"พาร์ตเนอร์ธุรกิจของคาเธ่ย์โฆษณา"


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

คาเธ่ย์ฯ เจ๊งแล้วหรือ ? เป็นคำถามที่ออกจากปากคนในวงการโฆษณาและการตลาดมาแล้วกว่า 2 เดือนเต็ม ๆ

จะว่าไปแล้วข่าวลือที่ปรากฏสู่คนในวงการได้กลายเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับชื่อเสียงของคาเธ่ย์ได้อย่างกลาย ๆ ทำให้คนรู้จักคาเธ่ย์มากยิ่งขึ้นและถ้าหากคาเธ่ย์ฯ สามารถฝ่าฟันอุปสรรคในเบื้องต้นนี้ไปได้คาเธ่ย์ฯ ก็จะยิ่งได้เครดิตในวงการมากขึ้นกว่าเท่าตัว

ผลสะท้อนของข่าวลือ มีผลทำให้คนทุกคนสนใจข่าวคราวเกี่ยวกับความเป็นไปมาของคาเธ่ย์ฯ ว่า คาเธ่ย์ฯ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครเป็นผู้ก่อตั้งผู้บริหารมีใครบ้าง มีประสบการณ์ในวงการมากี่มากน้อย บิลลิ่งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ลูกค้ามีอยู่ในมือมากน้อยแค่ไหน และฝีมือในการทำหนังโฆษณาแต่ละชิ้นที่ออกสู่อากาศหรือสื่อต่าง ๆ เป็นอย่างไร

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นการย้ำเตือนให้คาเธ่ย์ฯ ได้อยู่ในสายตาของคนในวงการทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและไม่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกันบุคคลอันเป็นเจ้าของเรื่อง ซึ่งถูกกระทบโดยตรงคือ สมชาย นนทิสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทคาเธ่ย์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัดกลับดำเนินงานไปตามปกติอย่างเงียบเฉยและไม่มีทีท่าว่าจะออกมาโต้ข่าวลือนั่นแต่อย่างใด คงปล่อยให้เป็นข่าวลือมานานนับเดือน

สมชายเล่าว่าบริษัท คาเธ่ย์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ก่อตั้งขึ้นประมาณต้นปี 2533 อันเกิดจากการรวมตัวของศิษย์เก่าคาเธ่ย์ฯ ที่ถือกันว่าเป็นผู้บุกเบิกวงการโฆษณาของไทยในยุคต้น ๆ ซึ่งคาเธ่ย์ฯ ในอดีตเกิดขึ้นเมื่อปี 2496 เป็นบริษัทสาขาของบริษัทคาเธ่ย์ แอดเวอร์ไทซิ่ง ฮ่องกง ซึ่งหลังจากสร้างสาขาในเมืองไทยไม่นาน บริษัทแม่ที่ฮ่องกงก็ถูก TAKE OVER โดยจอร์จ แพทเทอร์สันและได้ถูกเปลี่ยนมือมาเป็นของเทดเบทส์

กระนั้นศิษย์เก่าคาเธ่ย์ฯ ก็ยังคงทำงานอยู่ที่เทคเบทส์เรื่อยมาจนกระทั่งเทดเบสท์ถูก TAKE OVER อีกครั้งโดย ซาทชิ แอนด์ ซาทชิ ทำให้พนักงานเก่าต้องแตกกระสานแยกย้ายกันไปในที่สุด บ้างก็เปิดธุรกิจส่วนตัว บ้างก็วนเวียนอยู่ในวงการโฆษณาตามสายอาชีพที่ตนเองถนัด

สมชาย นนทิสกุล เป็นศิษย์เก่าคา-เธ่ย์ฯ โดยแท้เติบโตในสายครีเอทีฟมาตลอด เป็นผู้หนึ่งที่เดินตามรอยเดิมในสายอาชีพนี้ เพราะมองเห็นแล้วว่าอุตสาหกรรมโฆษณาในเมืองไทยยังมีโอกาสก้าวไกล

เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานในสายโฆษณาเมื่อ 28 ปีที่แล้วโดยเริ่มจาก ดีทแฮล์มโฆษณาเป็นงานแรก เขาเติบโตมาทางด้านอาร์ตมาโดยตลอด แม้จะละทิ้งวงการเพื่อไปศึกษาและทำงานโฆษณาที่นิวยอร์ก และกลับเข้ามาทำงานด้านโฆษณาในเมืองไทย โดยเริ่มต้นที่คาเธ่ย์ แอดเวอร์ไทซิ่ง เมื่อปี 2512 เป็นต้นมาในสายครีเอทีฟ ซึ่งเป็นสายงานที่ได้พาชีวิตของสมชาย รุ่งโรจน์ มาจน ณ วันนี้ซึ่งมีอายุครบ 43 ปีพอดี

