แรงตั้งใจจริงสนับสนุนคนทำงานศิลปะ-การละครด้วยการสร้างหอประชุมเพื่อเป็นเวทีเสนอผลงานดีมีคุณภาพต่อคนดูของศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณ
เป็นจริงขึ้นแล้วด้วยความพยายามมานานกว่า 5 ปี
ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณเกิดจากผู้บริหารของบริษัท แปลน อาคิเต็คเห็นว่ามีคนจำนวนมากที่ต้องการทำงานศิลปะ
แต่บางครั้งได้แต่อยู่ในความคิดไม่มีโอกาสลงมือทำหรือบางครั้งติดปัญหาเรื่องไม่มีสถานที่หรือเวทีละคร
บริษัทแปลนฯ จึงต้องการส่งเสริมให้คนด้อยโอกาสและคนที่ไม่มีชื่อเสียงแต่ว่ามีความตั้งใจทำงานให้ได้มีโอกาสในการแสดงออก
หอประชุมแห่งนี้มีขนาดเล็กเพียง 14 คูณ 19 ตารางเมตร มีเนื้อที่จุคนดูได้สูงสุดเพียง
250 คนเท่านั้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตที่การจัดกิจกรรมของศูนย์ฯ ต้องใช้ห้องโล่งไร้เครื่องปรับอากาศบนชั้น
5 ของบริษัท แปลนฯ เป็นที่เสวนาระหว่างคนทำงานศิลปะ และด้านการแสดงก็จัดได้เพียงการแสดงดนตรีประเภทโฟล์กซองเท่านั้น
การเกิดหอประชุมแห่งนี้ถือว่าช่วยให้การจัดกิจกรรมของศูนย์ฯ มีขอบเขตได้กว้างขวางขึ้นโดยเฉพาะละครเวที
ถึงแม้ว่ากลุ่มละครที่จะลงโรงแห่งนี้ได้ต้องเป็นโปรดักชั่นขนาดเล็กเพราะเงื่อนไขเรื่องสถานที่
มิเช่นนั้นแล้วจะขาดทุนสูงก็ตาม แต่สำหรับในภาวะที่บ้านเราขาดแคลนเวทีละครอย่างหนัก
การเกิดสถานที่เพิ่มขึ้นหนึ่งแห่งก็ถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายดีสำหรับคนทำละคร
"งานศิลปะมิใช่งานการกุศลที่คนจะเห็นค่อนข้างชัดว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
เพราะฉะนั้นคนที่จะเห็นคุณค่าของศิลปะ เห็นว่าเป็นความจำเป็นของสังคมยังมีไม่มากนัก
เราจึงต้องพยายามดิ้นรนช่วยตัวเอง" รัศมี เผ่าเหลือทอง บอกเล่าถึงความทุลักทุเลของเหล่าศิลปินละครเวทีกับ
"ผู้จัดการ"
การทำละครเวทีต่างกับการทำละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ในเรื่องของค่าใช้จ่าย
เพราะละครเวทีเป็นการเล่นสด ๆ ไม่มีการบันทึกเทปหรือบันทึกลงแผ่นฟิลม์ ซึ่งสามารถนำกลับมาฉายใหม่ได้ทุกครั้งที่ต้องการ
โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินลงทุนใหม่เฉกเช่นละครเวทีต้องประสบ ซึ่งบางครั้งการนำละครเวทีเรื่องเก่ามาเล่นซ้ำใหม่ค่าใช้จ่ายอาจจะสูงกว่าเดิมตามสภาวะค่าครองชีพที่แปรเปลี่ยน
"การทำละครต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงไม่เฉพาะเมืองไทย เมืองนอกก็เป็น อย่างเช่น
เยอรมนีถ้าไม่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐ หรือ จากเมือง จากชุมชน หรือเทศบาล ต้องเจ๊งแน่
