|

กลยุทธ์การตลาด:Microsoft ซื้อ yahoo! เพราะกลัว Google
ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 กุมภาพันธ์ 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
และแล้วข่าวลือ ก็กลายเป็นความจริง ในที่สุด ไมโครซอฟท์ร่อนจดหมายถึงกรรมการบริหารยาฮู ยักษ์ใหญ่โลกอินเทอร์เน็ตเบอร์สอง เสนอซื้อยาฮูด้วยเงินสดและหุ้นรวมมูลค่า 4.46 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
จุดประสงค์ที่ชี้แจง คือหวังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันบนโลกบริการออนไลน์เพื่อชนกับกูเกิล
จดหมายเสนอซื้อยาฮูของไมโครซอฟท์ถือเป็นวิธีใหม่เพื่อการปราบยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลที่เหนือความคาดหมายของทุกคน โดย สตีฟ บอลเมอร์ ระบุในจดหมายว่าเสนอซื้อยาฮูด้วยราคา 31 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น สูงกว่ามูลค่าปิดตลาดของหุ้นยาฮูเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาถึง 62 เปอร์เซ็นต์
ข่าวนี้ส่งให้มูลค่าหุ้นของยาฮูพุ่งสูงขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ทันทีที่ประกาศ โดยการซื้อยาฮูจะทำให้ไมโครซอฟท์มีเสิร์ชเอ็นจิ้นทรงพลังสำหรับต่อสู้กับกูเกิล พ่วงท้ายด้วยบริการเว็บพอร์ทัลยอดนิยมทั้งอีเมล ร้านขายสินค้า และข่าวสารออนไลน์ จุดนี้ไมโครซอฟท์เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และอาจนำไปสู่การสร้างโซลูชั่นเยี่ยมสำหรับผู้บริโภค บริษัทสิ่งพิมพ์ และนักโฆษณาได้เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ยาฮูมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น
การเสนอซื้อครั้งนี้ ถือเป็น "รอบสอง" แล้ว
ตามรายงานจากสำนักข่าวเอพี บอลเมอร์เล่าในจดหมายถึงกรรมการบริหารยาฮู ว่าเคยได้รับจดหมายจากประธานยาฮูเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2007 เนื้อความในจดหมายระบุชัดว่า
"เวลานั้นไม่ใช่ช่วงที่ควรระดมผู้ถือหุ้นยาฮูมาพิจารณาเรื่องการตัดสินใจควบรวมบริษัท"
เหตุผลคือกรรมการบริหารของยาฮูให้ความสำคัญกับ "ความสามารถของบริษัท" เหนือสิ่งอื่นใด ดังนั้นจึงอยากรอดูผลความสำเร็จจากกลยุทธ์ที่ยาฮูวางแผนไว้ เช่นโปรเจกต์ปานามา (Project Panama) รูปแบบธุรกิจโฆษณาออนไลน์แนวใหม่ของยาฮู และการปรับโครงสร้างบริษัท
"หนึ่งปีผ่านไป สถานการณ์การแข่งขันของยาฮูไม่ดีขึ้น" บอลเมอร์ ระบุ
โดยเชื่อว่าการควบรวมครั้งนี้จะทำให้ยาฮูลดต้นทุนการดำเนินงานลงได้อย่างน้อย 1 พันล้านเหรียญต่อปี และยื่นข้อเสนอว่าจ้างทีมวิศวกร หัวหน้างาน และพนักงานของยาฮูทั้งทีม
ไมโครซอฟท์เสนอซื้อหุ้นของยาฮูด้วยเงินสดและหุ้นของไมโครซอฟท์ในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง ผู้ถือหุ้นยาฮูสามารถเลือกรับค่าตอบแทนระหว่างสินทรัพย์ทั้งสองได้ และเชื่อว่าการควบรวมจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2008
ภายในวันเดียวกันที่ไมโครซอฟท์ประกาศซื้อยาฮู เทอร์รี่ ซีเมล ประกาศเปิดหมวกลาเก้าอี้ประธานยาฮูแล้วหลังจากลาออกจากตำแหน่งซีอีโอเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว โดย รอย บอสต็อค หนึ่งในทีมผู้บริหารยาฮูจะเข้ารับช่วงแทน
ก่อนหน้านี้ ยาฮูประกาศแผนลอยแพพนักงานราว 1 พันคนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้บริษัท โดยรายได้ยาฮูประจำปี 2007 นั้นเพิ่มขึ้นราว 8 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่กำไรสุทธิกลับลดลงเหลือ 660 ล้านเหรียญจาก 751 ล้านเหรียญในปี 2006
หลังจากข่าวนี้ออกมาวันเดียว ซีอีโอของกูเกิลก็ยกหูตรงถึงนายเจอร์รี่ หยาง เพื่อหว่านล้อมให้ยาฮู ไม่รับข้อเสนอจากไมโครซอฟท์
และเมื่อพิจารณาประมาณ 1 สัปดาห์ ยาฮูได้ "ปฏิเสธ" ไมโครซอฟท์ไป
ทางคณะกรรมการบริษัท ยาฮู เตรียมจะส่งจดหมายถึง บริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น เมื่อวันจันทร์ ที่ 11 ก.พ. เพื่ออธิบายเหตุผลของการตัดสินใจที่ไม่ยอมขายกิจการให้ หลังจากที่ตกเป็นข่าวว่า ไมโครซอฟท์ได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการเว็บไซต์ชื่อดังระดับโลกเมื่อหลายวันก่อน
ยาฮูมองว่าราคาที่ได้นั้น ประเมินมูลค่าบริษัทยาฮู "ต่ำไปมหาศาล" (Substantial Undervaluation)
ราคาหุ้นที่ไมโครซอฟท์เสนอมาที่หุ้นละ 31 เหรียญสหรัฐ หรือราว 1,000 บาทนั้น ทางผู้บริหารของยาฮูเห็นว่า ไมโครซอฟท์พยายามจะฉวยโอกาสเข้ามาซื้อหุ้นตอนที่ราคาตก และยาฮูก็ไม่พร้อมที่จะพิจารณาข้อเสนอที่ให้ราคาหุ้นต่ำกว่า 40 เหรียญสหรัฐ หรือราว 1,300 บาท/หุ้น ขณะที่นักวิเคราะห์ก็ยังไม่แน่ใจว่าไมโครซอฟท์จะยอมจ่ายเพิ่มถึง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือไม่ จากเดิมที่เสนอซื้อไป 44,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 1,500,000 ล้านบาท
ไมโครซอฟท์เดินหน้าต่อ โดยยืนยันว่าราคาที่เขาเสนอให้นั้น "เต็มที่และยุติธรรม" (Full & Fair) แล้ว
และกล่าวว่าหลังจากนี้ จะต้องใช้ "สงครามจิตวิทยา" ในการทำให้การเทกโอเวอร์ครั้งนี้สำเร็จ
เหตุการณ์จะลงเอยอย่างไร?
ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญนี้ของไมโครซอฟท์ สะท้อนให้เห็นถึงอะไรบ้าง?
บทวิเคราะห์
การสัประยุทธ์กันในยุทธจักรอินเทอร์เน็ตดุเดือดเลือดพล่านเป็นแน่ เมื่อยักษ์ต่อยักษ์ชนกันสนั่นโลก
การเดินเกมของไมโครซอฟท์ครั้งนี้ถือว่าเป็นการวางหมากครั้งสำคัญ เพราะหากเทกโอเวอร์ยาฮูประสบผลสำเร็จ บริษัทของมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกจะแผ่อิทธิพลอย่างยิ่งยวดในยุคอินเทอร์เน็ต
ย้อนหลังสักสิบปีก่อนหน้านี้ บิล เกตส์ ไม่เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็น Platform ที่ได้รับความนิยมมากมายขนาดนี้ เขาเขียนในหนังสือ The Road Ahead ในทำนองไม่เชื่อมั่นในอินเทอร์เน็ต
ดังนั้นเมื่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็น platform ที่จะเข้ามาแทนที่พีซีในอนาคต ซึ่งก็หมายความว่าจากนี้ไปการเข้าอินเทอร์เน็ตไม่จำเป็นต้องเข้าจากพีซี จะเข้าจากมือถือ ปาล์ม หรือกระทั่งพีซีก็ไม่จำเป็นต้องมีวินโดวส์อีกต่อไป
ความสำคัญของระบบปฏิบัติการจะลดน้อยถอยลง ซอฟต์แวร์จะแจกฟรีกันผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้นในอนาคต
ไม่ว่าไมโครซอฟท์จะพยายามเข้าสู่อินเทอร์เน็ตสักเพียงใด ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ยกเว้นในส่วนที่ไม่สามารถหารายได้เป็นกอบเป็นกำ เช่น Instant Messaging และอีเมล (ซึ่งก็เพิ่งเพิ่มพื้นที่ให้เป็น 5 GB เมื่อไม่นานมานี้เอง หลังจากยาฮูให้ไม่จำกัดและจีเมลให้กว่า 6 GB)
ขณะที่อิทธิพลของ Google เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปริมณฑลของSearch ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 62% ขณะที่ยาฮู 12.8% และไมโครซอฟท์เพียง 2.9% เท่านั้น ซึ่งในส่วนของ Search จะนำไปสู่การขายโฆษณาแบบ Target Advertising นั่นคือเมื่อค้นหาเรื่องอะไร โฆษณาก็จะขึ้นประกบทันที ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีใครชิงตำแหน่งไปจาก Google ได้
หากเทคโนโลยีของ Google กลายเป็นมาตรฐานก็อาจทำให้ Google กระชับอิทธิพลยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งก็หมายความว่าในอนาคตก็จะไม่มีใครหยุด Google ได้
ขณะที่ Google รุดหน้าไปเรื่อยๆ ทั้งยาฮูและไมโครซอฟท์ไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความก้าวหน้าเลย ยาฮูย่ำแย่หนัก จากที่เคยเป็นเว็บชั้นนำก็ถดถอยไปเรื่อยๆ ไม่เคยซื้อเว็บยอดนิยมอื่นๆได้สำเร็จเลย ทั้ง youtube และ facebook ส่วนไมโครซอฟท์ก็มะงุมมะงาหลา หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆโดยที่ไม่มียุทธศาสตร์อินเทอร์เน็ตชัดเจน อิทธิพลและความมั่งคั่งของไมโครซอฟท์จะลดลง
การเสนอซื้อยาฮูด้วยเงินมหาศาลครั้งนี้ ทั้งๆ ที่หากผนวกกิจการได้จริงๆ ก็จะมีธุรกิจที่ซ้ำซ้อนกันเยอะ และคนเก่งๆ ของยาฮูก็ไม่อาจอยู่ร่วมกับไมโครซอฟท์ได้
ไมโครซอฟท์เองก็รู้ แต่ยังเสนอซื้อยาฮูในราคาสูง
แสดงให้เห็นถึงความหวั่นวิตกที่มีต่ออิทธิพลของ Google
ด้าน Google ก็ไม่อยากให้ดีลนี้สำเร็จ เพราะไมโครซอฟท์จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตที่น่ากลัว เหมือนเมื่อครั้งที่ครอบครองระบบปฏิบัติการพีซีสำเร็จมาแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|