"8 ปีของซีมอนในโฟรโมสต์"


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

14 ธันวาคม 2534 ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ของเกอริทซีมอน ที่เขาสามารถยกฐานะจากการเป็นผู้ตามในตลาดมาตั้งแต่สมัยเริ่มเข้าสู่ตลาดการแข่งขันของตลาดนมยูเอชที มาเป็นผู้นำตลาดรุดหน้าเจ้าเก่าไทยเดนมาร์คมาได้

ซีมอนบอกว่าเขาต้องใช้ระยะเวลานานถึงกว่า 6 ปีที่จะไต่ขึ้นมาอยู่อันดับ 1 ได้เช่นนี้ทั้งนี้สาเหตุมาจากความไม่พร้อม ทางการตลาดของไทยเดนมาร์คเอง ที่ไม่สามารถขยายกำลังการผลิตของตนเองขึ้นมาเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่นับวันจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกที ประกอบกับโฟรโมสต์ใช้กลยุทธ์ขยายการตลาดอย่างจริงจังด้วยวิธีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและสรรหานวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

ซีมอนกล่าวว่าในปีที่ผ่านมาโฟรโมสต์มียอดขาย 3,000 ล้านบาท 65% ของยอดขายนี้มาจากกลุ่มสินค้าอายุยาว เช่น ยูเอชทีซึ่งมีสัดส่วนครองตลาด 30% ของมูลค่าตลาด 1,600 ล้านบาทในขณะที่ยูเอชทีของไทยเดนมาร์คมีสัดส่วนครองตลาดประมาณ 29% หนองโพ 25% เป็นต้น ส่วนรายได้ที่เหลืออีก 35% มาจากสินค้าอายุสั้น เช่น ไอศกรีม ซึ่งไอศกรีมในขณะนี้ ยังคงเป็นผู้นำตลาดรักษาส่วนแบ่งอยู่กว่า 60% แต่ก็มีไอศกรีมวอลล์ของค่ายลีเวอร์ไล่ตามมาติดๆ จนซีมอนเองก็ยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของวอลล์ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวพอสมควร ส่วนปีนี้ซีมอนตั้งเป้าไว้ประมาณ 3,400 ล้านบาท

การได้ตำแหน่งแชมป์ในตลาดมาถือว่าเป็นของง่าย แต่การรักษาความเป็น 1 ไว้คงเดิมถือว่าเป็นเรื่องยากกว่าการได้แชมป์เสียอีก เมื่อเป็นดังนี้แล้วซีมอนจึงตั้งเป้าในปี 35 นี้นับจากนี้ต่อไปคือการใช้ความพยายามในการรักษาอันดับ 1 ของตลาดนมยูเอชทีมิให้ตกไปอยู่ตำแหน่งเดิมได้

สิ่งแรกที่ซีมอนใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อเป้าหมายอันดับ 1 คือ การปรับสภาพการบริหารงานภายในองค์กร ทั้ง 2 บริษัทให้มีการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากใช้เวลาในการปรับระบบบริหารมาแล้วถึง 8 ปีตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลง

กล่าวคือเมื่อปี 2528 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ทางโฟรโมสต์ถือเป็นประวัติศาสตร์ ครั้งสำคัญสำหรับเขามากคือ การที่บริษัท โคออปเพอเรทีฟ คอมพานี ฟรีสแลนด์แห่งเนเธอร์แลนด์ ได้เข้าซื้อหุ้นใหญ่บริษัทโฟรโมสต์แห่งสหรัฐฯ แล้วนำโฟรโมสต์เข้าเป็นบริษัทหนึ่งในเครือ

บริษัท โคออปเพอเรทีฟ คอมพานี ฟรีสแลนด์นี้ เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นโดยกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศเนเธอร์แลนด์

การเปลี่ยนมือของบริษัทแม่ที่เกิดขึ้นจึงมีผลสะท้อนมายังบริษัทสาขาของโฟรโมสต์ที่มีอยู่ทั่วโลกรวมถึงสาขาในเมืองไทยด้วย

