ข่าวคราวเกี่ยวกับการแข่งขันของตลาดรถยนต์โดยเฉพาะรถบรรทุก 1 ตันหรือโดยทั่วไปมักเรียกกันว่า
"ปิกอัพ" ซึ่งปรากฏสู่สาธารณชนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยังความสนใจให้กับบรรดานักเลงรถทั้งหลายอย่างมากมาย
ทั้งนี้เพราะนอกจากราคาของรถปิกอัพจะลดลงถึงคันละประมาณ 10,000 บาทโดยเฉลี่ยแล้วก็ตาม
ในแง่ของผู้ค้าผู้ผลิตรถปิกอัพนี้ก็เริ่มปรากฏลูกเล่นในการขายรถ เพื่อการส่งเสริมการตลาดของตนเองสู่การแข่งขันชิงชัยความเป็นผู้นำตลาดรถปิกอัพในปี
2535 นี้ให้ได้
ตัวเลขคาดการณ์ตลาดรวมของรถปิกอัพในประเทศอีก 5 ปีข้างหน้านี้ คาดกันว่าจะมีปริมาณสูงถึง
300,000 คันเฉพาะในปีนี้ยอดขายจะสูงถึง 200,000 คันสูงกว่าปีที่ผ่านมานับว่าการขยายตัวของตลาดรถได้โตขึ้นประมาณ
28.7% ซึ่งคนในวงการคาดกันว่าจะเป็นปีสุดท้ายของการเจริญเติบโตสุดขีดของตลาดรถปิกอัพเลยทีเดียว
ปีหน้าตลาดจะมีอัตราถดถอยลงเป็นลำดับ แม้ว่าปริมาณยอดขายจะมีเพิ่มขึ้นทุกปีก็ตาม
แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง
จากการคาดการณ์ดังกล่าวจึงมีผลทำให้บรรดาผู้ผลิตสินค้าทั้งหลายต่างเร่งระดมความคิดความสามารถในการวางกลยุทธ์การขาย
และวางแผนการผลิตให้เหมาะสมกับแนวโน้มของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวของค่ายรถต่าง
ๆ มีผลสะท้อนต่อการแข่งขันในตลาดอย่างยิ่ง
ค่ายรถโตโยต้าในช่วง 2 เดือนหลังก่อนสิ้นปีที่แล้ว สามารถถีบตัวขึ้นสู่อันดับ
1 ได้เป็นผลสำเร็จครองสัดส่วนตลาดประมาณ 30.0% ของตลาดรถปิกอัพในขณะที่ค่ายอีซูซุตกลงมาอยู่ที่
28.6% ซึ่งเมื่อปี 33 ค่ายอีซูซุครองสัดส่วนการตลาดรถปิคอัพอยู่ประมาณ 28.1%
ส่วนโตโยต้าครองอันดับ 2 ประมาณ 28.0%
คนในวงการรถกล่าวว่าอีซูซุครองความเป็นผู้นำตลาดอันดับ 1 มานานนับจากปี
2528 เป็นต้นมา อันเป็นปีที่อีซูซุปรับเปลี่ยนรูปแบบของรถและเครื่องยนต์โดยการนำระบบไดเรกต์อินเจกชันมาใช้
ซึ่งเป็นระบบห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลแบบล่าสุดที่พัฒนาขึ้นทางด้านการสูบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปในห้องเผาไหม้บนหัวสูบโดยตรง
ทำให้การจุดระเบิดได้พลังงานเต็มที่จนเกิดการประหยัดเชื้อเพลิงหรือประหยัดน้ำมันได้ถึง
30% เมื่อเทียบกับรถยี่ห้อต่าง ๆ (ตัวเลขดังกล่าวเป็นผลการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ
บางมดเมื่อปี 2528)
การปรับปรุงสมรรถนะของเครื่องยนต์และเปลี่ยนแปลงรูปทรงตัวถังใหม่มีผลทำให้ยอดขายของรถอีซูซุบูมสุดขีดในตลาดนับแต่นั้นมา
นอกจากนี้อีซูซุยังได้ใช้กลยุทธ์ด้านราคามาเป็นยุทธวิธีในการสู้รบในตลาดรถปิกอัพ
คือการตั้งราคาสูงเพื่อภาพพจน์ที่เหนือกว่ารถยี่ห้ออื่น ๆ ในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี
30 เศรษฐกิจรุ่งเรืองสุดขีดยิ่งกลายเป็นยุคทองของอีซูซุไปและสามารถครองสัดส่วนการตลาดเป็นอันดับ
1 หลังจากที่ไม่เคยได้รับความนิยมจากตลาดมานาน
