"ปรีชาทำอะไรในกลุ่มซีพี"


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อซีพีสามารถเข้าสู่การเป็นผู้ดำเนินการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายได้ นั่นหมายถึงการก้าวเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมอันเป็นเป้าหมายทางธุรกิจใหม่ของซีพีที่ไม่ได้มุ่งเฉพาะแต่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น

ซีพีสามารถใช้ตลาดเมืองไทยเป็นฐานในการดึงของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเข้ามาเป็นผู้ร่วมทุน เพื่อเจาะตลาดโทรคมนาคมเข้าสู่ประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้

ขณะที่ภาพพจน์ในอดีตของซีพีคือ ธุรกิจการเกษตรนั่นคือ เหตุผลสำคัญที่ซีพีจะต้องหาผู้ร่วมทุนที่มีความสามารถดีที่สุดในโลกทางด้านธุรกิจโทรคมนาคมเข้ามา พร้อมไปกับการสร้างภาพพจน์ใหม่สู่การเป็นบริษัทไฮเทคในระยะเวลาอันสั้น

ปรีชา ผลประเสริฐคือผู้ที่ถูกคัดเลือกให้เข้ามารับผิดชอบงานด้านนี้ ในตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส สายงานองค์กรกลางในบริษัท ซีพี เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด

ปัจจุบันปรีชาอายุ 50 ปีหลังจากเรียนจบอนุปริญญาเศรษฐศาสตร์บัณฑิตจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2503 แล้วปรีชาได้ทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยวิคตอเลีย กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์จนจบปริญญาพาณิชยศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) และได้เรียนต่อปริญญาโทด้านการพาณิชย์และบริหาร (เศรษฐกิจ) จนจบ นับเป็นคนไทยคนแรกที่จบปริญญาจากนิวซีแลนด์

ในปี 2509 ปรีชากลับมาประเทศไทยและได้เข้ารับราชการในกรมวิเทศสหการในตำแหน่งเศรษฐกรโท ต่อมาในปี 2512 จึงได้เลื่อนเป็นเศรษฐกรเอก และหัวหน้ากองโคลัมโบในช่วงที่รับราชการอยู่นั้นปรีชาได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้แทนไทยในการประชุมแผนโคลัมโบ ทั้งระดับเจ้าหน้าที่ชั้นสูงและระดับรัฐมนตรีถึง 14 ครั้ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเช่น ที่พม่า เกาหลี แคนาดา ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา เป็นต้น

หลังจากรับราชการอยู่นานถึง 6 ปี ปรีชาจึงได้ตัดสินใจลาออก และมาเข้าร่วมงานกับเชลล์เมื่อปี 2515 ในตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายวางแผนและจัดหา จากนั้นปรีชาก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ผู้จัดการวางแผนและเศรษฐกิจ ผู้จัดการควบคุมบัญชีสินค้า และผู้จัดการควบคุมรายจ่าย

และเมื่อบริษัทไทยเชลล์ฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อการสำรวจขุดเจาะน้ำมัน ปรีชาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการฝ่ายการเงินและบริหารของบริษัทไทยเชลล์ฯ จนกระทั่งได้รับตำแหน่งให้เป็นผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และเป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะบริหารของบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทยโดยดูแลงานประชาสัมพันธ์ของกลุ่มบริษัทเชลล์ในช่วงระหว่างปี 2525-2533 ก่อนที่ปรีชาจะตัดสินใจลาออกจากเชลล์โดยให้เหตุผลเพียงสั้น ๆ ว่า "ผมอยากดูว่าข้างนอกเป็นอย่างไร"

ทองฉัตร หงค์ลดารมภ์ในฐานะประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารของซีพีเทเลคอมฯ เป็นผู้ชักชวนปรีชาให้เข้ามาร่วมงานจากความคุ้นเคยกันสมัยที่อยู่ในวงการน้ำมัน

ปรีชาเล่าให้ฟังว่า "ดร. ทองฉัตรเข้ามาทาบทามผมเพราะคุ้นเคยกันในสมัยที่ท่านเป็นผู้ว่าฯ ปตท. ส่วนผมยังทำงานอยู่กับเชลล์ ท่านเห็นว่าผมเคยทำงานด้านนี้อยู่ โดยเฉพาะประสบการณ์ที่เชลล์ 18 ปีเป็นประสบการณ์ที่กว้างคือทำมาหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การบริหาร หรือวางแผน ดังนั้นงานที่นี่จึงไม่ใช่สิ่งที่ใหม่ทีเดียวแต่มันอาจแตกต่างกันบ้างกับเชลส์ และก่อนที่ผมจะตัดสินใจมาก็ได้มีการคุยกันถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในหน่วยงานแห่งใหม่นี้ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นงานที่ท้าทายมาก"

มีเหตุผลสำคัญ 2 ประการที่ทให้ปรีชาใช้เวลาตัดสินใจไม่นานในการร่วมงานกับซีพีเทเลคอมฯ

ประการแรก ซีพีเทเลคอมฯ เป็นบริษัทใหม่ที่มุ่งไปทางด้านธุรกิจโทรคมนาคมดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ จำต้องเกิดขึ้น นั่นหมายถึงธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องพัฒนาไปอีกไกลรวมทั้งโอกาสที่คนไทยจะได้รับผลประโยชน์จากการบริการด้านนี้อย่างเต็มที่

ประการที่สอง ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์เป็นคนที่ปรีชาให้ความเคารพนับถือ โดยเฉพาะความสามารถในการก่อตั้งสถาบันใหม่ ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนได้รับความสำเร็จมากยกตัวอย่างเช่นการทางฯ ปตท. ปตทสผ. ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ปรีชาต้องการเข้ามาเรียนรู้ด้วย

สายงานองค์การกลางเป็นสายงานใหม่ที่ขึ้นตรงต่อทองฉัตร หงค์ลดารมภ์ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทฯ นอกเหนือจากสายงานจากโครงสร้างที่มีอยู่เดิมคือสายงานด้านบริหารและการเงินซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของวีรวัฒน์ กาญจนกุลและสายงานทางด้านบริหารเครือข่ายซึ่งมีวัลลภ วิมลวณิชย์เป็นผู้ดูแล

ในขอบข่ายสายงานองค์กรกลางที่ปรีชารับผิดชอบดูแลอยู่นั้นจะแบ่งออกเป็น 6 ฝ่ายด้วยกันคือ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และราชการสัมพันธ์ ซึ่งทำหน้าที่ในการติดต่อกับหน่วยราชการและองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาคม มูลนิธิ ประชาชน หรือสื่อมวลชน

ฝ่ายสำนักงานเลขานุการจะทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องการประชุมของคณะกรรมการบริหาร รวมถึงงานรวบรวมเอกสารต่าง ๆ ของบริษัท

ฝ่ายลงทุนและร่วมทุนมีหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องการลงทุน และร่วมทุนกับบุคคลภายนอกหรือซัพพลายเออร์ที่จะเข้ามาสนับสนุนในโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้าน เพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมายและในระยะเวลาที่กำหนด

ฝ่ายพิธีการ จะทำหน้าที่ในการต้อนรับบุคคลภายนอกอย่างกรณีเช่นแขกจากต่างประเทศ รวมทั้งการจัดทำปฏิทินหรือการ์ดอวยพร

ฝ่ายวิจัยและพัฒนา จะวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับสินค้าและบริการของบริษัทฯ รวมถึงสินค้าใหม่ ๆ ทางด้านโทรคมนาคมที่จะนำเข้ามาในอนาคตอย่างเช่นโทรศัพท์เคลื่อนที่แฟกซ์ หรือวีดิโอโฟน

ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ จะรับผิดชอบในการศึกษาหาธุรกิจใหม่ ๆ ประเภทอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคม แต่เป็นกิจการพิเศษที่น่าสนใจที่สามารถทำให้บริษัทเจริญก้าวหน้าต่อไป

ถ้าดูจากขอบข่ายความรับผิดชอบแล้ว งานในสายงานองค์กรกลางสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสายงานอื่น โดยเฉพาะเรื่องของภาพพจน์และแผนงานสร้างธุรกิจใหม่ให้กับบริษัท

มันเป็นความฉลาดของซีพี ที่ทราบดีว่าธุรกิจการให้บริการกับคนผู้ใช้บริการอันมหาศาลตนเองไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน โอกาสพลาดมันมีได้เสมอ แม้ระบบจะมีประสิทธิภาพสูงเพียงใด

"ผมว่าทางซีพีตระหนักในบทเรียนภาพพจน์ของตัวเองในธุรกิจอุตสาหกรรม จึงได้ดึงปรีชามาจากเชลล์" แหล่งข่าววิเคราะห์การมาของปรีชาในกลุ่มซีพี

สิ่งแรกที่ปรีชาพิจารณาร่วมกับคณะบริหารของบริษัทฯ หลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสในเดือนธันวาคมคือการเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก "ซีพีเทเลคอมมิวนิเคชั่น" เป็น "เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น"

ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายสู่การเป็นบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมทั้งการสร้างภาพพจน์ใหม่ให้บริษัทฯในขณะที่ไม่มีชื่อของซีพีเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เน้นถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางด้านโทรคมนาคมโดยมีจุดแข็งทางด้านการเงินของซีพี เป็นหน่วยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

นั่นหมายถึงภาระสำคัญของปรีชาในการสร้างภาพพจน์ของเทเลคอมเอเซียฯ ให้ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจไฮเทคในอนาคตอันสั้นให้จงได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.