ข่าวการลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ของจำลอง ศรีเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในนามหัวหน้าพรรคพลังธรรมเมื่อเร็ว
ๆ นี้ถ้าวิเคราะห์ผลกระทบในเชิงธุรกิจเกี่ยวกับโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร
นับว่าเป็นเรื่องราวที่ไม่ธรรมดา เพราะขณะนี้ร่างสัญญาสัมปทานโครงการสองหมื่นล้านนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย
ซึ่งมีพลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดีเป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีลงมติในที่สุด
"โดยส่วนตัวนายกอานันท์ ท่านเห็นชอบในหลักการที่โครงการนี้จะแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ
ได้ แต่ถ้าไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ทันจริง ๆ คิดว่าจะมีปัญหาได้โครงการอาจจะล่าช้าไป
เพราะไม่ทราบว่าระหว่างเปลี่ยนแปลงนั้นใครจะมาดูแลแทน" บำเพ็ญ จตุรพฤกษ์
ผู้อำนวยการสำนักการโยธาเล่าให้ฟัง
โครงการรถไฟฟ้า กทม. นี้เกิดขึ้นในยุคของพลตรี จำลอง ศรีเมืองเป็นผู้ว่าฯ
กทม. เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตจราจรในกรุงเทพฯ โดยมีเส้นทางสองสาย คือ สายที่หนึ่งอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงแยกถนนสุรศักดิ์
ผ่านถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนราชดำริ ถนนสีลมระยะทาง 6 กิโลเมตร สายที่สองสายสุขุมวิท
จากแยกคลองตันถึงแยกปทุมวัน ผ่านถนนสุขุมวิท ถนนเพลินจิต และถนนพระรามที่
1 ระยะทางยาว 8.5 กิโลเมตร
ผู้ที่ได้รับสัมปทานโครงการ 30 ปีนี้คือกลุ่มธนายง ซึ่งเสนอในนามของ "บริษัท
บางกอก ทรานซิส ซิสเต็ม จำกัด" หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "บีทีเอส"
เป็นการร่วมทุนของธนายงกับบริษัทชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น
บริษัทซิโต และบริษัทดิคไค โฮฟฟ์ แอนด์ วิดมันน์จากเยอรมนี กลุ่มธนายงเป็นผู้ลงทุนเบ็ดเสร็จในโครงการนี้
100%
ศึกชิงชัยในงานประมูลครั้งนี้ กลุ่มธนายงคว้าชัยชนะได้เพราะความสามารถด้านการเงินลงทุน
2 หมื่นล้านในโครงการนี้และเทคนิคที่ใช้ระบบรถไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
และปรับอากาศ ที่มีรถ 24 ขบวนที่มีกำลังส่งผู้โดยสารได้ประมาณชั่วโมงละ 2
หมื่นคนต่อทิศทาง อีกทั้งค่าโดยสารในขณะประมูลมีอัตราต่ำกว่ารายอื่น กลุ่มธนายงเสนอเก็บเพียงคนละ
12 บาทต่อคนต่อทิศทาง
แต่เมื่อต้นปีนี้ ผลกระทบจากภาษีมูลค่าเพิ่มต่อโครงการรถไฟฟ้า กทม. ทำให้บริษัทได้ร้องเรียน
กทม. ว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น 7% และคณะกรรมการพิจารณาโครงการฯ ได้ตรวจสอบและพบว่าโครงการได้รับผลกระทบจากภาษีใหม่นี้ประมาณ
900 ล้านบาท ดังนั้นผู้บริหาร กทม. จึงให้กลุ่มธนายงกู้ยืมเงินจำนวน 500
ล้านบาทโดยไม่คิดดอกเบี้ย และใช้วิธีทยอยจ่าย 100,200 และ 200 ล้านบาท ตั้งแต่ปี
2535 จนถึงปี 2537 ตามลำดับ
"เมื่อเปลี่ยนมาใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มก็ทำให้ค่าใช้จ่ายเขาสูงขึ้นช่วงแรกทางบริษัทชี้แจงว่าสูงถึง
2 พันล้านบาท แต่เมื่อคณะกรรมการศึกษาอย่างละเอียดแล้วพบว่า สูงกว่าเดิมเพียง
900 ล้านบาท กทม. ก็ให้ธนายงกู้ยืมเงิน 5 ร้อยล้านโดยไม่คิดดอกเบี้ย"
