เฟดลดดอกเบี้ยทำ ECP รีเทิร์นแผ่ว บลจ.ผุดตราสารหนี้ CLN รุกตลาดแทน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 กุมภาพันธ์ 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

Credit Link Note น้องใหม่มาแรงแจ้งเกิดในวงการตราสารหนี้ต่างประเทศ แทนที่ ECP หลังตกอับต้นปีโดนเฟดลดดอกเบี้ยแรง แผ่รัศมีทำผลตอบแทนแพ้ลงทุนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นในประเทศ หลาย บลจ.จ่อคิวเตรียมออกปีนี้ ระบุเป็นทางเลือกให้ลูกค้าที่ต้องการลงทุนต่อหลังครบดีลกอง ECP ปีที่ผ่านมา ความน่าเชื่อถืออิงกับพันธบัตรรัฐบาลในต่างประเทศคุณภาพดี ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนที่ชอบความเสี่ยงต่ำ

จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ประกาศลดดอกเบี้ยอย่างรุนแรง ติดต่อกัน 2 ครั้งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างในและนอกประเทศมีน้อยมากจนแทบไม่คุ้มค่าในการทำกำไรข้ามตลาด โอกาสที่นักลงทุนไทยจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าจากกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น คุณภาพดีที่ลงทุนในตราสารของสถาบันการเงินต่างประเทศ (ECP: Euro comercial Paper) ซึ่งเป็นที่นิยมมากในปีที่แล้วเพราะให้ผลตอบแทนสูงถึง 3.1-3.7% จึงแทบเป็นไปไม่ได้อีกเลยในปัจจุบัน

"สำหรับดอกเบี้ย ECP ตอนนี้ไม่มีช่องทำกำไรแล้ว พอบวกค่าปกป้องความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเข้าไปอีก ยิ่งไม่มีทางชนะผลตอบแทนในประเทศได้เลย ตอนนี้ผลตอบแทน ECP ทั้งประเภท 3 เดือน และ 6 เดือนไม่มีทางถึง 3%อยู่แล้ว" วสุ สุทธิพงษ์ชัย ผู้จัดการกองทุน จากบริษัทจัดการกองทุน(บลจ.) แอสเซท พลัส กล่าว

ดังนั้นจึงถือเป็นมิติโอกาสของกองทุนตราสารหนี้ประเภทที่อ้างอิงผลตอบแทนของตราสารที่มีเครดิต (CLN: Credit Link Note) นวัตกรรมทางการเงินใหม่ที่เข้ามาช่วยบริหารผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุน โดยสถาบันการเงินผู้ออกตราสาร(Issuer) จะจ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนตามหลักทรัพย์อ้างอิง(Refernce Asset)เท่ากับจำนวนหน้าตั๋วเมื่อครบกำหนดอายุของตราสาร ซึ่งโดยทั่วไป CLN ที่กองทุนลงทุนได้ตามกฎของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) จะออกโดยสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงโดยทั้งผู้ออกและหลักทรัพย์อ้างอิงจะต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ใน 2-3 อันดับแรกโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากล

วสุ กล่าวว่า สำหรับกองทุนเปิด แอสเซทพลัสพรีเมี่ยม 6M2 (ASP-P6M2) จะเป็น CLN ประเภทอ้างอิงพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ออกในต่างประเทศและพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ซึ่งถือได้ว่ามีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้น้อยมาก(Risk-free) มีเรตติ้งที่ BBB+ และ A โดย S&P โดยจะลงทุนผ่าน Issuer ที่เป็นสถาบันการเงินต่างประเทศ หลังจากปิดความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน100% (Fully hedged)แล้วจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุเท่ากัน โดยกองทุนนี้จะมีรอบระยะเวลาการลงทุนประมาณ 6 เดือน มูลค่ากองทุน 1.7 พันล้านบาท เปิดขายระหว่างวันที่ 25 ก.พ.-3มี.ค.2551 นี้ จองซื้อขั้นต่ำ 5พันบาท

ทั้งนี้การลงทุนผ่าน Issuer จะทำให้ไม่ต้องติดข้อจำกัดต่างๆเช่น การจำกัดสัดส่วนของผู้ลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเก็บภาษีจากการนำเงินเข้าไปลงทุนในประเทศนั้นๆ(Withholding Tax) ซึ่งจะส่งผลให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการเข้าไปลงทุนพันธบัตรชนิดเดียวกันโดยตรง

"ตอนนี้ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน ได้ประมาณ 2.25% หักภาษี 15% เหลือไม่ถึง 2% กองทุน ASP-P6M2 จึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้มีเงินออม เพราะเป็นระยะเวลาการลงทุนที่ไม่นานเกินไป และเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งยังคงเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนพันธบัตรในประเทศที่อายุเท่ากันอีกด้วย ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ทางแบงก์ชาติอาจจะปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีก การลงทุนในระยะสั้น 3 เดือนเพื่อมาหมุนลงทุนใหม่(Roll Over)อาจจะไม่คุ้มเท่ากับการลงทุนในระยะ 6 เดือนเลย โดยล็อกผลตอบแทนที่สูงเอาไว้"

นอกจาก บลจ.แอสเซท พลัส ที่มีการออกกองซึ่งลงทุนใน CLN แล้วก็ยังมีอีกหลาย บลจ.ที่เตรียมออกโปรดักส์ ลักษณะนี้ตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็น บลจ.ไอเอ็นจี, บลจ.อยุธยา รวมถึง บลจ.พรีมาเวสท์

สำหรับข้อแตกต่างระหว่างตราสารจัดโครงสร้าง (Structure Note) กับ CLN นั้น บัณฑิตย์ ศุภาคม จาก บลจ.พรีมาเวสท์ อธิบายว่า กองทุนประเภท Structure Note จะสามารถลิงค์ผลตอบแทนต่างๆที่ขึ้นลงได้ ไม่ว่าจะเป็น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์, ราคาทองคำ, อัตราดอกเบี้ย, ค่าเงิน ฯลฯ แต่สำหรับ CLN นั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Structure Note ที่ลิงก์กับเครดิตเรตติ้งเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรตติ้งของประเทศ เช่นพันธบัตรรัฐบาล หรือ เรตติ้งของบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือสูงเช่นหุ้นกู้ แต่ด้วยความที่พันธบัตรรัฐบาลเป็นที่รู้จักแพร่หลายจึงทำให้ CLN ประเภทที่อิงพันธบัตรนั้นเป็นที่นิยมและขายได้ง่ายกว่า ซึ่งในเดือนหน้า บลจ.พรีมาเวสท์ ก็ได้เตรียมออกกองที่ลงทุนใน CLN ที่อิงพันธบัตรรัฐบาลมาขายด้วยเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.