ในขณะที่บุญทรง อนงคณะตระกูลและธวัชชัย สุธัญญาพฤทธิ์ศิษย์เก่าคาเธ่ย์ฯ เช่นเดียวกันกับสมชายได้ร่วมกับไมเคิลโคโนเวนไรอัน เปิดบริษัท "เอ-เอ็มแอนด์อาร์" ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น "ดีเอ็มบีแอนด์บี" แต่ในที่สุดก็ได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับสมชายเพื่อเปิด "คาเธ่ย์คอมมิวนิเคชั่น" อีกครั้งเมื่อ 2 ปีก่อน "มันเป็นความฝังใจของสมชายที่ต้องการจะทำให้ชื่อเสียงของคาเธ่ย์ฯ ในอดีตกลับเข้าสู่วงการอีกครั้ง" แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดหนึ่งในผู้ถือหุ้นของสมชายกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ตลอดช่วง 2 ปีที่คาเธ่ย์ฯ เปิดดำเนินการในวงการอุคสาหกรรมโฆษณามา ได้กลายเป็นเป้าสายตาของคนในวงการอย่างมาก ทั้งนี้เพราะชื่อเสียงของผู้ถือหุ้นที่สมชายดึงเข้าร่วมต่างเป็นที่โจษขานในทางลบโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไรอัน ว่ากันว่าเป็นผู้ที่แอ่นอกรับแทนเพื่อนฝูงและลูกน้องจนมีคดีฟ้องร้องติดตัวมาหลายคดีซึ่งยังคงเป็นความอยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับหนี้สินต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามสมชายก็ได้เปิดคาเธ่ย์ฯ ขึ้นโดยการรวม "เทควัน" ของตนเองเข้ากับ "ดีเอ็มบีแอนด์บี" ของธวัชชัย,ไรอันและบุญทรงเข้าด้วยกันแล้วใช้ชื่อเดิมคือคาเธ่ย์ฯ ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท มูลค่าหุ้นละ100 บาท กลุ่มของสมชายและบริษัทบิ๊กแฮนด์ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสมชายถือหุ้นรวมกันประมาณ 100,000 หุ้นในขณะที่ฝ่ายดีเอ็มบีแอนด์บีโดยมี ไรอั้น, บุญทรงและธวัชชัยถือหุ้น 40,000,30,000 และ 30,000 หุ้นตามลำดับ

กระแสข่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของคาเธ่ย์ฯ เป็นที่ร่ำลือกันในวงการอย่างหนาหูว่า หลังจากคาเธ่ย์ดำเนินกิจการมาได้ขวบปีที่ 2 นี้หุ้นส่วนเกิดแตกคอ เพราะการแตกแยกในความคิดจนถึงขั้นถอนตัวออกไม่ร่วมบริหารและถอนหุ้นคืนในที่สุดความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้จะเป็นวิถีทางหนึ่งที่ทำให้คาเธ่ย์ฯ ของสมชายต้องมีอันเป็นไป

นอกจากนี้ยังเลยไปถึงความไม่มั่นใจของพนักงานที่มีอยู่ 67 คนและลูกค้าทั้ง 16 รายบิลลิ่ง 200 ล้านบาทในปัจจุบัน (จากปี'33 ถืออยู่ 22 ราย) อีกด้วย

มีการวิเคราะห์กันเป็น 2 ประเด็นว่า ข่าวลือดังกล่าวอาจจะออกมาจากผู้ที่ถอนหุ้นออกไปหรืออาจจะมาจากปากคำของผู้ไม่หวังดีกับบริษัท พูดง่าย ๆ ก็คือมาจากผู้ที่ออกจากคาเธ่ย์ฯ ไปด้วยความไม่พอใจกันเป็นการส่วนตัว ซึ่งเรื่องนี้สมชายเองก็ปิดปากเงียบไม่ยอมพาดพิงหรือกล่าวให้ร้ายใคร จึงกลายเป็นเรื่องที่ต่างคาดเดากันไปเอง

สมชายบอกว่าข่าวลือเรื่องคาเธ่ย์ฯ จะเจ๊งไม่ต้องล้างมันออก เหตุผลที่ไม่ต้องล้างคือ ความไม่จริงของข่าว ยิ่งตามแก้ตามล้างก็ยิ่งเเละ ความเป็นธรรมชาติของบริษัทต่าง ๆ ในทุกวงการเกี่ยวกับข่าวลือมักมีเสมอเพราะการเข้าออกของพนักงานย่อมมีผู้หวังดีและไม่หวังดีปะปนกันไป

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นไปคาเธ่ย์ฯ ก็มีข่าวใหม่ปรากฏสู่สาธารณชนอีกครั้งคือการได้ลูกค้าใหม่จากค่ายผู้ผลิตรถบรรทุกชื่อดังคือ ตรีเพชร อีซูซุ ได้มอบหมายให้คาเธ่ย์ฯผลิตหนังโฆษณานำเข้า "ซาป" จากสวีเดนออกอากาศ ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไปด้วยงบกว่า 50 ล้านบาท