ร.อ. กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา รองผู้ว่าฯ กทม. ฝ่ายการโยธาแถลงเหตุผลเรื่องเงินกู้ยืม
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ได้อนุมัติให้มีการขึ้นอัตราค่าโดยสารเป็น 15 บาท
ตลอดสาย ซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกับที่กลุ่ม ช. การช่างที่ร่วมกับธนบุรีพาณิชย์เสนอแล้ว
แต่ต้องมาพ่ายแพ้ให้กับกลุ่ม ธนายงในที่สุด
"ผมยืนยันได้เลยว่า ไม่มีปัญหาเพราะค่าใช้จ่ายในการสร้างอู่โรงซ่อมนั้นมีประมาณ
5 พันล้านบาท ซึ่งทางบริษัทยินดีจ่ายอยู่แล้ว 2 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือ
3 พันล้านบาทนั้น จากการหารือกันพบว่าสามารถปรับเข้าหากันได้ ผมยืนยันว่า
ไม่ได้เป็นการซุกซ่อนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ไม่ต้องห่วง ผมมั่นใจโครงการนี้เกิดขึ้น
100%" คีรี กาญจนพาสน์รับปากหนักแน่น
แท้จริงแล้วขุมทรัพย์ที่ซ่อนในโครงการรถไฟฟ้า กทม. นี้ฝังอยู่ในพื้นดินที่กลุ่มธนายงสามารถเอาไปพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ได้
พื้นที่ดังกล่าวจะนำมาสร้างเป็นอู่ซ่อมรถ (WORKSHOP) ซึ่งในตอนแรกทางกรุงเทพมหานครได้พิจารณาที่ดินอยู่
4 แห่งคือบริเวณสวนจตุจักร บริเวณซอยรางน้ำ บริเวณสวนลุมพินีและบริเวณโรงสูบน้ำพระโขนง
แต่ความปรารถนาสูงสุดของกลุ่มธนายงที่ต้องการจะได้บริเวณซอยรางน้ำก็ต้องมีอันล้มเหลวไป
เพราะที่ดินบริเวณนี้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ 25 ไร่ใจกลางเมือง ทาง กทม. ได้ทำสัญญาเช่ากับทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเวลา
30 ปีมูลค่าเช่า 300 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่วนรวม คือทำสวนสาธารณะโดยไม่หวังผลตอบแทนทางธุรกิจ
ดังนั้นการจะนำมาสร้างเป็นอู่ซ่อมรถไฟฟ้าและพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ก็ผิดวัตถุประสงค์ดังกล่าวไป
"ทางธนายงเองต้องการที่จะใช้พื้นที่ที่สวนลุมพินี และที่ช่องนนทรีเพื่อสร้างเป็นอู่หรือที่จอดรถ
เพราะที่ซอยรางน้ำนั้นไม่สามารถจะดำเนินการให้ธนายงได้ทัน เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ที่อื่นแทน
ทาง กทม. อยากที่จะให้พื้นที่ซอยรางน้ำนั้นแต่ก็ติดขัดปัญหาในหลาย ๆ ด้านถ้าไม่ติดขัดปัญหาที่ซอยรางน้ำและภาษีมูลค่าเพิ่มโครงการดังกล่าวน่าจะเสร็จไปนานแล้ว"
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงอุปสรรคล่าช้าในโครงการ
อย่างไรก็ตาม ทางกรุงเทพมหานครก็ได้พยายามหาทางออกให้กลุ่มธนายงได้ในที่สุด
พื้นที่ที่สร้างอู่ซ่อมรถจะใช้บริเวณพื้นที่ที่ช่องนนทรีจำนวน 7 ไร่ บริเวณสวนลุมพินีซึ่งเดิมจะให้
10 ไร่ก็เพิ่มเป็น 20 ไร่ และผู้รับสัมปทานสามารถสร้างเป็นอาคารพาณิชย์หรือห้างสรรพสินค้าเพื่อขายได้
รวมทั้งบริเวณที่รับส่งผู้โดยสารด้วย
ผลตอบแทนจากการพัฒนาที่ดินมูลค่ามหาศาลจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับโครงการรถไฟฟ้า
กทม. ที่กลุ่มธนายงเข้ารับสัมปทานครั้งนี้ เส้นทางสู่ความฝันของคีรี กาญจนพาสน์เริ่มก่อรูปร่างเป็นจริงขึ้น
เพียงแต่สามารถก้าวข้ามสู่ขั้นตอนการเซ็นสัญญา
กลุ่มธนายง ผู้ได้รับสัมปทานนี้จึงเสมือนไต่เส้นลวดการเมือง ที่ต้องอาศัยการประคองตัวอย่างดีมาก
ๆ รวมทั้งเร่งเซ็นสัญญาให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงสูงจากพิษการเมือง