หนี้คนไทยพุ่งปรี๊ด!!ผลงาน”สุรยุทธ์”คนถวิลหาประชานิยม


ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 กุมภาพันธ์ 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

เพียง 1 ปีหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลพุ่งกว่า 31% คนไทยเจอทั้งพิษเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ แถมเกณฑ์ชำระขั้นต่ำ 10% ของแบงก์ชาติหนุนส่ง ผู้ประกอบการยอมรับตัดหนี้สูญกันหลายพันล้านบาท คาดจะมากขึ้นอีกหากรัฐยังคลำทางไม่เจอ วอนแบงก์ชาติอย่ามองแค่มุมเดียว สุดท้ายจะกลายเป็นผู้ผลักลูกหนี้ให้เดินเข้าหาหนี้นอกระบบ

การเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตและข้อมูลสินเชื่อบุคคลของปี 2550 ของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ข้อมูลดังกล่าวได้มีรายการเพิ่มเติมจากการรายงานครั้งก่อน ด้วยแสดงตัวเลขหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนไว้ทุกไตรมาส โดยย้อนหลังให้ถึงเดือนมิถุนายน 2548

สำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2550 ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นจาก 10.9 ล้านบัญชีเป็น 12 ล้านบัญชี หรือเพิ่มขึ้น 10.12% โดยสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจาก 1.71 แสนล้านบาทเป็น 1.79 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.84% ที่น่าสนใจคือยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปจาก 4.45 พันล้านบาทกระโดดขึ้นเป็น 5.85 พันล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 31.48%

ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยเพิ่มขึ้นคือตัวเลขสินเชื่อบุคคล ที่ในรอบ 1 ปี มียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มจาก 1.84 แสนล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 2.04 แสนล้านบาทในสิ้นปี 2550 หรือเพิ่มขึ้น 10.83% โดยที่บัญชีของสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นจาก 9.84 ล้านบัญชี เป็น 10.78 ล้านบัญชี คิดเป็นเพิ่มขึ้นขึ้น 9.58% แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้บัตรเครดิตคือสินเชื่อผิดนัดชำระที่เกินกว่า 3 เดือนของสินเชื่อบุคคลเพิ่มจาก 7 พันล้านบาทเป็น 9.23 พันล้านบาท หรือสูงขึ้น 31.74%

นับได้ว่าในรอบ 1 ปี 2550 นั้น ทั้งการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันและเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ

หนี้เสียพุ่ง 31%

แหล่งข่าวจากวงการบัตรเครดิตกล่าวว่า จริง ๆ แล้วตัวเลขดังกล่าวผู้ประกอบการแต่ละรายก็ทราบแต่เฉพาะของตัวเอง เมื่อเห็นภาพรวมทั้งหมดที่แบงก์ชาติเปิดเผยมานั้น มองได้ว่ากำลังซื้อของประชาชนในปี 2550 นั้นตกต่ำมาก เมื่อแยกพิจารณาจะพบว่ารายการหนี้คงค้างของสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นมากกว่าหนี้คงค้างของบัตรเครดิต

ทั้งนี้ การหาสมาชิกใหม่ของทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นไม่มานัก เพียงแค่ 9-10% เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย กลุ่มลูกค้าเป้าหมายรายใหม่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนจึงมีไม่มากนัก นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นอีกเช่น งบประมาณของแต่ละในการหาลูกค้ารายใหม่อาจลดลงไปหรืออาจจะเป็นเรื่องของนโยบายบริษัทที่ต้องการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจึงเปิดรับลูกค้ารายใหม่น้อยลง

สิ่งที่น่าสนใจคือหนี้คงค้างที่เพิ่มขึ้นของบัตรเครดิต แม้จะเพิ่มขึ้นเพียง 4.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ในปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาก รวมถึงเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้การผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 5% เป็น 10% ที่มีผลเมื่อ 1 เมษายน 2550 อาจทำให้ตัวสินเชื่อคงค้างไม่เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขเพราะเกรงประวัติทางด้านสินเชื่อเสีย

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการเพิ่มขึ้นของยอดหนี้ค้างชำระที่เกิน 3 เดือนที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าตกใจหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น 1.4 พันล้านบาทหรือเกือบ 31.5% แม้จะมีเกณฑ์ที่ต้องผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 10% แล้วก็ตาม การที่หนี้ค้างชำระเพิ่มขึ้นในขณะที่หนี้คงค้างเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหลายเท่าตัวนั้น เป็นผลมาจากความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนลดลง ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงทำให้ราคาสินค้าเกือบทุกชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยที่รายได้ของผู้ถือบัตรยังเท่าเดิม

“จริง ๆ แล้วยอดหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนสูงที่สุดของปี 2550 อยู่ในช่วงไตรมาส 3 โดยมียอดสูงถึง 6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2549 ถึง 35% แต่ได้ลดลงไป 159 ล้านบาทในช่วงปลายปี แม้ว่าจะเทียบกับยอดคงค้างแล้วหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนจะมีสัดส่วนเพียง 2-3.5% ถือว่าไม่มากนัก แต่ก็นับว่าอยู่ในทิศทางที่ปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่เราจะต้องนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้พิจารณาในการออกผลิตภัณฑ์หรือกำหนดทิศทางในปีนี้” ผู้บริหารระดับสูงของบัตรเครดิตรายหนึ่งกล่าว