ๆ เลย หรือแม้แต่ในอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ก็มีปัญหา เพราะละครเป็นงานใช้ได้ครั้งเดียว
ถ้านำกลับมาเล่นใหม่ก็ต้องเริ่มต้นทุกอย่างใหม่หมด" รัศมีกล่าว
ก่อนหน้าที่หอประชุมจะเสร็จคนทำงานของศูนย์ฯ มีเพียง 5 คน เท่านั้น คือ
ผู้อำนวยการผู้จัดการ ประชาสัมพันธ์ และธุรการ 2 คน แต่ในขณะนี้จำเป็นต้องเพิ่มช่างเทคนิคสำหรับหอประชุมอีก
2 คน ส่วนเรื่องเงินเดือนของคนทำงานศูนย์ฯ ได้มาจากเงินปันผลของผู้ถือหุ้นในบริษัทแปลนฯ
ถือได้ว่าฯ ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณเกิดจากความจริงใจของผู้บริหารอย่างแท้จริงที่ไม่ได้หวังผลทางด้านธุรกิจและการประชาสัมพันธ์ใด
ๆ
อย่างไรก็ดีการไม่หวังกำไร ก็มิใช่ว่าทางศูนย์ฯ จะเพิกเฉยการหารายได้เข้ามาจุนเจือรายจ่ายเสียทีเดียว
รายได้ทางหนึ่งที่ทางศูนย์คิดว่าจะเป็นไปได้คือการเปิดให้เช่าสถานที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องพิจารณารายละเอียดเนื้อหาของการแสดงว่าไม่ผิดหลักการของศูนย์ฯ
"คือไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่เราชื่นชอบเสมอไป แต่ต้องเป็นงานที่รับผิดชอบต่อคนดูไม่ใช่หวังเอาสตางค์อย่างเดียว
เราอยากเห็นการสร้างงานที่มีคุณภาพดีเกิดขึ้น คนทำอาจจะอยู่ในขั้นเริ่มต้น
ประสบการณ์ไม่มาก แต่ว่ามีความตั้งใจดีอย่างนี้เราสนับสนุน" รัศมีเล่า
วิธีคิดพิจารณาคัดเลือกการเช่าศูนย์ฯ ซึ่งจะมีเฉพาะเงินจ่าย ค่าเช่าเท่านั้นไม่พอ
รายได้อีกทางคือการจัดแสดง ซึ่งทางศูนย์ฯ วางแนวแก้ปัญหาข้อจำกัดเรื่องคนดูคือต้องเพิ่มจำนวนรอบการแสดงให้มากขึ้น
เพื่อให้มีเงินเหลือหักค่าใช้จ่ายแล้วอย่าง เช่น ปลายเดือนกุมภาพันธ์จัดงานอ่านบทกวี
ปรัชญาชีวิต ของคาลิล ยิบราน ซ้ำเป็นครั้งที่สาม โดยจะจัดประมาณ 10-15 รอบ
"ในฐานะที่เราเป็นผู้บริหาร เรารู้สึกว่าบางรายการที่มีเงินเข้ามาช่วยผ่อนคลายค่าใช้จ่ายได้บ้าง
เช่นปีหนึ่งแทนที่บริษัทจะเสีย 1 ล้าน ก็เสียสัก 5 แสน เราก็จะรู้สึกว่าไม่ทำตัวเป็นภาระมาก"
รัศมีกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ส่วนในเรื่องการแสดงนิทรรศการทางด้านศิลปะ ทางศูนย์ฯ ก็มิได้ละเลยแต่ติดปัญหาเรื่องหาสถานที่ที่เหมาะสมเพราะหากจะใช้หอประชุมก็จะเป็นการใช้เนื้อที่ไม่ถูกับวัตถุประสงค์
การเกิดหอประชุมของศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณ จึงเสมือนเป็นสถานที่ทดแทนหอศิลปพีระศรีที่ถูกปิดเงียบมาเกือบ
2 ปี แล้ว ถือได้ว่าเป็นการช่วยให้คนทำงานศิลปะมีทางระบายผลงานออกสู่สาธารณะได้เช่นเดิม