หลายปีก่อนหน้า ธุรกิจอาหารนมของโฟรโมสต์ในประเทศไทยเป็นที่รู้จักในตลาดในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายไอศกรีมและนมข้นหวานตราเรือใบ

เมื่อโฟรโมสต์อาหารนมเปลี่ยนมือมาเป็นของบริษัทโคออปเพอเรทีฟ ฟรีสแลนด์ความขัดแย้งในโครงสร้างการบริหารก็เกิดขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ของโฟรโมสต์อาหารนมในเมืองไทยต่อต้านการเข้ามาเป็นผู้นำคนใหม่จากบริษัท โคออปเพอเรทีฟ คอมพานี ฟรีสแลนด์

ผู้นำคนใหม่ก็คือเกอริทซีมอน นั่นเอง

ซีมอนกล่าวว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนอำนาจการบริหารระหว่างโฟรโมสต์อาหารนม มาเป็นโฟรโมสต์ฟรีสแลนด์เพราะการเปลี่ยนมือเจ้าของจากคนอเมริกันมาเป็นของเนเธอร์แลนด์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 28 ว่ากันตามจริงแล้วฟรีสแลนด์ในสมัยนั้นถือเป็นบริษัทในเครือของโฟรโมสต์อาหารนม สถานะของโฟรโมสต์อาหารนมอยู่เหนือฟรีสแลนด์มากมายนัก

ดังนั้นพนักงานเก่าของโฟรโมสต์อาหารนมที่ยังยึดถือกับระบบเก่า ๆ ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงยังมีอยู่อีกมากจึงทำให้เราต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้พนักงานได้ทำความเข้าใจและปรับตัวเข้ากับระบบใหม่ที่วางไว้

นั่นคือการรวมงานบริหาร 2 บริษัทเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้การทำงานทุกด้านประสานกันอย่างดียิ่งขึ้นโดยการตั้งทีมบริหารส่วนกลาง (CORPORATE MANAGEMENT) ซึ่งประกอบด้วย อาร์ บี เชอร์ กรรมการผู้จัดการโฟรโมสต์ อาหารนม เจมส์เกรย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและปราณี อยู่สำราญผู้จัดการฝ่ายการเงินเป็นต้น

ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ เช่น การจัดซื้อและงานบุคคลกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน

ยกเว้นฝ่ายการตลาดเป็นหน่วยงานที่รวมตัวกันไม่ได้ ทั้งนี้เพราะการดูแลสินค้าที่ต่างกันจึงอยู่ในลักษณะของการแบ่งแยกทีมเหมือนเดิม ผิดแต่ว่าอยู่ภายใต้การดูแลของผู้บริหารที่ฟรีสแลนด์แต่งตั้งขึ้นใหม่เท่านั้น ซึ่งแต่เดิมการบริหารงานของโฟรโมสต์อาหารนม และฟรีสแลนด์จะเป็นลักษณะต่างฝ่ายต่างบริหารงานและวางแผนการดำเนินงานกันเองโดยไม่ขึ้นแก่กัน

"พนักงานที่ปรับตัวได้เขาก็อยู่ต่อ ส่วนพวกที่ปรับตัวไม่ได้และไม่ยอมรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบริษัทแม่ก็ค่อย ๆ ทยอยลาออกไป ดังจะเห็นได้ว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้จะมีข่าวคราวการลาออกของผู้บริหารระดับสูงซึ่งเป็นกลจักรสำคัญของการบริหารงานในโฟรโมสต์ ไม่ว่าจะเป็นโฟรโมสต์อาหารนม หรือ โฟรโมสต์ฟรีสแลนด์เองก็ตาม" ซีมอนอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา

เหตุผลในการลาออกของผู้บริหารระดับสูงดังกล่าวนั้นไม่ใช่มาจากการไม่ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากบริษัทแม่ แต่เป็นเพราะเขาเหล่านั้นไม่พอใจในการบริหารงานของซีมอนเองมากกว่า