คนไทยเจอ 2 เด้ง

เขากล่าวต่อไปว่านี่คือความโชคร้าย 2 ชั้นของภาคประชาชน ที่ต้องผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% ตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติแล้วยังมาเจอเรื่องความถดถอยของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ชมรมธุรกิจบัตรเครดิตได้เคยนำเสนอถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทยไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ทุกอย่างก็ไม่เป็นผล จนถูกแบงก์ชาติมองว่าพวกเราหวังจะได้ประโยชน์จากการได้ดอกเบี้ยจากยอดผ่อนชำระที่ยาวขึ้นของผู้ถือบัตร

แบงก์ชาติไม่ได้มองถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นของผู้ประกอบการว่า ยิ่งผู้ถือบัตรผ่อนชำระนานขึ้นผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับความเสี่ยงมากขึ้น เพียงแต่ขณะนั้นกระแสเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นทำให้แบงก์ชาติต้องออกมาตรการดังกล่าวมาควบคุม เพื่อต้องการให้ตัวเลขสินเชื่อคงค้างให้ลดลงจากเดิมเท่านั้นเป็นพอ

แม้ว่าวันนี้สถานการณ์ด้านหนี้เสียของบัตรเครดิตในภาพรวมยังไม่สูงมากนัก แต่มีแนวโน้มของหนี้ค้างชำระที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายก็ต้องแก้ปัญหากันเอง รายใหญ่ ๆ ที่มีลูกค้ามากก็ต้องตัดเป็นหนี้สูญมากเช่นกัน รายกลาง ๆ บางแห่งตัดหนี้สูญกันพันกว่าล้านบาทแล้วก็มี หากคิดรวม ๆ กันคาดว่าคงมีการตัดหนี้สูญกันไปแล้วหลายพันล้านบาท

การบีบให้ผู้ถือบัตรชำระขั้นต่ำที่ 10% ด้วยความหวังที่จะให้จำนวนหนี้ภาคครัวเรือนลดลง หรือช่วยให้ผู้ประกอบการเสี่ยงน้อยลงในสายตาของแบงก์ชาตินั้น ถึงวันนี้ชัดเจนว่าสินเชื่อคงค้างในธุรกิจนี้ไม่ได้ลดลง แถมยังมีหนี้ค้างชำระที่เสี่ยงต่อการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เมื่อเทียบกับช่วงปี 2548-2549 หนี้ค้างชำระที่เกิน 3 เดือนอยู่ระหว่าง 3.4-4.4 พันล้านบาทเท่านั้น

เมื่อประชาชนต้องพบกับแรงกดดันทั้ง 2 ปัจจัย ย่อมทำให้หนี้ค้างชำระเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่ผ่อนชำระมาก่อนที่มีเกณฑ์ชำระขั้นต่ำที่ 10% ออกมา ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และต้องจ่ายขั้นต่ำที่ 10% จากเดิมจากที่ 5% พวกเขาก็ต้องจำใจเลือกที่จะไม่จ่าย กลายเป็นภาระกับผู้ประกอบการ

โยกหนี้บัตรสู่สินเชื่อบุคคล

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการหลายรายก็มักจะเสนอทางออกให้กับลูกค้าที่ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขผ่อนชำระที่ 10% ได้ ด้วยการเสนอให้ใช้สินเชื่อบุคคลเข้ามาซื้อหนี้ก้อนหนี้ไปแทน เพื่อแก้ปัญหาเกณฑ์ใหม่ เนื่องจากสินเชื่อบุคคลสามารถผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 5% ได้ แต่ก็ต้องแลกกับการที่ต้องผ่อนชำระที่อัตราดอกเบี้ย 18-20% มารับสภาพที่ดอกเบี้ย 28% ต่อปี กลายเป็นว่าลูกค้าต้องมาจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มอีก 8-10%

ต้องไม่ลืมว่าผู้ถือบัตรเครดิตทุกคนแม้ว่าจะมีรายได้ขั้นต่ำที่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ภาระความรับผิดชอบในการดำรงชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน ไม่ใช่ว่าผู้มีบัตรเครดิตทุกคนจะผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 10% ได้ทั้งหมดในทุกเวลา อย่างในช่วงปี 2550 ใครจะคิดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นมากรวมไปถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขึ้นตามกันมา

ในด้านสินเชื่อบุคคลในรอบปี 2550 พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อคงค้างเกือบ 11% แต่หนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนก็อยู่ในระดับสูงที่ 31.7% ใกล้เคียงกับบัตรเครดิต ที่น่าสนใจคือการเพิ่มของสินเชื่อคงค้างนั้นสูงขึ้นเป็นพิเศษตั้งแต่ปลายปี 2549 เรื่อยมา หรือเพิ่มขึ้นมาราว 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่สินเชื่อคงค้างของบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเพียง 8.27 พันล้านบาทเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการย้ายหนี้บัตรเครดิตไปสู่สินเชื่อบุคคล

