วาณิชธนากรสาวชาวสงขลาคนนี้เพิ่งเข้ามาสู่วงการเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา แต่สามารถสร้างผลงานจนได้รับความยอมรับเป็นอย่างดีว่าไปแล้วเธอลุยงานในวงการแบงกกิ้งที่สหรัฐฯ
โดยเฉพาะย่านซานฟรานซิสโกและมารีนเคาน์ตี้มาอย่างช่ำชองหลายปี ถึงขนาดที่ว่าเธอสามารถกลับไปร่วมงานกับสุมิโตโมแบงก์ที่สำนักงานในซานฟรานฯ
เมื่อไรก็ได้ เพราะธนาคารแห่งนี้ยินดีต้อนรับเธอตลอดเวลา !!
ฐานะรัตน์ ภูมิพาณิชย์พงษ์ ผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจธนาคารกรุงไทยเปิดเผยกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "ฝ่ายวาณิชธนกิจของแบงก์ตั้งมาตั้งแต่เมื่อปี
2531 ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีรายละเอียดมากนักว่าจะทำอะไร ส่วนมากที่ทำเป็นเรื่องการให้กู้ร่วม
(SYNDICATION) เช่น โครงการทางด่วนขั้นที่สอง พอมีนาคมปี 2532 ก็เข้ามาทำงานในฝ่ายนี้ก็มาดูว่าคงจะทำในเรื่องการให้กู้ร่วมนี่แหละ
แต่จะเน้นไปทางโปรเจกต์ไฟแนนซ์"
ผลงานของฝ่ายวาณิชธนกิจในระหว่างปี 2532-2534 เป็นที่น่าพอใจมาก ปี 32
สามารถทำวงเงินได้ 5,869 ล้านบาท ปี 33 เพิ่มขึ้นเป็น 7,428 ล้านบาท และปี
34 ที่ผ่านมาลดลงเล็กน้อยเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็ยังอยู่ในอัตราสูงคือ
7,000 ล้านบาท (ดูตารางผลงานฝ่ายวาณิชธนกิจธนาคารกรุงไทย)
บทบาทที่วาณิชธนกิจแบงก์กรุงไทยเข้าไปร่วมส่วนมากเป็นหน้าที่ที่สำคัญทั้งสิ้นเพราะความที่เป็นแบงก์ใหญ่สุดของประเทศ
ฐานะรัตน์เล่าว่า "ในปี 32 ส่วนมากเราทำหน้าที่เป็น CO-MANAGER พอปี
33 เราได้บทบาทที่เป็นที่รู้จักมากขึ้นอย่างในกรณีโครงการเคเบิลใต้น้ำของ
บ. จัสมิน ซับมารีน เทเลคอมมิวนิเคชั่น เราทำหน้าที่เป็นทั้ง CO-ADVISER,
ARRANGER และเป็น LEAD ด้วยซึ่งโครงการนี้เราจัดหาเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท
เป็นเงินในประเทศทั้งหมด"
ปี 34 ต่อมาได้ทำหน้าที่เป็น FINANCIAL ADVISER, JOINT VENTURE ซึ่งฐานะรัตน์กล่าวว่า
"ในปี 35 นี้มีโปรเจกต์เรื่อง M&A อยู่ 2 รายที่คิดว่ามีความเป็นไปได้สูงมาก
อาจจะมีพาร์ตเนอร์ต่างประเทศเข้าร่วมด้วย M&A นี่ถือเป็นเป้าหมายที่เราพยายามจะทำในปีนี้
ส่วนการให้กู้ร่วมนั้นถือเป็นอาหารหลักซึ่งพนักงานของเราก็สามารถทำได้อยู่แล้ว"
นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับแบงก์ที่สามารถขยายงานวาณิชธนกิจให้เติบโตก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ
ฐานะรัตน์เปิดเผยด้วยว่า "ผลกำไรของฝ่ายนี้ก็เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีในตัวเลขหลายสิบล้านบาท
เมื่อปีที่ผ่านมาก็ได้เฉียด 100 ล้านบาททีเดียว"
ผลงานขนาดนี้เมื่อมาดูกำลังคนแล้วก็สมน้ำสมเนื้อกันอยู่ ฝ่ายวาณิชธนกิจของแบงก์มีพนักงานรวม
22 คน แต่ปฏิบัติการจริง ๆ แค่ 13 คน อีก 9 คนเป็นของส่วนกลางที่ทำหน้าที่พิมพ์ดีด
ทะเบียนและสารบัญ
กล่าวได้ว่าแบงก์กรุงไทยประสบความสำเร็จพอสมควรในผลงานของฝ่ายนี้ที่แม้จะตั้งขึ้นมาเพียง
4 ปีแต่ก็สามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำไม่แพ้วาณิชธนกิจที่อื่น ๆ
ความสำเร็จนี้ฐานะรัตน์กล่าวว่า "มันเกิดจากการที่ผู้ใหญ่เพื่อนร่วมงานในวงการให้การสนับสนุน
อย่างการได้ลูกค้านี่ส่วนมากมาทางผู้ใหญ่หรือเพื่อน ๆ เช่นโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์เกิดมาตั้งแต่ตอนที่
ดร. ปัญญา ตันติยวรงค์เป็นรักษาการผู้จัดการฝ่ายอยู่ เป็นคนแนะนำให้รู้จักกับทาง
WARDLEY CAPITAL ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้โครงการ ส่วนปัญจพลนั้นก็เป็นลูกค้าติดต่อกันมาก่อนทางบริษัทจัสมิน
อินเตอร์เนชั่นแนลนั้นประธานฯ บริษัทคือ ดร. อดิศัย โพธารามิกก็เป็นรุ่นพี่
ดร. ปัญญา"
อาจกล่าวได้ว่าฝ่ายวาณิชธนกิจของกรุงไทยแบงก์ยังไม่มีส่วนงานที่เรียกว่าฝ่ายการตลาดอย่างจริงจังเพื่อทำหน้าที่หาลูกค้ามาป้อน
ว่าไปแล้วงานการตลาดอาจจะยังไม่จำเป็นเวลานี้เพราะการให้กู้ร่วมที่เป็นอยู่ในตลาดปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยแบงก์พาณิชย์หลาย
ๆ แห่งร่วมกันโดยเฉพาะกรณีที่เป็นการกู้จำนวนหลายพันล้านบาทขึ้นไป
นอกจากนี้บทบาทของวาณิชธนกิจที่นี่ยังไม่มีภาระที่สลับซับซ้อนจนเกินไปนัก
อาจจะเพิ่งเริ่มในปีนี้ที่มีการทำ M&A
ฐานะรัตน์เล่าถึงบทบาทต่าง ๆ ที่จะดำเนินการในปี 2535 ว่า "กรณีโทรศัพท์
1 ล้านเลขหมายของกลุ่มจัสมินฯ กรุงไทยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาร่วมทางการเงิน
มีภัทรธนกิจและกสิกรไทยร่วมด้วยแต่ยังไม่ได้แบ่งหน้าที่กันชัดเจน ส่วนบริษัทไทยโอเลฟินส์นั้นเป็นการค้ำประกันวงเงินกู้
มีแบงก์พาณิชย์ร่วมเป็นอันเดอไรเตอร์อีก 5 แบงก์ มี PORTION ประมาณ 200 กว่าล้านเหรียญ
กรณีนี้แบงก์ไทยร่วมกันการันตีให้เอ็กซิมแบงก์จากอเมริกาญี่ปุ่นและเกาหลี"
ส่วนโครงการขนส่งน้ำมันทางท่อของบริษัทขนส่ง น้ำมันทางท่อและบริษัทขนส่งน้ำมันปิโตรเลียมไทยนั้นยังคุยกันอยู่
"เรากำลังเริ่มดู PACKAGE ยังคุยกันอยู่ แต่เราคงจะทำหน้าที่เป็น LENDER"
ฐานะรัตน์กล่าว
บทบาทที่สลับซับซ้อน ซึ่งกรุงไทยจะเริ่มทำในปีนี้ว่าไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องยากลำบากสำหรับฐานะรัตน์ซึ่งมีประสบการณ์ด้านนี้มากพอสมควรกับวัย
37 ปีของเธอ
ฐานะรัตน์เดินทางไปเรียนสหรัฐฯ ตั้งแต่จบมัธยม 8 ในกรุงเทพฯ เหตุที่ไปนั้นเธอเล่าว่า
"เพราะแม่ชวน และสอบเข้าคณะแพทย์ฯ ที่จุฬาฯ ไม่ได้ด้วย แต่เมื่อไปเรียนที่มหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกเข้าจริง
