANCIAL INNOVATION) ซึ่งเป็นเทคนิคทางการเงินที่คิดค้นขึ้นมาในต่างประเทศ อาทิ การเกิด DERIVATIVE SECURITIES อย่าง FUTURES, OPTIONS หรือ ASSET-BACKED SECURITIES และการเกิดกิจกรรม เช่น MERGER&ACQUISTIONS, SWAP และARBITRAGE เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นับได้ว่าเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ และมีความยุ่งยากซับซ้อนต่อการที่จะเลือกลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดเราจึงจำเป็นต้องสร้าง MARKET POWER ทำให้เหนือกว่าผู้อื่น นั่นคือเราควรจะรู้เท่าทันนวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้น ประเด็นความน่าสนใจในที่นี้จึงพุ่งไปที่กระบวนการเกิดนวัตกรรม ซึ่งจะเกี่ยวข้องปัจจัยหลัก ๆ 3 ประการด้วยกัน คือ

หนึ่ง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระบบการซื้อขายที่รวดเร็ว มีความแม่นยำและสามารถรับข้อมูลได้ในปริมาณมาก หรือระบบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลและมีความซับซ้อนได้ด้วยระยะเวลาเพียงเล็กน้อย ทั้งหมดได้กลายเป็นแรงผลักดันที่สำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้ตลาดการเงินเกิดการพัฒนาอย่างเด่นชัด ยกตัวอย่างเช่น ELECTRONICS TRADING SYSTEMS ทำให้เราอาจจะซื้อขายหุ้นที่ประเทศอเมริกาได้ ในขณะที่อยู่ในประเทศไทย เป็นต้น และเมื่อตลาดทั่วโลกกำลังเดินทางเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นตัวจักรที่จะเชื่อมตลาดการเงินของประเทศต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันอีกทางหนึ่ง

สอง การเกิดเครื่องมือในการลงทุนใหม่ ๆ (TRADING VEHICLE) ซึ่งจะเป็นพาหนะในการลงทุนในตลาดการเงิน ว่าไปแล้วเครื่องมือที่เกิดขึ้นใหม่นี้ จะมีความซับซ้อนมาก จึงมีความเกี่ยวกันกับเทคโนโลยีและระบบฐานข้อมูลที่ดี เพื่อใช้ในการดำเนินการซื้อขาย หรือในการวิเคราะห์เมื่อต้องการจะลงทุน

สาม ระบบข่าวสารข้อมูล (INFORMATION) นับได้ว่าเป็นรากฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการเงินไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัจจัย 2 ที่กล่าวมาข้างต้น ข้อมูลและข่าวสารที่มีอิทธิพลต่อตลาดเงินและตลาดทุนจะถูกรวบรวม และวิเคราะห์ โดยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้ได้ผลของการวิเคราะห์ที่ลึกขึ้นและเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มา จะนำไปใช้สนับสนุนการเลือกกลยุทธ์ที่จะลงทุนในแบบต่าง ๆ

ปัจจัยทั้งสามประการนี้จะผสมปนเปกันจนกลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิด "MARKET POWER" ขึ้นในการลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของระบบข่าวสารข้อมูล นอกจากจะมีความสำคัญในตัวของมันเองแล้ว ยังมีอิทธิพลต่อเทคโนโลยี และการสร้างเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งต้องอาศัยแหล่งข้อมูลไปใช้ในการศึกษาหาเครื่องมือใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ต่อไป

ถ้าหากเรามองย้อนกลับมาที่เมืองไทย จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของตลาดไทยเองก็ก้าวขึ้นมาได้ระดับหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคโนโลยี เช่น การซื้อขายหุ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือการใช้เครื่องมือในการลงทุนใหม่ ๆ ที่นอกเหนือไปจากหุ้นสามัญ เริ่มเข้ามาให้เป็นที่รู้จักกันบ้างแล้ว เช่น การออก ADR ในอเมริกาของบริษัทเอเซียไฟเบอร์ และบริษัทกลุ่มชินวัตร คอมมิวนิเคชั่นและคอมพิวเตอร์

นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาลในการพัฒนาตลาดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนคลายเงินตราปริวรรต การเกิดกฎหมาย SIB ทำให้การบริโภคข่าวสารข้อมูลของนักลงทุนที่เป็นการอาศัยข่าววงใน ข่าวลือต่าง ๆ หรือไม่ก็เป็นข้อมูลพื้นฐานแบบง่าย ๆ ที่ยังไม่มีมาตรฐานเช่นแต่ก่อน ดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพอแล้วต่อการสร้าง "MARKET POWER" ให้กับนักลงทุน

ต่อไปพฤติกรรมการใช้ข้อมูลของนักลงทุนกำลังจะถูกแทนที่ด้วย ลักษณะข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพด้วยจำนวนที่มากขึ้น มีความหลากหลายขึ้น และจะผ่านกระบวนการวิเคราะห์และการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ โดยจะผ่านคนกลางที่คอยรวบรวมจัดเก็บและนำเสนอให้กับผู้ลงทุน อย่างเช่น นายธนาคารข้อมูล (INFORMATION BANKER) ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร (INFORMATION BUSINESS) ในลักษณ์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยอาจจะเริ่มจากเหล่านักวิชาการ หรือ ผู้ที่อยู่ในวงการสื่อสารมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์สำนักวิจัยต่าง ๆ แต่ไม่ว่าจะเกิดจากใครก็ตาม ทิศทางของธุรกิจที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารและผู้ที่เป็นนายธนาคารข้อมูล จะกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้และจะเติบโตเคียงคู่ไปกับตลาดทุนไทยในอนาคตอันใกล้นี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.