อย่างไรก็ตามในช่วง 2 เดือนก่อนสิ้นปี อีซูซุก็ได้เสียตำแหน่งแชมป์ที่ครองติดต่อกันมาถึง
5 ปีให้กับโตโยต้าไปด้วยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเรื่องภาษีรถ ทำให้อีซูซุต้องปรับตัวและลดกำลังการผลิตลงเพื่อให้เป็นไปตามแนวโน้มของตลาด
ในขณะที่ยี่ห้อคู่แข่งโดยตรงก็ยังมีปริมาณการผลิตที่เหมือนเดิมและเร่งระดมการขายรถในช่วงนั้นอย่างหนัก
มีทั้งลดแถมกันสนั่นหวั่นไหว โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้ซื้อกำลังสับสนเรื่องราคาและรอดูตลาดเพื่อให้แน่ใจว่าได้มีการปรับราคาลงตามที่รัฐบาลประกาศหรือไม่
โตโยต้าโต้กระแสนี้ด้วยมาตรการประกันราคาขาย คือหากมีการลดราคามากกว่าที่ตนกำหนดยินดีที่จะคืนเงินให้กับผู้ซื้อทันที
การไต่อันดับส่วนแบ่งตลาดของโตโยต้าในครั้งนี้ คนในวงการเล่าว่าโตโยต้าใช้ช่วงจังหวะของความสับสนวุ่นวายในกลุ่มผู้ซื้อและผู้ผลิต
อันมีผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หยุดชะงักรอดูตลาด ส่วนผู้ผลิตโดยเฉพาะอีซูซุกลับลดจำนวนการผลิตเพื่อรอดูรัฐบาลว่าจะเดินหน้าต่อหรือหยุดฟังคำทักท้วงเรื่องอัตราภาษีที่มีการเรียกร้อง
ขณะเดียวกันก็ปรับจำนวนการผลิตเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์การหยุดซื้อของผู้ซื้อในขณะนั้น
"ตามปกติปริมาณรถอีซูซุมักไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ซื้ออยู่แล้ว
ในการซื้อรถอีซูซุแต่ละคันผู้ซื้อจะต้องรอรถหลายวันกว่าจะได้รถมาใช้ เมื่อลดปริมาณการผลิตลงอาการรอรถก็ยังคงอยู่ผู้บริโภคหลายรายที่เกิดความเบื่อหน่ายวิธีการเช่นนี้ของอีซูซุ
ก็หันไปหายี่ห้ออื่น ๆ ในช่วงที่รถลงราคาทันที" แหล่งข่าวจากคนในวงการเล่าพาดพิงไปถึงการพลาดท่าของอีซูซุ
"ยอมรับว่าอีซูซุได้ลดจำนวนการผลิตลงจาก 4,500 คันต่อเดือนเป็น 3,500
คันและ 3,000 คันในเดือนสุดท้าย แต่ปัจจุบันนี้กลับเข้าสู่ภาวะปกติของปริมาณการผลิตที่ตั้งไว้ทุก
ๆ เดือนแล้วซึ่งการลดจำนวนการผลิตลงนี้เราทำเพื่อปรับให้เป็นไปตามสภาวะตลาดที่เป็นอยู่ในตอนนั้น
คือปริมาณความต้องการของผู้บริโภคลดลง
จังหวะนี้เองที่ทำให้โตโยต้ารุดหน้าไปได้เพราะเขาไม่ลดกำลังการผลิต ขณะเดียวกันเขาก็เร่งจำหน่ายออกไปโดยทุกวิถีทางที่จะทำได้
ดังนั้นจึงยอมรับว่าเราเสียตลาดให้กับคู่แข่งไปก็เพราะความสับสนในช่วง 2
เดือนสุดท้ายของปีเท่านั้น เพราะนับจากนี้ต่อไป อีซูซุจะเร่งพัฒนาเครื่องยนต์ที่เรามีอยู่เหนือกว่าและเป็นผู้นำด้านเครื่องยนต์ดีเซลมาตลอดอยู่แล้วให้แข็งแกร่งกว่าเดิม"
แหล่งข่าวจากคนเก่าแก่ของค่ายอีซูซุกล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ"
อย่างไรก็ตามตลาดรถกำลังเริ่มเข้าสู่กระแสฟื้นตัวตั้งแต่เริ่มปีใหม่เป็นต้นมา
ราคารถยี่ห้อต่าง ๆ เริ่มเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อมากขึ้น
ขณะเดียวกันการพัฒนาและปรับปรุงเครื่องยนต์ได้กลายเป็นหัวหอกของการตัดสินใจซื้อไม่แพ้ราคาเช่นกัน