ขณะเดียวกันคาเธ่ย์ฯ ก็สามารถยกระดับการเป็นเอเยนซีท้องถิ่นให้กลายเป็นเอเยนซีระดับสากลได้ภายในช่วงเวลา 3 เดือน โดยการหาพาร์ตเนอร์เข้าร่วมบริหารงาน ซึ่งเป็นบริษัทเอเยนซีที่มีชื่อเสียง และใหญ่เป็นอันดับ 1 ของสิงคโปร์มีบิลลิ่งเป็นพัน ๆ ล้านเหรียญสิงคโปร์คือ "เบทตี้" (BATEY COMMUNICATION GROUP) ลูกค้าที่เบทตี้ถืออยู่ล้วนเป็นสินค้าชั้นนำแทบทั้งสิ้น อาทิ สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์, สิงคโปร์ทัวริสต์สปอร์ต , โรงแรมแชงกรี-ลา, ยาหม่องตราเสือเป็นต้น

ส่วนสาเหตุที่เลือก "เบทตี้แอด" นี้สมชายให้เหตุผลว่าเพราะเป็นคนในเอเชียด้วยกันการสื่อสารกันจึงเป็นในลักษณะของการเข้าใจกันดี ขณะเดียวกันเอียนเบทตี้ เจ้าของเบทตี้วัย 50 ปีเป็นคนในสายครีเอทีฟซึ่งเป็นสายเดียวกันกับสมชายยิ่งทำให้คุยกันง่าย

"การเข้าร่วมกันครั้งนี้ถือเป็นการเข้าร่วมกันในระดับหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ใช่เป็นการถือหุ้นร่วม แต่ก็มีการส่งผ่านลูกค้าที่เบทตี้ถืออยู่ในสิงคโปร์และเมืองไทยให้คาเธ่ย์ได้รับผิดชอบด้วยเช่น ยาหม่องตราเสือเป็นสินค้าตัวแรกที่ได้ทำโฆษณารับช่วงจากดีทแฮล์ม ส่วนลูกค้ารายต่อไปที่มีการเจรจาและมีทีท่าว่าคาเธ่ย์ฯ จะได้มาอีกคือ โรงแรมแชงกรี-ลาซึ่งปัจจุบัน ซาทชิแอนด์ซาทชิถือแอคเคาทน์นี้อยู่ นอกจากนี้สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ซึ่งเป็นสายการบินระดับชาติเป็นเป้าหมายต่อไปที่เราคาดหวังเอาไว้อย่างสูง" สมชายเล่าถึงผลทางธุรกิจที่จะได้จากทางเบ็ทตี้

แต่ประเด็นสำคัญของการเข้าร่วมครั้งนี้มิใช่เพียงแค่ส่งต่อลูกค้าให้แก่กันและทำให้บิลลิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น สิ่งที่คาเธ่ย์ฯ จะได้จากการเป็นพาร์ตเนอร์ของเบทตี้ในครั้งนี้คือ การได้เรียนรู้โนว์ฮาวจากเบทตี้ โดยขั้นแรกของการเป็นพาร์ตเนอร์ฯ กันนั้นทางคาเธ่ย์ฯ ได้ส่งพนักงานไปเรียนรู้งานด้านครีเอทีฟจากเบทตี้ที่สิงคโปร์แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่น่าพิจารณาคือ ฐานะของความเป็นเอเยนซี่ท้องถิ่นก็ได้ถูกปรับตัวยกระดับเป็นสากลตามขึ้นมาทันทีอีกด้วย

ซึ่งเรื่องนี้สมชายกล่าวว่าความหมายของการเป็นเอเยนซีสากลคือวิถีทางหนึ่งของการต่อสู้ในตลาดอุตสาหกรรมโฆษณาปัจจุบัน เพราะการเป็นเอเยนซีท้องถิ่น ทำให้มีข้อจำกัดที่จะเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อชิงงานสินค้าที่เป็นอินเตอร์ซึ่งนับวันจะมีสินค้าเหล่านี้หลั่งไหลเข้าเมืองไทยอย่างมากมาย จึงนับว่าเป็นการขยับตัวของคาเธ่ย์ฯ เองเพื่อให้เกิดความมั่นคงในอนาคตพร้อม ๆ กับเป็นการพิสูจน์ตนเองจากข่าวลือที่ว่าคาเธ่ย์ฯ จะเจ๊งไปด้วยในตัว

นอกจากนี้สมชายยังคาดหวังในอนาคตไว้อีกว่าหากวันใดที่มีเอเยนซี่ต่างชาติระดับใหญ่ที่สนใจจะเข้าร่วมกับคาเธ่ย์ฯ ก็จะรับไว้พิจารณาอีก ทั้งนี้เพราะเอเยนซีเหล่านี้เขารู้ว่าในอนาคตเมืองไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต ้ และสามารถพัฒนาไปได้เร็วจึงคิดที่จะเข้ามาทำธุรกิจด้านโฆษณาโดยร่วมกับคนท้องถิ่นซึ่ง มีอยู่หลายรายเช่นกันที่กำลังรอการยกระดับตนเองอยู่เช่นเดียวกับคาเธ่ย์ฯ ด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.