แม้ยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนอยู่ในระดับ 3.5-4.6% ของสินเชื่อคงค้าง ถือว่าสูงกว่าตัวเลขของบัตรเครดิต ในส่วนนี้คาดว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นได้อีก จากการที่ลูกค้าบัตรเครดิตบางรายที่ผ่อนตามเกณฑ์ขั้นต่ำ 10% ไม่ไหวก็อาจต้องโยกหนี้มาสู่สินเชื่อบุคคลแทน หรืออาจมีผู้ถือบัตรเครดิตบางรายที่ผู้ออกบัตรไม่ปล่อยวงเงินให้อีกเนื่องจากมีปัญหาด้านการชำระ ก็อาจมาขอใช้บริการผ่านสินเชื่อบุคคลแทน

แม้ว่าบริการของสินเชื่อบุคคลจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ผ่อนชำระบัตรเครดิต แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทุกราย เพราะผู้ประกอบการแต่ละรายก็ต้องเน้นรับซื้อเฉพาะลูกหนี้ที่มีประวัติในการผ่อนชำระที่ดี แน่นอนว่ากลุ่มที่ไม่สามารถย้ายหนี้บัตรเครดิตได้ก็อาจต้องเข้าไปพึ่งพาบริการของสินเชื่อเถื่อนที่ประกาศเชิญชวนตามสะพานลอยหรือตามตู้โทรศัพท์ ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บต่อลูกค้าก็สูงกว่าผู้ประกอบการในระบบที่มีกฎหมายควบคุมอยู่ ตรงนี้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการแก้ไขได้ ทุกวันนี้ก็เปิดให้บริการตามปกติ

หากมองภาพรวมทั้งหมดผู้ประกอบการรายเล็กก็ถอยออกจากธุรกิจนี้ไปบ้างแล้ว รายที่ยังเหลืออยู่ก็เข้มงวดในการให้สินเชื่อมากขึ้น นั่นเท่ากับเป็นการปิดประตูสำหรับผู้ที่เดือดร้อนให้ต้องหันไปพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบอย่างไม่มีทางเลือก ที่ต้องเผชิญกับดอกเบี้ยที่สูงกว่าผู้ให้บริการในระบบมาก รวมถึงวิธีการทวงหนี้ที่อาจมีการคุกคามถึงชีวิต

คนเรียกหาประชานิยม

ตลอดทั้งปี 2550 เป็นช่วงที่รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลลานนท์ เข้ามาบริหารประเทศแทนรัฐบาลไทยรักไทยที่ถูกยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว กลับไม่ได้มีมาตรการใด ๆ ออกมาบรรเทาความเดือดร้อนจากสภาพเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น แถมยังอยู่ในช่วงที่ต้องเร่งเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทำให้ราคาสินค้าแทบทุกชนิดปรับเพิ่มขึ้น

ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ไม่มีท่าทีว่าจะปรับลดลง รัฐบาลในช่วงปี 2550 ไม่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ จึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะคิดถึงรัฐบาลเดิมที่ตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาได้ตรงใจประชาชน ดังนั้นผลการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธันวาคม 2550 จึงเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะคนในต่างจังหวัดยังคงต้องการให้รัฐบาลไทยรักไทยกลับมาแม้จะกลายมาเป็นพรรคพลังประชาชนก็ตาม

พวกเขาไม่ได้หวังจะให้มาแก้หนี้ให้โดยตรง แต่ขอให้มีเม็ดเงินบางส่วนเข้ามาเพื่อนำไปใช้หมุนเวียนแก้ปัญหาให้กับเขาที่รัฐบาลเดิมเคยหยิบยื่นมาให้เขา

“จะไปกล่าวหาประชาชนว่าเสพติดประชานิยมไปแล้วก็ไม่ได้ เพราะนี่คือความเป็นจริงของมนุษย์ที่ปากท้องต้องอิ่มมาเป็นอันดับแรก หลังจากการยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 รัฐบาลที่เข้ามาทำหน้าที่แทนนั้นได้อะไรให้กับคนเหล่านี้บ้าง ถ้าจะกล่าวว่าการบริหารงานของรัฐบาลชุดที่แล้วช่วยหนุนให้ทีมงานของไทยรักไทยเดิมในบ้านหลังใหม่อย่างพลังประชาชนได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้งก็คงไม่ผิด”ผู้บริหารบัตรเครดิตรายหนึ่งกล่าว

ถ้ารัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์มองเห็นถึงปัญหานี้ แล้วลงมือแก้ปัญหาให้กับประชาชนพร้อมทั้งปรับเปลี่ยนแนวทางและวิธีคิดของผู้คน การยึดอำนาจที่ผ่านมาก็คงไม่สูญเปล่า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.