ซีมอนถูกมองด้วยความสงสัยว่าเขากำลังลงมือกำจัดพนักงานหัวแข็ง หรือพนักงานเก่าแก่ที่เคยเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงกันมาตั้งแต่ครั้งก่อตั้งให้ออกไปให้พ้นทาง เพื่อความสะดวกในการรวบอำนาจของเขา

"โฟรโมสต์สมัยนั้นมีสหภาพแรงงาน พนักงานที่เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องการประท้วงก็มาจากพวกหัวรุนแรงพวกนี้ แต่นั่นเป็นเพราะเขาเหล่านั้นยังไม่เข้าใจระบบที่เราพยายามจะทำให้ดีขึ้น" ซีมอนพูดถึงการลาออกของพนักงาน ซึ่งโต้แย้งจากข้อสงสัยที่เขาถูกมอง

ซีมอนเดินหน้าต่อไปในการปรับโครงสร้างการบริหารมีการปรับตัวอีก 2 ส่วนคือทีมการตลาด และการจัดจำหน่ายซึ่งในส่วนการตลาดทางโฟรโมสต์ได้ดึงตัวผู้จัดการฝ่ายการตลาดมาจากหลุยส์ ตี เลียวโนเวนท์ "อนุชาติ สุทธิรัตนโศภพ" มารับผิดชอบฝ่ายการตลาด ซึ่งด้านการตลาดนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ เจ เดสตร้า" ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่เพิ่มแต่งตั้งขึ้นมา

ส่วนด้านการจำหน่ายมีการยกระดับเดโปคลังสินค้าอาหารแช่แข็งให้เป็นศูนย์จัดจำหน่ายเรียกว่าศูนย์กระจายสินค้า (DISTRIBUTION CENTER) เพื่อทำให้การตลาดเกิดความคล่องตัวขึ้น ซึ่งแต่เดิมต้องขายผ่านตัวแทนจำหน่าย

ศูนย์กระจายสินค้านี้จะครอบคลุมภูมิภาคในเขตจังหวัดต่าง ๆ เช่น ศูนย์ภาคเหนือซึ่งเพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้จะทำหน้าที่ SUPPLY สินค้าให้กับภาคเหนือกว่า 10 จังหวัด ส่วนทางภาคใต้มีศูนย์ที่เปิดดำเนินการอยู่แล้วคือที่สุราษฎร์ธานีกระจายสินค้าให้เขตภาคใต้ทั้งหมดยกเว้น สงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ และมีแนวโน้มในการพัฒนาเดโปให้เป็นศูนย์ฯ ของตนเองได้จึงได้รับการพัฒนาเมื่อต้นปีนี้

การลงทุนพัฒนาเดโปเพื่อขยับขยายยกระดับให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าต้องใช้งบประมาณในการลงทุนต่อศูนย์ประมาณ 70 ล้านบาท ศูนย์เหล่านี้จะมีเจ้าหน้าที่ของโฟรโมสต์รับผิดชอบ และวางแผนการตลาดในต่างจังหวัดที่มีอาณาเขตครอบคลุมโดยตรงอีกด้วยเช่น มงคล สมมีชัย เป็นผู้จัดการภาคเหนือเป็นต้น "โฟรโมสต์เป็นบริษัทข้ามชาติที่ไม่เหมือนบริษัทข้ามชาติอื่น ๆ ตรงที่แต่ละสาขาสามารถดำเนินการจัดระบบโครงสร้างการบริหารและการผลิตสินค้าได้โดยอิสระจากบริษัทแม่" เกอริท ซีมอน ผู้จัดการทั่วไป บริษัทโฟรโมสต์ ฟรีสแลนด์ ประเทศไทย จำกัดกล่าว

ซีมอนใช้ความอิสระและนโยบายการบริหารที่ยืดหยุ่นของบริษัทแม่เข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความไม่คล่องตัวในการทำธุรกิจ ซึ่งเรื้อรังกันมาตั้งแต่ครั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อ 8 ปีก่อนโน้นจนสำเร็จ

มันจึงเป็น 8 ปีของซีมอนในโฟรโมสต์ที่มีทั้งน้ำตาและรอยยิ้ม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.