ดังนั้นค่ายผู้ผลิตรถต่าง ๆ จึงเร่งระดมกำลังความคิดพัฒนาเครื่องยนต์เพื่อเป็นกลยุทธ์เด็ดในการต่อสู้ในตลาดนับจากนี้ต่อไป
ซึ่งโตโยต้าในช่วงนี้ชิงทำการประชาสัมพันธ์ตนเองอย่างมาก ว่าได้พัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลให้เหนือกว่าคู่แข่งหรือก้าวล้ำหน้าคู่แข่งถึง
2 ขั้นด้วยกันทั้ง ๆ ที่คู่แข่งเองกลับบอกว่าคำว่าก้าวล้ำหน้าคู่แข่งถึง
2 ขั้นของเขาคือของเราในตอนนี้
ทางโตโยต้าอธิบายถึงการพัฒนาขั้นตอนที่ก้าวล้ำหน้าคู่แข่งไปแล้ว 2 ขั้นคือ
ขั้นแรกระบบไดเรกอินเจกชั่นที่คู่แข่งเคยเป็นผู้นำในการนำมาใช้ในตลาดก่อนยี่ห้ออื่น
ๆ นั้น ในปัจจุบันนี้โตโยต้าได้นำจุดแข็งของระบบไดเรกต์อินเจกชั่นให้กลายเป็นจุดบอดเพื่อผลในการแข่งขันของตลาดในปีนี้
แหล่งข่าวจากโตโยต้าอธิบายว่า
"ระบบไดเรกต์อินเจกชั่นก่อให้เกิดมลภาวะและเกิดควันดำอันเนื่องมาจากการเผาไหม้ไม่หมดซึ่งจะมีผลทำให้อัตราเร่งต่ำเสียงดัง
ขณะเดียวกันหัวฉีดน้ำมันจะเกิดอาการอุดตันได้ง่ายทั้งนี้เพราะความจำเป็นในการที่จะฉีดน้ำมันให้เป็นฝอยกระจายให้มาก
หัวฉีดจึงเล็กและเกิดการอุดตันรวมทั้งสึกหรอได้ง่าย"
ปัจจุบันนี้โตโยต้าได้นำระบบสเวิร์ลแชมเบอร์ เข้ามาใช้เป็นระบบการแบ่งห้องเผาไหม้
2 ห้องคือจะมีการจุดระเบิดและเผาไหม้ส่งไปยังห้องเผาไหม้รองก่อนแล้วจึงจุดระเบิดซ้ำอีกครั้งและส่งไปยังห้องเผาไหม้หลัก
ซึ่งระบบนี้จะเห็นว่าเป็นการจุดระเบิด 2 ครั้งช่วยกันเผาไหม้เชื้อเพลิงจึงไม่เกิดควันดำและไม่ก่อให้เกิดมลภาวะที่ตามมาอีกด้วย
ขณะเดียวกันก็มีอัตราเร่งสูง การเดินเครื่องเงียบ
ส่วนขั้นตอนที่ 2 คือการใช้ระบบ DIRECT DRIVE เป็นการใช้แครงก์ชาฟต์ขับวาล์วขั้นตอนเดียวซึ่งเป็นระบบที่ใช้กับรถเก๋งแต่นำมาใช้กับรถปิคอัพทำให้มีน้ำหนักเบา
การตอบสนองของเครื่องเป็นไปในลักษณะเร็วและแรง นอกจากนี้การปิดเปิดวาล์วยังเป็นในลักษณะที่แม่นยำกว่าอีกด้วย
ซึ่งในขณะที่โตโยต้านำระบบนี้มาใช้อีซูซุยังคงเป็นระบบโอเวอร์เฮดวาล์ว
ทางโตโยต้ากล่าวว่าระบบโอเวอร์เฮดวาล์วนี้มีการตอบสนองช้า อัตราเร่งต่ำทำให้สูญเสียพลังงาน
มีตัวชิ้นส่วนต่าง ๆ ประกอบมาก น้ำหนักมาก เสียงดัง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระบบไดเร็กต์อินเจกชั่นหรือระบบโอเวอร์เฮดนั้นเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้กับรถบรรทุกแต่ระบบของโตโยต้าได้พัฒนามาจากรถเก๋ง
ว่ากันตามจริงแล้วไม่ว่าใครจะดีกว่าใครแต่จากจุดนี้ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า
นับจากนี้ต่อไปแนวทางการแข่งขันของตลาดรถในปัจจุบัน คือการพัฒนาเครื่องยนต์ให้ก้าวล้ำนำหน้ากันมากกว่าที่จะแข่งขันกันด้วยกลยุทธ์อื่น
ๆ
อย่างไรก็ตามโตโยต้าก็ได้ประกาศว่าจะครองอันดับ 1 ให้ได้ทั้งตลาดรถเก๋งและรถปิกอัพหรือตลาดโดยรวมก็ตาม
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นปีนี้โตโยต้าจะเป็นปีที่ 13 ของการครองอันดับ 1 ในตลาดรถทุกประเภทได้
ในขณะที่อีซูซุก็ตั้งเป้าไว้ว่าขอกลับคือสู่บัลลังก์เดิม