ๆ ก็ไม่ได้เรียนแพทย์ กลับไปเรียนเรื่องการเงินการธนาคาร"
หลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้วยเวลารวดเร็วเพียง 2 ปีครึ่ง ฐานะรัตน์ก็เรียนต่อปริญญาโทบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัย
GOLDEN GATE ทันทีใช้เวลาเพียง 1 ปีก็สำเร็จ
ระหว่างเรียนที่มหาวิทยาลัยซานฟรานฯ ปีสุดท้าย ฐานะรัตน์สมัครเข้าทำงานอยู่ด้านปฏิบัติการ
(OPERATION) กับธนาคารครอกเคอร์ เนชั่นแนล จนได้เป็นผู้จัดการเมื่อเรียนปริญญาโท
ครั้งสำเร็จการศึกษาเธอกลับมาเมืองไทยปี 2526 เข้าทำงานกับฝ่ายพัฒนาธุรกิจที่ธนาคารกสิกรไทย
ทำอยู่ได้ปีเดียวก็กลับไปสหรัฐฯ ด้วยความตั้งใจที่จะเรียนต่อปริญญาเอกแต่ความตั้งใจนั้นเป็นหมันเมื่อสุมิโตโมแบงก์
ออฟ แคลิฟอร์เนีย เริ่มตั้ง LOAN PRODUCTIONCENTER ที่ซานโฮเซ่ ฐานะรัตน์ได้ไปสมัครและเข้าทำงานที่นั่นแทน
ฐานะรัตน์ให้เหตุผลว่า "เคยดูงานแบงก์ทางอเมริกามาแล้ว ก็อยากจะดูของแบงก์ญี่ปุ่นบ้าง
และช่วงนั้นแบงก์ญี่ปุ่นก็ติดทอปเทนเป็นอันดับหนึ่งในโลกด้วย"
ฐานะรัตน์ทำงานกับสุมิโตโมแบงก์ 4 ปี เธอเล่าว่า "2 ปีแรกเป็นเจ้าหน้าที่เครดิตส่วนช่วง
2 ปีหลังเป็นช่วงที่ทำงานสนุกมาก คือย้ายเข้ามาอยู่ที่ OFFICE OF THE PRESIDENT
ทำทั้งสอนหนังสือคือสอนเรื่องเครดิตให้กับพนักงานที่จะไปเป็นผู้จัดการแล้ว
ก็ทำ CORPORATE BANKING ด้วยโดยไปเปิดตลาดใหม่ให้ธนาคารทางแถบ MARINE COUNTY"
มารีนเคาน์ตี้เป็นถิ่นที่อยู่ของคนรวยผิวขาว ซึ่งอยู่คนละฝั่งกับซานฟรานซิสโก
ต้องข้ามสะพานโกลเด้น เกทไป ในถิ่นนี้ไม่มีสาขาของสุมิโตโมแบงก์ แต่ทางแบงก์เช่าออฟฟิศให้ฐานะรัตน์แห่งหนึ่งเพื่อทำเป็นศูนย์แล้วให้รถยนต์
น้ำมัน เงินเดือน เพื่อที่จะมาขยายงานที่นี่
ฐานะรัตน์เล่าว่า "ทางประธานฯ เลือกคนมา 3 คนจากทั้งแบงก์ เพื่อที่จะส่งไปอยู่ที่มารีนเคาน์ตี้
ที่เฮย์เวิร์ดและที่ สนง. ใหญ่ งานที่มารีนเคาน์ตี้หนักหน่อยคือต้องไปเปิดตลาดไปหาโครงการ
เงินฝาก เงินกู้แต่ทางเฮย์เวิร์ดนั้นไปหาเฉพาะเงินกู้เพราะเขามีสาขาอยู่แล้ว"
การทำงานปีสุดท้ายกับสุมิโตโมแบงก์ที่มารีนเคาน์ตี้ของฐานะรัตน์ เป็นสิ่งที่เธอภูมิใจมาก
เพราะสามารถทำงานได้ทะลุตามเป้าหมายที่แบงก์กำหนด เธอขับรถวันหนึ่ง 300-400
ไมล์เพื่อที่จะไปหาข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าบางครั้งไปไกลถึงซาคราเมนโต
เมื่อบุกเบิกงานได้สำเร็จฐานะรัตน์ก็ลาออกกลับเมืองไทยเธอเล่าว่า "ผู้จัดการฝ่ายบุคคลพาไปเลี้ยงแล้วบอกว่า
สำหรับฐานะรัตน์จะกลับไปทำงานที่สุมิโตโมอีกเมื่อไหร่ก็ได้"
คำพูดนี้เป็นสิ่งน่าภาคภูมิใจสำหรับคนที่ชอบทำงานและสนุกกับงานอย่างฐานะรัตน์
เมื่อกลับมาเมืองไทยครั้งที่สอง เธอเริ่มสมัครงานกับแบงก์กรุงไทยเป็นแห่งแรก
และก็ได้มาเป็นผู้บุกเบิกงานวาณิชธนกิจจนทุกวันนี้